โรคตับอักเสบบี เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย คาดการณ์ว่าคนไทยมีสถิติเป็นโรคตับอักเสบบีเรื้อรังถึงร้อยละ 6-10 เคยมีข่าวการตื่นกลัวโรคนี้และสุดท้ายมีการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้
แล้วทำให้คนไทยได้สบายใจขึ้นแต่สำหรับผู้เป็นพาหะ (ป่วยเป็นโรคนี้
แต่ไม่แสดงอาการ) ของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ยังไม่มียาใดๆ
ที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง คือ ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ
อยู่ในร่างกายนานเกิน 6 เดือน ซึ่งแบ่งผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่เป็นพาหะจะไม่มีอาการอักเสบของตับ คนไทยที่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้
และในขณะนี้ยังไม่มียาใดๆ ที่จะใช้รักษาผู้ที่เป็นพาหะ
ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยง่าย
กลุ่มที่ตับอักเสบบีเรื้อรังแบบลุกลาม
จะมีปริมาณของเชื้อตับอักเสบบีอยู่ในร่างกายจำนวนมาก
และมีอาการอักเสบของตับอยู่ตลอดเวลา ปรากฏอาการเป็นพักๆ ผู้ป่วยมีจำนวนน้อยและมีโอกาสเป็นตับแข็งได้
การปฏิบัติตนของผู้ที่เป็นพาหะต้องหมั่นรักษาสุขภาพของตัวเอง
ให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา พักผ่อนให้เพียงพอ
เข้าพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ส่วนในกลุ่มที่เป็นแบบลุกลาม
ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ในระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีเรื้อรังแบบลุกลาม
มีทางเลือกในการรักษา คือการใช้ยาฉีดอินเตอเฟอรอนเท่านั้น
ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 เดือน
และมีผลข้างเคียงมาก ผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะมีอาการตับอักเสบ
และปริมาณของไวรัสลดลง ล่าสุดได้มีการพัฒนายาชนิดใหม่
ที่ต้านไวรัสตับอักเสบบี ด้วยการรับประทานเพียงวันละเม็ด ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณของไวรัสในร่างกายให้ลดต่ำลง
โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะดวกและช่วยลดค่าใช้จ่ายลง ยาชนิดนี้ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร
และยาให้ใช้กับผู้ป่วยในประเทศต่างๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา
แคนาดา, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อิสราเอล,
อาร์เจนตินา, จีน, อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, เกาหลี,
ฮ่องกงและไทย
เป็นการค้นคว้าวิจัยที่ดีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ดำเนินชีวิตได้สบายขึ้น แต่ก็ต้องระวังการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น ทั้งทางเลือด, น้ำเหลือง,
เพศสัมพันธ์ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และอีกทางที่เคยกังวลกัน
คือ น้ำลาย ถึงแม้จะมีรายงานว่าพบเชื้อไวรัสในน้ำลาย
แต่ก็ไม่เพิ่มอัตราการเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
|