มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2541 ]

แพทย์แผนไทยและสมุนไพร

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


เมื่อเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลง การสั่งสินค้าเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งยารักษาโรค ซึ่งมีราคาแพง จึงกระทำได้ยาก ความจำเป็นที่ต้องหันมาใช้ทรัพยากรภายในประเทศ จึงมีมากขึ้น การพัฒนา ภายในประเทศ จึงมีมากขึ้น การพัฒนาแพทย์แผนไทย และตำรับยาสมุนไพร จึงเป็นนโยบายหนึ่ง ของกระทรวงสธารณสุข และหลาย ๆ หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ดังจะเห็นได้ว่า มีการให้ความรู้ และมีการประชาสัมพันธ์ ในเรื่องยาสมุนไพร ประเภทต่าง ๆ มากมายขึ้น รวมทั้งมีการสกัดตัวยา จากสมุนไพร นำมาผลิตเป็น ยาแผนปัจจุบันขึ้นหลายตัวยา ตัวอย่าง เช่น สมุนไพรรวม พูลคาว ขมิ้นชัน เจลพริก เจลว่านหางจระเข้ ครีมพญายอ มะแว้งเม็ด ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น ซึ่งอาจเรียกยาในกลุ่มนี้ เป็น "สมุนไพรพัฒนา"

จากงานอบรมด้านสุขภาพอนามัยสำหรับประชาชน ครั้งที่ 186 แผนกป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดการเผยแพร่ความรู้ สำหรับประชาชน เรื่อง การแพทย์แผนไทย : เพื่อสุขภาพอนามัย ของคนยุคใหม่ วันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมจงจินต์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีความรู้ที่น่าสนใจสมควรนำมาเผยแพร่สู่ประชาชนคือ

การพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย และตำรับไทยมี 2 ลักษณะ คือ

  1. การพัฒนานอกระบบบริการของรัฐพบว่า
    1. หมอพื้นบ้าน ให้บริการด้านการรักษาโรคในลักษณะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้ค่าตอบแทน เป็นลักษณะค่ายกครู สมุนไพรที่ใช้ จะเป็นสมุนไพรตำรับ มากกว่าสมุนไพรเดี่ยว
    2. หมอแผนโบราณ ที่มีใบประกอบโรคศิลปแผนโบราณของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นผู้ควบคุมร้านขายยาแผนโบราณ ผลิตยาแผนโบราณ และดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งมีบทบาทและ กิจกรรมในรูปของสมาคม ซึ่งอยู่ในเขตเมือง
  2. การพัฒนาในระบบบริการของรัฐ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
    1. การพัฒนาสมุนไพรตำรับ ระบบบริการของรัฐมีการผลิตยาสมุนไพรตำรับมาตั้ง แต่สมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติก็ได้ยกเลิกการผลิตยาแผนโบราณ ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 คณะกรรมการควบคุมการขายยา ได้พิจารณาตำรับยาไทยโบราณ ซึ่งได้อนุญาตให้เป็นยาสามัญประจำบ้านจำนวน 16 ขนาน ใช้รักษาอาการไข้ ท้องเสีย ขับโลหิต ไอ ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ลม แก้ซาง
    2. การพัฒนาสมุนไพรเดี่ยว
      เป็นยาแผนปัจจุบันในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบาย ที่เด่นชัดเกี่ยวกับสรรพคุณยาสมุนไพร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาหลักการตรวจสอบเบื้องต้นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนี ญี่ปุ่น มีการวินิจฉัยชื่อชนิดสมุนไพร การแยกสารเคมี ศึกษาการทดสอบฤทธิ์ ด้านต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาทดสอบสรรพคุณเบื้องต้น ประมาณ 300 ชนิด
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาสมุนไพร ที่ดำเนินการโดยภาครัฐมีลักษณะจำเพาะบางประการ คือ
  1. การพัฒนาสมุนไพรเดี่ยวเพื่อใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน ดำเนินในระดับงานวิจัยเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นผลิตเป็นยาสำเร็จรูปเป็นงานอุตสาหกรรม เพื่อออกจำหน่ายในท้องตลาด
  2. การพัฒนาสมุนไพรตำรับโดยรัฐจำกัดเพียงการควบคุมการผลิต และคุณภาพ ยาตำรับแผนโบราณ ซึ่งภาคเอกชนเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย รัฐมิได้ผลิตสมุนไพรตำรับ เพื่อจำหน่ายแต่ประการใด
  3. การพัฒนาสมุนไพร โดยรัฐเท่าที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาเพียง "ยา" หรือยาสมุนไพรเท่านั้น ไม่ได้พัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยทั้งระบบ
นโยบายการพัฒนาสมุนไพรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ประเทศไทยได้มีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพร ในงานสาธารณสุขมูลฐาน เป็นครั้งแรก ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และจากการพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 การพัฒนาสมุนไพรเริ่มมีรูปธรรมขึ้น แต่การส่งเสริมให้ครบวงจร ยังอยู่ในวงแคบมาก

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 การพัฒนาสาธารณสุข เน้นการพึ่งตนเอง ของประชาชน และชุมชน การใช้สมุนไพร จึ่งเป็นแนวทางหนึ่ง เพื่อให้ประชาชน และชุมชน มีการพึ่งตนเองให้มากที่สุด

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เนื่องจากการแพทย์แผนไทยอยู่นอกระบบราชการมานาน ดังนั้น รูปธรรมในการบริหารจัดการ จึงต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการให้ความสำคัญ แก่ภาคเอกชน ชมรม สมาคม และบริษัทเอกชน โดยรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน และแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ให้มีความคล่องตัวขึ้น

ปัญหาด้านการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน
การรักษาโรคในปัจจุบันมีหลายวิธี บางส่วนรักษาทางยา ผ่าตัด และอื่น ๆ ในส่วนของการรักษาทางยา ปัจจุบันพบว่า ส่วนใหญ่ยังใช้ยาแผนปัจจุบัน จากการสำรวจมูลค่าการสั่งซื้อยาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศพบว่ามีมูลค่าสูงมาก ในขณะที่มีสมุนไพร ที่มีศักยภาพในการพัฒนา เพื่อนำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน เพื่อรักษาโรคพื้น ๆ ทั่วไป ที่ประชาชนเป็นกันมากได้อย่างดี แต่ยังไม่รับความสนใจเท่าที่ควร จากแพทย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

ในอดีตการแพทย์แผนไทยดำรงอยู่ในฐานะการแพทย์นอกระบบ ขาดการสนับสนุนและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วมร้อยปี แต่ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามที่จะพัฒนาการแพทย์แผนไทยทั้งระบบ เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน ผสมผสานไปกับการแพทย์แผนตะวันตกควบคู่กันไป

วันนี้เราต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ยา และปัจจัยอื่น ๆ ในราคาแพงขึ้นมาก วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะส่งผลต่อเนื่องอีกนาน จนนำไปสู่การปฏิรูประบบสำคัญ ๆ หลายระบบ รวมทั้งการแพทย์และการสาธารณสุข การแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นทางเลือก อีกทางหนึ่ง จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติด้านสุขภาพอนามัยได้ ถ้าได้ให้การพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1