มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



อาหารกับโรคอัลไซเมอร์


อัลไซเมอร์ (AlZheimer's disease) เป็นโรคความจำเสื่อมชนิดหนึ่ง ที่มักพบในผู้สูงอายุประมาณ 75 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในคนที่อายุน้อยหรือวัยกลางคน ผู้ป่วยจะมีอาการขี้หลงขี้ลืม บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีอาการกลัวอย่างขาดเหตุผล อารมณ์บางครั้งฉุนเฉียวรุนแรง ซึมเศร้า และนานวันเข้า ไม่อาจแก้ไขให้สู่สภาพเดิมได้ ชื่อของโรคนี้ตั้งตามชื่อ ดร.อะลอยส์ อัลไซเมอร์ (Alosis Alzheimer) ผู้ที่พบโรคนี้

ในคนสูงอายุการทำงานของสมองจะลดลง แต่โรคนี้แตกต่างไปจากโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ เซลล์ประสาทในสมองส่วนกลางพันกันยุ่งเหยิง และพบโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อ อะมีลอยด์ (amyloid) อยู่รอบๆ เซลล์ประสาทในสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความจำ เส้นเลือดที่นำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองค่อยๆ เสื่อมลง ทำให้เซลล์สมองตายไปทีละน้อย ปริมาณของสารที่ทำหน้าที่ ส่งผ่านคลื่นสมองลดลง ทำให้ความจำค่อยๆ เสื่อมลง ขาดความคิดอ่านเหตุผล และในที่สุดไม่รับรู้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อถึงขั้นรุนแรงการทำงานของร่างกายเสียไป เช่น ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้

10 สัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์

คนจำนวนมากที่เริ่มมีอาการหลงลืม มักจะหวาดผวาคิดว่า อัลไซเมอร์มาเยือนก่อนเวลา ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตไว้ 10 ประการสำหรับคนที่เริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์
1. ความจำเสื่อมจนมีผลกระทบกับการทำงาน
2. ไม่สามารถทำงานยากๆ ที่เคยทำได้อีกต่อไป
3. มีปัญหาในการใช้ภาษา
4. จำเวลาและสถานที่ไม่ได้
5. ไม่สามารถตัดสินใจได้หรืออาจจะตัดสินใจผิดๆ ตลอดเวลา
6. มีปัญหากับความคิดแบบนามธรรม
7. วางของแล้วลืมที่
8. อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางลบ
9. บุคลิกเปลี่ยนไปในทางลบ
10. ขาดความกระตือรือร้น ความคิดริเริ่ม

ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้

อายุ การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในหญิงวัยหมดประจำเดือน จีน หรือยีนอี 4 การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดการขาดสารอาหารบางชนิดที่มีผลเกี่ยวข้องกับโรคนี้ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักทำให้ขาดวิตามิน-แร่ธาตุเป็นเวลานาน สารอาหารที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ ได้แก่ อะลูมิเนียม โคลีน วิตามินบี 12 และวิตามินอื่นๆ
  • อะลูมิเนียม ผู้ป่วยโรคนี้มักมีปริมาณอะลูมิเนียม ในสมองสูงกว่าปกติ เราไม่ทราบแน่ชัดว่าการที่ร่างกายสะสม สารอะลูมิเนียมมากเกินควรจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ แต่ข้อมูลพบว่าคนที่ทำงานในโรงงานอะลูมิเนียมอาจเป็นมะเร็ง เนื่องจากพิษของอะลูมิเนียม แต่กลับไม่พบโรคอัลไซเมอร์ในคนเหล่านั้น
    อะลูมิเนียม จากอาหารส่วนใหญ่มาจากการใช้ภาชนะจากอะลูมิเนียม เช่น การชงกาแฟ อะลูมิเนียมห่ออาหาร ยาลดกรด ยาขจัดกลิ่นตัว อาหารตากแห้งจากแสงแดด ขณะเดียวกันอาหารที่มีแคลเซียมสูง สามารถลดการดูดซึมของอะลูมิเนียมในร่างกายได้ ฉะนั้นการดื่มนมไม่ได้ป้องกันกระดูกพรุนอย่างเดียว แต่ยังมีผลในการลดการสะสมอะลูมิเนียมในร่างกายด้วย

  • โคลีน เป็นสารอาหารที่ผลิตขึ้นได้ในร่างกาย และเป็นส่วนประกอบของเลซิติน เป็นส่วนหนึ่งของสารอะซีทิล-โคลีน ที่ทำหน้าที่เป็นสารสื่อข่าวในสมอง คนที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณสาร อะซีทิลโคลีนในสมองลดน้อยลง การเสริมอาหารชนิดนี้ อาจช่วยให้คนที่เป็นโรคความจำเสื่อมชั้นต้นมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่ในคนที่เป็นมากการเสริมด้วยโคลีนหรือโลซิติน ไม่มีผลแต่อย่างใด

  • วิตามินบี 12 ผู้ป่วยโรคนี้มักมีระดับวิตามินบี 12 ในเลือดต่ำ ข้อมูลเปิดเผยว่า 70% ของคนสูงอายุที่ขาดวิตามินบี 12 มีอาการของโรคความจำเสื่อมร่วมด้วย แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การขาดวิตามินบี 12 เป็นสาเหตุสำคัญหรือผลของโรคนี้

  • สารอาหารชนิดอื่น คนที่เป็นโรคนี้มักมีระดับวิตามินอี วิตามินซี ไนอะซิน และกรดโฟลิคในเลือดต่ำ การเสริมสารอาหารเหล่านี้ จะช่วยให้สภาวะโภชนาการของร่างกายดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้หายจากโรค

ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ควรกินอย่างไร

คนที่มีอัลไซเมอร์เซลล์สมองส่วนที่ควบคุมการกินอาหารเสื่อมสภาพ ทำให้เบื่ออาหาร เมื่อโรคดำเนินไปทำให้คนที่เป็นอัลไซเมอร์ ไม่สามารถเตรียมอาหารเองหรือกินอาหารได้เองต้องป้อนกันเหมือนเด็กๆ ปัญหาโภชนาการเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถเลือกซื้อของกินได้ หรือบางคนจะจำไม่ได้ว่ากินแล้วหรือยัง คนที่เป็นโรคนี้ จึงไม่ควรถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว ส่วนใหญ่กว่าที่จะรู้ว่าเป็นโรคนี้ ร่างกายก็จะเกิดปัญหาการขาดสารอาหารแล้ว คนที่มีโรคนี้จึงควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ระวังอย่าให้น้ำหนักตัวลด พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เช่น กินมากอย่างไม่บันยะบันยัง จะพบในระยะเริ่มแรกของโรค มีความต้องการกินของหวานๆ ซึ่งอาจจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่เป็นพฤติกรรมชั่วคราวเท่านั้น กรณีที่มีอาการเช่นนี้ ควรเลือกอาหารที่มีแคลอรีหรือพลังงานต่ำ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางคนอาจจะปฏิเสธไม่อยากกินอาหาร กรณีนี้จะต้องเลือกอาหารที่มีสารอาหารเข้มขึ้น ให้กินทีละน้อยแต่กินบ่อยขึ้น และกระตุ้นให้กินเมื่อเกิดความรู้สึกอยากกิน

เมื่อโรคกำเริบขึ้น คนที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีอาการสับสน ขาดความสนใจกับสิ่งรอบกาย จะต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เวลากินอาหารไม่ควรให้มีสิ่งใด หันเหความสนใจจากอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ ทีวี สัตว์เลี้ยง เสียงโทรศัพท์ หรือเด็กๆ มารบกวน การดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ จึงเปรียบเหมือนการดูแลเด็กเล็กนั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ดูแลจะต้องใส่ใจก็คือ อุณหภูมิอาหารไม่ควรร้อนจนลวกปาก เพราะผู้ป่วยโรคนี้ มักจะขาดการรับรู้ไม่สนใจกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ แม้กระทั่งอุณหภูมิที่ร้อนเกินไป และบ่อยครั้งจะถูกอาหารร้อนๆ ลวกปาก อาหารที่เหนียวหรืออาหารกรอบไม่ควรจัดให้ผู้ป่วยเหล่านี้ เพราะจะทำให้สำลักได้ง่าย คนที่ดูแลผู้ป่วยโรคนี้ จะต้องมีความอดทนอย่างมาก เพราะผู้ป่วยอาจจะอมอาหารไว้ในปากเฉยๆ ลืมแม้กระทั่งการเคี้ยว และกลืน อาจจะคายอาหารออกมา และเล่นอาหาร และในที่สุด ก็จะไม่กินอาหาร

คุณแนนซี รีแกน ภรรยาอดีตประธานาธิบดี รีแกน ของสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่าเครียดมากกับการดูแลอดีตประธานาธิบดี รีแกน ผู้ตกเป็นเหยื่อของโรคอัลไซเมอร์เพราะยิ่งนานวันอาการก็ยิ่งมากขึ้น แต่คุณแนนซี ก็ต้องอดทนกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของสามี แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามให้การดูแลพยาบาลสามีที่รักอย่างดีที่สุด

อาหารป้องกันหรือชะลออาการโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีอาหารชนิดใดที่จะรักษาอัลไซเมอร์ได้ แต่งานวิจัยที่พบให้ความหวังในอนาคตว่าการเสริมสารอาหารบางชนิด อาจช่วยชะลออาการของโรครวมทั้งลดอาการความจำเสื่อมในคนเหล่านี้ สารอาหารที่เป็นความหวังโรคความจำเสื่อมขณะนี้คือ วิตามินอี อาจจะป้องกันเซลล์สมองจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน มีรายงานว่า คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่ได้รับวิตามินอีวันละ 2000 ไอยู ไม่ทำให้อาการดีขึ้น แต่ชะลอไม่ให้อาการเลวลง แต่สมาคมอัลไซเมอร์ ของอเมริกาก็ยังไม่แนะนำให้ใช้วิตามินอีในระดับสูงเช่นนั้น

สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย หรือ กิงโก้บิโลบา มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน และต้านการบวม นักวิจัยเชื่อว่ากิงโก้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ที่ไปเลี้ยงสมอง จึงมีการใช้สกัดจากใบแป๊ะก๊วยในการเพิ่มความจำ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้หายจากอาการหลงลืมอย่างที่โฆษณากัน ในประเทศเยอรมนี มีการใช้กิงโก้ในการรักษาโรคความจำเสื่อม การวิจัยพบว่า คนที่ได้รับกิงโก้ที่เป็นสูตรมาตรฐาน 27% ของคนเหล่านั้นมีอาการดีขึ้นในขณะที่คนที่ได้รับกิงโก้หลอก 14% ก็มีอาการดีขึ้นเช่นกัน นักวิจัยจึงยังไม่มีข้อสรุปและยังคงต้องวิจัยกันต่อไป

คาร์นิทีน เป็นสารอีกตัวหนึ่งที่นักวิจัยให้ความสนใจ เพราะอาจจะช่วยเพิ่มสารสื่อข่าวในสมองที่ชื่อว่า "อะซีทิลโคลีน" ในการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ในคนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ที่เริ่มมีอาการโรคอัลไซเมอร์ เมื่อให้อะซีทิลแอล-คาร์นิทีนวันละ 3 กรัม ช่วยชะลออาการไม่ให้เลวลงได้ดีกว่าคนที่ได้ยาหลอก แต่ในคนที่มีอายุ 65 ปีที่เริ่มมีอาการ กลับทำให้อาการเลวลง ฉะนั้นนักวิจัย จึงเตือนให้ระวังการใช้คาร์นิทีน

ฮิวเปอร์ซีน A (Huperzine A หรือ Hup A) เป็นสารสกัดบริสุทธิ์จากพืชตระกูลมอสของจีนชนิดหนึ่ง (Huperzine seirata) นักวิจัยพบว่าสารตัวนี้ยับยั้งการสลายตัวของสารอะซีทิลโคลีน ส่งผลให้สารสื่อข่าวในสมองลดลง แพทย์จีนใช้ Hup A ในการรักษาโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ นักวิจัยเชื่อว่า สารตัวนี้ทำงานคล้ายกับยาที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ คือ tacrine และ donepezil แต่จะมีพิษน้อยกว่ายา มีงานวิจัยขนาดเล็กรายงานไว้ว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ได้รับ Hup A วันละ 100-200 ไมโครกรัม มีอาการดีขึ้นเล็กน้อย

นอกจากนี้ ก็มีผลิตภัณฑ์อีกหลายตัวที่ติดกลุ่มความหวังของโรคอัลไซเมอร์ แต่ยังไม่ได้ทำการวิจัยอย่างจริงจัง ได้แก่ ดีเอชอีเอ (DHEA), คีโต -7 (keto-7), ฟอสฟาทิดิลซีรีน (phosphatidyl serine) และโคเอนไซม์ คิว 10

อาหารเป็นสิ่งดีไม่ควรมองข้าม

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะช่วยแก้ไขโรคอัลไซเมอร์ ทำให้อาหารได้รับความสนใจมาก จนทำให้อาหารที่ดีในชีวิตประจำวันถูกมองข้าม อาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไม่มีความอยากอาหาร ปัญหาในการกินอาหารทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และน้ำหนักลดลง ร่างกายอ่อนแอทรุดโทรม

ข้อสรุปขณะนี้คือ ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะช่วยป้องกัน หรือรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ และถ้าใครเริ่มมีอาการ หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้ ขณะเดียวกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบริโภคที่ไม่ดี และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช Registered Dietitian (USA) ที่ปรึกษาโภชนบำบัด โรงพยาบาลเทพธารินทร์

ศ.น.พ.เทพ หิมะทองคำ



[ ที่มา...หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 5-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543ล

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1