อรวินท์ โทรกี
เคยรู้สึกว่า ชีวิตประจำวันสับสนวุ่นวาย
จนทำให้เกิดอารมณ์เคร่งเครียด หงุดหงิดเป็นประจำบ้างไหม
เคยยุ่งจนต้องกินอาหารไม่เป็นเวลา หรือกินอาหารอย่างรีบเร่งบ้างไหม หากเป็นเช่นนี้เป็นเวลานาน เวลากินอาหารแล้วรู้สึกปวดท้อง
อาจจะเป็นโรคกระเพาะแล้วก็ได้
โรคกระเพาะหมายถึง การมีแผลที่ผนังของกระเพาะอาหาร
หรือลำไส้เล็กตอนบน มักเป็นได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
ผู้ชายมักเป็นมากกว่าผู้หญิงบางคนเป็นแล้วยังไม่รู้ตัว
เพราะยังไม่ปรากฏอาการ เมื่อไปตรวจโรคอื่นจึงพบเข้าโดยบังเอิญ เมื่อเป็นมากแล้วจึงจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงหลังอาหาร
รู้สึกปวดแสบปวดร้อน อุจจาระมีสีดำหรือเป็นเลือด อาเจียน
ยังไม่ทราบแน่นอนว่า อะไรเป็นสาเหตุทำให้ผนังกระเพาะอาหารเป็นแผล แต่มีหลายทฤษฎีคือ คนที่เป็นมักกินโปรตีนน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมเยื่อบุที่ชำรุดได้ผู้ที่ทำงานหนัก
พักผ่อนไม่เพียงพอ ความต้านทานโรคน้อยก็อาจเป็นโรคกระเพาะได้ง่าย
บางคนเป็นเพราะติดยาแก้ปวด ยาแก้ปวดศีรษะหลายชนิดมีกรด หากกินเป็นประจำก็อาจกัดให้กระเพาะเป็นแผลได้
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ เป็นโรคกระเพาะก็คือ
นิสัยการกินที่ไม่ดี เช่น การกินอาหารอย่างรีบเร่ง กินไม่เป็นเวลา
อดอาหารบางมื้อ ดื่มน้ำชากาแฟมาก ติดสุรา ฯลฯ
ความตึงเครียดของประสาททำให้เกิดแผลได้ ผู้ที่มีอารมณ์หงุดหงิด
ว้าวุ่น วิตกกังวล หรือเหน็ดเหนื่อยเสมอ มักเป็นโรคกระเพาะ
ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เช่น นักธุรกิจที่ต้องคอยกังวลอยู่กับต้นทุนกำไร ต้องทำงานหนักโดยไม่ได้พักผ่อน ก็เป็นโรคกระเพาะได้เช่นกัน
บางคนเรียกโรคกระเพาะว่า โรคของนักบริหาร
พ่อบ้านแม่เรือนผู้มีภารกิจต้องรับผิดชอบงานทั้งที่บ้าน
และที่ทำงานเคร่งเครียดมาจากงาน กลับมาถึงบ้านยังมีเรื่องในบ้าน
ให้วิตกกังวลต่อไม่ได้นอนหลับพักผ่อนเท่าที่ควร
ต้องระวังโรคกระเพาะเป็นพิเศษ
เมื่อพบว่าเป็นโรคกระเพาะ การรักษาที่สำคัญที่สุดก็คือ
พักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ถ้าเป็นมากต้องนอนพักหรือเข้าโรงพยาบาล
หรือเปลี่ยนสถานที่ เพื่อให้ห่างบรรยากาศ ที่ไม่สบอารมณ์ทั้งทางบ้านและที่ทำงาน
การดัดแปลงอาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโรคกระเพาะ
ผู้ป่วยมักมีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ เวลามีอาการหนัก หรือแผลในกระเพาะมีเลือดออก จึงต้องใช้ยา ผงด่าง
หรืออาหารที่ให้ด่างไปลบล้างฤทธิ์กรด อาหารที่ให้ด่างก็คือ นม
สมัยก่อนแนะนำให้ดื่มนมบ่อยๆ วันละหลายแก้ว ปัจจุบันไม่แนะนำเช่นนั้น เพราะนมมีโปรตีนซึ่งไปกระตุ้น ให้น้ำย่อยผลิตออกมามาก
และเกรงว่า นมจะทำให้ไขมันในเลือดสูง จึงแนะนำให้กินนมอย่างปกติ
ไม่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อเลือดที่แผลในกระเพาะอาหารหยุดแล้ว ผู้ป่วยยังต้องรักษาแผลให้หายสนิทด้วยการพักกระเพาะอาหาร โดยพยายามให้กระเพาะอาหารทำงานเบาที่สุด คือ
กินอาหารที่มีลักษณะอ่อนย่อยง่าย มีกากน้อยที่สุด มิฉะนั้นอาหารจะไปกระตุ้นเซลล์ให้ผลิตน้ำย่อยมากขึ้น เมื่อไปถูกแผลผู้ป่วยก็จะมีอาการปวดแสบปวดร้อน
เรื่องนี้ผู้ที่เคยเป็นโรคกระเพาะแล้วคงจะรู้ดี เมื่อใดที่เบื่อข้าวต้มเละๆ
กับน้ำซุป หันไปกินอาหารรสจัดหรือย่อยยากก่อนที่แผลจะหาย
ก็จะปรากฏผลทันที
แม้แผลจะหายแล้ว ก็ยังต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินตลอดไป
มิฉะนั้น อาจกลับเป็นอีกเมื่อใดก็ได้
พ่อบ้านแม่เรือนที่คิดว่า ตนอาจเป็นโรคกระเพาะแล้ว
หรือกลัวโรคกระเพาะ อาจใช้ข้อปฏิบัติตัวข้างล่างนี้
ช่วยป้องกันโรคกระเพาะ หรือช่วยให้โรคกระเพาะที่เป็นอยู่แล้วทุเลาลงได้
- อาหารตรงเวลาทุกวัน
- ไม่ควรกินอาหารแต่ละมื้อหนักเกินไป อาจแบ่งอาหารประจำวัน
ออกเป็น 4-5 มื้อ เพื่อช่วยมิให้กระเพาะทำงานแต่ละครั้งหนักเกินไป
ทั้งยังช่วยมิให้ท้องว่าง นานเกินควรอีกด้วย
- ไม่ควรรีบร้อนก่อนหรือหลังอาหาร ถ้าเป็นได้ควรพักสักครู่
ทั้งก่อนและหลังอาหาร
- ในขณะกินอาหาร ควรดื่มน้ำบ้าง เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารดีขึ้น
และควรดื่มน้ำมากๆ ระหว่างมื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นน้ำย่อย เช่นอาหารที่มีรสจัดอาหารที่แข็ง
หรือมีกากมาก อาหารที่เผ็ดจัด อาหารเรียกน้ำย่อย เช่น น้ำซุปเนื้อ ตลอดจนอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด
- ไม่ควร สูบบุหรี่ หรือดื่มสุราก่อนอาหาร โดยเฉพาะในขณะที่ท้องว่าง
- พักผ่อนให้เพียงพอ พึงระลึกเสมอว่า ความเคร่งเครียด
และกระวนกระวายใจมีผลกระทบกระเทือนต่อการย่อยอาหาร
พ่อบ้านแม่เรือนที่สามารถปฏิบัติตัวตามได้ทุกข้อข้างบนนี้
ก็จะปลอดภัยจากโรคกระเพาะ
|