มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 20 ฉบับที่ 235 พฤศจิกายน 2541 ]

คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กาเฟอีน

ชัยชาญ แสงดี, อุดม จันทรารักษ์ศรี และคณะ


เครื่องดื่มและอาหารชนิดใดที่มีกาเฟอีน
ชา กาแฟ น้ำอัดลมประเภท น้ำดำ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่ม ช็อกโกแลต โกโก้ ช็อกโกแลตแท่ง ปริมาณกาเฟอีนโดยประมาณ ในเครื่องดื่มต่าง ๆ นั้นแตกต่างกัน


ปริมาณกาเฟอีนในเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ
ประเภทเครื่องดื่ม ปริมาณกาเฟอีน (มิลลิกรัม )
กาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม กระป๋องละ 74-212
เครื่องดื่มชูกำลัง ขวดละ 50
น้ำอัดลมโคคา-โคล่า กระป๋องละ 46
น้ำอัดลมเป๊ปซี่-โคล่า กระป๋องละ 38
ชา ถ้วยละ 28-44
กาแฟผงสำเร็จ ถ้วยละ (ขึ้นอยู่กับชนิดกาแฟและวิธีชง) 10-40

กาเฟอีนเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาผลของกาเฟอีนต่อระบบไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อไฟโบรซิสติก ระบบสืบพันธุ์ พฤติกรรมของเด็ก การคลอดทารกที่ผิดปกติ และการเกิดมะเร็ง ผลจากการวิจัยเหล่านี้พบว่า การได้รับกาเฟอีนในปริมาณไม่มากเกินไป จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีผลทำให้เกิดอาการใจสั่น รวมถึงไม่มีส่วนทำให้ กระดูกเปราะบางด้วย ซึ่งขนาดที่ได้รับ ไม่ควรเกินวันละ 350 มิลลิกรัม และไม่ควรกินเป็นเวลานานติดต่อกัน

กาเฟอีนทำให้เกิดปัญหาต่อการนอนไม่หลับหรือไม่
กาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมอง จึงทำให้ไม่ง่วงนอนแต่ผลของกาเฟอีนต่อการนอนหลับ ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ความไวของผู้นั้นต่อฤทธิ์กาเฟอีน ผู้นั้นดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เป็นประจำ หรือไม่ ปริมาณที่ดื่มต่อวัน และดื่มใกล้เวลานอนหรือไม่ เป็นต้น สำหรับผู้ที่ดื่มเป็นประจำ และไม่ได้ดื่มใกล้เวลานอน กาเฟอีนมักไม่มีผลต่อการนอนหลับ สำหรับผู้ที่ไวต่อฤทธิ์ของกาเฟอีน หรือผู้ที่ไม่ได้ดื่มกาเฟอีนเป็นประจำ หากดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน อาจทำให้นอนไม่หลับ ระยะเวลานอนหลับลดลง และนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นง่ายเมื่อมีสิ่งรบกวน

กาเฟอีนทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่
มีข้อสงสัยมานานแล้วว่า กาเฟอีนอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูล ยืนยันได้แน่ชัดว่า กาเฟอีนจะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง ไม่ว่าจากสมาคมโรคมะเร็ง แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) หรือจากการศึกษาอื่น ๆ บางรายงานที่พบว่ากาเฟอีน หรือกาแฟทำให้เกิดมะเร็ง ส่วนใหญ่มักจะละเลยปัจจัยการดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็ง การวิจัยที่มีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงไม่พอ รวมทั้งละเลยประเด็นผลแตกต่างของการดื่มสุรา หรือการสูบบุหรี่ ซึ่งยังคงอยู่อีกนาน แม้จะเลิกดื่มสุราหรือเลิกสูบบุหรี่แล้วก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ และผลตกค้างของการดื่มสุรา หรือการสูบบุหรี่ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งแทนที่จะเกิดจากกาเฟอีน

กาเฟอีนทำให้ความดันเลือดสูงหรือไม่
จากการศึกษาโดยนักวิจัยหลายกลุ่มพบว่า คนที่ไม่ดื่มหรือดื่ม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เป็นครั้งคราว กาเฟอีนทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่เป็นการเพิ่มชั่วคราว ส่วนผู้ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นประจำจะไม่มีผลต่อความดันเลือด

การดื่มกาแฟเพิ่มโคเลสเตอรอลในเลือดหรือไม่
สารในกาแฟที่ทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นคือ คาเฟสตอล (cafestol) และคาห์วิออล (kahweol) ซึ่งถูกกกรองได้โดยกระดาษกรอง ดังนั้นการดื่มกาแฟที่ชงจากกาแฟคั่วบด ที่ไม่ผ่านการกรอง จะทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นได้ ส่วนการดื่มกาแฟที่ชงจากกาแฟคั่วบด ที่ผ่านการกรอง หรือชงจากกาแฟผงสำเร็จ จะไม่ทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น สารทั้งสองนี้ถูกสกัดออกแล้ว จากกระบวนการเตรียมกาแฟให้เป็นผงสำเร็จ

กาเฟอีนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือไม่
กาเฟอีนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบางประเภทเท่านั้น เช่น งานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ งานที่ทำให้เวลากลางคืน และเนื่องจากกาเฟอีนไม่มีผลต่อความฉลาด ดังนั้น งานที่ต้องใช้ความคิด เช่น การทำข้อสอบจะไม่ดีขึ้น

การดื่มกาแฟระหว่างตั้งครรภ์ จะเป็นอันตรายหรือไม่
กาเฟอีนที่แม่ได้รับสามารถผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลแก่ทารกได้ เช่นเดียวกับผลที่เกิดในผู้ใหญ่ การศึกษาและทดลองในหนูพบว่า กาเฟอีนไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อ การคลอดลูกที่พิการ การแท้งลูก การคลอดลูกก่อนกำหนด หรือคลอดลูกน้ำหนักน้อยกว่าปกติ

กาเฟอีนเป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่
ถ้าได้รับไม่มากเกินไป กาเฟอีนไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่บางครั้งเด็กอาจได้รับกาเฟอีน โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของทั้งเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งอาจเกิดจากการดื่มน้ำอัดลมที่มีกาเฟอีน มากเกินไป หรือการกินช็อกโกแลตมากเกินไป ในกรณีเช่นนี้จะเห็นผลที่เกิดจากการกระตุ้นสมองได้ เช่น นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

การได้รับกาเฟอีนระดับสูง ระยะยาวมีอาการอย่างไรบ้าง
จะมีอาการกระวนกระวาย ตื่นเต้นง่าย ประสาทไหว หงุดหงิด มือสั่น อุณหภูมิในร่างกายสูง นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็ว และใจสั่น อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับ ผู้ที่ได้รับกาเฟอีน เกินกว่า 600 มิลลิกรัมต่อวัน

พิษเฉลียบพลันที่เกิดจากการได้รับกาเฟอีนเกินขนาด มีอะไรบ้าง
กระสับกระส่าย หายใจเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องแบบตะคริว หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันเลือดอาจสูงขึ้น มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เกร็งหลังแอ่น ชัก และอาจเสียชีวิตได้ พิษเฉียบพลันของกาเฟอีนจะแปรผันโดยตรง กับขนาดที่ได้รับ ขนาดของกาเฟอีนที่ทำให้เกิด อาการเหล่านี้ต้องมากกว่า 5,000 มิลลิกรัม มักจะเกิดจากการกินยา หรือฉีดสารที่มีกาเฟอีน เป็นส่วนประกอบ เข้าไป เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นการพยายามฆ่าตัวตาย

การดื่ม ชา กาแฟ โคคาโคล่า เป๊ปซี่-โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง ทำให้ติดหรือไม่
ปกติการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ ไม่ทำให้ติด แต่ถ้าดื่มเป็นปริมาณมาก ๆ หรือบ่อย ๆ อาจจะทำให้ติดในลักษณะของการบริโภคจนเป็นนิสัย

ถ้าต้องการลดหรือเลิกการบริโภคกาเฟอีน จะทำได้อย่างไร

  1. ต้องมีความตั้งใจที่จะลดและเลิก
  2. ใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการบริโภค เช่น
  3. บางรายสามารถหยุดการบริโภคได้ทันที
ควรจะมีการแจ้งว่ามีกาเฟอีนบนบรรจุภัณฑ์หรือไม่
ควรจะมีการแจ้งว่า มีกาเฟอีนบนภาชนะผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลและเป็นการ คุ้มครองผู้บริโภค เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการกันในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ซึ่งถ้ามีการเติมกาเฟอีนจากภายนอกเข้าไปในอาหาร หรือเครื่องดื่มจะต้องแจ้งว่า "มีกาเฟอีน" บนภาชนะที่บรรจุอาหาร และเครื่องดื่มเหล่านั้น สำหรับประเทศไทยมีแต่เครื่องดื่มชูกำลังเท่านั้น ที่ต้องแจ้งว่ามีกาเฟอีน และปริมาณกาเฟอีน บนบรรจุผลิตภัณฑ์

กาเฟอีนมีประโยชน์ในทางการแพทย์หรือไม่
ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง โดยมักใช้เป็นยาเสริมกับตัวยาหลักบางอย่าง เช่น ใช้ผสมกับ ergot ในการรักษา โรคปวดศีรษะไมเกรน และผสมในยาแก้หวัด หรือยาแก้แพ้บางตำรับ ในหลายประเทศที่มีการใช้กาเฟอีนผสมกับยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน แต่ในประเทศไทยสูตรตำรับยาแก้ปวดที่ผสมกาเฟอีนได้เพิกถอนไปแล้ว

จากหนังสือ "แคฟเฟอีน :Facts & Issues"

โดย ชัยชาญ แสงดี, อุดม จันทรารักษ์ศรี และคณะ


ขอบคุณนิตยสารหมอชาวบ้าน ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1