มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพุธที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2541 ]

หมอ "ประเวศ ละสี" แฉสารพัดวิธี เขมือบพิสดารสะท้าน "สธ." .

โดย น.พ.ประเวศ วะสี


กรณีทุจริตคอร์รัปชั่นในกระทรวงสาธารณสุข ยังต้องถือว่าเป็นการกล่าวหา ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าจริง คือมีผู้กล่าวหา และมีผู้ปฏิเสธการกล่าวหา เรื่องปัจจุบันที่พูด ๆ กันเกี่ยวกับการซื้อยา เพื่อขยายการมอง เรื่องนี้ออกไป ผมจะขอย้อนไป ในอดีตสักหน่อย และขยายไปหลายเรื่อง

ช่วงเวลาของเรื่องที่จะเล่านี้กินเวลาหลายปีจึงมีรัฐมนตรีและข้าราชการหลายคนที่เกี่ยวข้องบางคนดี บางคนถูกสงสัย ว่าไม่ดี ฉะนั้นควรพิจารณาโดยจำแนกแยกแยะอย่าเหมารวม

1. กรณีปัญหา
มีกรณีปัญหาข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขหลายรูปแบบเช่น

1) กินค่าซื้อเครื่องมือนานาชนิด ไม่ว่าเครื่องมือแพทย์ คอมพิวเตอร์ หรืออื่น ๆ หลายปีมาแล้ว ผมไปประชุมที่สิงคโปร์ มีคนไทยเข้ามาทักบอกว่า "คุณหมอไม่รู้จักผมหรอก แต่คุณหมอ เป็นผู้ใหญ่ ผมอยากจะเล่าให้ทราบไว้ ผมเป็นพ่อค้าขายเครื่องมือ ให้กระทรวงสาธารณสุข เครี่องมือผมชิ้นหนึ่ง 20 ล้านบาท ผมถูกผู้บริหารกระทรวงให้เพิ่มเป็น 30 ล้านบาท

2) เรียกให้หาเงิน เมื่อ น.พ.มรกต กรเกษม เป็นเลขาธิการสำหนักงานอาหารและยา ถูกรัฐมนตรี เรียกเข้าไป ในห้อง แล้วควักเงินออกมาให้ดูเป็นปึก ๆ พร้อมกับบอกว่า "วันหนึ่งๆ ผมต้องใช้เงิน 3 แสนบาท หมอจะทำอะไร ก็รีบทำเสียนะ ครั้นหมอมรกตไม่หาเงินส่งให้ ก็จะถูกย้าย จนมีแพทย์ออกมาเคลื่อนไหว ต่อสู้ปกป้อง"

น.พ.ทหาร พันธุ์ภู เป็นผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรม มีรองปลัดกระทรวงคนหนึ่งไปพบ บอกว่ารัฐมนตรีจะปลด เพราะไม่สนองนโยบาย "สนองนโยบาย" ในที่นี้หมายถึงการหาเงินให้

3) กินตึก ข้าราชการเล่าลือกันมาว่า ปีหนึ่งกรมควบคุมโรคติดต่อ สร้างตึกราคา 200 ล้านบาท รัฐมนตรีเรียกมาให้เพิ่มเป็น 350 ล้านบาท พร้อมทั้งให้วิ่งเต้นหางบประมาณมาให้เสร็จ

4) ค่าแต่งตั้ง ข้าราชการเล่าถึงการที่ถูกนักการเมืองส่งคนมาติดต่อค่าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ระดับสูง ตำแหน่งละ 30-50 ล้านบาท

5) งบฯ รักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อย กระทรวงสาธารณสุขได้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อย ปีละ 7,000- 8,000 ล้านบาท ข้าราชการเล่าว่า มีรัฐมนตรีและเล็ม จะเข้าหาผลประโยชน์ เมื่อข้าราชการ ที่ดูแลงบฯนี้ ขัดขวาง ก็ถูกกลั่นแกล้งให้พ้นทาง

ที่จริงยังมีอื่น ๆ อีกมาก ผมยกตัวอย่างมาพอเป็นสังเขป!
เรื่องที่ข้าราชการเล่าถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นในกระทรวงสาธารณสุขเหล่านี้ ถ้าจริงก็มโหฬารพันลึก และเสียหายแก่ประเทศยิ่งนัก

2.การสืบสวนสอบสวน
ในเมื่อข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในทางราชการและในทางการเมือง การสืบสวน สอบสวน โดยข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาจะได้ผลอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการ ที่กระทรวงแต่งตั้ง หรือโดย ป.ป.ป. (คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ ในวงราชการ) ประชาชนไม่ควรไปหลงเชื่อ เพราะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น มีเต็มประเทศ ทั้งข้าราชการ วิสาหกิจ การเมือง แต่เคยได้ใครมาลงโทษสักกี่คน ดูกรณีธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) นั่นปะไร ทำให้ประเทศไทย เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะต่างชาติไม่เชื่อ ในการป้องกัน และปราบปรามคอร์รัปชั่นของไทย

รัฐธรรมนูญ 2540 (มาตรา 297 ) จึงกำหนดให้มีองค์กรอิสระคือ คณะกรรมการป้องกัน และปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้มีเขี้ยวเล็บ ในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ไม่ใช่คณะกรรมการแบบเสือกระดาษ ที่ตั้งขึ้นมาหลอกกัน

3. ในต่างประเทศตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนรัฐบาล
เมื่อ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถูกกล่าวหาว่า กระหายเลือด นำคนอังกฤษ ไปตาย โดยไม่จำเป็น ในสงครามฟอล์กแลนด์ แทตเชอร์ได้ตั้งลอร์ดแฟรงก์ มาเป็นประธานสอบสวนรัฐบาล ลอร์ดแฟรงก์นี้คนอังกฤษเคารพกันว่าเป็นกลางยิ่งนัก

ถ้าประธานาธิบดีคลินตันถูกกล่าวหาว่ามีการตั้งอัยการพิเศษ คือ นายเคนเนธ สตาร์ ขึ้นมาทำการ สืบสวน สอบสวน ประธานาธิบดี เพราะกลไกปกติ ไม่สามารถไปสืบสวน สอบสวนประธานาธิบดีได้ ถ้ามีการตั้ง คณะกรรมการที่มีอิสระขึ้นมาสอบสวนรัฐบาล จึงจะมีข้อยุติได้

4.เคยเสนอให้คุณชวน หลีภัย นายกรัฐมนตรี ทำ 2 อย่าง
ผมระแคะระคายเรื่องคอร์รัปชั่นมานาน และไม่อยากเห็นรัฐบาลชวนต้องคว่ำลง เพราะมีคนในรัฐบาล ถูกกล่าวหา ว่าคอร์รัปชั่น เมือ 4-5 เดือนมาแล้ว ผมได้ตีพิมพ์บทความ ลงหนังสือพิมพ์มติชน เตือนว่า "คอร์รัปชั่นจะบ่อนทำลายบ้านเมืองและรัฐบาลชวน" พร้อมกับเสนอ ให้นายกรัฐมนตรี ทำ 2 อย่าง คือ

  1. นายกรัฐมนตรีตั้งศูนย์รับร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชั่น ข้าราชการที่ดี ๆ จะร้องเรียนมา เพื่อปรามให้ผู้ที่คอร์รัปชั่นกลัวเกรงบ้าง
  2. นายกรัฐมนตรีควรอนุมัติงบฯอุดหนุน 100 ล้านบาท ตั้งศูนย์วิจัยเพื่อสื่อมวลชน ในสหรัฐอเมริกา สื่อมวลชนคือเครื่องมือป้องกันปราบปรามคอร์รัปชั่นของข้าราชการและนักการเมืองที่ดีที่ดี
เพราะเขาจะทำการสืบสวนหาข้อเท็จจริงที่เรียกว่าเป็น (Investigative journalism) หรือการหนังสือพิมพ์ แบบสอบสวน

สื่อมวลชนของเรายังอ่อนแอในเรื่องเช่นนี้ เพราะฉะนั้นรัฐควรหนุนช่วยต้านงบประมาณสนับสนุน "ศูนย์วิจัยเพื่อสื่อมวลชน" ที่เป็นอิสระ ให้สามารถวิจัย หรือสืบหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการทุจริต ของข้าราชการ และนักการเมือง ถ้าเรามีศูนย์เช่นนี้ สื่อมวลชนไทย จะเข้มแข็งมากขึ้น ในการตรวจสอบ คอร์รัปชั่น
นักการเมืองที่คอร์รัปชั่นคงจะไม่ต้องการมีศูนย์เช่นนี้ แต่คุณชวนเป็นคนดี ผมจึงเสนอ แต่เสนอแล้วก็แล้วกัน ผมไม่ไปเซ้าซี้กดดัน ให้คุณชวนทำอะไร

เรากำลังเผชิญปัญหายาก ๆ หลายอย่างที่กลไกของรัฐไม่มีกำลังในการแก้ปัญหา สังคมไทย จะต้องพึ่งตนเอง โดยรวมตัวกัน มาแก้ปัญหาต่าง ๆ การเคลื่อนไหว สังคมทั้งหมด คือยุทธศาสตร์หลัก การกู้จากต่างประเทศ เป็นยุทธศาตร์รอง อย่าก่อให้เกิดความสับสน หรือมิจฉาทิฐิทางสังคม

น.พ.ประเวศ วะสี
31 สิงหาคม 2541


[BACK TO LISTS]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1