นันทยา จงใจเทศ
วิตามินซีเป็นสารอาหารตัวหนึ่งที่ช่วยป้องกัน มิให้เกิดเลือดออกตามไรฟัน หรือที่เรียกว่า โรคลักปิดลักเปิด และเป็นตัวช่วยในขบวนการสังเคราะห์ฮอร์โมนบางตัว ช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงของไขมัน ในร่างกายเป็นพลังงาน สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วิตามินซี ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น ทำให้ป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้
วิตามินซี มีมากในพืช ได้แก่ ผักและผลไม้ทั่วไป สำหรับผักสดนอกจากจะมีวิตมินซีมากในผักที่มีรสค่อนข้างขม เช่น ดอกขี้เหล็ก สะเดา ใบยอ มะระ ขี้นกแล้ว ในผักสดอื่น ๆ ก็มีวิตามินซีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นยอด หรือเมล็ดที่กำลังงอก จะมีวิตามินซีค่อนข้างสูง เช่น ยอดชะอม ยอดตำลึง ยอดมะระ ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดอ่อนของผักกวางตุ้ง ดอกกะหล่ำ ฝักมะรุม และถั่วงอกเป็นต้น สำหรับผลไม้เกือบทุกชนิดมีวิตามินซี โดยเฉพาะผลไม้ที่ใกล้จะสุก จะมีวิตามินซีค่อนข้างมาก เช่น มะปราง มะม่วง มะละกอ พุทรา นอกจากนี้ยังมีมากในผลไม้ประเภท ฝรั่ง มะกอก มะขามเทศ มะขามป้อม ผลไม้ประเภทส้มทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นส้มเกลี้ยง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ก็มีวิตามินซีเช่นกัน
อาการขาดวิตามินซี ถ้าในเด็กทารก อายุ 6-18 เดือน จะมีอาการร้องกวน โยเย เบื่ออาหาร ปวดตามกระดูกแขนและขา บางครั้งมีจำเลือดตามแขนและขา ส่วนในผู้ใหญ่ จะมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เหงือกบวม และเลือดออกตามไรฟัน หรือใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อไม่มีแรง กระดูกและเล็บเปราะง่าย ถ้าเกิดมีแผลก็จะหายช้ากว่าปกติ
เนื่องจากร่างกายเก็บวิตามินซีไว้ได้ไม่นานนัก เราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอ โดยที่เราสามารถเลือกรับประทานผลไม้ ให้หลากหลายกันไปได้ในแต่ละวัน เช่น รับประทานฝรั่งเพียงวันละ 1/2 ลูก มะละกอวันละ 1/4 ผล หรือส้มเกลี้ยงวันละ 1 ผล ถ้าเป็นส้มเขียวหวาน วันละ 2 ผล อย่างใดอย่างหนึ่งทุกวัน เพียงแค่นี้จะทำให้ร่างกายไม่ขาดวิตามินซีแน่นอน นอกจากนี้การบริโภควิตามินซีจากผลไม้จะได้คุณค่าทางโภชนาการด้านอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย ดีกว่ารับประทานวิตามินซีในรูปของยาเม็ด ซึ่งมีคนจำนวนมากที่นิยมกินกันมาก เนื่องจากมีการกล่าวขานกันว่า การกินวิตามินซีวันละมาก ๆ จะสามารถป้องกันโรคหวัด และลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีการทดลองพิสูจน์เพื่อชี้ขาดลงไป ข้อควรระวังก็คือ เมื่อร่างกายมีความเคยชินกับการได้รับปริมาณวิตามินสูง ๆ จากการกินยาเม็ดวิตามินซี หากหยุดรับประทานเมื่อใดก็อาจเกิดอาการขาดขึ้นได้เหมือนกัน
นันทยา จงใจเทศ
กองโภชนาการ
main |