มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 9 กันยายน 2540 ]

นัยน์ตาขาวของเรา มีคุณค่าอย่างไร

หมอพัตร


ทราบหรือไม่ว่าส่วนที่เป็นสีขาวในลูกนัยน์ตาของเรา หรือนัยน์ตาขาวมีคุณค่าอย่างไร

ผมเองก็ไม่เคยคิดมาก่อน จนกระทั่งไปอ่านพบในบทความในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อ Nature ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 1997 จึงได้ซึ้งว่า นัยน์ตาขาวมีคุณค่าแก่การดำเนินชีวิตมากเกินกว่า ที่เคยคิด ธรรมชาติมิได้สร้างให้มนุษย์มีนัยน์ตาขาวไว้เพียงเพื่อให้เป็นโรคตาแดง หรือต้อเนื้อเท่านั้น จะบอกให้

คุณค่าส่วนใหญ่ของนัยน์ตาขาว เป็นไปในแง่นามธรรมมากกว่ารูปธรรม ซึ่งถ้าไม่พิจารณาให้ถึงแก่นก็คงนำไม่ถึง ถ้าไม่เชื่อก็ลองติดตามต่อไปได้ครับ

นักวิทยาศาสตร์แห่ง สถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ญี่ปุ่น กล่าวว่าการที่มนุษย์มีรูปลักษณะของดวงตา เรียวยาว มีส่วนที่เป็นนัยน์ตาขาวเห็นได้ทั้ง 2 ข้าง ของนัยน์ตาดำ หรือถ้าทำตาโต ก็เห็นได้รอบนัยน์ตาดำ ถือเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างไปจากบรรดาสัตว์ตระกูลลิง หรือ Primate ที่ชาร์ลส์ ดาร์วินกล่าวว่า เป็นญาติใกล้ชิด มาจากรากเหง้าเดียวกับมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์คณะนี้ยังกล่าวด้วยว่า ในบรรดาสัตว์ตระกูลลิงทั้ง 88 ชนิดที่ได้พากเพียรนำมาศึกษาดู ไม่ปรากฏว่ามีชนิดใด ที่มีลักษณะช่องเปิดของนัยน์ตาแบบมนุษย์ ส่วนมากช่องนัยน์ตามีรูปร่างกลม เห็นนัยน์ตาดำเต็มหรือเกือบเต็ม หานัยน์ตาขาวเป็นกระสายยาก

ดร.ฮิโรมิ โคบายาชิ และ ดร.ชิโร โคชิม่า สันนิษฐานว่า มีเหตุผล 2 ประการ สำหรับอธิบายถึง การมีนัยน์ตาขาว เห็นได้ถนัดชัดเจนในมนุษย์

เหตุผลประการแรกเกี่ยวเนื่องมาจาก รูปลักษณ์ของดวงตา ช่องเปิดของดวงตามนุษย์เรียวยาวไปตาม แนวระดับ ผิดกว่าลิงทั้งหลาย ยกเว้นพวกที่อาศัยอยู่บนพื้นราบ สัตว์ที่ดำรงชีวิตส่วนใหญ่ อยู่บนต้นไม้สูงแบบลิง มักมีนัยน์ตากลม เพื่อสามารถเคลื่อนไหวดวงตาได้คล่องในแนวดิ่ง จะได้มองในยามที่ห้อยโหนจากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่งได้สะดวก มนุษย์วิวัฒนาการ จนมาดำรงชีวิตอยู่บนพื้นโลก อันเป็นพื้นราบแนวระดับ (หรืออย่างน้อยก็ก่อนหน้าที่เราจะย้ายขึ้นไปอยู่คอนโดมิเนียมและอาคารสูง ๆ อีก) ในสภาพการณ์แบบนี้การเคลื่อนที่ในแนวระดับย่อมมีความสำคัญกว่าในแนวดิ่ง

ยามต้องการมองไปรอบด้าน การใช้วิธีเหลือบตาย่อมสะดวกและมีประสิทธิภาพมากกว่า การหันไปทั้งศีรษะ ดังนั้นสัตว์ขนาดใหญ่ในตระกูล Primate แบบมนุษย์ ย่อมมีเหตุผลสมควร ที่จะวิวัฒน์ให้สามารถเหลือบตาไปด้านข้างมากที่สุด (ทำให้อดคิดถึงเล่าปี่ ตัวละครเอก ในพงศาวดารจีน เรื่องสามก๊กไม่ได้ เล่าปี่มีนัยน์ตาเรียวยาว จนสามารถเหลือบไปเห็น ใบหูของตนเองได้ ถือว่ามีวิวัฒนาการในการมองด้านข้างได้ถึงจุดสุดยอด)

สัตว์หลายชนิดวิวัฒน์ไปอีกแบบหนึ่ง คือ มีดวงตาอยู่ทั้ง 2 ข้างของศีรษะ เพื่อจะได้ไม่ต้องหันหัว เวลามองรอบด้าน (แต่ยังไม่มีสัตว์ชนิดไหนที่ก้าวหน้าจนมีดวงตาอยู่ด้านหลัง) การมีดวงตาอยู่ 2 ด้านแบบนี้ แม้จะมีความคล่องตัวแต่ก็มีจุดอ่อนที่เห็นภาพเป็น 2 มิติ ไม่มีส่วนลึก สู้มนุษย์ที่ดวงตาอยู่ด้านหน้าทั้งคู่ไม่ได้ เพราะภาพบางส่วนจะเหลื่อมกันช่วยให้เห็นได้ทั้งกว้าง, ยาว และลึก เป็นภาพ 3 มิติ

ความจริงดวงตาส่วนที่เรียกว่า นัยน์ตาดำมีหลายสี ไม่เฉพาะแต่สีดำ อาจเป็นสีน้ำตาล สีเขียว สีน้ำเงิน หรือสีเหลือง (เช่นนัยน์ตาไก่) สัตว์ที่ช่องดวงตากลมนัยน์ตาดำ (Iris) จะกินพื้นที่เต็ม หรือเกือบเต็มช่องเปิดของลูกตา ยังไม่มีผู้ใดอธิบายอย่างแจ่มแจ้งได้ว่า สีของตามีความจำเป็น หรือมีเพื่อประโยชน์อันใดนอกจากดูสวยงาม ในแง่วิทยาศาสตร์มันไม่ได้ช่วยในการมองเห็นแต่อย่างใด เพราะแสงผ่านเข้าไปทางช่อง เล็ก ๆ หรือรูม่านตา (Pupil) ซึ่งสามารถหด หรือขยายตัว ตามความเข้มของแสงเท่านั้น บางคนเชื่อว่าสีของม่านตาใช้ป้องกันความจ้าแต่ก็ยังฟังไม่ค่อยขึ้น

ที่น่าจะเป็นไปได้และน่าเป็นเหตุผล ที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับสีของนัยน์ตา คือ ใช้เพื่อพราง มิให้สัตว์อื่นทราบเป้าหมายของการมองนั่นเอง

นัยน์ตาขาวทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นดวงตา นับแต่ม่านตา, ผิวหนังขอบตา และตัวลูกตาเอง ความแตกต่างนี้ทำให้สังเกตได้อย่างง่ายดายว่า เจ้าของดวงตากำลังเพ่งมองอะไรอยู่

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า มีการแตกต่างกันระหว่างคนเรากับสัตว์ตระกูลลิง ส่วนใหญ่ในเรื่องที่ว่า คนเราไม่ปิดบังว่ากำลังมองอะไรอยู่

สัตว์ตระกูลลิงมีความสามารถที่จะพรางทิศทางการมอง (พูด ง่าย ๆ ว่าแอบมอง) โดยไม่ให้เป้าหมายรู้ตัว การที่ลิงตัวเล็ก ๆ พรางทิศทางการมอง เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้มัน รอดตัวพ้นเงื้อมือสัตว์นักล่า เพราะสัตว์นักล่าคิดว่าเหยื่อไม่รู้ตัวเปิดโอกาสให้มันหนีไปได้

เขาจึงสรุปว่า เหตุผลประการที่ 2 ที่เกี่ยวเนื่องกับการมีนัยน์ตาขาวอยู่ 2 ข้างของนัยน์ตาดำในมนุษย์ ก็เพื่อช่วยสื่อความหมายนั่นเอง

การหลบตาหรือสู้ตา รู้สึกว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญของมนุษย์ การจ้องมอง ถือเป็นการไร้มารยาท แต่ถ้าเบนสายตาไปทางอื่นขณะพูดจาพาทีกัน ก็พึงรู้เถิดว่า เขาไม่ได้ให้ความสนใจในตัวท่าน หรือเรื่องที่ท่านพูดเลย

การจ้องมองตากัน อาจหมายถึง ความพิศวาส การข่มขู่หรือการจอมจำนนก็ได้ ถ้ามีพลังอำนาจเหนือกว่า การจ้องมองอย่างเขม็ง, หรี่ตาเล็กน้อย แสดงถึงความก้าวร้าว จะทำให้ผู้ที่ด้อยกว่าถึงกับศีรษะตก เหลือบตาขึ้น แสดงถึงการยอมจำนนโดยสิ้นเชิง

การเหลือบมองด้วยหางตา ที่เรียกกันทั่วไปว่า "เหล่" บอกให้ทราบว่ารู้สึกไม่ชอบใจ หรือดูหมิ่น เวลาประหลาดใจจะทำตาโต ช่องนัยน์ตาเบิกกว้างเห็นนัยน์ตาขาวมากขึ้น

การกลอกตาไปมาประหลับประเหลือก สะบัดหน้าแสดงว่าไม่พอใจ เรียกกันทั่วไปว่า "ค้อน" การจ้องมองผู้อื่นอย่างไม่เกรงใจ ถือเป็นการไม่สุภาพ ถ้าสู้ตากันไม่ยอมหลบ ถือเป็นการข่มขู่ ท้าทาย อาจลุกลามไปถึงขั้นใช้กำลังกายได้

ทั้งหมดข้างต้นนี้ มีนัยน์ตาขาวเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น มนุษย์ยังมีความสามารถในการเน้น สัญญาณของดวงตา โดยใช้การตกแต่งช่วย เช่นการใช้เมคอัพ อายชาโดว์ ระบายขอบตาให้เข้ม หรือเปลี่ยนรูปให้เรียวยาวยิ่งขึ้น บางคนระบายเสียจนเกินเหตุ แทนที่จะสวยเลยกลายเป็นน่ากลัวไปเลย

หมอพัตร


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1