มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ]

เมื่อคุณใช้ยาลดความดัน

เภสัชกรวิศาล สุทธิพัฒนางกูร


คุณลองสังเกตคนรอบ ๆ ข้างดูซิว่ามีใครบ้างที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เกือบทุกคนคงตอบว่ามีคนที่รู้จักเป็นโรคนี้เนื่องจากโรคนี้สามารถพบได้บ่อย บางคนอาจไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคนี้อยู่ เพราะโรคความดันโลหิตสูง อาจไม่มีอาการแสดงให้คุณเห็น แต่เมื่อคุณไปโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยจากโรคอื่น แล้วมีการวัดความดัน คุณอาจตกใจเมื่อแพทย์บอกกับคุณว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ร่วมด้วย หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคนี้แล้วอย่าเพิ่งตกใจ เพราะถ้าคุณรู้ และหาทางรักษาป้องกันไว้เสียแต่เนิ่น ๆ ก็ไม่มีอันตรายอะไร แต่ถ้าคุณไม่เอาใจใส่ดูแล อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคุณคือ เกิดพยาธิสภาพที่สำคัญของร่างกาย คุณอาจเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองอุดตันหรือแตกจนอาจเป็นอัมพาต นอกจากนี้ไตคุณอาจเสื่อม สมรรถภาพ จนเกิดไตวายได้

แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงมีอยู่ 2 แบบ แนวทางแรกคือไม่ต้องใช้ยา ในการรักษาแพทย์อาจเลือกใช้วิธีนี้กับคนที่เป็นไม่มากหรือคนที่เริ่มเป็นใหม่ ๆ เช่นการลดและคุมน้ำหนักให้คงที่ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมทุกวัน ลดการกินเค็ม เลิกดื่มเหล้า บุหรี่ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ทำจิตใจให้สบาย เป็นต้น ส่วนแนวทางที่สอง คือการใช้ยาลดความดันจะพิจารณาใช้เมื่อใช้แนวทางแรกไม่ได้ผล

ยาลดความดันที่ใช้ในปัจจุบันมีหลายชนิดซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย แต่ละรายไป ๆ เนื่องจากยาแต่ละตัวมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกัน ยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันนี้ มีอยู่ประมาณ 3-4 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นยาขับปัสสาวะ เช่น ยาไทอะไซด์ (Thiazide) ฟูโรซีมายด์ (Furosemide) ยากลุ่มนี้จะช่วยขับน้ำในร่างกายออก ผลคือทำให้สามารถควบคุม ความดันให้อยู่ในภาวะปกติได้ ยากลุ่มที่สองเช่นยา โพรพาโนลอล (Propranolol) กลุ่มต่อไป เช่น ยาอีนาลาพริส (Enalapril) ไนฟีไดปิน (Nifedipine) เป็นต้น โดยยาเหล่านี้ สามารถใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกันก็ได้ ถ้าใช้ยาตัวเดียวแล้วควบคุมความดันได้ไม่ดีพอ

เมื่อคุณต้องการใช้ยาลดความดันบางท่านอาจรู้สึกสับสนว่าจะกินยาอย่างไรดี กินพร้อมกันได้หรือไม่เพราะคุณอาจต้องกินยาอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่น ยาเบาหวาน ยาโรคหัวใจ เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่คุณจะกินยาทุกครั้งควรหยิบฉลากยามาอ่านเสียก่อน แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องสายตาหรืออ่านหนังสือไม่ออกคุณควรแจ้งให้เภสัชกรให้แก้ไขปัญหา นี้กับคุณต่อไป การรับประทานยาลดความดันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง กินยาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ มีผู้ป่วยหลายรายที่กินเฉพาะในช่วงที่มีอาการปวดหัวจากความดันขึ้น แต่หลังจากที่ ไม่มีอาการก็ไม่ยอมกินยาต่อ ควรระลึกไว้เสมอว่าการทานยาไม่สม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่งนอกจากจะไม่ช่วยควบคุม ความดันให้อยู่ในภาวะปกติแล้วยังอาจเป็นอันตรายกับตัวคุณได้ ยาบางชนิดเมื่อคุณกิน ๆ
หยุด ๆ จะทำให้ความดันยิ่งสูงขึ้นมากกว่าปกติและอาจใช้ยาตัวเดิมไม่ได้ผล สำหรับผู้ป่วยที่ชอบลืมทานยาโดยเฉพาะยามื้อกลางวันถ้านึกได้ให้รีบทานทันที แต่ถ้าใกล้ถึงมื้อถัดไปให้ทานเฉพาะมื้อต่อไปไม่ต้องทานควบกับมื้อที่ลืมเป็นสองเท่า


ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักต้องใช้ยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อควบคุณความดัน ให้คงที่ และไม่ให้เกิดพยาธิสภาพกับอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ของร่างกายได้แก่ หัวใจ สมอง ไต บางครั้งแพทย์อาจมีการปรับขนาดการใช้ยาเช่นเพิ่มหรือลดขนาดยาลดความดัน เพื่อทำให้การควบคุมความดันของคุณดีขึ้น มีผู้ป่วยหลายรายที่ไม่รู้และยังกินยาแบบเดิมอยู่ ผลคืออาจมียาเหลืออยู่มากไปหรือทำให้ยาไม่พอใช้ได้ และทำให้การควบคุมความดัน ไม่ได้ผลที่ดีพอ ดังนั้นก่อนใช้ยาคุณควรอ่านฉลากยาก่อน สำหรับยาบางอย่างที่ห้ามกินพร้อมกับนมหรือ ยาลดกรด เช่น ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ถ้าจำเป็นต้องกินนมหรือยาลดกรดให้กินห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง นอกจากนี้แล้วการซื้อยากินเองควรปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาก่อนทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจได้ว่ายาที่ซื้อมาใช้นั้นไม่รบกวนต่อยาลดความดันที่คุณใช้เป็นประจำ

ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างคือในการกินยาลดความดันคืออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เพราะอาจรบกวนและเป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้ เช่น มีอาการปวดหัวมาก คลื่นไส้อาเจียน อย่างแรง ใจสั่นมาก ตัวบวม ข้อเข่าบวม มีผื่นขึ้น ไอมาก ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบกลับมาพบแพทย์หรือเภสัชกรที่โรงพยาบาลทันที เพื่อสอบถามอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นและทางแก้ไขต่อไป

โรคความดันจะไม่เป็นอันตรายสำหรับคุณถ้าคุณรู้และควบคุมมันเป็นอย่างดี นอกจากการกินยาอย่างต่อเนื่องและถูกต้องตามคำสั่งของแพทย์แล้ว การลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ลดการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก ลดการทานเค็ม ทำจิตใจให้สบาย ก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกันถ้าคุณทำได้ เช่นนี้คุณก็ไม่ต้องกังวลกับโรคความดันอีกต่อไป

เภสัชกรวิศาล สุทธิพัฒนางกูร
ร พ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา


[ BACK TO เรื่องยา] [ BACK TO อายุรกรรม]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1