แต่ละปี มีข้อมูลออกมาจากทั่วโลกว่า ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินจำนวนมาก
ไปกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ด้อยคุณภาพ ไม่ให้ผลตามที่โฆษณาไว้
ผู้ประกอบการใช้เทคนิคการตลาดในการส่งเสริมการขาย เช่น
การใช้สื่อ การสร้างกระแส (Fad) การให้ข้อมูลเท็จ Fraud)
การใช้ผู้ที่ไม่มีความรู้จริง ในการนำเสนอข้อมูล (Quacker)
ในสหรัฐอเมริกาเองที่แม้ผู้คน จะมีมาตรฐานการศึกษาสูง
มีระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง แต่มีข้อมูลออกมาว่า
คนอเมริกันจ่ายเงินเป็นหมื่นล้านดอลลาร์
เพื่อการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทาน มีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ซื้อเองไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ให้ผลตรงตามที่ได้ข้อมูลมาหรือไม่ เป็นการซื้อโดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ
ทั้งสิ้น
คงต้องกล่าวก่อนว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใช่ว่า
จะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด มีบางผลิตภัณฑ์ให้ข้อมูลอย่างคลุมเครือ
กระทั่งเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค มีปัจจัยอยู่อย่างน้อยสี่ประการ ที่ทำให้ผู้บริโภคพากันแห่แหนไปซื้อหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
โดยไม่ใส่ใจเสาะหาข้อมูลที่หนักแน่นทางวิชาการมาสนับสนุน
การใช้จ่ายของตน ปัจจัยทั้ง 4 ประการมี ดังนี้
เชื่อง่าย - ผู้คนจำนวนไม่น้อย
ที่หลงเชื่อข้อมูลง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสาร
ผู้คนกลับเชื่อข้อมูลได้ง่ายขึ้น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต
กลายเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพล สามารถโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเชื่อได้ง่ายๆ และเมื่อเชื่อแล้วการลองซื้อผลิตภัณฑ์จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เมื่อประสบความล้มเหลวกับผลิตภัณฑ์หนึ่ง ก็พร้อมที่จะทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ เนื่องจากเกิดความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ลุ่มหลงปาฏิหาริย์ - ไม่น่าเชื่อว่าคนยุคใหม่
ลุ่มหลงสิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการกำหนดทำเลที่ตั้ง การดูรูปลักษณ์ของคน การทำนายโชคชะตาราศี ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีตำนานความเชื่อเกี่ยวพันอยู่ด้วย
ไม่ว่าจะเป็น นมผึ้ง รังนก โสม ฯลฯ จึงยังได้รับความนิยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย
หมดอาลัยตายอยาก -ผู้ป่วยที่หมดหวังกับชีวิต มีปัญหาเรื้อรังไปกับโรคบางชนิดเมื่อพบว่า
แพทย์แผนใหม่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ ย่อมค้นหาทางเลือกใหม่
เป็นที่ยึด เหตุนี้เองที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ที่แม้มีเหตุผลยืนยันทางวิชาการน้อยมาก
กลับสามารถเป็นทางออกให้กับผู้ป่วยประเภทนี้
ต่อต้านวิชาการ - ผู้คนจำนวนไม่น้อย
ไม่เชื่อมั่นศรัทธาวิชาการสมัยใหม่ มีความไม่ไว้วางใจแพทย์
หรือนักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควัตถุนิยม ที่แพทย์และนักวิชาการบางคนมีแนวโน้มที่จะแสวงหาประโยชน์
จากความเจ็บป่วยของคน ทำให้มีผู้ไม่วางใจความคิดเห็นของแพทย์มากขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดได้
ใช้เป็นช่องทางในการเข้าสู่ผู้บริโภคเหล่านั้นได้ง่าย
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ผู้ขายสามารถโน้มน้าวให้ผู้บริโภค
หันเข้าหาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยให้ความใส่ใจต่อการบริโภค
อาหารที่ถูกต้องน้อยลง เหตุผลดังกล่าว ได้แก่
1) เหตุผลที่ว่า พืชสัตว์ปัจจุบันขาดสารอาหารมากขึ้น
หากเป็นพืช ก็อ้างว่าทั้งดินและน้ำขาดแคลนแร่ธาตุ
ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนแต่เก่าก่อน หากเป็นสัตว์ก็ว่า
สัตว์ได้รับอาหารที่ขาดแคลนสารอาหาร นอกจากนี้ อาหารทั้งพืชและสัตว์ยังผ่านกระบวนการผลิตที่มีการฟอกสี
การขัดสี ทำให้สารอาหารหลายชนิดถูกขัดสีหรือฟอกออก
การขนส่งเป็นระยะทางไกล รวมถึงการปรุง
ได้ทำลายคุณค่าของสารอาหารหลายชนิด เป็นเหตุผลที่ทำให้บรรดาอาหารทั้งพืชและสัตว์ที่มีอยู่ในท้องตลาด หรือที่ได้รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน มีแนวโน้มที่จะขาดสารอาหาร
ชนิดใดชนิดหนึ่งมากขึ้น
ในข้อเท็จจริงคือ ในเนื้อเยื่อของพืชและสัตว์ที่สมบูรณ์ หากจะมีการขาดสารอาหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่บ้าง
ก็ไม่ควรจะขาดมากมายนัก เพราะการขาดสารอาหารมาก ย่อมทำให้ทั้งพืชและสัตว์ไม่สามารถมีชีวิตที่สมบูรณ์ พืชสัตว์เหล่านี้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นอน
ในกระบวนการผลิต การขนส่ง จนกระทั่งถึงการปรุงนั้น แม้จะมีการขาดหรือสูญสลายสารอาหารบ้าง ไม่ควรจะมากมายนัก
ทั้งนี้ โดยฝ่ายรัฐได้ออกข้อกำหนดควบคุมปริมาณสารอาหาร
เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เหตุนี้เองข้ออ้าง
ที่เกี่ยวกับคุณภาพของอาหาร จึงออกจะเป็นการเกินเลยไป
2) เหตุผลที่ว่า การขาดวิตามินเกลือแร่
กลายเป็นปัญหาปกติของคนในปัจจุบัน จากเหตุผลข้อที่ 1 ที่ว่า
อาหารปัจจุบันขาดสารอาหารมากขึ้น รวมทั้งคนมีพฤติกรรมการบริโภค
เปลี่ยนแปลงไป เมื่อสร้างความเชื่อที่ว่า ปัญหาการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินและเกลือแร่ เป็นความปกติ ย่อมทำให้กระแสการเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกิดมากขึ้น
ดังนั้น การที่นักวิชาการทางด้านโภชนาการ
พยายามแนะนำให้ประชาชนรับประทานอาหารให้ครบส่วน
บางครั้งจึงกลายเป็นเสมือนดาบสองคม ที่สร้างความเข้าใจผิด
ให้กับประชาชนบางกลุ่มที่ว่าอาหารขาดโภชนสารบางชนิด และการขาดวิตามินเกลือแร่กลายเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย
การเสริมอาหารจึงเป็นเรื่องที่เป็นเรื่องปกติ
กระแสการซื้อหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงเกิดมากขึ้น
3) เหตุผลที่ว่า ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่มาจากอาหาร ดังนั้น
ควรแก้ไขด้วยการใช้อาหาร เป็นผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้ม
ในการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่า
ปัญหามาจากอาหารที่ไม่ครบส่วน
4) เหตุผลที่ว่าปัจจุบันมีสารเคมีปนเปื้อนอาหารมากขึ้น
พืชผักไม่ปลอดภัย ก่อให้เกิดกระแสการบริโภคผักปลอดสารพิษ การลดการรับประทานผักและอาหารบางชนิด
และเลี่ยงไปใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทดแทน
5) เหตุผลของความเชื่อการใช้ประสบการณ์ของคนเพียงคนเดียว
เป็นต้นว่า การโฆษณาการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างได้ผลในคนบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีชื่อเสียงได้สร้างกระแสให้เกิดความเชื่อขึ้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่อ้างอิงวิทยาศาสตร์ ไม่ยึดหลักวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น
เหตุผลทั้งหมดนั้น ในที่สุดทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือ
และหันเข้าหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แทนการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง
และสมดุล เห็นทีจะต้องหาหนทางแก้ไขความคิดผิดๆ
ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วละครับ
แต่ก่อนมีแต่ยาหรือผลิตภัณฑ์ คล้ายคลึงยาเท่านั้น
ที่อวดอ้างสรรพคุณ เป็นต้นว่า ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
บำรุงเลือด ฟอกเลือด บำรุงประสาท บำรุงสมอง บำรุงตับ รักษาไต ฯลฯ
ต่อมาภายหลัง ความกังวลของผู้บริโภคต่อสารเคมีมีมากขึ้น
สร้างผลกระทบให้กับยา ซึ่งเป็นสารเคมีประเภทหนึ่ง
ผู้บริโภคจึงหันมาให้ความสนใจต่ออาหารซึ่งเชื่อกันมาเนิ่นนานว่าปลอดภัย
ปัจจุบันอาหารหลายชนิดพากันอวดอ้างสรรพคุณทางด้านสุขภาพ
คล้ายคลึงกับยาเข้าบ้าง เป็นต้นว่า บำรุงกระดูก บำรุงโลหิต
ป้องกันโรคโลหิตจาง บำรุงร่างกาย บำรุงประสาท เสริมสมอง ฯลฯ มีมากมายหลายสรรพคุณที่เป็นการกล่าวอ้างเกินจริง
สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคจนกระทั่งถึงขั้นหลอกลวง
ตัวอย่างการอวดอ้างสรรพคุณที่เห็นได้ชัดเจนในตลาดบ้านเรา
ได้แก่ การใช้คำว่าอาหารปลอดสารพิษ ซึ่งเริ่มอวดอ้างกัน
ตั้งแต่การตั้งชื่อเลยทีเดียว สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคว่า
อาหารกลุ่มนี้ปราศจากสารพิษที่เป็นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช
ทั้งๆ ที่หากนำไปตรวจวิเคราะห์จะพบว่า ยังมีสารพิษปนเปื้อน
อยู่ในจำนวนไม่น้อย
อาหารปลอดสารพิษนั้นในข้อเท็จจริงคือ
อาหารอินทรีย์หรือพืชผักที่ไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการปลูก
และผลิต มีการตั้งชื่อว่า "อาหารอินทรีย์" (Organic Foods) เพื่อให้แตกต่างจากอาหารเคมี (Chemical Foods) ซึ่งเป็นพืชผัก
ที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ในต่างประเทศ
จะไม่ใช้คำว่าอาหารปลอดสารพิษ (Toxic-Free Foods) ซึ่งถือเป็นการอวดอ้าง แต่ในบ้านเรากลับมีการใช้กันจนกระทั่งเลยเถิด
มีทั้งใช้ในชื่อของผักปลอดสารพิษและผักอนามัย
ในสหรัฐอเมริกาเอง แม้จะมีความเข้มงวด
ในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค แต่เนื่องจากคำว่า "อาหารอินทรีย์"
เป็นเรื่องใหม่ จึงยังไม่มีการควบคุมดูแลกันอย่างจริงจัง ในขณะที่มีอาหารอินทรีย์วางขายกันอยู่ทั่วไป
และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
เนื่องจากเกิดกระแสที่ว่า พืชผักธรรมดาเต็มไปด้วยสารพิษ
ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ปี ค.ศ.1991 สถาบันนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร ได้ทำรายงานเรื่องปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในผักผลไม้ ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าผักผลไม้อินทรีย์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด
มีราคาแพงกว่าพืชผักธรรมดากว่าสองเท่า แต่ปรากฏว่า
สารเคมีตกค้างที่พบในอาหารทั้งสองกลุ่ม มิได้มีระดับแตกต่างกันเลย
จึงได้ข้อสรุปสองประการคือ
ประการแรก พืชผักอินทรีย์ยังมีการปนเปื้อนของสารเคมีอยู่
ประการที่สอง คือการใช้สารเคมีในพืชผักทั่วไปมีน้อยลง
นอกจากนี้ การวิเคราะห์ตัวอย่างพืชผักในตลาดจำนวน
460 ตัวอย่างยังพบว่า รสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ
ของอาหารอินทรีย์กับอาหารทั่วไป มิได้แตกต่างกันแต่ประการใด
อีกชื่อหนึ่งที่นิยมใช้กันมาก และอวดอ้างสรรพคุณ
ทางด้านความปลอดภัยอยู่บ่อยๆคือคำว่า "อาหารธรรมชาติ"
(Natural Foods) ความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้คือ
อาหารที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุด หากเป็นข้าว
จะต้องเป็นข้าวทั้งเมล็ดไม่ใช่แป้ง และควรเป็นข้าวซ้อมมือ
หากจะเป็นข้าวกล้อง จะต้องผ่านกระบวนการขัดสีน้อยมาก
นอกจากนี้ ยังต้องไม่มีการเติมสารเคมี สารกันบูด
สารกันหืนลงไปแต่อย่างใด
ความรู้สึกของผู้บริโภคต่ออาหารธรรมชาติและอาหารอินทรีย์
เป็นไปในทางบวก ในขณะที่มีทัศนคติในเชิงลบต่ออาหารอาบรังสี
อาหารตัดแต่งยีน หรือจีเอ็มโอ นอกจากนี้ ยังอาจมีความรู้สึกว่า
อาหารที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์มีสารอาหารลดลง เหตุนี้เองที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มักต้องการสร้างภาพ
ทัศนคติเชิงบวกนิยมใช้อาหารอินทรีย์และอาหารธรรมชาติเป็นแหล่งวัตถุดิบ เลี่ยงที่จะใช้กระบวนการอาบรังสี การพาสเจอไรซ์ รวมถึงอาหารจีเอ็มโอ
การอวดอ้างที่อนุญาตให้ใช้ได้
|
---|
ตามปกติ อาหารอวดอ้างสรรพคุณทางด้านสุขภาพไม่ได้
เพราะอาหารคืออาหาร ไม่ใช่ยา อาหารบางชนิดมีสารอาหารบางตัวในระดับสูง แต่ไม่สามารถอวดอ้างสรรพคุณได้ ยกตัวอย่างเช่น
ผักตำลึงแม้มีเบต้าแคโรทีนสูง แต่ไม่สามารถอวดอ้างสรรพคุณได้ว่า
ช่วยป้องกันอาการขาดวิตามินเอหรือตาบอดในที่มืด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลทางวิชาการมากขึ้นว่า
การรับประทานอาหารบางชนิดเป็นประจำ สามารถลดความเสี่ยง
ต่อการเกิดโรคบางอย่าง นอกจากนี้ยังพบว่า สารอาหารบางชนิด
ในอาหารชนิดนั้นๆ เป็นสารสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าว เหตุนี้เองจึงทำให้คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ หรือ "ยูเอส-เอฟดีเอ" ยินยอมให้มีการอวดอ้างสรรพคุณของสารอาหารบางประเภทได้ โดยจะต้องเป็นการอวดอ้างสรรพคุณตามที่อนุญาตให้เท่านั้น
สรรพคุณที่ยูเอส-เอฟดีเอยินยอมให้อวดอ้าง ได้แก่
1. แคลเซียมกับโรคกระดูกโปร่งบาง เนื่องจากพบแล้วว่า
แคลเซียมช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกโปร่งบาง
หรือกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้จริง
2. โซเดียมและความดันโลหิตสูง โดยพบว่า
อาหารที่มีโซเดียมต่ำช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความดันโลหิตสูง
3. ไขมันในอาหารและโรคหัวใจ พบว่า อาหารไขมันต่ำลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
4. ไขมันในอาหารและมะเร็ง พบว่า
อาหารไขมันต่ำลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
5. ใยอาหารและมะเร็ง พบว่า
การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็ง
6. ใยอาหารและโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า
การรับประทานใยอาหารเป็นประจำ ช่วยลดปัญหาโรคหัวใจ
และหลอดเลือด
7. ข้าวโอ๊ตและรำข้าวโอ๊ตและโรคหัวใจ พบว่าอาหารทั้งสองชนิด
ซึ่งมีใยอาหารบางกลุ่ม หากรับประทานเป็นประจำช่วยลดโรคหัวใจ
8. กรดโฟลิกและอาการหลอดประสาทบกพร่อง
(Neural Tube Defect หรือ NTD) พบว่าอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง
ช่วยลดปัญหา NTD ในทารกแรกคลอด
ทั้งหมดที่อนุญาตให้อวดอ้างได้ จะต้องเป็นการอวดอ้างในภาพรวม ห้ามระบุว่าอาหารชนิดนั้นหรือยี่ห้อนั้น ช่วยลดปัญหาทางด้านนั้นๆ
ในบรรดาธุรกิจ ทางด้านอาหาร จะหาตลาดไหน
โตเร็วเท่าตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นไม่ได้อีกแล้ว
มีรายงานออกมาจาก หนังสือพิมพ์ทางธุรกิจ ในปี พ.ศ.2542 ว่า
ในขณะที่ธุรกิจ นานาประเภท ในประเทศไทย พากันซบเซา
อันเนื่องมาจากการล่มสลาย ทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ.2540
ธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลับเติบโตสวนกระแสไปได้อย่างน่าฉงน
มีเหตุผลอยู่ สามสี่ประการ ที่ใช้อธิบาย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ประการแรก คือ ความห่วงใยในสุขภาพของคนไทยมีมากขึ้น
ประการที่สอง คือ ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
ต่อสารเคมี ทำให้ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของยา ซึ่งจัดเป็นสารเคมีไปด้วย
ประการที่สาม คือ ความเชื่อที่ว่า อาหารนั้นปลอดภัยและอาหารบางชนิดแสดงฤทธิ์ทางยาได้
ประการที่สี่ คือ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีข่าวสาร ทำให้ข้อมูลทางด้านผลิตภัณฑ์เหล่านี้แพร่กระจายไปด้วยสารพัดวิธี
ประการที่ห้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูงขึ้นอย่างมากคือ ภาวะการว่างงานของคนจำนวนไม่น้อยในสังคม
ทำให้คนส่วนหนึ่งหันเหเข้าหาอาชีพการขายตรง
และผลิตภัณฑ์ที่มีสายการจำหน่ายในลักษณะการขายตรงมากที่สุด
คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั่นเอง บริษัทขายตรงหลายแห่ง บังคับพนักงานขายให้ซื้อสินค้าไว้ใช้เองเป็นการเริ่มต้นอาชีพ และหลายบริษัทส่งเสริมการขายในลักษณะพิรามิดหรือลูกโซ่ การแข่งขันทางด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเป็นไปอย่างรุนแรง
เรื่องราวการอวดอ้าง หรือโฆษณาเกินจริงของบรรดาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มิใช่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยที่มีปัญหาทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้บริโภคเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ค่อนข้างสูง ยังประสบปัญหาการถูกหลอกลวงจากบรรดาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ในจำนวนไม่ใช่น้อยเลย
ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสหรัฐอเมริกา มีขนาดใหญ่โตมโหฬารด้วยยอดจำหน่ายเกือบหมื่นล้านดอลลาร์
ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 40 เป็นยอดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์
ประเภทวิตามินและเกลือแร่ ข้อมูลในปี พ.ศ.2539 พบว่า มีร้านค้าปลีกจัดจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทนี้อยู่ถึง 9,789
แห่งทั่วประเทศ
ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาคือ การเป็นพนักงานขายประจำร้านค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ไม่จำเป็นจะต้องจบการศึกษาทางด้านโภชนาการหรืออาหารเลย จะมีพื้นเพการศึกษามาจากทางด้านใดก็ได้ และคนเหล่านี้แหละ
ที่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
หรือที่เรียกกันว่าอาหารเสริมสุขภาพ
มีรายงานที่กลายเป็นเรื่องตลกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2536 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ลองทำการสำรวจร้านค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ทั่วประเทศ
โดยการตั้งคำถามง่ายๆ เป็นต้นว่า จะเสริมภูมิต้านทานอย่างไร จะมีสารอาหารอะไรช่วยลดความดันโลหิตได้บ้าง มีผลิตภัณฑ์ตัวไหนใช้รักษามะเร็ง
ปรากฏว่า ในบรรดาร้านค้าที่ทำการสำรวจ 129 ร้าน มีถึง 120 ร้าน หรือร้อยละ 93 ที่จ่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้อย่างหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง เพราะการอวดอ้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อการรักษาโรคนั้น
เป็นเรื่องต้องห้ามในสหรัฐอเมริกา
แต่เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะมีมากมายกว่านี้หลายเท่า การหลอกลวงในเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงเป็นเรื่องที่พบได้ง่ายที่สุด ตั้งแต่ในประเทศไทยไปจนถึงสหรัฐอเมริกา
ตัวอย่างการหลอกลวง
ในประเทศไทย มีบุคคลที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากสหรัฐอเมริกา
ใช้คำนำหน้าว่า "ดอกเตอร์" ซึ่งนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า
"ปริญญาห้องแถว" จำนวนไม่น้อย บุคคลเหล่านี้เพียงจ่ายเงินบริจาค
ให้แก่มหาวิทยาลัยด้อยคุณภาพเหล่านี้ในอัตราตั้งแต่ 2 แสนถึง 1 ล้านบาท ก็ได้ปริญญามาประดับบารมีแล้ว
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ มีความเจริญสูง ความนิยมปริญญาจากสหรัฐอเมริกามีอยู่มาก ทำให้เกิดมหาวิทยาลัยด้อยคุณภาพ ขาดการควบคุมเป็นจำนวนมาก และมิใช่มีเพียงปริญญาในลักษณะซื้อขายเพียงเท่านั้น ยังมีใบปริญญาบัตรและประกาศนียบัตรที่ได้มาอย่างง่ายๆ
อีกเป็นจำนวนไม่น้อย
ในปี พ.ศ.2536 มี่รายงานการสำรวจของสภาแห่งชาติ ว่าด้วยการหลอกลวงทางด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ทำใน 32 มลรัฐทั่วประเทศ
พบว่า ในสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองที่มีโฆษณาภายใต้หัวข้อนักโภชนาการ มีนักโภชนาการอยู่ถึงร้อยละ 46 ที่ได้รับใบปริญญาบัตรมาจากสถาบันด้อยคุณภาพ
และหลอกลวงในลักษณะนี้ ขณะที่มีอีกร้อยละ 12 ที่มีใบประกาศนียบัตรเป็นที่น่าสงสัยว่าน่าเชื่อถือได้หรือไม่ โดยสรุปก็คือ
ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ที่ประกาศตนเองเป็นนักโภชนาการมากกว่าครึ่ง
ที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน
นักโภชนาการและนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เหล่านี้
มีปริญญาบัตรในชื่อแปลกๆ จากมหาวิทยาลัยและสถาบันด้อยคุณภาพ
เป็นต้นว่า ปริญญา C.N. (Certified Nutritionist), CCN (Certified Clinical Nutritionist),
CCT (Certified Colon Therapist), CNC (Certified Nutrition Consultant),
HMD (Homeopathic Medical Doctor) ฯลฯ
นักโภชนาการลักษณะนี้ ในประเทศไทยพบได้จำนวนไม่น้อย
เช่นเดียวกัน ไม่นับพนักงานขายตรงทางด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ที่จำนวนมากมายไม่มีพื้นความรู้ทางด้านอาหารและโภชนาการเลย ทั้งยังมีนักโภชนาการจำนวนหนึ่งที่จบการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมกระทั่งแพทย์ที่ไม่ได้จบการศึกษาทางด้านโภชนาการ บุคคลเหล่านี้ต่างออกมาให้ความรู้แก่ประชาชนทางด้านโภชนาการอย่างหน้าตาเฉย หากจับได้ไล่ทันผู้บริโภคก็พอพ้นเคราะห์ไปได้ หากจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
ผู้บริโภคก็ย่อมตกเป็นเหยื่อ ทั้งเหยื่อของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ที่บุคคลเหล่านั้นขายอยู่ ทั้งเป็นเหยื่อของกระแสโภชนาการกำมะล
ที่บุคคลเหล่านั้นสร้างขึ้น เรื่องอย่างนี้ไม่รู้จะไปโทษใครดี
|