มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



อาหารเมดิเตอเรเนียนกับอาหารไทย


ผู้เขียนเกริ่นไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วว่า จะเขียนเรื่อง อาหารเมดิเตอเรเนียน ตามที่ได้ไปประชุม ที่ลอนดอนมา แต่ก่อนจะเข้าเรื่องเห็นทีผู้เขียนจะต้องขออนุญาตผู้อ่านแก้ข่าว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเองสักเล็กน้อย หากไม่ใช้เวทีตรงนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะหาเวทีที่ไหนได้ เพราะข่าวที่เป็นประเด็น คือข่าว "อาหารจีเอ็มโอ" ซึ่งก็เป็นเรื่องของอาหารเหมือนกัน

ปลายเดือนมกราคม มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ออกมาทำนองว่า ผู้เขียนได้กล่าว ในการประชุมเรื่องจีเอ็มโอ หรืออาหารตัดแต่งยีน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสาระว่า คนอเมริกันและคนยุโรปไม่รับประทานอาหารจีเอ็มโอ ข่าวดังกล่าวทำให้สถานทูตสหรัฐอเมริกาทำหนังสือชี้แจงมาถึงผู้เขียน โดยแย้งว่า คนอเมริกันนั้นบริโภคอาหารจีเอ็มโออย่างแน่นอน และคนยุโรปก็ใช่ว่าจะไม่บริโภค โดยไม่แย้งเปล่า แต่ส่งเอกสารมาถึงผู้เขียนด้วยอีกปึกใหญ่

ผู้เขียนได้ชี้แจงไปทางวาจาว่า การประชุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 27มกราคม นั้น มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเจ้าภาพ เป็นเพียงการอนุญาตให้องค์กรภายนอกมาหยิบยืมสถานที่ไปใช้เท่านั้น และผู้เขียนเองก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในฐานะวิทยากร เป็นแค่เพียง ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าหากแวะเวียนไปแถวคณะรัฐศาสตร์ ให้แวะไปร่วมแสดงความคิดเห็น ในเรื่องจีเอ็มโอด้วย ผู้เขียนเข้าไปที่การประชุม และให้ความเห็นสั้นๆ โดยเล่าประสบการณ์สดๆ ร้อนๆ จากการประชุมเรื่องอาหารเมดิเตอเรเนียน ที่อังกฤษให้ผู้เข้าประชุมฟัง ทั้งให้ความเห็นในเรื่องจีเอ็มโอว่า ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล่ นิวยอร์ก เล่าว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น หากใครไม่อยากกินจีเอ็มโอก็ทำได้ เพราะมีบริษัทอเมริกันหลายแห่งออกมาประกาศว่าจะเลิกใช้วัตถุดิบ ที่เป็นจีเอ็มโอ ดังนั้น ผู้บริโภคอเมริกันจึงมีข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ไหน ใช่หรือไม่ใช่จีเอ็มโอ ไม่อยากกินจีเอ็มโอก็ไม่ต้องกิน หากเห็นว่าจีเอ็มโอไม่อันตรายอยากจะกินก็ทำได้

ส่วนในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษนั้น การต่อต้านจีเอ็มโอ เป็นที่รับรู้กันอยู่ ผู้เขียนเดินสำรวจตลาดทั้งในอังกฤษและในเบลเยียม ไม่เจอน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดเลยแม้แต่ขวดเดียว ทั้งๆ ที่หลายปีก่อนหน้านั้น ในตลาดสองประเทศนี้ มีน้ำมันถั่วเหลืองให้เห็นอยู่บ่อยๆ ลองถามผู้บริโภคดูแล้ว เขาก็บอกว่าถั่วเหลืองส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา และมีถั่วเหลืองจีเอ็มโอปนอยู่ตั้งครึ่ง

น้องๆ นักข่าวคงมีโควตานำเสนอข่าวค่อนข้างจำกัด วิทยากรในการประชุมเองก็มีหลายคน ข่าวในส่วนของผู้เขียน จึงถูกสรุปได้เนื้อหาสั้นๆ ว่าคนอเมริกันกับยุโรปไม่บริโภคจีเอ็มโอ ผู้เขียนจึงขอชี้แจงในที่นี้ว่า ทั้งคนอเมริกันและยุโรปนั้น เขามีทางเลือก บริษัทไหนจะใช้หรือไม่ใช้จีเอ็มโอ เขาก็แจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดเจน แต่ไม่เคยพูดว่าคนอเมริกันกับคนยุโรปไม่รับประทานจีเอ็มโอ

ส่วนในบ้านเรานั้น ปัญหาจีเอ็มโอยังอึมครึมกันอยู่ ผู้บริโภคไม่มีโอกาสจะได้รับรู้ว่าผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง ที่เกลื่อนตลาดทั้งหลายมีจีเอ็มโอปนเปื้อนอยู่หรือเปล่า และปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหน เพราะยังไม่มีใครกล้าออกมายืนยัน ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดกล้าที่จะออกมาบอกผู้บริโภคว่าตนใช้หรือไม่ใช้ จีเอ็มโอเป็นวัตถุดิบ ผู้บริโภคที่ไม่กลัวจีเอ็มโอคงไม่เป็นปัญหา แต่ผู้บริโภคที่ไม่ต้องการรับประทานจีเอ็มโอ จะไม่มีสิทธิเลือก เพราะหาข้อมูลในเรื่องนี้ไม่ได้เลย

จะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าจีเอ็มโอ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ เพราะไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ผู้บริโภคน่าจะมีสิทธิรับรู้ว่าสิ่งที่ตนเองบริโภคนั้น มีจีเอ็มโอปนอยู่ด้วยหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนพูดถึงคือ ผู้บริโภคไทยมักคิดจะพึ่งพา หน่วยงานของรัฐเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องนัก ผู้บริโภคควรเรียนรู้ที่จะรวมกลุ่ม เป็นสมาคม เป็นชมรม หรือในรูปอื่น หาหนทางแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ผู้บริโภคอาจทำได้ถึงขนาดร่วมกับผู้ผลิตบางราย แสดงฉลากกันเองด้วยวิธีการที่ไม่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งก็มีทางเลือกอยู่ ขออนุญาตแก้ข่าวเท่านี้ล่ะครับ ต่อไปนี้เราไปดูเรื่อง อาหารเมดิเตอเรเนียนกันดีกว่า

วันที่ 11-17 มกราคม ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญ ให้ไปร่วมสังเกตการณ์ประชุม "อาหารเมดิเตอเรเนียน" ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นการประชุมระหว่างนักวิชาการด้านอาหาร และโภชนาการสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก นักวิชาการใหญ่ตัวหลักๆ มาจากกลุ่มประเทศอียู ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ฮอลแลนด์ เบลเยียม สวีเดน ฟินแลนด์ ฯลฯ

อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญมาก เป็นนักวิชาการมาจากสหรัฐอเมริกา กับแคนาดาเป็นหลัก นอกจากนี้ ก็ยังมีนักวิชาการจากอัฟริกาเหนือ และอเมริกาใต้ มีนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารจากเอเชียเข้าร่วม ในฐานะผู้สังเกตการณ์ 3 คน โดย 2 ใน 3 นั้น เป็นนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยมีชื่อของญี่ปุ่น อีกคนหนึ่งคือตัวผู้เขียนเอง

การประชุมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดย 4 วันแรกเป็นการประชุมที่เรียกว่า "การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์" โดยนักวิชาการแต่ละประเทศ นำเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของ อาหารเมดิเตอเรเนียนต่อสุขภาพมานำเสนอในที่ประชุม การประชุมใน 3 วันหลัง เป็นการประชุมที่เรียกว่า "การประชุมเรื่องอาหารเมดิเตอเรเนียน" นักวิทยาศาสตร์พบปะกับนักข่าว และนักเขียนที่มาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในจำนวนนี้ มีนักข่าวมาจากซีเอ็นเอ็น บีบีซี และสำนักข่าวชื่อดังอีกหลายสำนัก

ประชุมกันไป 7 วัน ลงทุนไปไม่น้อย เลี้ยงกันอิ่มหนำสำราญ ชนิดที่ไม่มีการขาดตกบกพร่อง ประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน ขนอาหารอันดับหนึ่งของตนเองมาเลี้ยงผู้ร่วมประชุมชนิดไม่อั้น เสร็จจากการประชุมแล้ว น้ำหนักตัวของทุกคนดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า เรียกว่าประทับใจกันไปตามๆ กัน

วัตถุประสงค์ของการประชุมยืดยาวหลายวันคราวนี้ ก็คือ เพื่อแนะนำอาหารในแถบถิ่นเมดิเตอเรเนียนให้ประชาชนทางแถบยุโรปเหนือ อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ได้รู้จัก เหตุที่ต้องรู้จักก็เพราะคนยุโรปเหนือ และอเมริกามีปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดค่อนข้างมาก ส่วนคนแถบเมดิเตอเรเนียนรับประทานอาหารมาก มีสัดส่วนของไขมันไม่น้อย แต่กลับไม่ค่อยจะเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด

การประชุม เรื่องอาหารเมดิเตอเรเนียน ที่ลอนดอน ที่ผู้เขียนเข้าร่วมนั้น มีชื่อว่า "2000 International Conference on The Mediterranean Diet" หรือ "การประชุมนานาชาติปี 2000 เรื่องอาหาร เมดิเตอเรเนียน" ผู้ให้การสนับสนุนหลัก ในการจัดประชุม คือ ประชาคมยุโรป (European Community) ซึ่งรู้จักกันดีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีองค์กรชื่อแปลกๆ ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ค้า และเกษตรกรหลายองค์กร ได้แก่ สภาน้ำมันมะกอก นานาชาติ (International Olive Oil Council) สภาถั่วเปลือกแข็งนานาชาติ (International Tree Nut Council) สภาถั่วลิสงอเมริกัน (The American Peanut Council) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านการเงิน เหตุที่ต้องจัดประชุมครั้งนี้ขึ้นก็เพื่อหาแนวทางส่งเสริมอาหารเมดิเตอเรเนียน ให้คนทางยุโรปตอนเหนือ และคนอเมริกาเหนือ ได้รับประทานด้วยเหตุผลว่า ประชากรกลุ่มนั้น มีปัญหาทางด้านโรคหัวใจ และหลอดเลือด และโรคอื่นๆ คุกคาม ขณะที่ประชากร แถบเมดิเตอเรเนียน มีสุขภาพดีกว่า อายุยืนยาวกว่า และนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชื่อว่า ปัจจัยที่ทำให้คนทางยุโรปใต้ มีสุขภาพดีกว่า ก็เพราะประชากรกลุ่มหลังนั้น บริโภคอาหารเมดิเตอเรเนียนนั่นเอง

อาหารเมดิเตอเรเนียนเป็นอาหารที่ใช้บริโภคกันแถบเกาะครีต แถบประเทศกรีซ และแถบด้านใต้ของประเทศอิตาลี เป็นอาหารที่มีพืชผักมาก มีถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชทั้งเมล็ดสูง นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยปลา ถั่วเปลือกแข็ง และผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ อย่างเช่น เนยแข็งบางประเภท

เหตุที่ทำให้แพทย์และนักโภชนาการให้ความสนใจ กับอาหารแถบเมดิเตอเรเนียน ก็เพราะข้อมูลในช่วงทศวรรษที่ 60 พบว่า คนในแถบถิ่นเมดิเตอเรเนียนที่กล่าวถึงนี้ จัดเป็นประชากรกลุ่มที่มีอายุขัยเฉลี่ยสูงมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก มีอัตราการเกิดของโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนโรคมะเร็งหลายชนิด ค่อนข้างต่ำ นอกจากนั้น ยังมีโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดค่อนข้างน้อย แม้ว่าคนในแถบถิ่นนี้จะมีบริการทางการแพทย์ค่อนข้างจะล้าหลังก็ตามที

เมื่อลองพิจารณาลักษณะอาหารที่ประชากรกลุ่มนี้บริโภคก็พบว่า เป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการบริโภค น้ำมันมะกอกร่วมด้วย

เมื่อลองพิจารณาถึงแถบดินแดนอื่นๆ รอบทะเลเมดิเตอเรเนียน ไม่ว่าจะเป็นแถบอื่นๆ ของอิตาลี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศสเปน โมร็อกโก ตูนีเซีย ตุรกี ซีเรีย เลบานอน อิสราเอล พบว่า อาหารของประชากรกลุ่มนี้หลายต่อหลายอย่าง มีองค์ประกอบ คล้ายคลึงกับอาหารในประเทศกรีซ และเกาะครีต เหตุนี้เองที่ทำให้เขา พยายามรวบรวมอาหารแถบเมดิเตอเรเนียนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน และพยายามส่งเสริมให้คนทั้งโลกบริโภค ลักษณะอาหารที่คนแถบเมดิเตอเรเนียนบริโภคโดยรวมคือ ในมื้ออาหารจะมีผักและผลไม้ค่อนข้างมาก ทำให้ได้รับใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และสารพฤกษเคมีค่อนข้างสูง บริโภคขนมปังและแป้งที่ทำจากธัญพืชทั้งเมล็ดหรือธัญพืชขัดสีต่ำ รับประทานถั่วเมล็ดแห้งและถั่วเปลือกแข็งค่อนข้างบ่อย รับประทานของหวานที่ทำจากน้ำผึ้งไม่บ่อยนัก บริโภคน้ำมันมะกอก เป็นแหล่งไขมันหลัก

คนแถบเมดิเตอเรเนียน บริโภคเนื้อสัตว์บกไม่มากนัก บริโภคไข่ประมาณสามสี่ครั้งต่อสัปดาห์ รับประทานผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนยแข็งและโยเกิร์ต ดื่มไวน์ในปริมาณพอควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาพร้อมอาหาร แต่ไม่ทุกมื้อ อาจจะสัปดาห์ละสองสามครั้งทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของอาหารเมดิเตอเรเนียน ในยุคคริสตทศวรรษที่ 60 เหตุที่ให้นับในช่วงเวลาของทศวรรษที่ 60 ก็เพราะอาหารเมดิเตอเรเนียนในยุคหลังๆ เริ่มที่จะมีอิทธิพลของอเมริกัน ปนเข้าไปมาก ผู้คนบริโภคไขมันสัตว์มากขึ้น บริโภคสิ่งที่เรียกว่า อาหารขยะมากขึ้นเลียนแบบคนอเมริกัน โรคหัวใจและหลอดเลือด เริ่มที่จะเกิดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

อาหารของคนแถบเมดิเตอเรเนียนยุคทศวรรษที่ 60 ที่ทางนักวิจัยทางการแพทย์ค้นพบ จะประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัว ไม่เกินร้อยละ 7 ของพลังงานที่ได้รับทั้งวัน ไขมันทั้งหมดมีไม่เกิน ร้อยละ 25-35 แล้วแต่ว่าจะเป็นแถบถิ่นไหน นอกเหนือจากอาหารดังกล่าวแล้วยังพบอีกว่า คนแถบนี้มีกิจกรรมทางร่างกายค่อนข้างมาก ไม่อ้วนมากเหมือนคนอเมริกัน จากการประชุมได้ข้อสรุปว่า หากคนอเมริกันและคนยุโรปตอนเหนือที่มีปัญหาโรคหัวใจ และหลอดเลือดค่อนข้างสูง มีปัญหาโรคอ้วนค่อนข้างมาก มีปัญหาของมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อินสุลินสูง หากต้องการที่จะลดปัญหาสุขภาพ ก็อาจแปรเปลี่ยนปรับปรุง อาหารที่ตนเองบริโภคให้มีลักษณะคล้ายคลึงอาหารแถบเมดิเตอเรเนียนได้

วิธีการง่ายๆ ทำโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบ ของอาหารที่เคยรับประทานให้หันมาบริโภคอาหารกรีกหรืออาหารอิตาลี เพียงให้เพิ่มผักผลไม้ลงในมื้ออาหารให้มากขึ้น เพิ่มการรับประทานถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง ใช้น้ำมันมะกอกในการปรุงอาหาร รับประทานเนยแข็ง โยเกิร์ตที่มีไขมันต่ำ เพียงเท่านี้ก็จะได้อาหารที่เรียกว่า อาหารแบบเมดิเตอเรเนียนแล้ว

ในอาหารแบบเมดิเตอเรเนียน มีสารต้านออกซิเดชั่นหลายกลุ่ม เป็นต้นว่าบรรดาวิตามินซี คาโรตินอยด์ ที่พบมากในพืชผักผลไม้ วิตามินอีที่พบในน้ำมันมะกอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในถั่วเปลือกแข็ง สารโพลีฟีนอลที่พบมากในพืชผัก ถั่วลิสง ถั่วเมล็ดแห้ง และถั่วเปลือกแข็ง สารต้านออกซิเดชั่นอย่างนี้นี่เองที่เชื่อว่าช่วยลดปัญหาของโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง

อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทำให้คนแถบเมดิเตอเรเนียนมีสุขภาพดี อายุยืน คือการอยู่ในแถบถิ่นที่มีอากาศดี ผู้คนรักดนตรี มีนิสัยชอบการรื่นเริง อารมณ์แจ่มใสร่าเริงอยู่เสมอ ไม่เคร่งเครียดเหมือนคนยุโรปทางตอนเหนือ และคนอเมริกัน รู้กันมานานแล้วว่าคนสนุกสนานรื่นเริงอย่างคนเมดิเตอเรเนียน มีอายุยืนได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น นอกจากจะต้องแนะนำอาหารแล้ว ยังต้องแนะนำเรื่องการบริหารอารมณ์ควบคู่ไปด้วย

สิ่งที่ผู้เขียนสนใจ อยู่ที่รูปแบบของ การประชุม ซึ่งถ่ายทอดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์เข้าสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้นำเสนอสู่ประชาชนโดยตรง มีนักข่าว บรรณาธิการชื่อดังๆ จากสำนักข่าว อย่างซีเอ็นเอ็น บีบีซี และอีกหลายสำนักข่าว บรรดานิตยสารทางด้านอาหาร และภัตตาคารระดับโลกหลายฉบับ ก็ส่งนักเขียน และคอลัมนิสต์ เข้าร่วมประชุมด้วย คึกคักกันจริงๆ

การประชุมจัดขึ้นที่ Royal Colllege of Physicians แห่งลอนดอน ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ยุคพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 สร้างบรรยากาศแสดงมนต์ขลังได้มาก ใครได้เข้าร่วมแล้ว ก็รู้สึกได้ในทันทีว่างานนี้ไม่ธรรมดา จึงอดไม่ได้ที่จะนำมาเขียนให้พวกเราอ่าน รู้สึกด้วยซ้ำว่าผู้เขียนโชคดีที่ได้เข้าร่วม ยังนึกอยู่เลยว่า เหตุใดเราไม่นำเอาลักษณะการประชุมเช่นนี้มาใช้ในการโปรโมต หรือประชาสัมพันธ์อาหารไทยบ้าง

อาหารไทยไม่ได้ทรงคุณค่าทางด้านความเอร็ดอร่อยเป็นที่ต้องตาต้องใจ เต็มไปด้วยเสน่ห์แห่งศิลปวัฒนธรรมของความเป็นไทยเท่านั้นนะครับ แต่ยังร่ำรวยไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ต้องไปพูดถึง สารอาหารประเภทโปรตีนคุณภาพสูง ย่อยง่าย กรดไขมันทรงคุณค่าจากปลา และอาหารทะเล หรือวิตามิน เกลือแร่ พร้อมใยอาหารสารพัน เพราะมีอยู่เพียบแปล้ เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว

คุณค่าหนึ่งของอาหารไทยที่เรามักละเลย มองข้ามอยู่เสมอ ในขณะที่อาหารญี่ปุ่น อาหารเมดิเตอเรเนียน พยายามเน้นนักเน้นหนาคือคุณค่าจากสารพฤกษเคมี ที่หลายต่อหลายตัวให้คุณค่าของสารต้านอ็อกซิเดชั่น ป้องกันมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต ต้อกระจก ความแก่ และอีกหลายต่อหลายโรค คุณค่าที่ว่านี้ มีข้อมูลว่าสารหลายตัว ให้คุณค่าสูงกว่าวิตามินอี วิตามินซี และวิตามินเอเสียด้วยซ้ำ

ในอาหารไทย มีสารพฤกษเคมีอยู่นับเป็นหมื่นชนิด ผู้เขียนเคยนำมาเขียนไว้แล้ว นอกจากนี้ พืชผักหลายชนิด ยังให้คุณค่าของสมุนไพร เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มาในรูปของอาหาร อร่อยด้วย เสริมสุขภาพด้วย เพียงขอให้กินอย่างถูกวิธี ยึดถือประเพณีไทยดั้งเดิมเท่านั้นแหละ อย่าไปตามฝรั่งให้มากนัก

ย้อนกลับมาที่เรื่องอาหารเมดิเตอเรเนียนอีกสักครั้ง ผลสรุปจากการประชุมวิชาการได้ข้อสรุปที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว ทั้งนี้ เนื่องจากมีการระดมข้อมูลจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ มาจากหลายแหล่ง การประชุมวิชาการวันสุดท้ายเป็นการหาข้อสรุป รายงานผลดีผลเสียของอาหารเมดิเตอเรเนียน ที่มีต่อการป้องกันรักษาโรคต่างๆ ได้ข้อสรุป ดังนี้ครับ

ผลของอาหารเมดิเตอเรเนียนที่มีต่อการป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือดซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้คนมากมาย คนตายไปด้วยโรคนี้เยอะแยะนั้น พบว่าอาหารเมดิเตอเรเนียน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในอาหารเมดิเตอเรเนียนมีไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ค่อนข้างต่ำ มีการรับประทานไขมันกลุ่มที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวค่อนข้างมาก ดังเช่น น้ำมันมะกอก

มีการบริโภคปลาค่อนข้างมาก บริโภคพืชผัก ธัญพืชขัดสีต่ำหรือธัญพืชทั้งเมล็ด อีกทั้งยังมีการรับประทานถั่วเปลือกแข็ง และผลไม้ที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งค่อนข้างสูง อย่างเช่น อะโวกาโด ถั่วนัต ปิสตาชิโอ และอีกสารพัดชนิด

อาหารประเภทที่กล่าวถึงนี้ ช่วยทำให้ไขมันในเลือด เป็นไปในทิศทางค่อนข้างดี เช่น มีไขมันชนิดไม่ดี คือคอเลสเตอรอลลดลง มีคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลลดลง มีคอเลสเตอรอลชนิดดีคือ เอชดีแอลมากขึ้น อีกทั้งภาวะการออกซิเดชั่นของไขมันในเลือด ยังลดลงได้อีกเพราะมีสารต้านออกซิเดชั่นในอาหารค่อนข้างสูง อินสุลินในเลือดไม่สูง เป็นผลดีต่อคนที่เป็นเบาหวานได้ด้วย

นอกจากโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังมีบทสรุปในเรื่อง การป้องกันโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคมะเร็ง เป็นต้นว่าในส่วนของเบาหวาน มีข้อมูลว่าอาหารเมดิเตอเรเนียนมักใช้แป้งประเภทที่ทำจากธัญพืชขัดสีต่ำ นอกจากนี้ ยังมีการรับประทานผักค่อนข้างมาก ทำให้น้ำตาลในเลือด ไม่สูงรวดเร็วเกินไป แหล่งของน้ำตาลยังเป็นผลไม้ที่ให้ผลต่ออินสุลินต่ำกว่า น้ำตาลและไขมันในเลือดจะอยู่ในระดับไม่สูงนัก ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของผู้ที่เป็นเบาหวาน

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอีกว่ากรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว ที่มีมากในถั่วเปลือกแข็ง หรือน้ำมันมะกอก รวมทั้งผลอะโวกาโด จะให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมันทำให้ปัญหาของการออกซิเดชั่นในไขมัน ซึ่งสร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับผู้ป่วยเบาหวานเกิดขึ้นได้น้อยลง เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันแล้วละครับ

ในเรื่องของความอ้วนและโรคมะเร็ง นักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่า อาหารเมดิเตอเรเนียนมีพืชผักค่อนข้างสูง ช่วยป้องกันปัญหาโรคอ้วน และโรคมะเร็งได้อยู่แล้ว แต่หากไปดูคนเมดิเตอเรเนียนจะเห็นว่า คนกลุ่มนี้ที่มีปัญหาโรคอ้วนอยู่ยังมีจำนวนไม่น้อย แต่เป็นความอ้วนที่ปลอดโรคมากกว่าอ้วนแบบคนอเมริกัน ซึ่งอ้วนด้วยการบริโภคไขมันอิ่มตัว

ข้อสรุปของอาหารเมดิเตอเรเนียนก็คือ เป็นอาหารสุขภาพ หากคนยุโรปทางตอนเหนือที่มีปัญหาสารพัดโรค ได้เปลี่ยนลักษณะอาหารให้คล้ายคลึงอาหารเมดิเตอเรเนียนได้ สุขภาพน่าจะดีขึ้น สรุปมาถึงจุดนี้แล้วผู้เขียนก็นึกถึงอาหารไทยขึ้นมาตงิดๆ ในอนาคต หากคนยุโรปเหนือนิยมบริโภคอาหารไทยมากขึ้น สุขภาพก็น่าจะดีขึ้นได้เหมือนกัน

ก่อนจะจบเรื่องอาหารเมดิเตอเรเนียน ผู้เขียนขออนุญาต แก้ข่าวอีกเรื่องหนึ่งครับ คือมีข่าวออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ผู้เขียนให้ผู้บริโภคเลิกพึ่ง อย. (คณะกรรมการอาหารและยา) โดยให้รวมตัวกันออกฉลากอาหารจีเอ็มโอเอง ข่าวนี้ออกมา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2543 ต้องขอปฏิเสธว่าไม่เคยพูดเช่นนั้น

สิ่งที่ผู้เขียนพูดในที่ประชุมวิชาการคือ คนไทยมักติดนิสัย พึ่งพาหน่วยราชการ หากหน่วยราชการทำงานไม่ถูกใจ ก็มักจะบ่น ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ผู้บริโภคควรพึ่งตนเองบ้าง ในเรื่องของการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอนั้น ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่หากต้องการจะติดฉลากในขณะที่ อย.ต้องใช้เวลาดำเนินการแล้ว กลุ่มผู้บริโภครอไม่ได้ ก็น่าจะลองหาทางออกอื่นที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ลองไปศึกษาดูว่าที่เขาติดฉลากเชลล์ชวนชิมหรือฉลากอย่างอื่น ที่เห็นกันเกลื่อนนั้น เขาทำอย่างไร ต้องลองหาทางออกให้ตนเองบ้าง โดยต้องไม่ให้ผิดกฎหมาย ขอแก้ข่าวแค่นี้แหละครับ

ดร.วินัย ดะห์ลัน



[ ที่มา...เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 402-404 วันที่ 14 ก.พ.-5 มี.ค. 2543]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1