เรียบเรียงโดย นพ.เติมศักดิ์ กุศลรักษา
หู
เป็นอวัยวะที่เรารู้จักกันดีเรียกได้ว่า พอเห็นหน้าใครก็จะเห็นลอยมาอยู่ 2 ข้าง แต่ทว่าความรู้เกี่ยวกับหู การทำงานของหู และการดูแลที่ถูกต้องนั้นคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้กัน
สำหรับองค์ประกอบหูส่วนนอกสุด ที่เราเห็นกันทุกคนคือ ใบหู และอันดับต่อไป ที่เร้นลับเข้าไป คือ รูหู โดยบริเวณส่วนนอกเท่านั้น ที่มีต่อมสร้าง ขี้หู ทำให้เราพบขี้หู อยู่รอบ ๆ บริเวณปากทางเข้ารูหู ซึ่งมีหน้าที่ดักฝุ่น สิ่งสกปรก ไม่ให้เข้าไปถึง เยื่อแก้วหู ธรรมชาติ สร้างรูหู ให้มี รูปร่าง เป็นกรวย มีปากทางเข้า กว้างกว่า รูหูส่วนใน
ขี้หูที่สะสมอยู่นี้ ปกติจะแห้ง หลุดออกมาได้เอง โดยไม่เคลื่อนตัวเข้าไปในส่วนลึก ๆ ของรูหู จึงไม่จำเป็น ที่จะต้องแคะหู หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดหู เพราะบ่อยครั้ง อาจจะดันให้ขี้หูเข้าไปสะสมในรูหูส่วนใน หรือทำให้รูหูถลอก อักเสบ- ติดเชื้อได้ หนังหุ้มรูหูส่วนในนั้น เปราะบางมาก เวลาแหย่หูลึก ๆ แล้วไปกระแทกโดนเข้า จะเจ็บมาก
หลายคนเข้าใจผิดว่า ควรต้องเช็ดรูหู ให้สะอาดเสมอ หรือเช็ดหูให้สะอาดเสมอ หรือเช็ดหูด้วย ไม้พันสำลี หลังอาบน้ำทุกครั้ง แต่จริง ๆ แล้ว มีขี้หูเคลือบรูหูบ้าง จะดีกว่า เพราะยิ่งเช็ด หรือแคะหูมาก รูหูจะยิ่งแห้ง และคันหูได้มากกว่า ส่วนกรณีหลัง การอาบน้ำหรือสระผม ถ้าน้ำเปียกหู อาจใช้ไม้พันสำลี ชนิดเนื้อแน่น ขนาดเล็ก ซับน้ำที่ปากรูหูนิดหน่อยก็พอ
แต่ถ้าน้ำเข้าหูเป็นชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออกมา หูยังอื้ออยู่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีขี้หูอยู่ในส่วนลึกของรูหู ซึ่งอมน้ำไว้ กรณีนี้ ควรให้แพทย์หู-คอ-จมูก ตรวจทำความสะอาดหู แพทย์อาจล้างหู ด้วยการฉีดน้ำ หรือใช้เครื่องดูดขี้หู แล้วแต่ความเหมาะสม
ผู้ที่มีปัญหาขี้หูมากหรือขี้หูแห้ง คันหูมาก หลังจากให้แพทย์ทำความสะอาดแล้ว อาจใช้น้ำมันพวก GLYCERINE, BABY OIL หยอดหูอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จะช่วยชะล้างรูหูให้สะอาดขึ้นได้
วิธีนี้ยังใช้ได้ดีกับเด็กเล็ก ๆ เพราะรูหูเล็กเช็ดก็ยาก แคะก็ยาก
|
นพ.เติมศักดิ์ กุศลรักษา
main |