มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ที่มา..คอลัมภ์ยาน่ารู้ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)]


ยาแก้แพ้


ปัจจุบันนี้ สิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เต็มไปด้วยมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เชื้อรา ที่ปะปนอยู่ในอากาศ สารเคมีที่มนุษย์ สังเคราะห์ขึ้นมาเองซึ่งอาจแอบแฝงอยู่ในรูปของอาหารการกิน สิ่งที่เราสัมผัส ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายของคนเราได้ทั้งสิ้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การแพ้ โดยเฉพาะเด็กๆ สมัยใหม่จะเป็นโรคภูมิแพ้ กันมากขึ้นทุกวัน ภูมิแพ้ เป็นการแพ้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกาย ที่เกิดขึ้นโดยการหลั่งสารหลายชนิด (ชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ ฮีสตามีน) เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ ร่างกาย

สารก่อภูมิแพ้ อาจได้รับจากการหายใจเข้าไป เช่น เกสรดอกไม้ เชื้อราในบรรยากาศ สิ่งที่รับประทานเข้าไป เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สารแต่งสี แต่งรส ยา สารที่ฉีดเข้าไป ได้แก่ ยาฉีดชนิดต่างๆ เช่น การแพ้ยาฉีดจำพวกเพนนิซิลิน อาจทำให้ช็อกและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ส่วนการแพ้ที่ไม่รุนแรง เช่น แพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง หรือสิ่งที่หายใจเข้าไป ทำให้มีอาการไอ จาม แน่นคัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ หรือแพ้อาหาร ยา อาจแสดงออกในรูปของลมพิษ ผื่นคัน อาการแพ้ที่ไม่รุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ สามารถรักษา บรรเทาและป้องกันได้โดยใช้ยาแก้แพ้ (หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่ ายาแอนตี้ ฮีสตามีน)

1. ใช้บรรเทาอาการแพ้อากาศ บรรเทาอาการจาม น้ำมูกไหล เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) กินในตอนเช้าและก่อนนอน หรือเวลาใดเวลาหนึ่ง จะช่วยบรรเทาอาการได้ และต้องกินไปเรื่อยๆ หากหยุดเมื่อใดก็จะเป็นอีก นอกจากเป็นเฉพาะฤดูใดก็กินเฉพาะช่วงฤดูนั้น

2. ใช้บรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนัง ลมพิษ ผื่นคันต่างๆ ที่นิยมใช้ คือ ฮัยดร๊อกซิซีน (Hydroxyzine) ซัยโปรเฮ็ปตาดีน (Cyproheptadine)ยาซัยโปรเฮ็ปตา ดีน ไม่ควรใช้กับเด็ก อายุต่ำกว่า 2 ขวบเนื่องจาก มีผลกดสมอง ทำให้เด็กเตี้ย แคระแกร็นได้

3. การใช้ยาแก้แพ้ในโรคหวัด ความจริงแล้วยาจะมีฤทธิ์ลดน้ำมูก ทำให้น้ำมูกแห้ง ช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้นเท่านั้น ยังไม่มียาใดที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสอันเป็นสาเหตุของหวัด และควรใช้กรณีที่มีน้ำมูกใสเท่านั้น เมื่อน้ำมูกข้นเหนียวควรหยุดใช้ยา มิฉะนั้นอาจทำให้น้ำมูกเหนียวข้นมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก

ข้อแนะนำ-ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้

1. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรใช้ก่อนรับสิ่งที่ทำให้แพ้ หรือใช้ทันทีที่แพ้แล้ว
2. ยาแก้แพ้ส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ปากแห้ง จมูกแห้ง ปัสสาวะลำบาก และที่สำคัญคือทำให้ง่วงนอนซึม เวลาใช้ยา นี้จึงควรระวังการขับขี่ยานยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อย่างไรก็ตาม หากกินยาชนิดนี้แล้วมีอาการง่วงนอนมาก และจำเป็นต้องทำงานอาจเลี่ยงไปใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดอาการง่วง เช่น เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine) แอสทิมิโซล (Astemizole)
3. ห้ามกินยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดสมอง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากันชัก
4. ในกรณีหอบหืด ซึ่งแม้จะเป็นอาการแพ้อย่างหนึ่งก็ตาม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ควรระวังการใช้ยานี้ เนื่องจากเด็กมี ความไวในการตอบสนองต่อยานี้มาก อาการข้างเคียงของยา อาจเกิดในทางกลับกัน คือ แทนที่เด็กจะง่วงนอน กลับนอนไม่หลับร้องไห้ กวนโยเย เด็กบางคนจะมีอาการใจสั่น ตื่นเต้นหรือถึงกับชัก ถ้าได้รับยาในขนาดสูงๆ
5. ในหญิงมีครรภ์ มักใช้ยาประเภทนี้ในรูปของยาแก้แพ้ท้อง ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรจะดีกว่า สำหรับหญิงให้นมบุตรการกินยาแก้แพ้อาจทำให้น้ำนมลดน้อยลง และยาจะขับออกทางน้ำนม จึงควรให้ลูกงดนมแม่ ดูดนมขวดชั่วคราวขณะใช้ยา

นอกจากการใช้ยาแล้ว ก็ต้องพยายามสังเกตว่าสิ่งที่แพ้คืออะไร แล้วหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้นั้นเสีย การออกกำลังกายที่เหมาะสม กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบาน เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ดีขึ้นได้ค่ะ

ภณ.พูลสุข จันทร์วัฒนเดชากุล



ขอบคุณสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1