มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



วิกฤติเนื้อสัตว์ปนเปื้อน น่าตื่นกลัวจริง หรือคนตื่นตูม

กองบรรณาธิการ


ตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา หากติดตามข่าวสาร ไม่ว่าจะจากสื่อใดๆ ก็ตาม นอกเหนือจากข่าวการฆ่าตัวตาย ที่มีให้เห็นอยู่มุกเมื่อเชื่อวันแล้ว ข่าวเรื่องกินเรื่องอยู่ ก็เป็นข่าวที่สร้างความตื่นเต้น ฉงน และหวาดหวั่นใจแก่ผู้คนได้มากทีเดียว

เรามาดูกันว่ามีเรื่องอะไรที่สร้างความไม่มั่นคงในจิตใจ ของประชาชนชาวไทยในเรื่องการบริโภคบ้าง

เรื่องเก่ายังกลัวไม่หาย

ช่วงปลายปี 2539 นั้นเคยเกิดสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์รุนแรง ในบ้านเรา โดยได้รับการบอกเล่าย้อนสถานการณ์ในปีดังกล่าวจาก นายสัตวแพทย์พลายยงค์ สการะเศรณี ฝ่ายวิชาการ ของกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข โดยได้มีการตรวจพบที่ชุมชนมุสลิมย่านอ่อนนุช ที่มีโรงฆ่าสัตว์และชำแหละเนื้อวัวส่งขาย จากรายงานพบว่า สถานการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และทำให้ผู้ที่สัมผัสกับเนื้อวัว เป็นเวลาต่อเนื่องเกิดอาการของโรคคือ มีบาดแผลและมีไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ

ทำให้กทม.ต้องเข้าควบคุมสถานการณ์อย่างเร่งด่วน และพบว่ามีการระบาดหนักเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ได้สร้างความตื่นกลัวให้กับผู้ที่บริโภคเนื้อวัวเป็นหลัก ถึงขั้นเนื้อวัวขายไม่ออกไปทั่วประเทศ

ในด้านการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากกระทรวงสาธารณสุข ในเบื้องต้นคือการสั่งห้ามไม่ให้มีการฆ่าสัตว์ เพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อแอนแทรกซ์ระบาดสู่ประชาชน ทั้งได้ร่วมมือกับกทม.ออกกำจัดเชื้อแอนแทรกซ์ในที่ต่างๆ โดยในเบื้องต้นจะไม่ให้เจ้าของโรคฆ่าสัตว์ทำลายเชื้อเอง เนื่องจากเชื้อนี้มีการสร้างตัวเองขึ้นมาได้ง่าย ดังนั้นการทำลายจะต้องใช้ตัวยาและสารเคมีทางการจึงต้องเป็นผู้ทำลายเชื้อเอง

และจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผลให้ต้องมีการตรวจสอบกักกัน ไม่ให้วัวจากต่างประเทศเข้ามาและมีการเร่งฉีดวัคซีน ป้องกันโรคแอนแทรกซ์ให้กับวัวตามแนวชายแดน

ต่อมาก็มีเหตุการณ์ไข้หวัดนกที่ระบาดหนักในฮ่องกง แต่ไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากมีการป้องกันกันเป็นอย่างดี ทั้งจากฮ่องกงและประเทศไทย ซึ่งเชื้อนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการตรวจวิเคราะห์ ปัจจุบันยืนยันว่าไม่พบในประเทศไทย

เรื่องใหม่เข้ามาแทรก

"ผวาพิษไดออกซิน ไทยห้ามนำเข้า 16 อาหารเบลเยียม" ...ข่าวสด 8 มิ.ย. 42
"จี้เก็บเนยอิมพีเรียล เคเอฟซี โต้ ไก่ไม่มีไดออกซิน" ... ข่าวสด 10 มิ.ย. 42

ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน จนกระทั่งถึงกลางเดือน หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวหน้า 1 เกือบทุกฉบับ เรื่องของอันตรายจากสารไดออกซิน มีการสั่งห้ามนำเข้าอาหาร ที่ทำจากเนื้อ-นม-ไข่ จากประเทศเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และเนอเธอร์แลนด์
มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขหลายฉบับ วันต่อวัน เรื่องห้ามนำเข้า หรือเงื่อนไขการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยง ต่อการมีสารไดออกซินปนเปื้อน

นับตั้งแต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 185 พ.ศ.2542 เรื่องกำหนดอาหารห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย โดยมีรายละเอียด ห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย เนื้อสัตว์ นมโค ผลิตภัณฑ์นมโคหรือไข่ เป็นส่วนประกอบ จากประเทศเบลเยี่ยม เนื่องจากการปนเปื้อนของไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

และติดตามมาด้วย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 186 พ.ศ.2542 เนื้อความว่า ห้ามนำเข้าหรือ จำหน่ายเนื้อสัตว์ปีก และอวัยวะ, เนื้อโคและอวัยวะ, นมโค, ไข่และผลิตภัณฑ์ ที่มีเนื้อสัตว์ปีก และอวัยวะ, เนื้อโคและอวัยวะ, ผลิตภัณฑ์
นมโค, ไข่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีแหล่งกำเนิด จากประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งเนื้อสัตว์ปีก และอวัยวะ, เนื้อหมูและอวัยวะ,นมโค, ผลิตภัณฑ์นมโค, ไข่ เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากประเทศเนอเธอร์แลนด์

แล้วในกาลต่อมา นพ.มงคล ณ สงขลา เลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา ได้มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 187 พ.ศ. 2542 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 186 พ.ศ. 2542) โดย มีเนื้อความเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ยกเว้นแต่มีหนังสือนับรอง จากหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบของประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด อาหารนั้นๆ รับรองว่าปลอดภัยในการบริโภค และไม่มีการปนเปื้อนของสารไดออกซิน

จากนั้นก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 188 พ.ศ.2542 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 185 พ.ศ.2542 เรื่องกำหนดอาหารห้ามนำหรือจำหน่ายโยมีรายละเอียด ห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายเนื้อสัตว์ นมโค ผลิตภัณฑ์นมโค หรือไข่เป็นส่วนประกอบ จากประเทศเบลเยี่ยม เนื่องจากการปนเปื้อนของไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

แต่เนื่องจากได้มีการพิจารณาข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งประสานงานระหว่างสถานฑูตไทยในประเทศเบลเยี่ยม และได้รับข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อมีการประเมินความเสี่ยง จากข้อมูลทั้งหมดแล้ว

สรุปได้ว่า อาหารบางประเภทมีความปลอดภัยในการบริโภค กรทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศฉบับที่ 188 แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ช็อกโกแลตที่ไม่มีนมเป็นส่วนประกอบ ไข่ขาวและผลิตภัณฑ์ที่มีไข่เป็นส่วนประกอบน้อยกว่าร้อยละ 2 ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศเบลเยี่ยม สามารถนำเข้าหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐบาลเบลเยี่ยมว่า ปลอดภัยในการบริโภค และไม่มีการปนเปื้อนสารไดออกซิน และไม่ได้มาจากฟาร์มที่ถูกกักกัน

หนังสือรับรองดังประกาศทั้งหมดนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความ แสดงชื่อผลิตภัณฑ์ รหัสรุ่นที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตและผู้นำเข้า ชนิดและประเภทของผลิตภัณฑ์ ประเทศที่ผลิต ข้อความรับรองว่า ผลิตภัณฑ์นี้ปลอดภัยในการบริโภคและไม่มีการปนเปื้อนสารไดออกซิน รวมทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตว่า มิได้มาจากสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์ ซึ่งเลี้ยงด้วยอาหาร ที่มีการปนเปื้อนไดออกซิน และมิได้มาจากฟาร์มที่ถูกกักกัน ซึ่งหนังสือรับรองที่นำมาแสดงทุกฉบับจะต้องผ่านการรับรอง จากสถานฑูตของประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดประจำประเทศไทย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตื่นกลัวไปตามกระแสข่าวโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าจริงๆ แล้ว ที่มาที่ไปของเรื่องสารไดออกซินนั้นเป็นเช่นไร

"เจาะกระแสสุขภาพ" ขอกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ไดออกซิน" จากบทความเชิงวิชาการของ รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศีอนุชาต จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหิดล เป็นบทสรุปดังนี้

  • รู้จักไว้ "ไดออกซิน"

1. ไดออกซิน คืออะไร
ไดออกซินเป็นสารปนเปื้อนที่มีความเป็นพิษ เกิดจากการรวมตัวของสารคลอรีน ออกซิเจนและเบนซิน มีลักษณะเป็นของแข็งซึ่งมีการละลายตัวในน้ำ มีความคงตัวต่อความร้อน จะสลายตัวได้อย่างรวดเร็วโดยแง แต่คงตัวในดินและน้ำ อาจพบตกค้างในสารกำจัดวัชพืชและสารฆ่าเชื้อโรค หรืออาจพบ ในระหว่างการเผาไหม้ของสารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบในที่มีคลอรีน หรือเกิดจากของเสียจากโรงงาน

2. ความเป็นพิษของไดออกซิน
2.1 องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (USEPA) จัดสารนี้เป็นสารก่อมะเร็ง
2.2 พิษของสารไดออกซินที่พบในสัตว์ทดลอง
- พิษเฉียบพลัน ทำให้เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แผลในกระเพาะอาหาร ตับอักเสบแล้วตาย
- พิษเรื้อรัง กระตุ้นให้เกิดมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ ตับ ท่อน้ำดี อวัยวะทารกพิการในหญิงมีครรภ์ แท้งบุตร

3. ระดับที่ไม่เป็นอันตราย
สถาบันด้านสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ค่าไดออกซิน ที่ร่างกายสามารถรับได้ไม่เกินวันละ 0.001 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

4. คนมีโอกาสได้รับไดออกซินจากแหล่งต่างๆ ดังนี้
4.1 อาจเกิดจากการใช้สารกำจัดวัชพืชที่มีไดออกซินปนเปื้อนอยู่
4.2 อาจเกิดจากอุบัติเหตุการรั่วไหลของสารไดออกซิน จากการระเบิดของโรงงานที่เก็บสารเคมีไตรคลอโรฟีนอล
4.3 การหายใจเอาเถ้า หรือแก๊สจากการเผาไหม้ ของสารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบในที่มีคลอรีน
4.4 การปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งพบมากในไขมันสัตว์ และสามารถสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต โดยจะมีความเข้มข้นมากในไขมัน

วิกฤตเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเรื่องนี้มีมานาน

แม้ว่ากระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว จะซาลงไปแล้วในขณะนี้ และเชื่อว่าคนไทยเราจะไม่ต้องอยู่อย่างผวา กับเรื่องพิษภัยที่เกิดขึ้น ที่ต่างบ้านต่างเมือง
แต่ในความเป็นจริงแล้วคนไทยเราอาจลืมเรื่องใกล้ตัว ที่เกิดขึ้นในบ้านเราไป และเกิดขึ้นกับอาหารทุกมื้อของเราเอง นั่นคือเรื่องของการปนเปื้อนในอาหาร

การปนเปื้อนคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ละการปนเปื้อนนั้นส่งผลอะไรต่อคนเราบ้าง เป็นเรื่องที่คนเราควรหันมาให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยในการเลือกบริโภค และเพื่อให้คลายความกังวลตื่นกลัว

การปนเปื้อนในอาหารนั้นมาจากหลายแบบ หลายเส้นทาง หลายเชื้อโรค หลายสารพิษ แต่ละอย่างก็จะมีการสังเกต การหลีกเลี่ยงที่ต่างๆ กัน การปนเปื้อนที่น่ากลัว และผู้บริโภคหลีกเลี่ยงลำบากหากมีในท้องตลาดคือ การปนเปื้อนที่มาจากการผลิตเนื้อดิบ

การปนเปื้อนในเนื้อดิบนั้นมี 2 อย่าง คือ
1. การปนเปื้อนจากสารเคมีที่ตกค้างในเนื้อสัตว์
2. การปนเปื้อนจากเนื้อสัตว์ที่เป็นโรค

การปนเปื้อนทั้งสองแบบถึงแม้จะดูไม่น่ากลัวแต่เป็นภัยเงียบ ที่ค่อยๆ สะสมในตัวเรา เรามาดูรายละเอียดของการปนเปื้อนแต่ละอย่างกัน

1. การปนเปื้อนจากสารเคมีที่ตกค้างในเนื้อสัตว์

ความตระหนกตกใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าไดออกซิน เป็นข่าวได้ไม่นาน จากสารที่เรียกว่า เบต้าอะโกนิสท์ที่มีการตรวจพบ ในเนื้อหมู ซึ่งเป็นสารที่ถูกห้ามใช้ในการเป็นอาหารสัตว์ เพราะมีผลต่อผู้บริโภคที่เป็นโรคหัวใจถึงแก่ชีวิตได้

ฟิตเนสได้รับคำตอบและความกระจ่างถึงสิ่งตกค้างในเนื้อสัตว์ จากหน่วยราชการสำคัญที่เป็นผู้ดูแลการผลิตเนื้อสัตว์ในประเทศเรา คือ กรมปศุสัตว์ โดย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอุดมโพธิ เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักกับเราอย่างละเอียด ในความเป็นจริงแล้ว มีสารต้องห้ามถึง 4 ประเภท

"กรมปศุสัตว์จะดูแลการผลิตตั้งแต่การเลี้ยงเลย ถูกสุขอนามัยหรือไม่ การจัดการฟาร์ม การให้อาหารเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการให้อาหาร เรามี พ.ร.บ. ควบคุมโรคระบาด ประกาศเป็นมาตรฐานสากลเหมือนกันทั่วโลก"

แต่ถึงแม้จะมีการประกาศออกเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษ แต่ก็ยังมีผู้ที่ฝ่าฝืนผสมสารต้องห้ามในการเลี้ยงสัตว์ไปในอาหารสัตว์จนได้

"สารที่นำมาผสมก็เพื่อให้ได้เนื้อที่มีคุณภาพและเร่งการผลิต ให้ทันกับความต้องการอย่าง สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ หรือ คลอแรมเฟนนิคอล เพื่อให้เนื้อแดงมากและป้องกันโรค ห้ามให้ในอาหารสัตว์อยู่แล้ว เพราะเป็นอันตรายต่อคน และเนื้อสัตว์ที่มีสารเหล่านี้ตกค้างเราจะไม่สามารถส่งขายยังต่างประเทศได้"

การใช้สารนี้เริ่มต้นจากผู้ที่เลี้ยงเอง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

"ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการที่ฟาร์มต่างๆ นำสารเหล่านี้มาผสมเข้าไปในอาหารและใช้เลี้ยงสัตว์ จะไม่มีการผสมมาในอาหารจากบริษัทที่ผลิตอาหารแน่นอน เพราะแต่ละโรงงานที่จะผลิตอาหารสัตว์ ต้องมาขอจดทะเบียนสูตรอาหาร จากทางกรมปศุสัตว์ และทางกรมฯก็เข้าไปตรวจ และเก็บตัวอย่างจากโรงงานเป็นประจำ ถ้าเราตรวจพบ หรือผลิตผิดสูตรจะสั่งปิดโรงงานทันที ค่าเสียหายเป็นพันล้าน มั่นใจได้เลยว่าสารต้องห้ามต่างๆ จะไม่ปนมาจากโรงงานแน่นอน"

ช่องโหว่ของกฎหมายถูกปิดเมื่อทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการแก้ข้อกฎหมายเมื่อต้นปี 2542 นี้ ให้เจ้าหน้าที่สามารถ เข้าไปเก็บตัวอย่างอาหารที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ในแต่ละวันในฟาร์ม และเกษตรกรรายย่อยได้ ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสารต้องห้าม และระดมเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องสารเหล่านี้ด้วย แต่ก็มีเล็ดลอดออกมาเป็นข่าวจนได้

สารทั้ง 4 ชนิดที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ได้แก่ สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์, คลอแรมเฟนนิคคอลฟูราโซลิโดน, อะโวพาร์ซินและไนโตรฟูราโซน

"สารทั้งหมดเข้ามาในเมืองไทยเพื่อเป็นส่วนผสมในยารักษาโรค ทั้งในคนและในสัตว์ใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วหยุดยา ก็จะให้ผลในการรักษาจะไม่สะสมตกค้าง แต่ถ้าใช้ผสมในอาหารสัตว์ สัตว์รับเข้าไปทุกวันก็จะตกค้างพอคนกินก็มาเกิดผลร้ายกับคน ตามแต่ละชนิดของสาร

ทางกรมปศุสัตว์ก็ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมการนำเข้าแล้วเมื่อดูจากตัวเลขการนำเข้ามากมาย เกินที่จะเอามาแต่ใช้รักษาโรค ซึ่งการนำเข้าไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร เพราะเข้ามาในรูปของเภสัชเคมีภัณฑ์ ถ้าเอามาผสมเป็นยาไม่ผิด แต่ถ้าเอามาผสมในอาหารสัตว์โดนจับแน่"

สารต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ สารต้องห้ามในการผสมอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะในด้านการรักษาโรค แต่เกษตรกรมักจะนำไปใช้ในทางที่ผิด จึงส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค

  • สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (B-agonist)

สารกลุ่มนี้มีทั้งหมด 5 ตัว แต่ที่ใช้กันมีทั้งหมด 2 ตัว คือ เคนบิวทารอน (Clenbuterol) และ เซลบัวทามอล (Salbutamol) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดในคนแต่ละครั้งใช้เพียงนิดเดียว และใช้ติดต่อกันครั้งละ 3-4 วันต้องหยุด

สัตว์ที่เกษตรกรนิยมให้สารตัวนี้คือ หมู เนื่องจากมีส่วนในการเร่งเนื้อแดงในสัตว์อ่อนวัย ไขมันบาง สัตว์ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา กินตลอดเวลา ทำให้สัตว์โตเร็วเส้นเลือดฝอยขยายตัว เอาออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มาก สัตว์จะหายใจเร็ว เมื่อชำแหละแล้วจะได้เนื้อที่แดงสวย

ในคนที่รับประทานเนื้อหมูที่มีสารเบต้าอะโกนิสท์ตกค้างอยู่ เบาต้าอะโกนิสท์จะสะสมในร่างกาย ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ก็อาจหัวใจวายได้เพราะหัวใจทำงานมากผิดปกติ มีความตื่นเต้น ซึ่งร่างกายจะดึงน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดมากและอินซูลินก็หลั่งมาก อาจช็อคตายได้ให้ผลค่อนข้างเฉียบพลัน

เบต้าอะโกนิสท์บางตัวทำให้เกิดเนื้องอก, กล้ามเนื้อเรียบหย่อนยาน อาจเกิดอาการปัสสาวะคั่งเพราะกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถบีบตัวได้ ในหญิงมีครรภ์จะคลอดลำบากต้องฉีดยาเร่งคลอดช่วย มีรายงานสหรัฐอเมริกาว่าพบผู้หญิงเป็นเนื้องอกมดลูกถึง 40% คาดว่าน่าจะเกิดจากการรับประทานเนื้อหมูที่มีเบต้าอะโกนิสท์มากไป

  • อะโวพาร์ซิน (Avopacin)

ในทางการแพทย์จะใช้เป็นยาที่รักษาโรคท้องเสียได้ดีที่สุด และปลอดภัยมากที่สุด ส่วนในสัตว์โดยเฉพาะหมู ก็ใช้ยานี้เพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารเช่นกัน แต่เพื่อไม่ให้หมูเป็นโรคนี้เลยเกษตรกรจึงผสมในอาหารให้กินทุกวัน ยาตัวนี้จะตกค้างอยู่ในเนื้อ เมื่อคนรับประทานจะสะสมในคน ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคดื้อยา และไม่อาจรักษาโรคท้องเดินด้วยยาตัวนี้ จนทำให้ต้องใช้ยาตัวอื่นที่อันตรายกว่ารักษา

  • คลอแรมเฟนนิคอล (Chloramphenical)

เป็นยาที่ใช้รักษาโรคในวงกว้าง (หรือเรียกง่ายๆ ว่า ครอบจักรวาลนั่นเอง) ห้ามผสมในอาหารสัตว์ทุกชนิดทั้งไก่, หมูและวัว ในการใช้ประโยชน์จริงนั้นก็เพื่อรักษาโรคทั่วไปและมีกำหนดเวลา ใช้เพียง 3-4 วัน เมื่อสัตว์หายต้องหยุดยา แต่เพื่อไม่ให้สัตว์ป่วยเป็นโรคอะไรเลยจึงผสมในอาหารสัตว์ สัตว์จะโตเร็วเพราะไม่ถูกรบกวนด้วยโรคต่างๆ ผลเสียที่เกิดกับคนที่มียาชนิดนี้สะสมในตัวคือ ยาจะเข้าไปกดที่ไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้คนเป็นโรคโลหิตจางได้

  • ฟูราโซลิโดน (Furazolidone) และ ไนโตรฟูราโซน (Nitrofurazone)

ยาทั้งสองชนิดมีสรรพคุณและการใช้เหมือนกับคลอแรมเฟนนิคอล แต่เมื่อสะสมในตัวคนจะเป็นสารก่อมะเร็ง

จากข้อมูลดังกล่าวมาแล้วนั้น ทางการได้มีมาตรการที่พอจะช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคเบาใจได้ รองฯ อุดม ได้กล่าวเสริมถึงความปลอดภัยในการรับประทานเนื้อสัตว์ ในบ้านเราว่า

"ค่อนข้างวางใจได้ว่า ถ้าเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากฟาร์มใหญ่นั้น ไม่มีสารตกค้างในเนื้อแน่นอนที่ขายตามห้ามสรรพสินค้ามีชื่อบริษัท มีวัน เดือน ปี ที่ชำแหละ ยิ่งฟาร์มที่ส่งออกต้องยิ่งวางใจได้ เพราะต่างชาติจะเข้มงวดในเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อไก่ ที่เราผลิตส่งประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก ถ้าเนื้อไม่ได้มาตรฐานจริงๆ จะไปขายในประเทศเขาไม่ได้ ที่ขายในบ้านเราก็เป็นมาตรฐานเดียวกัน มั่นใจได้ว่าปลอดภัยและคาดว่าปลอดภัยกว่าเนื้อหมู"

แต่ใช่ว่าเนื้อหมูในบ้านเราจะไม่ปลอดภัย เพราะทางราชการได้ร่วมกันสอดส่องดูแลการผลิต อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

"ทั้งทางกรมปศุสัตว์ที่ควบคุมการผลิต และทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่จะช่วยดูแล หลังจากที่เนื้อสัตว์วางตลาดแล้ว ต่อไปจะพัฒนาการตรวจสอบให้ง่ายและเร็วขึ้น โดยให้เอกชนเป็นคนตรวจ โดยกรมปศุสัตว์และอย.เป็นผู้รับรอง
บางคนอาจจะเป็นห่วงถึงเกษตรกรรายย่อย ที่อาจจะมีการใช้สารต้องห้ามทั้ง 4 ชนิด วางใจได้ว่าไม่ใช้ เพราะใช้แล้วไม่คุ้มหรือเกษตรกรที่รับจ้างเลี้ยงให้กับบริษัทใหญ่ๆ อันนี้ก็ไม่ต้องกลัวเพราะทางต้นสังกัดจะเป็นผู้ควบคุมทุกอย่างทั้อาหาร, ยา, โรงเรือน
ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในวงการผลิตเนื้อสัตว์จะรู้ว่าการจัดการฟาร์มที่ดี ได้มาตรฐาน จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการใช้สารต้องห้าม มาจัดการสุขอนามัยของสัตว์ การกำจัดของเสีย ควบคุมการเข้าออก เป็นการป้องกันโรคที่ยั่งยืน ลดการใช้ยาและสามารถส่งออกได้ด้วย"

มาตรฐานของเนื้อสัตว์ดิบของบ้านเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราได้เข้าร่วมกับองค์กรการค้าโลก (WTO) เพราะมีข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าว่า หากต้องการค้าขายหรือผลิตสินค้า เพื่อการส่งออกกกับประเทศในกลุ่ม สินค้าในประเทศ และที่ส่งออกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เช่นนั้น สินค้าจะขาดความน่าเชื่อถือและจะเกิดการกีดกันทางการค้า ซึ่งประเทศเกษตรกรรมอย่างเราเสียหายแน่

2. การปนเปื้อนจากเนื้อสัตว์ที่เป็นโรค

ไม่เพียงสารที่ตกค้างในเนื้อสัตว์จะเป็นอันตรายต่อคนเท่านั้น ยังมีโรคสัตว์บ้างอย่างที่สามารถติดต่อมายังคนได้ โดยการรับประทานเนื้อสัตว์ด้วย

โรคที่คนอาจติดจากสัตว์โดยการบริโภค สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. โรคที่ติดต่อได้จากการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเนื้อสัตว์
2. โรคที่ติดต่อได้จากการบริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม

เรามาดูรายละเอียดจากทั้ง 2 ลักษณะนี้

1. โรคที่ติดต่อได้จากการบริโภคเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเนื้อสัตว์
โรคติอต่ดจากสาเหตุนี้สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ตามลักษณะของอาการของโรคดังนี้

ทำให้เกิดอาการเฉพาะ :

  • โรคแอนแทรกซ์

โรคนี้สร้างความฮือฮามากเมื่อหลายปีที่แล้ว เมื่อมีข่าวการติดโรคจากวัวสู่คน จากแหล่งเลี้ยงวัวของชุมชน ชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ (ดังที่กล่าวมาแล้วตอนต้นเรื่อง)

โรคนี้เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส แอนทราซิล เกิดได้กับ วัว ควาย แพะ แกะ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ การติดต่อสู่คนนั้น ได้หลายทางได้แก่ การรับประทานเนื้อที่ปรุงไม่สุก จากสัตว์ที่เป็นโรค, แมลงหวี่,
จากการสัมผัสเชื้อเข้าบาดแผล นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ จากการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เป็นโรค เช่น หนังสัตว์, ขนสัตว์, กระดูกป่น, เลือดแห้ง เป็นต้น

อาการของโรคแอนแทรกซ์ในคน แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง มักมาจากเชื้อที่สัมผัสกับบาดแผลหลังจากรับเชื้อประมาณ 1-7 วัน เชื้อจะเพิ่มจำนวนและสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดตุ่มใสรอบๆ บวมแดง บางครั้งอาจมีหนอง ต่อมาน้ำตุ่มใสจะมีสีเข้มเกือบดำ ตุ่มนี้จะแตกออกจากตรงกลางแผล แล้วเกิดเป็นเนื้อตายเป็นสีดำนุ่ม ผู้ป่วยมักไม่เจ็บแผล นอกจากจะกดแรงๆ มักพบที่หน้า แขนและคอ จะมีอาการปวดเมื่อยและมีไข้ต่ำหลังจากเริ่มอาการประมาณ 7-10 วัน แผลจะแห้งและเป็นสะเก็ด พบว่า 90% ของผู้ป่วยจะหายเอง แต่อีก 10% เชื้อจะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและจะเกิดโลหิตเป็นพิษ อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา

แอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร เกิดจากเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก มักเกิดอาการหลังจากนี้ 2-5 วัน ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารและมีไข้ ตามด้วยอาการปวดท้อง บางครั้งอาจถ่ายเป็นเลือด ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที โรคจะลุกลามเกิดโลหิตเป็นพิษ ช็อค ขาดออกซิเจนและตาย มีอัตราการตายถึง 25%-50%

แอนแทรกซ์ที่ระบบหายใจ ไม่ค่อยพบรายงาน แอนแทรกซ์ชนิดนี้เกิดจากสปอร์ของเชื้อเข้าไปที่ปอด ซึ่งอาจเกิดจากการหายใจเข้าไปโดยตรง อาการระยะแรก คล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ เจ็บคด อาจมีคอบวม ต่อมทอนซิลอักเสบ มักพบว่ามีเยื่อหุ้มปอดและปอดอักเสบ อีก 3-5 วัน ต่อมาจะเกิดอาการหายใจขัดเฉียบพลัน และตายภายใน 7-24 ชั่วโมง มีอัตราการตายถึง 100%

ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษทั่วๆ ไป :

มักเป็นโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ คลอสตริเดียมแคม ไพโลแบคเตอร์ ซาลโมเนลล่า สาเหตุมักเกิดจากการรับประทานเนื้อที่ไม่สุก ระยะฟักตัวของโรค เป็นได้ตั้งแต่ 1-2 ชั่วโมงจนถึงหลายวัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อาการของผู้ที่ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษมักรุนแรงในเด็กและผู้ป่วยสูงอายุ อาการทั่วไปคือ ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง เป็นไข้ อาจถึงตายได้

  • เกิดพยาธิในทางเดินอาหาร

เหมือนจะเป็นเรื่องเก่าที่เล่าได้ตลอด เพราะถึงแม้จะมีการให้ความรู้ด้านสุขศึกษาในเรื่องนี้ตั้งแต่ชั้นประถม แต่ก็ยังมีผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิอยู่ดี

- พยาธิตัวตืด และพยาธิเม็ดสาคูในวัว ควายและหมู

วัว ควาย และหมูจะได้รับไข่พยาธิตัวตืดโดยการกินอาหาร ที่ปนเปื้อนอุจจาระของคน ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนแล้วกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ไปผังตัวตามกล้ามเนื้อ มีลักษณะคล้ายเม็ดสาคู ซึ่งหากคนรับประทานเนื้อ ที่มีเม็ดสาคูนี้เข้าไปตัวอ่อนจะไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ของพยาธิตัวตืดในลำไส้คน และปล่อยไข่ปะปนมากับอุจจาระ สามารถติดต่อไปยังสัตว์ได้อีก

คนที่มีพยาธิตัวตืดอยู่ในลำไส้มักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ้ามีพยาธิเม็ดสาคูอยู่ในกล้ามเนื้อจะมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ถ้าไปฝังในส่วนสำคัญของร่างกายอาจถึงแก่ชีวิตได้

- พยาธิทริคิโนซีส

เกิดจากพยาธิตัวกลมที่ชื่อ ทริคิเนลล่าสไปราลลิส มีแหล่งเพาะโรคเป็นสัตว์กินเนื้อทุกชนิดรวมทั้งหนูและหมูด้วย คนเราติดโรคนี้จากการกินเนื้อหมูดิบที่มีตัวอ่อนของพยาธิปนเปื้อนอยู่ ตัวอ่อนจะไซเข้าผนังลำไส้และเป็นตัวแก่ภายใน 40 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะผสมพันธุ์และปล่อยตัวอ่อนเข้าสู่กระแสเลือด แล้วจะฝังตัวตามเนื้อเยื่อต่างๆ ภายใน 3 วัน ในระยะ 10-14 วัน คนจะแสดงอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย และปวดกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันจะเป็นไข้ บวมน้ำตามหนังตา กล้ามเนื้อบวมแข็ง อาจมีอาการทางประสาท หายใจลำบาก และถึงตาย ถ้ามีตัวอ่อนจำนวนมาก

2. โรคติดต่อจากสัตว์ที่อาจเกิดจากการบริโภคน้ำนม หรือผลิตภัณฑ์นม

ถึงแม้อันตรายที่เกิดจาการติดโรคจากน้ำนม ที่มาจากสัตว์เป็นโรคเหล่านี้จะไม่โด่งดังเท่าการปนเปื้อนจากไดออกซิน แต่ก็มีผลกับสุขภาพได้เช่นกัน

ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ :

มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเช่นเดียวกับการบริโภคเนื้อ แบคทีเรียที่พบบ่อยคือ ลิสทีเรีย คนติดโรคจากการบริโภคนมดิบ หรือผลิตภัณฑ์นมที่ปนเปื้อนเชื้อ มีอาการเป็นไข้ อาเจียนและท้องเสีย

ทำให้เกิดอาการเฉพาะ :

โรคบรูเซลโลซีส หรือ โรคแท้งติดต่อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด บรูเซลล่า ซึ่งเป็นไปได้ ในสัตว์หลายชนิดทั้งวัว ควาย แพะ แกะ คนติดต่อได้จาก การบริโภคน้ำนมดิบ หรือสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 1-6 สัปดาห์ มีอาการไข้ขึ้นๆ ลงๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง หรือบวมตามข้อ น้ำหนักลด โรคนี้ไม่รุนแรง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ไข้สมองอักเสบ"

โรคไข้สมองอักเสบในหมู ของประเทศมาเลเซีย เรียกว่า โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ ที่ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดิม สามารถติดต่อได้จาก การสัมผัสเชื้อโรค ที่ปนอยู่ในสารคัดหลั่งของหมู เช่น เลือด, ปัสสาวะ, น้ำลาย เป็นต้น ปรากฏโรคกับผู้ที่คลุกคลี ในฟาร์มหมู และในผู้ใหญ่ เนื้อของหมูที่ป่วย ไม่สามารถนำมารับประทานได้

โรควัณโรค หรือ ทูเบอร์คูโลซีส เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชนิดไมโครแบคทีเรีย คนติดโรคจากการที่บริโภคน้ำนมดิบ และมีระยะฟักตัวได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ จนถึงหลายปี คนที่ติดโรคมักพบว่าต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอโต มีไข้ น้ำหนักตัวลดและมักมีอาการทางระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง การแสดงอาการจะเกิดขึ้นช้าๆ ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ขาดอาหารและตายในที่สุด

โรคไข้สมองอักเสบที่ระบาดในบ้านเรา สามารถติดต่อได้โดยยุงที่กัดหมูที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้วไปกัดคน พบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันก็มีทั้งวัคซีนฉีดหมู และคนเพื่อป้องกันโรคนี้

โรคไกลทำให้ตื่นตูม-โรคใกล้ควรจะตื่นตัว

เรื่องของข่าวเกี่ยวกับเนื้อสัตว์มีมาเป็นระลอก ทั้งที่มีผลกระทบกับคนไทยและไม่กระทบไม่ว่าจะเป็นโรควัวบ้า ที่ระบาดหนักในอังกฤษ โรคไข้หวัดนกที่ต้องฆ่าไก่ทิ้งไปไม่รู้กี่ล้านตัว ไดออกซินจากผลิตภัณฑ์สัตว์จากเบลเยียม และล่าสุดที่มาเลเซีย โรคไข้สมองอักเสบในหมู ล้วนแต่เป็นข่าวที่มีผลกระทบกับพฤติกรรมคนไทย บางคนไม่กลัว บางคนระวัง บางคนวิตกจริตไปเลย

ในความเป็นจริงแล้วโรคของสัตว์ในต่างประเทศนั้น มีโอกาสที่จะมาร่าเริงในเมืองไทยน้อยมาก หรือเรียกได้ว่าไม่มีเลย เพราะแต่ละประเทศที่เกิดโรคขึ้นจะจัดการกับตัวเองก่อนแล้ว ไม่ว่าจะฆ่าทิ้ง กักโรค เรียกสินค้าคืน เร่งการแก้ไข และยังไม่พบรายงานการเกิดโรคดังกล่าวในเมืองไทยเลย

  • แนวโน้มใหม่ในการเลือกบริโภค

ถึงแม้ว่าเนื้อสัตว์ในปัจจุบันจะปลอดภัยมากแล้ว แต่ต่อไปจะให้ปลอดภัยมากที่สุด กรมปศุสัตว์จะร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ดำเนินโครงการ "สินค้าปศุสัตว์ปลอดสารพิษ" ซึ่งจะวางจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ปลอดจากสารตกค้างและโรคต่างๆ ให้ประชาชนได้มั่นใจในความปลอดภัย แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องมีการตรวจเช็คสารตกค้าง อาทิ สารเบต้าอะโกนิสท์ต่อ 1 ตัวอย่างต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงประมาณ 1,400 บาท (ยังมีการตรวจสารอื่นอีก) โครงการนี้จะสำเร็จเมื่อไหร่ต้องรอข่าวกันต่อไป

  • เลือกซื้อให้ถูกที่ และปรุงดีๆ ให้ถูกสุขลักษณะ

ในขั้นต้นนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็จะพยายามดูแลการผลิตเนื้อสัตว์อยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ และพระราชบัญญัติควบคุมโรคระบาดสัตว์ เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเชื่อใจได้ขั้นหนึ่งว่า เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จะมีความปลอดภัย

แต่อย่างว่าจะให้วางใจเสียทั้งหมดก็ไม่ใช่เพราะก็ต้องมีเนื้อสัตว์ ที่มีการปนเปื้อนทั้งจากสารเคมีและจากโรคปนมาบ้าง ดังนั้นตัวเราเองก็ต้องรู้จักเลือกและรู้จักการปรุงที่ถูกสุขลักษณะด้วย

เนื้อไก่ ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากสารตกค้าง ถ้าเลือกซื้อเนื้อไก่ที่ผลิตจากฟาร์มใหญ่ๆ จะปลอดภัยสูง เพราะผลิตภายใต้มาตรฐานส่งออก

เนื้อหมู เป็นเนื้อเป็นข่าวเพราะมีสารตกค้างสูง ให้เลือกซื้อเนื้อหมูที่สีไม่แดงมาก ถ้าแดงจัดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีการใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ และสังเกตไข่พยาธิที่อาจอยู่ในเนื้อด้วย (แต่พยาธิในเนื้อหมูมีน้อยลงเนื่องจากการเลี้ยงสมัยนี้ ไม่ปล่อยให้หมูเพ่นพ่านเหมือนสมัยก่อน)

เนื้อวัวและเนื้อควาย ไม่มีปัญหาในเรื่องของสารตกค้างมากนัก แต่มีเรื่องของโรคมากกว่า ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด สัตว์ที่ตายจะมิให้นำเนื้อมารับประทานหรือชำแหละขายโดยเด็ดขาด และการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกพื้นที่ก็ต้องมีการตรวจโรคก่อน

ผลิตภัณฑ์นม เลือกซื้อที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วไม่ว่า จะพาสเจอไรซ์หรือสเตอรีไลซ์ จะนมถุง นมกล่อง นมผง ไม่มีปัญหา ระวังในเรื่องขอวันหมดอายุก็พอ หากเป็นนมสดต้องเป็นนมที่ต้มสุกแล้ว (ร้านนมสดทั้งหลายเลือกดูกันดีๆ) ซึ่งในกรณีแม่วัวที่ป่วยหรือในระยะที่ให้ยา ปศุสัตว์ที่ดูแลจะให้เกษตรกรรีดน้ำนมทิ้งเพราะจะมียาตกค้าง ผ่านทางน้ำนมปนมาด้วยซึ่งทางสหกรณ์นมจะไม่รับซื้อ

ในส่วนของการปรุงเน้นที่การปรุงให้สุก เชื้อโรคหรือไข่พยาธิบางอย่างสามารถทำลายได้ด้วยความร้อน (แต่สารตกค้างไม่สลายนะจ๊ะ) นอกจากปรุงสุกแล้วต้องปรุงให้สะอาดด้วย

ประเทศของเราสามารถผลิตสินเกษตรได้เอง ดังนั้นเรื่องน่าระวัง น่าจะตื่นตัว คือเรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ ใกล้ตัวเรานี่เอง อาหารทุกมื้อที่ผ่านปากผ่านท้อง เราจะต้องระมัดระวังให้จงหนัก ในการที่จะเลือกซื้อ เลือกหาของที่จะมาบริโภค เลือกซื้อเนื้อสัตว์ตามคำแนะนำก็ปลอดภัยแล้ว



[ที่มา..นิตยสาร fitness ปีที่ 10 ฉบับที่ 105]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1