มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2541]

ทางเลือกเพื่อสุขภาพ

เภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์


เช้าวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกอ่อนเพลีย หัวใจห่อเหี่ยว หายใจไม่เต็มอิ่ม ครั้นตอนสายคุณมีหัวใจเต้นรัวตามมาด้วยภาวะนิ่ง จนคุณคิดว่าคงตายเสียแต่นาทีนั้น แต่แล้วมันกลับหายไป

อาทิตย์ต่อมาคุณปวดร้าวที่หน้าอก ต้องทรุดนั่งมือกุมหัวใจ โอย…เราเป็นอะไรไป ภรรยาของคุณแนะนำให้ไปหาหมอ แค่คิดก็เหนื่อยใจเสียแล้ว

คุณตื่นแต่เช้ามืด นั่งรถเมล์ไปถึงโรงพยาบาลของรัฐตอนตีห้า มีคนนั่งรอทำบัตรอยู่นับร้อย คุณกระเสือกกระสนแย่งรับบัตรคิวนั่งหลับ รอ…รอ และรอ

สิบโมงกว่า พยาบาลเรียกคุณเข้าตรวจ หมอถามสี่ห้าประโยค ฟังหัวใจ จ่ายยาให้ลอกกินดูก่อน คุณไม่รู้หรอกว่ายาอะไร แต่ไม่กล้าถามเพราะหมอมีสีหน้าเรียบเฉย ดูเหมือนมีคนไข้รออยู่ข้างนอก อีกมาก

เพียง 5 วัน อาการปวดหัวใจกลับมาอีก คุณไปหาหมอคนเดิม หมอสั่งคุณวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดูเส้นกราฟในกระดาษแล้วจ่ายยา คุณกินยาแล้วกลับไปใหม่ หมอจับคุณเอ็กซเรย์ ตรวจเลือด วัดหัวใจ คุณกลับบ้านกินยาครั้งแล้วครั้งเล่า ยากว่าสิบถุงยังกองอยู่ในชั้นวางยาที่บ้าน บางตัวกินแล้ว หลับกลางวัน โดนเจ้านายดุ บางตัวทำให้หัวใจเต้นรัว คุณต้องกิน เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

จนวันหนึ่งหมอก็บอกว่า คุณไม่ได้เป็นอะไรหรอก เครื่องวัดทุกชนิด บอกว่าคุณปกติดี คุณไม่กล้าเถียง แต่ลึกในใจคุณรู้ดีว่ามีบางอย่างผิดปกติ

สามเดือนต่อมา อาการของคุณเลวลงมาก หมอฉีดสีเข้าหัวใจ ตรวจอย่างละเอียดแล้วบอกว่า คุณต้องผ่าตัดหัวใจ ถ้าคุณไม่ทำ หมอไม่สามารถช่วยอะไรได้

คุณรู้สึกตกใจกลัว เศร้าหมอง และหดหู่ในเมื่อหมอช่วยคุณไม่ได้ แล้วใครในโลกนี้จะช่วยคุณได้

นี่มิใช่เรื่องเกินเลย ความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้รับความหวัง จากการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน มะเร็งระยะสุดท้าย โรคเอดส์ โรคหัวใจ ปวดหัวเรื้อรัง โรคกระเพาะ ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อมีทางเลือกอื่น ๆ ผู้ป่วยจึงไม่รีรอ

การแพทย์ทางเลือก
ทางเลือกอื่น ๆ นี้เอง เป็นที่มาของปรากฏการณ์ความนิยม ที่คนรุ่นใหม่มีต่อ "การแพทย์ทางเลือก" หรือ "ALTERNATIVE MEDICINE"หลายชนิดมีรากฐานจากภูมิปัญญาตะวันออกกว่าพันปี เช่น การฝังเข็ม การใช้สมุนไพร ใช้อาหารเป็นยา ซี่กง อายุรเวช การนวด โยคะ ฯลฯ

ในอดีตการแพทย์ทางเลือกเคยถูกมองด้วยความรังเกียจเดียจฉันท์ ยาสมุนไพรถูกประณามว่า ยาผีบอก หมอพื้นบ้านกลายเป็นหมอเถื่อนด้วยความรู้ภูมิปัญญาไทยขาดการยอมรับ เห็นแต่ข้อดีของ การแพทย์แผนตะวันตก การเรียนการสอนแพทย์แผนไทยถูกตัดออกไปจากสารบบ มาตรฐานการศึกษาไทย

เปิดใจรับ
ถึงวันนี้แพทย์รุ่นใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศ กำลังเปิดใจยอมรับการแพทย์ทางเลือกมากขึ้น เพราะต่างเห็นข้อดีข้อด้อยของการแพทย์แบบแผน และแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลทันสมัย หลายแห่ง เช่นศิริราช รามาธิบดี ยอมรับการใช้สมุนไพร การฝังเข็ม การนวด อายุรเวช และโภชนบำบัด

"ปัญหาของการแพทย์แผนปัจจุบันคือ แพทย์ถูกสอนให้มองหาพยาธิสภาพเป็นสำคัญ จนบ่อยครั้งไม่มีเวลาสื่อสารกับความเป็นคนของผู้ป่วย" นายแพทย์ ดร.สเตฟาน เรชส์ชาฟเฟน แห่ง สถาบันโอเมกา สหรัฐอเมริกา เคยให้ความเห็นในนิตยสารไทม์ "ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายกับ การได้รับยาแบบเดิม ๆ ซ้ำซาก ๆ คำตอบเก่า ๆ พวกเขาเริ่มเรียนรู้ว่า โรคร้ายมิได้ตกลงมาจากฟ้า แต่มีที่มาที่ไปซับซ้อน"

ความซับซ้อนที่ผู้ป่วยยากจะทำความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการตัดสินชะตาตนเอง พวกเขาเรียนรู้ว่า ยาเพียง 2-3 ชนิดไม่อาจแก้ไขต้นเหตุของโรคเรื้อรังได้

บทความของคณะแพทย์ไทยในวารสารหมออนามัย ปีที่ 6 ฉบับ 5 มี..-เม.ย. 2540 ได้สะท้อนออก ถึงการยอมรับแนวทางการรักษาแบบอื่น ๆ ที่มิใช่การแพทย์แบบแผนตะวันตก อย่างผู้เปิดใจกว้าง เมื่อมีหมออนามัยท่านหนึ่งถามความเห็นเรื่องพลังจักรวาล

"…เรื่องพลังงานจักรวาลนี้ จัดเป็นการแพทย์ทางเลือกแบบหนึ่ง (Alternative medicine) โดยวิวัฒนาการแล้ว การแพทย์มีหลากหลาย อย่างที่เรียกว่า การแพทย์พหุลักษณ์ ที่มีหลากหลาย เพราะไม่มีระบบใดใช้ได้ดีทุกเรื่อง ทุกครั้ง และใช้ได้กับทุกคน…

…คิดว่าเราควรมองด้วยสายตาเป็นกลาง ไม่มองด้านลบหรือด้านบวกด้านเดียว และรู้จักใช้ ให้เป็นประโยชน์ เช่น ถ้าคนที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ คลอดลูกไม่ออก แบบนี้การแพทย์แผนปัจจุบันช่วยได้ดี คนที่เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย การแพทย์ต่าง ๆ อาจมีประโยชน์

พวกเราทั้งหมอ หมออนามัย ได้รับการศึกษาเฉพาะแผนปัจจุบัน เมื่อหยิบแว่นตาแบบแผนปัจจุบัน มาส่องดูการแพทย์ทางเลือก ก็มักจะมองด้านลบเท่านั้น การวางใจให้เป็นกลาง และใช้ปัญญาตัดสิน เลือกทางที่เหมาะที่สุด จะก่อประโยชน์ได้สูงสุด …"

ใช่ครับ เมื่อหยิบแว่นสีเขียวสวมใส่ โลกทั้งใบก็ดูจะเขียวไปหมด อะบราฮัม มาสโลว์ กล่าวไว้อย่างคมคายว่า ถ้าคุณถูกฝึกให้ใช้ค้อน โลกทั้งใบก็เป็นเสมือนตะปู

นายแพทย์ดีน ออร์นิช แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิจารณ์การแพทย์แผนปัจจุบันว่า แพทย์ถูกฝึกให้ใช้ยาและการผ่าตัดเป็นเครื่องมือรักษาโรค ดังนั้นแนวทางการรักษา จึงมุ่งไปที่การใช้ยาหรือการผ่าตัด

และความเคยชินเช่นนี้ถูกถ่ายทอดต่อมายังผู้ป่วยด้วยเช่นกัน คุณหงุดหงิดและผิดหวังไหม หากไปหาหมอแล้วไม่ได้รับยา มีเพียงคำอธิบายยืดยาว เรื่องวิถีสุขภาพ

ทุกวันนี้ การแพทย์ทางเลือกกำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในประเทศไทย มีการกล่าวถึง การแพทย์ทางเลือก ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ว่า "ส่งเสริมให้มีการดำเนินการพัฒนาภูมิปัญญา ทางด้านการรักษาพยาบาล แบบพื้นบ้าน เช่น แพทย์แผนไทย สมุนไพรและการนวด ประสานเข้ากับ ระบบบริการแพทย์ปัจจุบัน" และมีการก่อตั้ง สถาบันการแพทย์แผนไทย ให้เป็นส่วนหนึ่ง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2536

ปรากฏการณ์ยอมรับการแพทย์ทางเลือกมิได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย ในปี 1991 สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาแสดงความสนใจการแพทย์ทางเลือก โดยมีมติให้จัดตั้ง สำนักงานแพทย์ ทางเลือก (Office of Alternative Medicine) เป็นส่วนหนึ่งของ สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการแพทย์ทางเลือกแบบต่าง ๆ

ในระดับอุดมศึกษา คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ได้เปิดภาควิชาการแพทย์ทางเลือก ในคณะแพทย์ศาสตร์เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ทำไมการแพทย์ทางเลือกจึงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน
พิเคราะห์ดู มีเหตุผลหลายประการ
1. การแพทย์ทางเลือกส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นการแพทย์แบบองค์รวม กล่าวคือ แพทย์ทางเลือก มักให้ความสนใจผู้ป่วยอย่างรอบด้าน ทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ สังคม ความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม ขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันจะมองเน้นเฉพาะอวัยวะที่เจ็บป่วย แพทย์แผนปัจจุบันบำบัดอวัยวะ ที่เป็นโรค แต่แพทย์วิถีธรรมชาติจะมุ่งปรับความสมดุลของร่างกาย จิตใจ และวิยญาณ ผู้ป่วยจึงรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า
2. ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการรักษา สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง เขาสามารถถามได้ว่าถ้าฝังเข็มชุดนี้ แล้วจะหายแน่หรือ ขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันส่วนใหญ่อาจไม่พอใจที่ถูกถามด้วยคำถามเดียวกัน
3. โดยเฉลี่ยการรักษาด้วยวิธีของแพทย์ทางเลือกมักมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า และประชาชน สามารถฝึกปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
4. เชื่อว่าการกินยาสมุนไพร ฝังเข็ม ปรับอาหารเป็นยา นวดโยคะ มีอันตรายน้อย ความปลอดภัยค่อนข้างสูง
5. แพทย์ทางเลือกให้ความหวังแก่ผู้ป่วยที่กำลังสิ้นหวังจากการแพทย์แบบแผนปัจจุบัน

ข้อด้อยของการแพทย์ทางเลือกสำคัญคือ บางวิธีไม่มีหลักฐานพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพียงพอ แต่ผู้สนับสนุนก็แย้งว่า ถึงแม้ประสิทธิภาพของการแพทย์ทางเลือกยังน่าสงสัย แต่การแพทย์ทางเลือกส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมากกว่าพันปี เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมานาน มีการลองผิดลองถูก อย่างน้อยมันก็ไม่ก่ออันตรา

วารสาร Your Health ได้พูดน่าฟังว่า "การรักษาที่เหลวไหล ไร้การพิสูจน์" มิได้เหลวไหลเสมอไป มีบ้างบางครั้ง สิ่งที่เหลวไหล เมื่อพิสูจน์ กลับพบว่ามีประสิทธิภาพจริง เช่น กรณีของ ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว สั่งจ่ายมะนาวเป็นยารักษาโรคลักปิดลักเปิด ผู้คนพากันหัวเราะเยาะ จนถึงวันนี้ เราจึงรู้ว่ามันมิใช่สิ่งเหลวไหลอีกต่อไป

ในบรรดาการแพทย์ทางเลือกทั้งหลาย การใช้อาหารเพื่อการเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และบำบัดโรคกำลังได้รับความนิยมสูงสุด ถือเป็นกระแสหลักหรือ Mainstream ของการแพทย์ทางเลือกเลยทีเดียว

ยาจากอาหาร
นายแพทย์ประเวศ วะสี แพทย์แมกไซไซ กล่าวไว้ในหนังสือ "รักษาโรคหรือรักษาคน" ว่า

"คนนั้นมีชีวิตจิตใจ มีครอบครัว มีอาชีพ มีสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน ถ้าสนใจเฉพาะโรค แต่ไม่สนใจความเป็นคนของผู้ป่วย ก็จะแก้ปัญหาได้ไม่หมด หรือก่อปัญหาใหม่ หรือก่อความทุกข์ยากให้แก่ผู้ป่วยได้"

คนสมัยก่อนอาจยอมรับได้กับการนั่งคอยสองชั่วโมง พบแพทย์สิบนาที กลับบ้านพร้อมยาห่อใหญ่ โดยไม่มีคำอธิบาย แต่คนรุ่นใหม่เริ่มเรียกร้องที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ต้องการข้อมูลการรักษามากขึ้น ต้องการให้แพทย์ใส่ใจความเป็นคนของพวกเขามากขึ้น

การศึกษาของ ดร.โกลด์ชมิดต์ จิตแพทย์ ชาวเยอรมัน ระบุว่า แพทย์ไทยไม่ค่อยพูดคุยกับผู้ป่วย และผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า คนรุ่นใหม่กำลังมีพฤติกรรม การบริโภคบริการทางแพทย์เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด พวกเขาสนใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น เน้นการดูแลตนเองเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคมากกว่าการรักษาที่ปลายเหตุ เห็นได้ชัดจากกระแสชีวจิตในห้วงที่ผ่านมา

ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในหัวข้อ "พฤติกรรมการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพ ของคนกรุงเทพฯ" พบว่าคนกรุงเทพฯ เคยบริโภคอาหารเสริมสุขภาพถึงร้อยละ 49 หรือครึ่งต่อครึ่ง เลยทีเดียว และอาหารเสริมสุขภาพยอดนิยม 5 อันดับของชาว กทม.คือ ข้าวซ้อมมือ ถั่วต่าง ๆ ชาสมุนไพร กระเทียมแคบซูล และวิตามินชนิดเม็ด/แคปซูล โดยเหตุผลสำคัญคือ ต้องการรักษาสุขภาพ และป้องกันโรค

ทุกวันนี้ การแพทย์ทางเลือกแตกเถาเหล่ากอไปมากกว่า 30 ทางเลือก มีทั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์จ๋า คือ มีงานวิจัยสนับสนุนจนกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แบบแผนไป จนถึงการรักษา แปลกพิสดารจนน่าจะเชื้อว่าต้มตุ๋นเพื่อประโยชน์การค้า

ยาจากอาหาร
นอกจากแนวคิดกินอาหารเป็นอาหารแล้ว ยังมีแนวคิดแบบใหม่ที่จะใช้สารสำคัญทางยา ที่อยู่ในอาหาร ทำให้อาหารกลายเป็นยาป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ และในบางกรณีบำบัดบรรเทาโรคอีกด้วย แนวคิดเช่นนี้จัดอยู่ในกลุ่มการแพทย์ทางเลือก และจัดเป็นกระแสหลักของการแพทย์ทางเลยทีเดียว

อันที่จริง การใช้อาหารเป็นยาเกิดขึ้นหลายพันปีแล้ว ชาวสุเมเรียน รู้จักใช้กระเทียมเป็นยา เมื่อสี่พันปีก่อนกำเนิดพระคริสต์

สมัยอียิปต์ มีบันทึกปรากฏอยู่ในตำราการแพทย์ที่ทำจากกระดาษปาปีรัสว่า ตับสัตว์ สามารถบรรเทาโรคตาบอดในเวลากลางคืนได้

กาเลน (AD130-210) ปรมาจารย์ทางการแพทย์ยุคโรมัน เคยใช้เวลาศึกษา อาหารที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะของอาหาร และในวงการทหารทุกชาติทุกภาษา จะกล่าวถึง การเลี้ยงดูกองกำลังให้สมบูรณ์ หาวิธีการตระเตรียมเสบียงกรังที่จะช่วยเสริมพลังการรบ

สามร้อยปีที่แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าทำไมชาวเรือที่รอนแรมในท้องสมุทรนาน ๆ จึงมีอาการเจ็บเหงือก ฟันโยกคลอน เลือดออกตามไรฟัน ถ้านานไปไม่ได้ขึ้นฝั่ง ฟันอาจร่วงหมดปากถึงตายในที่สุด เสบียงของชาวเรือมักมีเพียงอาหารแห้งจำพวก ขนมปังแข็ง เนื้อแห้ง ผลไม้แห้ง

เมื่อเจ็บป่วยกันบ่อย ชาวเรือเริ่มสังเกตตัวเอง พวกเขาพบว่า หากได้ขึ้นฝั่งกินอาหารสดเป็นครั้งคราว อาหารลักปิดลักเปิดจะหายไปในเวลาอันรวดเร็ว แสดงว่ามีตัวยาวิเศษบางอย่างในอาหารสด

ศัลยแพทย์ เจมส์ ลินด์ เป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโรคกับอาหาร ได้ในปี ค.ศ.1753 ผู้ป่วยลักปิดลักเปิดที่โดยสารมากับเรือของอังกฤษ "ซาลิสเบอรี" ถูกนำมาทดลองรับการรักษา โดยดื่มของเหลวต่างชนิดกันคือ น้ำทะเล น้ำส้มสายชู น้ำกรดกำมะถันเจือจาง น้ำแอปเปิ้ลไชเดอร์ และน้ำส้ม-มะนาว พบว่า กลุ่มที่กินน้ำส้ม-มะนาว จะหายจากโรคลักปิดลักเปิดในเวลาเพียงไม่กี่วัน

เชื่อหรือยังครับว่า อาหารเป็นยาได้

หลายปีต่อมา ราชนาวีอังกฤษจึงได้ออกกฎหมายบังคับให้เรือทุกลำ จัดให้มีมะนาวเป็นส่วนหนึ่ง ของเสบียงลูกเรือ กลาสีอังกฤษยุคนั้นจึงถูกล้อเลียนว่า พวก "มะนาว" (Limey)

อัลเบิร์ต ซานต์-จอร์จ (Albert Szent-Gyorgui) นักชีวเคมีชาวอเมริกันเกิดในกรุงบูดาเปสต์ เป็นคนแรกที่สามารถแยกวิตามินซีออกมาจากพืชสำเร็จในปี ค.ศ.1920 และได้รับรางวัลโนเบล จากผลงานชิ้นสำคัญนี้ในปี ค.ศ.1973

ค.ศ.1766 แพทย์บางท่านในประเทศอังกฤษ สั่งน้ำมันตับปลาเพื่อรักษาโรคบางชนิด ผู้คนทราบข่าว พากันหัวเราะ คิดว่าหมอเพี้ยนทุกวันนี้หมอแผนปัจจุบันทุกคนรู้จักน้ำมันตับปลาเป็นอย่างดี

ค.ศ.1907 เภสัชกรตำรับสหรัฐอเมริกาบันทึกไว้ว่า ลูกพรุนมีสรรพคุณเป็นยาระบาย

ตำรับยาไทย จัดกระเพรา ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นยาร้อน และใช้กันมาหลายร้อยปี

แต่ภูมิปัญญาการใช้อาหารเป็นยาค่อย ๆ ลบเลือนไปตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความรู้ทางเคมี ฟิสิกส์รุ่นใหม่ ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วในวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ พร้อมกับวิชาวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้ทุ่มตัวค้นคว้า หาสารสำคัญที่อยู่ในพืช นำมาดัดแปลงให้มีฤทธิ์รุนแรง และพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น โดยใช้ความรู้ทางเคมีฟิสิกส์แผนใหม่ ยาใหม่ ๆ ถูกผลิตและค้นคว้าทั่วทุกมุมโลก

ผลสำเร็จของการค้นพบยาใหม่ทำให้เภสัชกรละเลยการค้นคว้ายาเก่า ๆ ที่เคยมีประโยชน์ไปชั่วคราว พวกเขาลืมไปว่ากระเทียมสดสามารถฆ่าเชื้อราที่ผิวหนังได้ พวกเขาละเลยฟ้าทะลายโจรที่ฆ่าเชื้อไวรัสบางชนิดได้อย่างชะงัด ลืมไปว่าแอสไพรินครั้งหนึ่งเคยสกัดจากต้นไม้ตระกูลหลิว

แต่แล้ว ความสำเร็จทางเภสัชศาสตร์มาพร้อมกับมหันตภัยมืดที่มนุษย์คาดไม่ถึง เช่น ในช่วงกึ่งพุทธกาล ยาแก้แพ้ท้องชื่อ ทาลิโดไมด์ได้ ทำให้เด็กบางรายเกิดมา พร้อมอาการหัวโตเท่าบาตร แขนขาลีบเล็ก จนมีคนนำไปแสดงตามงานวัด เพราะคิดว่าเป็นเปรตเกิดในท้องมนุษย์

นอกจากผลข้างเคียงร้ายแรง อัตราการเกิดโรคใหม่ ๆ เช่น มะเร็งก็สูงขึ้นน่าตกใจเช่นกัน การเกิดพิษจากยาไทยเพิ่มจาก 0.5 รายในปี 2526 เป็น 1.18 รายต่อแสนในปี 2531 แนวคิดในการป้องกันและรักษาโรคโดยใช้สารธรรมชาติ จึงกลับก่อกระแสแรงขึ้นมาใหม่อีกครั้ง มีนักวิจัยจำนวนไม่น้อย สนใจศึกษาหาคุณประโยชน์ทางยาจากอาหารที่เรารับประทาน ในชีวิตประจำวัน   เฉพาะในปี 2528 มีรายงานการวิจัยกว่า 5,000 ชิ้น เผยแพร่โดย นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลกกว่า 300 คน รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลด้วย พวกเขารายงานการค้นพบความสามารถของพืช ที่เป็นอาหารในการรักษาโรค ได้ชะงัดกว่าการใช้ยาเสียอีก

แนวคิดการรักษาโรคสมัยใหม่จึงเริ่มเปลี่ยนไป แพทย์ได้ตระหนักแล้วว่า การจ่ายยาเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้อีกต่อไป โรคร้อยละแปดสิบป้องกันได ้ ยาและการผ่าตัด ไม่ใช่คำตอบเบ็ดเสร็จ สำหรับผู้ป่วย

ทำไมคนไข้จึงต้องจ่ายเงินมากมายให้บริษัทยาในเมื่อหอมหัวใหญ่ ช่วยป้องกันโรคหัวใจ เทียบเท่ายาโคเลสทายรามีน ซึ่งดีและแพงที่สุดในปัจจุบัน
อาหารจำพวกไฟเบอร์สามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างที่ไม่มีตัวยาใดทำได้
ขมิ้น สามารถนำมาใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
ขิง สามารถป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ ได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน
กระเทียม สามารถลดคอเลสเตอรอล

อาหารอีกมากมายก่ายกอง ไม่ว่าจะเป็นพริกไทย แคร์รอต รำข้าว ข้าวซ้อมมือ ถั่วเหลือง ฯลฯ สามารถบรรเทาโรคหรือป้องกันโรคได้ เพียงแต่ขนาดที่ใช้ในการบริโภคปกติ กับขนาดเพื่อการรักษา อาจแตกต่างกัน

และนี่เองคือที่มาของแขนงความรู้การแพทย์ทางเลือกที่มีจุดมุ่งหมายที่ป้องกันและรักษาโรค โดยใช้อาหารหรือสารอาหาร เช่น
เภสัชโภชนา (Food Pharmacy)
โภชนบำบัด (Food Therapy หรือ Diet Therapy)
สารอาหารบำบัด (Nutritional Therapy)
นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย สนับสนุนการนำอาหารมาประสานใช้ในการรักษาโรค ร่วมกับยาเพื่อลดอันตรายจากยา ลดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญคือ อาหารบางตัวมีฤทธิ์แรงกว่ายาเสียอีก หากใช้ได้อย่างถูกวิธี

งานวิจัยที่ตีพิมพ์แทบทุกวันจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้เราได้พบแนวคิดใหม่ในการป้องกันตนเอง จากโรคเรื้อรังหลายชนิด ช่วยให้รับทราบประโยชน์ของอาหารในการรักษาโรคเพิ่มขึ้น รวมถึงทราบความมหัศจรรย์ของอาหารบางตัวในแง่มุมที่คาดไม่ถึง และบางครั้งสามารถแสดงกลไก การออกฤทธิ์ของสารสำคัญในอาหาร (Food' s Pharmacological effects) ได้

แนวคิดทำอาหารให้เป็นยา มิได้ส่งเสริมให้ผู้ป่วยเลิกกินยาแล้วหันมากินอาหารเพื่อรักษาโรค เพียงอย่างเดียว แต่ช่วยหาหนทางให้คนรุ่นใหม่รับประทานอาหารให้เหมาะกับโรค โดยใช้ขนาดอาหารที่ถูกต้อง เพื่อให้ออกฤทธิ์เป็นยาได้ด้วย เป็นการเสริมฤทธิ์กันระหว่างอาหารกับยา

วันนี้ คนกลุ่มหนึ่งได้แหวกกระแสวัฒนธรรมการแพทย์แบบแผน มองหาแนวทางที่เข้าหาธรรมชาติ เหมือนบรรพบุรุษ เลือกสิ่งที่ดีกว่าด้วยตนเอง คุณล่ะ?

สัปดาห์หน้า ผมจะเสนอแนะแนวทางการใช้อาหารเพื่อช่วยบรรเทาสิว

เภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์


ขอบคุณหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1