มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 21 ฉบับที่ 318 สิงหาคม 2541 ]

กรน อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

พ.ญ.ลำดวน นำศิริกุล


ในปัจจุบันเราพบว่า การกรนเกิดจากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง จากการมีกล้ามเนื้อทางเดินหายใจที่หย่อนยานเกินไป โดยทั่วไปมักพบบริเวณลิ้นไก่ เพดานอ่อนและบริเวณต่อมทอนซิล

เสียงกรน ในขณะที่นอนจะมีเสียงดังคร็อกฟี้ เสียงแรก (คร็อก) เป็นเรื่องที่เป็นปัญหา ที่เราสนใจทางการแพทย์ เนื่องจากเสียงคร็อกนี้เอง ที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อ ที่หย่อน ขวางทางเดินหายใจ ส่วนเสียงฟี้ เป็นเสียงลมหายใจออกมา ซึ่งไม่มีความสำคัญ ทางการแพทย์มากนัก การกรนพบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของประชากรทั่วไป แต่ในผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปี พบว่าอาจนอนกรนได้ถึงร้อยละ 50 พบ อาการกรนในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง เนื่องจากในผู้สูงอายุ และคนอ้วน จะมีเนื้อเยื่ออ่อนที่นุ่มหย่อนกว่าคนหนุ่มสาว ส่วนในผู้ชาย ที่มีการกรนมากกว่าผู้หญิงนั้น สันนิษฐานว่า เกิดความแตกต่างของระดับฮอร์โมนเพศ เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยที่กรนสามารถบรรเทาได้ โดยการให้ยาในกลุ่มโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนของเพศหญิง

ปัญหาที่เกิดจากการกรน
ผลของการกรนนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการตีบตันของทางเดินหายใจ ถ้าขนาดของ ทางเดินหายใจลดลงไม่มาก การกรนก็จะน้อย แต่ถ้าแคบมาก การกรนก็มาก ผลตามมา ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว การกรนจะทำให้เกิดผลกระทบ 2 ด้าน คือ
ปัญหาทางสังคม มีตั้งแต่รบกวนผู้อื่น คนข้างเคียงที่นอนด้วย ความสัมพันธ์ระหว่าบุคคล แย่ลง เกิดการหย่าร้างของสามีภรรยา
ปัญหาทางการแพทย์ เกิดภาวะการหยุดหายใจจากการอุดตันขณะนอนหลับ โรคความดัน โลหิตสูง โรคหัวใจ อาการง่วงในช่วงกลางวัน การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

ถ้าตัวเราหรือญาติพี่น้องของเรากรนมากกว่าปกติ เราควรค้นหาว่าการกรนนั้น มีปัญหาต่อผู้ป่วย หรือไม่ โดยมีหลักดังนี้

  1. ถามประวัติการเจ็บป่วย ตลอดจนถึงการใช้การบันทึกเสียงกรน
  2. ตรวจหู คอ จมูก เนื่องจากปัญหาการกรนและการหยุดหายใจขณะนอนหลับจะเป็น ปัญหาของทางเดินหายส่วนบน ซึ่งสามารถตรวจหาพยาธิสภาพโดยง่าย โดยแพทย์หู คอ จมูก การตรวจที่สำคัญได้แก่
    1. ตรวจหาทางเดินหายใจและทางเดินอาหารส่วนบน ตรวจดูจมูกเพื่อค้นหาความผิด ปกติต่าง ๆ เช่น การคดงอของแผ่นกั้นโพรงจมูก ริดสีดวงจมูก การบวมพองของเยื่อบุจมูก เนื้องอก การอักเสบของจมูก และไซนัส ตรวจดูเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิลทั้งหมด ผนังคอ ลิ้นกระดูกขากรรไกร และลำคอส่วนต้น ทั้งนี้เพื่อค้นหาว่ามีการหย่อนยาน ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ เนื้องอก หรือมีการตีบตันของช่องทางเดินหายใจ ในบริเวณนั้น ๆ หรือไม่ เพราะเป็นต้นเหตุของการนอนกรนได้
    2. ตรวจกล่องเสียง
  3. การตรวจด้วยกล้องเพื่อตรวจทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะในรายที่ตรวจยาก หรือต้องการตรวจที่ละเอียดพิเศษ ซึ่งอาจตรวจไม่พบจากการตรวจด้วย กระจกสะท้อนทั่วไป
  4. การตรวจพิเศษ ส่วนมากจะทำเพื่อการวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาได้แก่
    1. การบันทึกเสียงขณะนอนหลับ
    2. Poly Somnoqraphy เพื่อตรวจหาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ใช้ในการ วางแผน การรักษา เป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหายใจในขณะนอนหลับ ข้อมูลที่เราจะได้จากการทำ
      Poly Somnoqraphy คือ
      1. ดูคลื่นสมองเพื่อดูระดับความตื้นลึกของการหลับ
      2. ดูการเคลื่อนไหวของลูกตาขณะหลับเพื่อบันทึกการหลับ ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวลูกตาเร็ว (Rapid eye movement - REM)
      3. ดูการทำงานกล้ามเนื้อ เป็นข้อมูลของกล้ามเนื้อบริเวณคาง และทางเดินหายใจว่ามีการตึงตัวหรือหย่อนยานเท่าไร
      4. คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
      5. การเคลื่อนไหวของทรวงอก ซึ่งจะบอกว่า ผู้ป่วยมีการใช้กำลัง และความพยายามในการหายใจ มากน้อยเพียงไรขณะที่มีการอุดตัน ของทางเดินหายใจ
      6. วัดลมหายใจทางจมูกและปาก
      7. วัดระดับออกซิเจนในเลือดขณะนอนหลับ
      8. ท่านอน
    3. Multiple Sleep Latency test (MSLT) คือระยะเวลาที่บุคคลหนึ่งใช้ในการเริ่มนอน จนถึงช่วงเวลาที่หลับสนิท โดยทั่วไป การทดสอบนี้มักทำในห้องปฏิบัติการ ค่าปกติ บุคคลทั่วไป มักใช้เวลาก่อนที่จะหลับสนิทไม่น้อยกว่า 6-15 นาที แต่ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการหยุดหายใจจากการอุดตันขณะนอนหลับมักมีค่า MSLT น้อยกว่า 4 นาที ซึ่งอธิบายจากการที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับการพักผ่อน ที่แท้จริงในขณะที่นอนแต่ละครั้ง ทำให้ผู้ป่วยหลับง่ายและเร็วกว่าคนปกติ
    4. เอกซเรย์เพื่อดูขนาดของทางเดินหายใจ และความผิดปกติของตำแหน่งสำคัญต่างๆ ภายในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ลำคอส่วนบน ต่อมแอดดินอยด์ (ต่อมนี้มีผลต่อทางเดินหายใจ ถ้าต่อมนี้บวม จะทำให้หายใจขัด) ต่อมทอนซิล โคนลิ้น และลำคอส่วนล่าง

การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการกรนหรือการหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะมีหลักกว้าง ๆ ดังนี้

  1. ลดปัจจัยต้นเหตุ
    1. ท่านอน ในขณะนอนตะแคงผู้ป่วยจะมีอาการน้อยกว่าท่านอนหงาย บางรายใช้ลูก เทนนิสติดที่หลังชุดนอนเพื่อเตือนให้ตัวเองนอนตะแคง ก็สามารถช่วยได้พอสมควร แต่ค่อนข้างที่จะน่ารำคาญ
    2. ความอ้วน การลดความอ้วนทำให้เนื้อเยื่อทางเดินหายใจลดขนาดลง ระบบทางเดินหายใจก็จะกว้างขึ้น การกรนก็จะลดลง
    3. งดการดื่มแอลกอฮอร์และยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท เพราะยากล่อมประสาทจะทำให้กล้ามเนื้อหย่อน
    4. โรคทัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ก็เป็นสาเหตุให้นอนกรนได้
  2. การรักษาทางยา ใช้ยากระตุ้นศูนย์การหายใจ หรือยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบการนอน การใช้ยาเหล่านี้จะต้องให้แพทย์ดูแลใกล้ชิด
  3. การรักษาโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจพิเศษ เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจไม่แคบลงขณะหลับ เช่นเครื่อง CPAP หรือใช้ Tongue-relaiming device เพื่อช่วยไม่ให้ลิ้นตกไปด้านหลัง
  4. การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อรักษาผู้ป่วยนอนกรนและอุดกั้นทางเดินหายใจ มีจุดประสงค์เพื่อขยายเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น โดยการผ่าตัดส่วนที่ปิดกั้นทางเดินหายใจออกไป

การเลือกวิธีรักษาผู้ป่วยนอนกรน หรือSleep apnea syndtome (การหยุดหายใจขณะ หลับ) นี้ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างตั้งแต่ความรุนแรงของโรค สาเหตุการเกิดโรค ดังนั้นการเลือกวิธีรักษาผู้ป่วยต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ตามความเมาะสม

สรุป การกรนเกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ถ้ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจไม่มากก็ไม่มีผลต่อสุขภาพ แต่ถ้ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากอาจทำให้มีการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ การนอนหลับนั้นจะไม่สนิททำให้มีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ ดังนั้นถ้าเราหรือญาติของเรามีอาการกรนดังมากผิดปกติ ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดและหาหนทางรักษาต่อไป ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสมผู้ป่วยจะมีการฟื้นตัวของร่างกายและสมรรถภาพในการทำงาน ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

พ.ญ.ลำดวน นำศิริกุล


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1