รศ.ภญ.เทวี โพธิผละ
"รู้มั้ยว่า ยาแก้ไอ บางชนิด มีโคเคอีน จิบไปจิบมา ติดไม่รู้ตัว" |
หลายคนคงเคยมีปัญหาและรำคาญกับอาการไอ บางคนแก้ปัญหาด้วยความเคยชิน ในการอมลูกอมหรือลูกกวาด ที่มีส่วนผสมของเมนทอล หรือเปปเปอร์มินต์ หรือสระแหน่ ที่มีขายทั่วไป บางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ใช้ยาน้ำแก้ไอบางชนิด ที่มีส่วนผสมของ โคเคอีน ซึ่งเป็นยาเสพติด และยังมีส่วนผสมของ ยาแก้แพ้บางชนิด ผสมน้ำหวาน ดื่มเล่นเป็นที่สนุกสนาน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีอันตรายร้ายแรง ในการก่อให้เกิด การติดยา และขาดสติ เป็นต้นเหตุ แห่งการก่ออาชญากรรม ร้ายแรงได้
ความจริงอาการไอเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม ที่เข้าสู่ร่างกาย ทางหลอดอาหาร หรือทางเดินหายใจ แต่อาการไอที่ทำให้คอแห้ง และระคายเคืองคอ ก็เป็นเรื่องน่ารำคาญ ที่ทำให้เกิด ธุรกิจ การผลิตยาแก้ไอ ที่ทำกำไรมหาศาล ไม่แพ้ยาแก้หวัดทั่วไป ทั้งที่ยาแก้ไอส่วนใหญ่ จะมีส่วนผสม ของตัวยาเฉพาะโรคเพียงน้อยนิด แต่ผู้ใช้ยาแก้ไอ จะติดใจในกลิ่น และรสชาติ ที่แข่งขันกัน ปรุงแต่งเพิ่มเติมมากกว่า
วัตถุประสงค์หลักของยารักษาอาการไออาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ยาขับเสมหะ และยาแก้ไอ |
ยาขับเสมหะ
อาจมีส่วนผสมในการกระตุ้นประสาทของต่อมต่างๆในหลอดลม ให้มีการขับเมือก เพิ่มมากขึ้น
ทำให้เสมหะอ่อนตัวและง่ายต่อการขับออกด้วยอาการไอ แต่ส่วนผสมเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการปวดในช่องท้องและอาเจียนได้ เช่น แอมโมเนีย คลอไรด์, โปแทสเซียม ไอโอได, โซเดียม ซิเตรด แต่ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า ตัวยาชนิดใด มีประสิทธิภาพในการขับเสมหะโดยตรงหรือโดยอ้อม ทั้งนี้เนื่องจากความเหนียวข้น ของเสมหะขึ้นอยู่กับระดับน้ำที่มีอยู่ในร่างกาย จึงอาจแก้ไขได้ด้วยการดื่มน้ำมากๆ หรือการสูดดมไอระเหยของน้ำ ที่อาจมีการเติมตัวยาชะล้าง ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ อย่างอ่อนๆ เข้าไปด้วย อาจช่วยได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจมียาละลายเมือก ที่ทำให้เสมหะมีลักษณะ เหลวเป็นน้ำ เพิ่มปริมาณเสมหะ แต่อาจทำให้เป็นไข้ได้
ผู้สูงอายุที่มีอาการหายใจขัด และมีแผลในกระเพาะอาหาร ควรระมัดระวังในการใช้ยาเหล่านี้ เพราะยากลุ่มนี้ อาจทำให้เกิด อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในหลอดลม มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ น้ำมูกไหล ท้องร่วง ปวดศีรษะ
ยาแก้ไอ
ไม่ว่าจะในรูปของยาน้ำ ยาหยอด ยาจิบ ยาเม็ด ยาลูกอมแบบลูกกวาด มักผสมด้วย ยาฆ่าเชื้อพวกไทมอล, เบนโซอิน ซึ่งมีปริมาณเพียงเล็กน้อย แทบจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากถ้ามีปริมาณมากพอก็อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยาได้ ยาแก้ไอชนิดหวานชุ่มคอ ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของตัวยาพวก ดีมัลเซนต์ ซึ่งออกฤทธิ์ต่อผิวลำคอ บรรเทาอาการ ระคายเคือง เช่น น้ำผึ้ง ชะเอม กลีเซอรีน นอกจากนี้ ยังแต่งกลิ่นหอมและปรุงรสชาติดี เช่น มีส่วนผสมของเปปเปอร์มินต์ ยูคาลิปตัส อบเชย มะนาว กานพลู ยี่หร่า
ยาแก้ไอสำเร็จรูปบางชนิดมีส่วนผสมของ เมนทอล การบูร ยาแก้ไอบางชนิดมีส่วนผสม ของคลอโรฟอร์ม ที่ทำให้หมดความรู้สึก เฉพาะที่ เป็นการช่วยลดหรือบรรเทาความเจ็บปวด ที่เกิดจากการอักเสบ แต่ยาแก้ไอชนิดน้ำที่มีส่วนผสมแบบเดียวกัน จะถูกกลืนลงกระเพาะ โดยตรง โดยไม่มีเวลาออกฤทธิ์ที่บริเวณลำคอนานนัก ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีประสิทธิภาพ เหนือกว่ายาอมหรือหมากฝรั่งทั่วไปได้อย่างไร สำหรับยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของ แอนติฮิสตามีน อาจช่วยให้มีอาการง่วงนอนและพักผ่อนได้ดีในตอนกลางคืน แต่อาจทำให้ผิวของท่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนแห้ง เกิดอาการระคายเคืองได้
ดังนั้น การดื่มน้ำหรืออมหรือเคี้ยวลูกกวาดที่ไม่จำเป็นต้องมีส่วนของตัวยาใดๆ ก็อาจช่วยบรรเทาอาการไอได้
การใช้ยาแก้ไอเกินกว่า 2-3 วัน ถ้ายังไม่บรรเทาอาการไอแต่อย่างใดแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ และยิ่งอาการไอไม่หายขาดภายใน 1-2 สัปดาห ์ หรือมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว หรือไอแล้วเจ็บหน้าอก หรือมีไข้ตัวร้อน หรือหายใจลำบาก ต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที หากท่านสูบบุหรี่แล้วมีอาการไอ ควรงดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด ท่านที่ติดนิสัยกินยาแก้ไอเป็นประจำทุกวัน อาจประสบปัญหาระบบอาหารไม่ย่อยได้
ขอให้โชคดี พ้นจากความรำคาญอันเนื่องมาจากอาการไอนะคะ
รศ.ภญ.เทวี โพธิผละ
main |