ศ.น.พ.เทพ หิมะทองคำ
อาการอ่อนเพลีย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
เช่น ขาดอาหาร นอนไม่พอ เครียด ทำงานหนักเกินไป
ติดเชื้อหรือเจ็บป่วย อาการอ่อนเพลียถือเป็นอาการทางอารมณ์จิตใจ
และร่างกายที่พบได้เสมอๆ แต่อาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงเรื้อรัง
จนกระทั่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ฝรั่งเรียกว่า
"โครนิค ฟาทีคซินโดรม" (Chronic fatigue syndrome
หรือย่อว่า CFS)
ถ้าแปลตรงตัวก็คือ อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
อาจมีอาการอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ปวดเมื่อยเหมือนไข้หวัด
มีไข้อ่อนๆ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบวม กล้ามเนื้ออ่อนแรง
กล้ามเนื้อเปลี้ย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากออกกำลังกาย)
ปวดหัว ปวดตามข้อ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิในการทำงาน อ่านหนังสือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคนี้จะมีอาการหลายๆ
อย่างเรื้อรัง ถึง 6 เดือนขึ้นไป สาเหตุที่แท้จริงของ CFS
นี้ยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด
นักวิจัยบางคนเชื่อว่าสาเหตุอาจเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัส และพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเฉียบพลันก่อนที่จะมีอาการ CFS
เกิดขึ้น นักวิจัยบางคนก็เชื่อว่าระบบภูมิต้านทานถูกรบกวน
บางท่านก็ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยมีอาการเหมือนคนไข้โรคจิต และผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับยาต้านการซึมเศร้า
อาหารแก้เพลีย
เวลาที่ร่างกายขาดสารอาหารตัวใดตัวหนึ่ง
ก็สามารถทำให้เกิดอาการเพลียได้ ถ้าร่างกายได้รับพลังงาน หรือโปรตีนไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดอาการเซื่องซึม
เหนื่อยหน่ายเหมือนคนไร้ความรู้สึก คนที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
จนกระทั่งระบบภูมิต้านทานถูกกระทบไปด้วย
ก็จะทำให้มีอาการอ่อนเพลียได้เช่นกัน
สารอาหารที่เกี่ยวข้อง และมีผลต่อการเกิดอาการเพลียได้แก่
วิตามินบี วิตามินซี ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม เป็นต้น
วิตามินบี : วิตามินบีที่จำเป็นต่อการผลิตพลังงานจากอาหาร
คือ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 กรดแพนโทธีนิค และไนอะซิน ถ้าร่างกายขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้
อาจทำให้คนผู้นั้นมีความรู้สึกเพลียไม่มีแรง นอนไม่หลับ
แต่ถ้าร่างกายได้รับวิตามินบี 2 บี 6 บี 12 และไบโอติน
ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ซึ่งก็จะมีอาการเพลีย
เซื่องซึม เฉื่อยชา ขาดสมาธิ ออกแรงนิดหน่อยก็แทบจะล้มพับไปเลย
กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิบี ได้แก่ นักกีฬา
ผู้ที่ลดน้ำหนัก หญิงตั้งครรภ์ ชาวมังสวิรัติ
วิตามินซี : เคยมีรายงานการวิจัยว่า
ผู้ที่ได้รับวิตามินซีน้อยกว่าวันละ 100 มิลลิกรัม
จะมีอาการอ่อนเพลีย ในขณะผู้ที่ได้รับวิตามินซีวันละ 400 มิลลิกรัม แทบจะไม่รู้สึกกับอาการอ่อนเพลีย อาหารที่มีวิตามินซีสูง
อาจช่วยแก้ไขอาการอ่อนเพลียโดยการช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน
ต่อต้านการติดเชื้อ นอกจากนี้วิตามินซียังมีหน้าที่
ในการช่วยเปลี่ยนกรดอะมิโนทริปโตแฟน เป็นเซโรโทนิน สารสื่อข่าวในสมองที่ช่วยควบคุมการหลับ อาการซึมเศร้า
และความรู้สึกเจ็บปวด
ธาตุเหล็ก : ช่วยขนส่งออกซิเจนเข้าสู่เลือด
ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ถ้ากินอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ
ก็จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ เพลีย ไม่มีสมาธิ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
ได้แก่ เนื้อแดง สัตว์ปีก ปลา ถั่ว และผักใบเขียวจัด
แมกนีเซียม : แร่ธาตุตัวนี้มีหน้าที่สำคัญ
ในการเปลี่ยนอาหารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันเป็นพลังงาน
การขาดแมกนีเซียม ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ เพลีย
ไม่มีสมาธิ เบื่ออาหาร และซึมเศร้าได้
การวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์แธมตัน (Southamton)
ในประเทศอังกฤษ รายงานไว้ว่าผู้ป่วยที่มีโรค CFS
มีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ และการเสริมจะช่วยให้อาการ
และอารมณ์ดีขึ้น และยังอาจช่วยลดอาการหงุดหงิดวิตกกังวล
และนอนไม่หลับด้วย
วิตามิน และแร่ธาตุอื่นๆ : ที่อาจเกี่ยวข้องคือ วิตามินอี
และกรดโฟลิค การขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่งจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง
และอาการอ่อนเพลียได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ออกแรง
โรคโลหิตจางยังอาจมีสาเหตุมาจากการขาดโคบอลต์
หรือซีลีเนียมจากอาหารได้เช่นกัน
การขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น โซเดียม ซึ่งยากที่จะพบ
หรือการขาดโปตัสเซียม คลอไรด์ และแมงกานีส ก็ทำให้มีอาการเพลีย
และอ่อนแรงได้เช่นกัน
แร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งอาจเกี่ยวข้องคือ สังกะสี
ซึ่งมีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการผลิตพลังงาน ควบคุมการทำงานของอินซูลิน
และระดับน้ำตาลในเลือด ในขณะที่การได้รับซีลีเนียม แคดเมียม ตะกั่ว และอะลูมิเนียมก็ทำให้เกิดอาการเพลีย เซื่องซึม ไม่มีแรงได้เช่นกัน
งานวิจัยชิ้นใหม่พบว่า อาการ CFS อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติ
ในระบบประสาทที่ทำให้เกิดความดันต่ำ (neurally mediated hypotension) การให้โภชนาบำบัดกับโรคนี้คือ การเพิ่มเกลือหรือโซเดียมในอาหาร และดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเพิ่มเพื่อช่วยปรับความดันเลือดร่วมกับการให้ยา ปัจจุบันนักวิจัยกำลังหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ที่มีอาการ CFS
ข้อแนะนำทางโภชนาการ
วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน นักโภชนาการแนะนำให้กินอาหารไขมันต่ำ
กากใยสูง มีพลังงาน และโปรตีนเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ
ไม่งดอาหารเช้า กินทุก 4 ชั่วโมง
สรุปแล้วก็คือ หลักการมีโภชนาการดีที่เราเคยย้ำกันเสมอๆ
จะเป็นการป้องกัน และแก้ไขอาการโรคนี้ได้
หากสาเหตุมาจากการขาดสารอาหาร
นอกจากนี้แล้วควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันการขาดน้ำซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเพลียได้
จำกัดเครื่องดื่มคาเฟอีน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และอาหารที่มีน้ำตาลมาก พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
และรู้จักหลีกเลี่ยงความเครียดก็จะรอดพ้นจากอาการ CFS ได้แน่ๆ
ศัลยา คงสมบูรณ์เวช
Registered Dietitian (USA.)
ที่ปรึกษาโภชนาบำบัด โรงพยาบาลเทพธารินทร์
|