มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



โรคผิวหนังหลากหลาย รักษาได้
ด้วยยาที่ถูกกับโรค และปฏิบัติถูกวิธี


  ผิวหนังมีปัญหา ใช้ยาให้เป็น

ภญ.รศ.เทวี โพธิผละ

หลายคนคงเคยมีอาการผื่นคันเป็นปื้นหนาตามผิวหนัง อย่างปัจจุบันทันด่วนโดยไม่รู้ตัวที่เรารู้จักกันเรียกว่า "เป็นลมพิษ" บางครั้งมีอาการคันร่วมด้วย ยิ่งเกาก็ยิ่งมันคันจนเป็นผื่นแดง ลุกลามเพิ่มขึ้น ยาที่นิยมนำมาใช้บรรเทาอาการดังกล่าวคือ คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) ที่มีส่วนผสมของ Menthol และ Phenol ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการคันได้ หรืออาจต้องรับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) ด้วย แต่ทางที่ดีต้องพยายามทบทวนค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวให้ได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นลมพิษ อาจมีตั้งแต่ ความวิตกกังวล การสัมผัสกับสารเคมีเครื่องสำอาง ยา หรือแม้แต่อาหารจำพวกอาหารทะเล อาหารกระป๋อง อาหารผสมสี อาหารถั่ว อาหารหมักดอง รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือมีความผิดปกติของร่างกาย เช่น ฟันผุ หูหนวก ไซนัสอักเสบ หรือความผิดปกติของระบบน้ำดี เป็นต้น

"ยุง" นอกจากจะเป็นพาหะนำโรคร้าย เช่น มาลาเรีย และไข้เลือดออกแล้ว ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นตุ่มหรือเม็ดผื่นคัน อาจมีหนองเมื่อเกาหรือมีรอยดำไม่หายขาด โดยเฉพาะเด็กเล็ก แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนอาจมีอาการแพ้น้ำลายยุงได้เช่นเดียวกัน ยาทาตุ่มคันได้แก่ Steroid Cream เช่น Prednisolone cream ทาบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง บางครั้งต้องรับประทานยาแก้แพ้ หรือถ้ามีหนองต้องทาและรับประทานยาปฏิชีวนะด้วย

นอกจากนี้ยังมีโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อ (Infection) ได้แก่ เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย และพาราไซท์ ซึ่งมีการใช้ยาแตกต่างกันดังนี้

เชื้อรา (Superficial Fungal Infection) ได้แก่

เกลื้อนดอกหมาก (Tenia Versicolor) มีอาการเริ่มด้วยจุดเล็กๆ มีขุยบางๆ ที่รูขุมขนหรือกระจายทั่วไปตามผิวหนัง ต่อมาจะค่อยๆ ขยายโตขึ้นเป็นวงใหญ่หลายๆ วงติดกัน หรืออาจรวมเป็นวงใหญ่ ภายในวงจะมีสีจางกว่าสีผิวหนังปกติ บางครั้งอาจมีสีคล้ำเป็นสีแดง หรือสีน้ำตาลไม่คันแต่ลามกว้างไม่มีขอบเขตแน่นอน เกิดจากเชื้อ Malassezia Furfur ที่ชอบขึ้นตามไขมันบนผิวหนังของคนที่มีภูมิต้านทาน ของร่างกายน้อย เช่น คนขาดอาหาร นอนดึก มีโรคประจำตัวเรื้อรัง มีเหงื่อมาก โรคโลหิตจาง เนื่องจากได้รับ steroid คนดื่มสุรา และเป็นกรรมพันธุ์ด้วย ยาที่ใช้รักษา มีดังนี้

1.ทาด้วยโซเดียมไทโอซัลเฟต 20-25% ที่เตรียมใหม่ๆ วันละ 2 ครั้ง แล้วทาตามด้วย Acetic Acid 3% เช่น ยาทาเกลื้อน
2.ทาด้วย Selsun (Selenium Sulfide) หลังอาบน้ำทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง แล้วล้างออก ทาทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง
3.ถ้าเป็นน้อยใช้ Clotriazole (Canesten) หรือ Miconazole (Daktarin) หรือ Isoconazole (Travogen) หรือ Econazole (Pevaryl) ทาวันละ 3 ครั้ง
4.Whitefield Ointment

ถ้าหายแล้วผิวหนังยังอาจมีสีจางอยู่ให้ทายาดังกล่าวต่อไปอีก วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน 2 วัน

การติดเชื้อราอีกพวกหนึ่ง (Dermatophytic infection) ตามบริเวณผิวหนัง ผม เล็บ มี 3 ชนิด คือ Trichophyton Microspore และ Epidermophyton มีลักษณะเป็นกลากมีขอบเป็นวงเห็นชัด ประกอบด้วยจุดแดงหรือตุ่มแดงเล็กนูนแข็ง บางครั้งมีน้ำอยู่ข้างใน อาจมีหลายวง และอาจรวมกันเป็นวงใหญ่ ผิวตรงกลางมักเหี่ยวย่น นานๆ จะแห้งเป็นสะเก็ด ที่พบมากมีตั้งแต่ กลากตามตัว ตามขาหนีบ ตามง่ามเท้า หรือ ฮ่องกงฟุต ตามเล็บมือเล็บเท้า หนังศีรษะ ตามใบหน้าและแก้ม ตามลำดับ ควรใช้ยาฆ่าเชื้อรา ตัวอย่างดังต่อไปนี้ ถึงแม้ว่าจะทายาไปเพียงไม่กี่วันแล้ว รู้สึกว่าอาการจะดีขึ้น แต่เชื้อราอาจยังตายไม่หมดก็ได้ จึงต้องทายาต่อไปอีก 15-30 วัน

1.โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เช่น คาเนสเทนใช้ทา วันละ 2-3 ครั้ง ห้ามทาบริเวณใกล้ตา อาจทำให้ผิวหน้าแดง เจ็บคัน เป็นตุ่มพอง หน้าลอก บวม และเป็นลมพิษได้
2.ไมโคนาโซล (Miconazole) เช่น ดาคทาริน ใช้ทารักษาเชื้อราที่ผิวหนัง ผม เล็บ โดยบีบครีมยาว 1 ซม. ทาบริเวณที่บางๆ วันละ 1-2 ครั้ง และเมื่อหายแล้วต้องทาต่ออีก 10 วัน ถ้าเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ให้ทาวันละ 2 ครั้ง 2-4 สัปดาห์ ถ้าติดเชื้อที่เล็บให้ใช้ชนิดทิงเจอร์ทาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าเล็บใหม่จะขึ้น
3.โทนาฟเทต ชนิดขี้ผึ้ง 1% ถ้าชนิดน้ำยาจะมีตัวยาเมธิลซาลิซัยเลท 0.25% ด้วยใช้ทาเชื้อราชนิด Dermatophytic วันละ 2-3 ครั้ง
4.ไมโคนาโซล ไนเตรท 20 mg/g ใช้ทาเชื้อราชนิด Dermatophytic และติดเชื้อ Candidial วันละ 2 ครั้ง 2-4 สัปดาห์

สำหรับโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Viral infection) ที่พบบ่อยคือ เริม (Herpes Simplex) หรือ ไข่งู (Cold Sore) มีอาการเป็นเม็ดผื่นแดงที่ริมฝีปาก และอวัยวะสืบพันธุ์ และมีเม็ดน้ำอยู่ตรงกลางรอบๆ เป็นผื่นแดง อาจเกิดขึ้นหลายตุ่ม หรือเป็นกลุ่มอยู่ด้วยกัน มีอาการปวดแสบ ปวดร้อนเหมือนน้ำร้อนลวก และอาจมีอาการคันด้วย อาการเหล่านี้ถ้าเกิดกับใครแล้ว มักจะเกิดขึ้นอีกเมื่อร่างกายขาดภูมิต้านทานแต่จะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก เช่น ขณะหญิงมีประจำเดือน อารมณ์เครียด คิดมาก ดื่มสุรา หรือกำลังเจ็บป่วย นอนน้อยไปหรือถูกความร้อนและแสงแดดจ้า

ยาทาที่ใช้ทั่วไป คือ Acyclovir ทาวันละ 5 ครั้ง ทุก 3-4 ชั่วโมง ซึ่งต้องใช้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเป็นจึงจะให้ผลดี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะมักจะทราบว่าตัวเองเป็นเริมในระยะหลังแล้ว ทำให้รักษาไม่หายขาด ต้องรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้ปวดแอสไพริน หรือพาราเซตามอล และทำความสะอาดแผลให้หายเร็วขึ้น สำหรับโรคผิวหนังชนิด Herpes Simplex นี้ห้ามใช้ยาทาพวกครีมเพรดนิโซโลนเด็ดขาด

ความจริงแล้วโรคเริมนี้จะหายเอง เพราะเชื้อไวรัส เป็น Self-Limited คือ หลังจากร่างกายได้รับเชื้อระยะหนึ่ง แล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เรียกว่า interferon เข้าไปต่อสู้ทำลาย ปฏิกิริยาของเชื้อไวรัส แต่เชื้อก็จะยังอยู่ที่ปมประสาท เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง ก็จะแสดงอาการได้อีก ดังนั้นการป้องกันโรคเริมไม่ให้กลับมาอีก ก็ต้องปฏิบัติตัวให้มีสุขภาพแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ งดสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด เป็นต้น

โรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Infection) ส่วนใหญ่คือเชื้อ Streptococcus หรือ Staphylococcus ที่พบบ่อยคือ Impetigo contagiosa ในเด็กเล็กมีอาการเริ่มเป็นจุดผื่นเล็กๆ ตามหน้า แขน ขา จะขยายออกไปเร็วมาก เกิดเป็นตุ่มแดงพอง มีน้ำอยู่ข้างใน คล้ายน้ำร้อนลวก หรือบุหรี่จี้ ต่อมาตุ่มน้ำจะแตกออก ตกสะเก็ดติดอยู่ ถ้าน้ำที่แตกออกไปเลอะเปื้อนที่ใดก็จะเป็นตุ่มขึ้นมาใหม่อีก แผลเปิดอื่นๆ เช่น มีดบาด ผิวถลอก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มีโอกาสเกิดอาการติดเชื้อนี้ได้และอาจมีอาการรุนแรง เป็นไข้ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะแก้อักเสบ จำพวกเพนิซิลลิน

ยาที่ใช้คือครีมปฏิชีวนะ เช่น Gentamycin cream และปิดแผลด้วยผ้าตาข่ายยาซึ่งต้องชำระล้างแผลให้สะอาดด้วย NSS หรือ Hydrogen peroxide solution และดูแลแผลไม่ให้ถูกจ้ำ เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ หรือ Betadine รอบๆ แผลด้วย

โรคผิวหนังจากพาราไซท์ พวกหิด (Scabiasis) เกิดจากเชื้อ Sarcoptes มีอาการเป็นเม็ดผื่นคันอาจเป็นหนอง ที่รอยเกาพอง ตามซอกง่ามนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก รักแร้ และจะคันมากตอนกลางคืน ถ้าใครในครอบครัวเป็นแล้ว ก็จะเป็นกันหลายคน ผู้ชายมักเป็นตามอวัยวะเพศ เช่น ลูกอัณฑะ ผู้หญิงจะเป็นตามฐานนมและสะดือ จึงต้องรักษาความสะอาดร่างกาย และเสื้อผ้าให้สะอาด และใช้ยาทาชนิดเดียวกับยาฆ่าเหา

โรคผิวหนังที่เกิดจากพาราไซท์อีกพวกหนึ่งคือ เหาและโลน (Pediculosis) ต้องสระผมให้สะอาด ห้ามเกาหนังศีรษะ เช็ดให้แห้ง แล้วทาด้วย Jacutin gel ขยี้ให้ทั่ว ทิ้งไว้อย่างน้อย 3 วัน แล้วจึงสระผมให้สะอาดอีก ถ้ายังมีเหาอีก ให้ทาซ้ำอีกครั้งหลังจากใช้ครั้งแรก 8-10 วัน เพื่อให้ไข่เหาหลุดแล้ว อาจล้างด้วยน้ำผสมน้ำส้มสายชู 6% 1 ส่วนในน้ำ 2 ส่วน แล้วสางด้วยหวีละเอียดให้ไข่หลุด

ถ้าเป็นโลน ต้องโกนขนบริเวณที่เป็นออกให้หมดก่อน จะทำให้หายเร็วขึ้น

ยาที่ใช้ได้แก่ ครีมฆ่าเหา Hexin หรือ 1% Camma Benzene Herxachloride หรือใช้ครีม Lorexan ทาหลังอาบน้ำเสร็จทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ทำซ้ำติดต่อกัน 3-7 วัน หรือใช้ยาทา 25% Benzyl Benzoate lotion หรือยาทา Cromamiton และถ้าคันต้องรับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) และถ้ามีการติดเชื้อซ้อนต้องรับประทานยาปฏิชีวนะด้วย



[ที่มา..นิตยสาร fitness ปีที่ 10 ฉบับที่ 107]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1