นิตยสารใกล้หมอ
น้ำมันปาล์ม เปรียบเสมือนสายโลหิตของชาวมาเลเซียก็ว่าได้ เพราะปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจ อันดับสำคัญของประเทศมาเลเซียมานมนาน พอจะลืมตาอ้าปากกับเขาหน่อย ก็มีข่าวสาร ออกจากบางประเทศระดับบิ๊ก ๆ ทางซีกโลกตะวันตก กล่าวหาว่า น้ำมันปาล์มบริโภคแล้ว เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนเป็นที่อัศจรรย์ใจของนักวิชาการในประเทศมาเลเซียเอง เพราะประเทศที่ออกข่าวดังกล่าว ตัวเองแทบจะไม่ใช้น้ำมันปาล์มเลย แต่เหตุไฉนต้องเดือดร้อน ถึงขนาดต้องสร้างข่าวทำลายกันอย่างนี้
เมืองไทยเองก็เคยมีเรื่องราวใหญ่โต เมื่อองค์กรสาธารณสุขของรัฐบาล ให้ข่าวเชิงลบต่อน้ำมันปาล์ม จนผู้บริหารเกือบเอาตัวไม่รอด เพราะไปขัดผลประโยชน์ผู้ค้าน้ำมันปาล์มเข้าอย่างเต็มเปา
น้ำมันปาล์มเลวร้ายจริงหรือ ?
ผมขอให้เพื่อนร่วมงานของผม เข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แล้วพบบันทึกข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ตามหลักวิทยาศาสตร์ รายงานหนึ่งเกี่ยวกับผลทางโภชนาการของน้ำมันปาล์ม ที่นักวิทยาศาสตร์ สายโภชนาการทบทวนและเขียนขึ้นเผยแพร่
จะเรียกว่า 12 สัจธรรมเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มและปาล์มโอเลอีนก็ว่าได้
องค์กรที่จัดทำรายงานนี้ ก็ใหญ่โตและเชื่อถือได้คือ สภาที่ปรึกษาทางโภชนาการนานาชาติ และคณะกรรมการที่ปรึกษาทางโภชนาการของสหรัฐอเมริกา และแคนาดา (INTERANATIONAL NUTRITION ADVISORY COUNCIL และ NUTRITION ADVISORY COMMITTEE USA/CANADA)
จึงขอเรียบเรียงมาเผยแพร่ใน "ใกล้หมอ" เพื่อเริ่มสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแด่ผู้อ่านทุกคน
ความจริงประการที่ 1 บันทึกความปลอดภัยในการใช้ที่ยาวนาน
น้ำมันปาล์มเป็นแหล่งโภชนาการที่อุดมสมบูรณ์และปลอดภัยในการนำน้ำมันพืชสำหรับสุขภาพที่ดี ของมนุษย์มานับพันปีแล้ว
ความจริงประการที่ 2 บริโภคกันทั่วโลก
ชาวโลกบริโภคน้ำมันปาล์มและส่วนที่เป็นของเหลวคือ ปาล์โอเลอีน (PALM OLEIN) ในรูปของน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหารและเนยเทียม นอกจากนี้ยังผสมผสานเข้ากับไขมัน เพื่อใช้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารอันหลากหลายรวมถึงการปรุงอาหารในครัวเรือน
ความจริงประการที่ 3 เป็นแหล่งพลังงานจากอาหารที่ดีเยี่ยม
น้ำมันปาล์มมีลักษณะเด่น เช่นเดียวกับไขมันและน้ำมันที่ใช้บริโภคทั่วไป คือ ย่อยง่าย, ดูดซึมง่าย และร่างกายนำไปใช้ตามกระบวนการเมตาบอลิสม์ปกติ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ตอบสนอง ความต้องการของร่างกาย โดยเป็นแหล่งให้กรดไขมันที่จำเป็นสำหรับร่างกาย ในหลาย ๆ ภูมิภาคของโลก
ความจริงประการที่ 4 ปลอดโคเลสเตอรอลและกรดไขมันชนิด TRANSFATTY ACID
น้ำมันปาล์มมีความคล้ายคลึงกับน้ำมันพืชอื่น ๆ ตรงที่มันปลอดไขมันโคเลสเตอรอล และมีระดับการอิ่มตัวตามธรรมชาติในระดับปานกลาง ไม่ต้องอาศัยปฏิกิริยาเคมี การเติมไฮโดรเจน (HYDROGENATION) สำหรับการใช้เป็นส่วนประกอบทางไขมันในอาหาร ดังนั้นจึงไม่มีส่วนของกรดไขมันชนิด ทรานซ์แฟตตี้ แอซิด (TRANSFATTY ACID)
ความจริงประการที่ 5 อุดมสมบูรณ์ด้วยสารโรทีนอยด์
ส่วนประกอบสีแดง และสีแดง หรือทองของน้ำมันปาล์ม อันเป็นน้ำมันพืชหลัก เพื่อการปรุงอาหาร ในหลายภูมิภาคของโลก เป็นแหล่งกำเนิดอันอุดสมบูรณ์ของสาร เบตาคาโรทีน (BETA-CAROTENE) อันเป็นสารต้านออกซิเดชัน และเป็นสารก่อกำเนิดของวิตามินเอ และ โทโคไทรอีนอล (TOCOTRIENOLS) ซึ่งล้วนมีคุณสมบัติต้านออกซิเดชัน อันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้น
ความจริงประการที่ 6 วิตามินอีต้านออกซิเดชัน
น้ำมันปาล์มและผลิตผลจากน้ำมันปาล์มเป็นแหล่งเกิดตามธรรมชาติของวิตามินอี ที่มีคุณสมบัติต้านออกซิเดชัน รวมทั้งโทโคเฟอรอล (TOCOPHEROLS) และ โทโคไทรอีนอล (TOCOTRIENOLS) สารต้านออกซิเดชันตามธรรมชาติเหล่านี้ ทำหน้าที่เหมือน ตัวเก็บกวาด อนุมูลอิสระออกซิเจน (OXYGEN FREE RADICALS) ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนสุขภาพ อีกทั้งยังมีสมมุติฐานว่า อาจออกฤทธิ์ป้องกันการแก่ชราของเซลล์ ภาวะคราบไขมันพอกเส้นเลือดแดง และมะเร็งได้ด้วย
ความจริงประการที่ 7 ส่วนผสมของกรดไขมันที่ได้สมดุล
ปาล์มโอเลอีน ประกอบด้วย ส่วนผสมของกรดไขมัน 3 ประเภทคือ
โดยความเข้มข้นของกรดปาลมิติก และโอเลอิกจะกลับกันในน้ำ มันปาล์ม แบบ UNFRACTIONATE คือ 44% และ 40% แทนที่จะเป็น 40% และ 44% ตามลำดับ สัดส่วนของกรดไขมันในน้ำมันปาล์ม คล้ายคลึงกับเนื้อเยื่อไขมันในร่างกายของคน ที่รับประทานอาหารปกติ
ความจริงประการที่ 8 ให้กรดไลโนเลอิกอันเป็นกรดไขมันจำเป็นต่อร่างกาย
ไทรกลีเซอรัยด์ในน้ำมันปาล์มมีกรดไลโนเลอิกเป็นหลักอยู่ใน 2 ตำแหน่ง ทำให้ดูดซึมได้ง่าย และสะดวกในการใช้งานของร่างกาย
ความจริงประการที่ 9 น้ำมันปาล์มไม่ใช่ PALM KERNEL OIL
น้ำมันปาล์มจากผลปาล์ม มีคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีต่างจากน้ำมันปาล์มเคอร์เนล ซึ่งมาจากเมล็ดปาล์ม หรือจากน้ำมันมะพร้าว ซึ่งล้วนเป็นกรดไขมันแบบอิ่มตัว
งานวิจัยในมนุษย์ และข้อมูลทางระบาดวิทยาแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปาล์ม หรือปาล์มโอเลอีน ไม่ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันถั่วลิสง หรือน้ำมันคาโนลา
งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดกลับลดลงเสียด้วยซ้ำไป ส่วนกรดปาลมิติก ก็พบว่าเทียบเท่ากับกรดโอเลอิกในส่วนที่มีผลต่อเมตาบอลิสม์ของโคเลสเตอรอล และสมดุลระหว่างกรดไลโลเลอิก และกรดปาลมิติก จะช่วยเสริมให้เกิดไขมันโคเลสเตอรอล ชนิดดีต่อ HDL ในระดับสูงขึ้น
ความจริงประการที่ 10
การได้กรดปาลมิติก จากน้ำมันปาล์มหรือปาล์มโอเลอิกเข้าไปแทนที่กรดลอริก (LAURIC ACID) และกรดไมริสติก (MYRISTIC) ที่ปรากฏอยู่ในน้ำมันเมล็ดปาล์ม (PALM KERNEL) หรือน้ำมันมะพร้าวจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดีคือ LDL ได้
จากการทดสอบไขมันหลายชนิดรวมทั้ง ไขมันผสมที่ชาวอเมริกันบริโภคประจำวันพบว่า อาหารที่อุดมด้วยน้ำมันปาล์มจะช่วยให้หนูทดลองเพิ่มระดับ HDL ในกระแสเลือดและช่วยให้ตับสร้าง LDL RECEPTORS เพื่อสะดวกแก่การกำจัด LDL ตัวร้ายออกไปจากกระแสโลหิต
ความจริงประการที่ 11 ต่อต้านการแข็งตัวของเลือด
หนูทดลองที่ให้อาหารที่อุดมด้วยน้ำมันปาล์มจะมีโอกาสเกิดการคั่งแข็งตัวของเลือดลดลง
ความจริงประการที่ 12 ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง
ปาล์มโอเลอีนสีแดง เป็นแหล่งสำคัญของสารคาโรตีนอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งบางอย่าง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาหารที่มีน้ำมันปาล์ม เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่ใช้น้ำมันพืชชนิดอื่นแต่ให้พลังงานเท่า ๆ กันนั้จะมีผลยับยั้งพัฒนาการและอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในหนูทดลองได้ และยังแสดงให้เห็นด้วยว่าสาร โทโคไทรอีนอลในน้ำมันปาล์ม ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในห้องทดลองและในหนูมดลองได้อีกด้วย
สัจธรรมทั้ง 12 ประการนี้ คงช่วยสร้างความสบายใจให้ท่านผู้อ่านในระดับหนึ่งได้ว่า น้ำมันปาล์มที่ท่านซื้อไปปรุงอาหารนั้น นอกจากจะไม่ทำอันตรายต่อร่างกายแล้ว ยังอาจให้ผลดีต่อสุขภาพได้อีกต่างหาก ดังจะได้นำข้อมูลมาเสนอในโอกาสต่อไป
นิตยสารใกล้หมอ
main |