มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



ปรุงให้ปลอดภัย

ดร.วินัย ดะห์ลัน


กินอาหารให้ปลอดภัย ไม่ได้จำกัดกันอยู่แค่การเลือกอาหาร เท่านั้นนะครับ แต่ต้องรวมถึงวิธีการปรุงด้วย คราวนี้ลองมาดูกันดีกว่าว่า จะปรุงอาหารกันอย่างไร จึงจะปลอดภัยไร้กังวล โดยเรามาเริ่มต้นกัน ตรงจุดที่ว่า เลือกอาหารที่ค่อนข้างปลอดภัยมาเรียบร้อยแล้ว

อาหารปลอดภัย หมายถึงปลอดจากสารพิษ หรืออันตรายต่างๆ สิ่งที่ต้องการจะเน้นในที่นี้คือ อาหารสดที่ว่ากันว่าปลอดภัยแล้ว หากเก็บอย่างไม่ถูกต้อง หรือปรุงอย่างไม่ถูกวิธี อาจจะส่งผลให้เชื้อโรค ที่โดยปกติพบอยู่ทั่วไป ใช้อาหารสดเหล่านั้นเป็นสื่อกลางเข้ามาทำอันตราย ต่อ
สุขภาพของเราได้ วิธีการง่ายๆ ในการจัดการกับเชื้อเหล่านี้คือ การล้างมือและแยกภาชนะ

ในโรงเรียนแพทย์ สิ่งหนึ่งที่สอนกันแล้วสอนกันอีกคือ การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยหลักการที่ว่า มือเราต้องสะอาดทั้งก่อนและหลังการสัมผัสกับผู้ป่วย การล้างมือให้สะอาด นับเป็นวิธีง่ายๆ ที่ทั้งช่วยป้องกันผู้ป่วย ป้องกันผู้อื่นและตนเองจากเชื้อโรคประเภทต่างๆ การปรุงอาหารควรจะต้องใช้วิธีเดียวกัน

คำแนะนำง่ายๆ คือ ก่อนการเตรียมและปรุงอาหาร ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่สักครึ่งนาทีเสียก่อน อย่าล้างเพียงให้น้ำผ่าน แต่ควรล้างด้วยสบู่ดูแลจนกระทั่งมั่นใจว่ามือสะอาดแล้ว และควรจะต้องทำเช่นนี้จนเป็นนิสัย การล้างมือมิใช่แค่ก่อนปรุงอาหารเท่านั้น ควรฝึกนิสัยล้างมือหลังการสัมผัสสัตว์เลี้ยง การจับต้องอาหารสด ประเภทปลา เนื้อ ไก่ หรือสัตว์ปีก หรือแม้กระทั่งหลังการใช้ห้องน้ำ

ปัญหาที่พบบ่อยๆ ในอาหารริมถนนของบ้านเราคือ เมื่อทดลองนำมาเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการมักเป็นต้องเจอเชื้อ ประเภทอีโคไล เชื้อประเภทนี้พบได้ในสิ่งปฏิกูลต่างๆ แสดงให้เห็นว่า คนปรุงและคนเตรียมอาหารมักจะไม่ล้างมือก่อนที่จะสัมผัสอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเข้าห้องน้ำมาใหม่ๆ

มีอยู่หลายคนที่ล้างมือเหมือนกัน แต่ล้างอย่างลวกๆ แบบขอไปที หากไม่ระมัดระวังอย่างนั้นจะเปิดโอกาสให้เชื้อจากอุจจาระ หรือสิ่งปฏิกูลติดเข้ากับอาหาร แม้จะติดมาในจำนวนน้อยมาก แต่เชื้อพวกนี้เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ยิ่งเมื่อมีโอกาสได้รับสารอาหารเต็มที่ ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ทิ้งไว้สักพักเชื้อที่น่ารังเกียจกลุ่มนี้ ก็สามารถเจริญเติบโตจนแทบจะเต็มอาหารได้แล้ว

อาหารพร้อมปรุงชนิดที่วางขายกันอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต หรืออาหารริมบาทวิถีในบ้านเรา หรือแม้กระทั่งอาหารตามร้าน หรือโรงอาหาร จึงไม่ค่อยจะสะอาดนัก หากนำเอาระบบสุขอนามัย จากประเทศพัฒนามาบังคับใช้กับร้านขายอาหารในบ้านเรา ที่รักษาสุขอนามัยกันชนิดตกๆ หล่นๆ มีหวังร้านค้ามากกว่าครึ่ง ถูกปิดกันไปหมด แม้แต่ร้านอาหารในโรงพยาบาล ก็อาจจะต้องปิดแทบไม่มีเหลือให้ได้เห็น

การสร้างนิสัยการล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำยาสักครึ่งนาที ให้น้ำผ่านมากๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรรณรงค์ให้ทำกันเป็นนิสัย ร้านค้าริมบาทวิถีประเภทที่ตักน้ำใส่กระป๋องนำมาล้างจานชามกันตามมีตามเกิด ความเสี่ยงมีมากอยู่แล้วผู้ขายในร้านประเภทนี้ยิ่งจะต้องรักษา สุขอนามัยให้มากกว่าร้านอาหารประเภทอื่นเสียด้วยซ้ำ

ในการปรุงอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารตามสั่ง เมื่อใช้มือสัมผัสกับเนื้อสด ปลาสด ไก่สด อาหารทะเลสด ควรจะได้รับรู้กันไว้สักหน่อยว่ามือของเราได้สัมผัสกับเชื้อโรค ที่เจริญเติบโตค่อนข้างรวดเร็วในอาหารสดเหล่านั้นแล้ว การปรุงอาหารควรปรุงให้สุกเพื่อ ทำลายเชื้อโรคที่มีอยู่

สำคัญอย่างยิ่งคือ เมื่อปรุงเสร็จแล้ว การใช้มือที่ยังไม่ได้ล้าง สัมผัสกับจานชาม จะต้องล้างมือหรือเช็ดมือให้สะอาดเสียก่อน การสัมผัสจานชามหรือภาชนะ จะต้องจับก้นภาชนะอย่าล้วง หรือใช้นิ้วหัวแม่มือจับเข้าไปภายในภาชนะ เพราะเชื้อที่ติดค้างอยู่ในมือ จะยังมีชีวิตอยู่และจะปะปนกลับเข้าสู่อาหารที่ปรุงแล้วได้ จึงขอเตือนให้ระวังกันหน่อยก็แ ล้วกัน

บริเวณที่ปรุงอาหาร จะเป็นเคาน์เตอร์ เขียง หรือมีด หากใช้หั่นอาหารดิบแล้วจะต้องล้าง การหั่นอาหารสุก ไม่ควรใช้มีดหรือเขียงที่ผ่านการหั่นอาหารประเภทเนื้อหรือปลาดิบมาแล้ว หากจำเป็นจะต้องใช้ร่วมกัน ควรจะต้องล้างทำความสะอาดเสียก่อน ต้องระวังไว้เสมอว่าอาหารประเภทเนื้อดิบ ไก่ดิบ ปลา หรือสัตว์น้ำดิบ เป็นแหล่งแพร่เชื้อค่อนข้างดี มีคนอเมริกัน คนญี่ปุ่น บาดเจ็บล้มตายไปเพราะเชื้อจากเนื้อดิบเหล่านี้จำนวนไม่น้อยแล้ว อย่าให้มาเกิดในบ้านเรา ให้อับอายขายหน้าได้ก็แล้วกัน

การนำเนื้อหรือของสดแช่แข็งออกมาทำละลาย ควรทำโดยการแช่น้ำแล้วทิ้งไว้ในตู้เย็น หรือมิฉะนั้น ก็หั่นเนื้อเฉพาะที่ต้องการปรุงออกมาทำละลายในตู้ไมโครเวฟ กรณีหลังนี้เมื่อเนื้อแช่แข็งกลับอ่อนนุ่มแล้วให้นำไปปรุงทันที ไม่แนะนำให้ทิ้งเนื้อค้างไว้นานๆ เพราะบอกไว้แล้วว่า เนื้อสดที่มีเลือดติดค้างอยู่ลักษณะนี้ เป็นแหล่งเพาะเชื้ออย่างดี ทิ้งค้างไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเข้า เชื้อจะเจริญได้ดีนักแล

ไก่สดสับหรือเนื้อสดสับหรือประเภทบด หากซื้อมาแล้วควรรีบปรุงทันที ไม่แนะนำให้ซื้อมาเก็บไว้ในตู้เย็น เพราะโอกาสที่เชื้อจะเจริญในเนื้อประเภทนี้มีมากยิ่งกว่าเนื้อ หรืออาหารสดที่ยังไม่ได้สับหรือบด หากซื้อมาแล้วปรุงด้วยความร้อนสูง และทำเป็นอาหารภายในสองชั่วโมงได้ จะทำให้ปลอดภัยได้มากกว่า ที่จะทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืน แม้จะทิ้งไว้ในตู้เย็นก็ตามทีเถอะ

คอยตรวจดูด้วยว่า การเก็บอาหารสดประเภทเนื้อ จะต้องแยกออกจากผักและอาหารอื่น หากมีการสัมผัสกัน ต้องระวังอย่าให้สัมผัสกับอาหารที่แยกปรุง เป็นต้นว่าผักใช้ทำสลัด เกิดสัมผัสกับอาหารสดประเภทเนื้อ ควรจะแยกผักส่วนนั้นออกไปทำผัดหรือแกง หรือให้ผ่านความร้อนเสียเลยจะปลอดภัยกว่า

ดูแลความสะอาดไว้ได้อย่างนี้ ทั้งสุขภาพของคนปรุงอาหารเองและของผู้บริโภคจะปลอดภัยขึ้น ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังรณรงค์เรื่องการขอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก หากคู่แข่งซึ่งมีอยู่หลายชาติเอาเรื่องอาหารริมบาทวิถีในบ้านเรา ไปโพนทะนาว่าสุขอนามัยมีปัญหา สร้างความไม่ปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว เราอาจจะตายน้ำตื้นเอาได้ง่ายๆ เห็นทีต้องช่วยกันคนละไม้ คนละมือหน่อยแล้วละครับ



[ ที่มา...เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 407 วันที่ 20 - 26 มีนาคม 2543]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1