มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

 อาจารย์ใหญ่

...ร่างไร้ลมหายใจ
อุทิศไว้เพื่อการศึกษา...


เขียนที่..................................

วันที่........เดือน....................พ.ศ............

ข้าพเจ้า......................อายุ........ปีสัญชาติ............. ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่............................
ขอทำพินัยกรรมฉบับนี้ไว้แก่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อแสดงว่า ข้าพเจ้าเต็มใจ และยินดีอุทิศศพของข้าพเจ้าเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และเพื่อเป็นวิทยาทาน ข้าพเจ้าได้มอบให้ (นาย/นาง/น.ส.) ....................เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าเป็น .............ซึ่งเป็นผู้ที่จะแจ้งการถึงแก่กรรมของข้าพเจ้า แก่เจ้าหน้าที่ของภาควิชาการวิภาคศาสตร์ หนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ ทำขึ้นขณะที่ข้าพเจ้ามีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อแสดงว่า ข้าพเจ้าเต็มใจและยินดีอุทิศศพของข้าพเจ้าตามความประสงค์ดังกล่าวข้างต้น โดยปราศจากการชักจูงแต่ประการใด

ลงชื่อ........................ผู้ทำพินัยกรรม


ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่ในแบบฟอร์มพินัยกรรม อุทิศร่างกายแก่โรงพยาบาลศิริราช และข้อความคล้ายคลึงกันนี้ ก็มีอยู่ในแบบฟอร์มที่ออกโดยสถาบันต่างๆ ที่มีโรงเรียนแพทย์เช่นกัน โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งมีความจำเป็นต้องใช้ร่างกายของคน มาเป็นอุปกรณ์การศึกษา ในฐานะ "อาจารย์ใหญ่" ของนักศึกษาแพทย์ เพื่อเรียนรู้ถึงระบบต่างๆ ในร่างกายปกติ อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้แพทย์ในอนาคตเหล่านี้ สามารถรับมือและจัดการกับความป่วยไข้อันเป็น สาเหตุผิดปกติของร่างกายได้

ความตั้งใจของผู้อุทิศร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ จะมีผลทางนิติกรรมเมื่อผู้อุทิศได้ลงชื่อในตอนท้ายของแบบฟอร์มเหล่านี้ แต่กว่าจะมีผลในทางปฏิบัติคือ ได้เป็นอาจารย์ใหญ่จริงๆ ก็ต่อเมื่อผู้อุทิศร่างกายได้เสียชีวิตลง และญาติแจ้งให้โรงเรียนแพทย์นั้นๆ มารับศพไปจัดการตามขั้นตอนต่อไป

ทำอะไรกับร่างไร้ลมหายใจ

กระบวนการจัดการศพเริ่มต้นเมื่อญาติของผู้อุทิศร่างกาย แจ้งข่าวการเสียชีวิตมายังโรงเรียนแพทย์ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ เจ้าหน้าที่จากภาควิชาจะเดินทางมาฉีดยาให้ศพ โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดใหญ่ปักไว้บริเวณหลอดเลือดแดงต้นขา จากนั้นจะปั้มน้ำยารักษาศพจากขวดผ่านปลายเข็มเข้าสู่ร่างที่ไร้ลมหายใจ การฉีดยารักษาศพของผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์ใหญ่ต้องดำเนินการ โดยบุคคลเหล่านี้เท่านั้น แม้ว่าผู้อุทิศร่างกายจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ซึ่งสามารถจะฉีดน้ำยารักษาสภาพศพได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่า ศพจะได้รับน้ำยามากพอและทั่วถึงทุกส่วนในร่างกาย ซึ่งอาจต้องใช้น้ำยารักษาศพเป็นปริมาณมากถึง 10 ลิตร ในขณะที่การฉีดน้ำยารักษาศพทั่วไปใช้น้ำยาเพียง 5 ลิตรเท่านั้น เจ้าหน้าที่ผู้ฉีดยามักจะทราบเองโดยประสบการณ์โชกโชนของเขาว่า ฉีดน้ำยาเท่าไรจึงจะเพียงพอ สภาพที่จะบ่งบอกได้คือ ศพแข็งเป่ง เนื้อแน่น ปฏิบัติการนี้ควรทำให้เร็วที่สุดหลังจากผู้อุทิศร่างกายเสียชีวิต ซึ่งโดยทั่วไปมักจะกำหนดว่า ญาติควรจะแจ้งข่าวให้โรงเรียนแพทย์ทราบ ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากเสียชีวิต เพื่อให้ศพอยู่ในสภาพสด ยิ่งสดเท่าไร สภาพศพหลังการเก็บรักษาก็จะยิ่งเหมาะสมที่จะใช้ในการชำแหละยิ่งขึ้นเท่านั้น สภาพของอาจารย์ใหญ่ที่สมบูรณ์ กล้ามเนื้อจะมีสีขาวหรือสีอ่อน เนื้อนุ่ม แต่หากทิ้งไว้นานจนศพมีการเปลี่ยนแปลงไปมากก่อนที่จะได้รับการฉีดยา สภาพอาจารย์ใหญ่ที่ได้จะดำและแข็ง ทำให้ชำแหละได้ยากขึ้น

หลังจากฉีดยาเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่อาจรับศพกลับไปเลย แต่หากญาติจะขอศพไว้บำเพ็ญกุศลก่อนก็ทำได้ เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงนำส่งคืน ในระหว่างนี้ศพจะถูกจัดให้นอนอยู่ในท่าปกติ ไม่มีการมัดตราสังข์

และเมื่อร่างกายของผู้บริจาคส่งคืนมาถึงมือเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำศพลงแช่น้ำยาในบ่อดองศพ แต่ก่อนนำลงบ่อดอง อาจมีการฉีดน้ำยาเพิ่มเข้าไปอีกหากจำเป็น และต้องติดรหัสหมายเลขประจำตัวให้ตรงกับรายชื่อในแฟ้มประวัติ ของผู้บริจาคร่างกาย ศพจะแช่อยู่ในบ่อนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพื่อให้น้ำยาเข้าสู่ทุกส่วนของร่างกายอย่างทั่วถึงจึงจะนำมาใช้เรียนได้

ขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นกรณีของการบริจาค ร่างกาย "ทั้งตัว" แต่หากต้องการบริจาคเพียง "กระดูก" ก็จะมีรายละเอียด ที่แตกต่างกันออกไป คือ เมื่อผู้บริจาคกระดูกเสียชีวิต ศพของบุคคลเหล่านี้ จะไม่ได้รับการฉีดยาใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากยารักษาศพ จะทำให้กระดูกมีน้ำมัน เจ้าหน้าที่จะรับศพมาชำแหละ เพื่อเก็บกระดูกและอวัยวะบางส่วน มาใช้ในการศึกษาเลย อวัยวะที่เหลืออาจจะดองใส่ภาชนะ ให้ญาตินำไปทำพิธี หากญาติแจ้งความจำนงว่า ให้ทางหน่วยงานเป็นผู้จัดการให้ ชิ้นส่วนเหล่านี้ ก็จะถูกเก็บรวบรวม นำไปเผาต่อไป

หลังจากนั้นกระดูกทุกชิ้นจะถูก "ดองน้ำ" เพื่อให้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อ
ต่างๆ ที่ยังหลงเหลือติดกระดูกอยู่เน่าเปื่อย หลุดออกไป แล้วนำไปใส่ในน้ำด่าง ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายๆ ผงซักฟอก อุ่นให้ร้อนมากและนานพอที่จะทำให้เนื้อเยื่อที่ติดกระดูกยุ่ยออกมา แล้วจึงนำไปขัดด้วยแปรงเพื่อให้เนื้อเยื่อหลุดออกจากกระดูกอย่างหมดจดจริงๆ ขั้นตอนต่อมาเป็นการล้างให้สะอาด และนำไปตากให้แห้ง ถ้าตากแห้งได้ภายในวันเดียว กระดูกที่ได้จะแลดูขาว เหมาะที่จะนำไปเรียน

กระดูกที่เลาะออกมาล้างทำความสะอาดและตากแห้งแล้วนี้ จะอยู่ในสภาพเป็นชิ้นๆ จึงต้องมีงานในขั้นต่อมาคือ การร้อยกระดูกให้กลับคืนเป็นโครงร่างคนเหมือนเดิม

วารินทร์ โตสารภี เจ้าหน้าที่ประจำ ของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้มีประสบการณ์อันยาวนานเกี่ยวกับการจัดวางร่างกายของผู้บริจาค และเชี่ยวชาญเรื่องร้อยกระดูก เล่าให้ฟังว่า "กว่าจะประกอบกระดูกเสร็จ 1 คน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ถ้ารวมตั้งแต่ แล่ ทำความสะอาด ก็จะถึง 3 เดือน เวลาประกอบก็ใช้วิธีเอาลวดมายึดระหว่างกระดูก บางอันครึ่งวันแล้วก็ยังร้อยไม่เสร็จ เพราะเราต้องเอาลวด ร้อยจากรูหนึ่งไปโผล่อีกรูหนึ่ง ต้องใจเย็น เราจะเขียนรหัสกำกับไว้ ที่กระดูกทุกชิ้น กันหาย ถ้าอันไหนหลุดมาเราก็จะรู้ว่า กระดูกชิ้นนี้เป็นของใคร"

เมื่อถามถึงส่วนที่ร้อยยากที่สุด คุณวารินทร์ตอบอย่างไม่ลังเล "มือกับเท้าครับ เพราะกระดูกเยอะ กว่าจะประกอบกันได้ก็ใช้เวลานาน" แต่การร้อยกระดูกก็ไม่ได้ทำกันบ่อย เมื่อร้อยแล้วโครงกระดูก 1 โครง สามารถใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนไปได้นานเป็นสิบปี

บนเตียงเหล็ก ในห้องเรียน

ช่วงก่อนเปิดเทอมในราวเดือนพฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นช่วงงานหนักของบรรดาเจ้าหนาที่กายวิภาคประจำ โรงเรียนแพทย์เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นช่วงที่จะต้องนำร่าง ของผู้บริจาคร่างกายขึ้นจากบ่อดองตามจำนวนที่ต้องใช้ในปีการศึกษานั้นๆ โดยนำขึ้นตามลำดับก่อนหลัง ส่วนร่างที่เหลือหรือยังแช่ไม่ครบกำหนด ก็ยังคงอยู่ในบ่อดองต่อไป จำนวนอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนแพทย์แต่ละแห่ง จะแตกต่างกันไปตามจำนวนนักศึกษา อย่างเช่น ในแต่ละปีการศึกษา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะต้องนำร่างอาจารย์ใหญ่ ขึ้นจากบ่อดองประมาณ 100 ท่าน ส่วนวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จะนำอาจารย์ขึ้นจากบ่อประมาณ 30 ท่านเท่านั้น โดยสัดส่วนระหว่างอาจารย์ใหญ่กับนักศึกษาแพทย์นั้นอยู่ที่ 1 ต่อ 4 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุด แต่ในโรงเรียนแพทย์บางแห่งที่ยังมีอาจารย์ใหญ่ไม่เพียงพอ จำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์ใหญ่ 1 ท่านอาจมากกว่านี้

ร่างของอาจารย์ใหญ่ ห่อหุ้มด้วยผ้าพลาสติก ถูกลำเลียงเข้ามาวางบนเตียงในห้องปฏิบัติการวิชากายวิภาคศาสตร์ รอคอยการมาเรียนของลูกศิษย์ ซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 อย่างเงียบสงบ

ยังไม่ทันที่จะก้าวไปถึง กลิ่นฟอร์มาลินอันตลบอบอวล ก็ล่องลอยออกมาต้อนรับพวกเราก่อน โครงกระดูกหลายโครง แขวนอยู่กับเสาสเตนเลส ตั้งกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วห้อง บนเตียงมีร่างของอาจารย์ใหญ่นอนคว่ำอยู่ สภาพศพดูแห้ง เป็นสีน้ำตาลไปทั้งตัว ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยปฏิกิริยาจากสารเคมี ในน้ำยาดองศพนั่นเอง

เพิ่งจะเปิดเทอมไม่นาน บทปฏิบัติการในวันนี้ จึงเป็นการเปิดผิวหนังบริเวณคอด้านหลังเพื่อดูลักษณะกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทบริเวณนั้น นักศึกษาแพทย์ 4 คน นั่งบ้าง ยืนบ้าง รายล้อมเตียงเหล็กบ้าง เตียงไม้บ้าง แต่พวกเขาเรียกมันติดปากว่า "โต๊ะ" ที่หัวโต๊ะมีแท่นวางตำรากาย วิภาคศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษที่ทั้งหนาและหนัก แสดงภาพและบรรยายถึงลักษณะและความสำคัญ ขององค์ประกอบบริเวณนั้นๆ 2 ใน 4 คน กำลังใช้อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมีด ปากคีบ (forcep) เหล็กขูด (probe, seeker) ค้นและขุดคุ้ย ในขณะที่อีกคนหนึ่งต้องศึกษาขั้นตอนในบทปฏิบัติการ เพื่อควบคุมให้การชำแหละเป็นไปอย่างถูกต้อง คนสุดท้าย ทำหน้าที่เปิดตำราเพื่อเทียบสิ่งที่ค้นพบกับสิ่งที่ตำราบอก พวกเขาทั้ง 4 คนกำลังช่วยกันชำแหละร่างของอาจารย์ใหญ่ เพื่อเรียนรู้วิชากายวิภาคศาสตร์ ด้วยความตั้งอกตั้งใจยิ่ง เมื่อสงสัยตรงจุดใดจุดหนึ่ง ก็จะมีอาจารย์ผู้ควบคุมมาช่วยอธิบายให้เข้าใจ และสิ่งที่นักศึกษาแพทย์จะต้องทำทุกครั้งหลังจากจบบทปฏิบัติการในแต่วันก็คือ ใช้แปรงชุบน้ำยาทาตามร่างของอาจารย์ใหญ่ เพื่อให้เนื้อเยื่อมีความชุ่มชื้น ก่อนจะคลุมผ้าไว้ดังเดิม

โรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยก่อตั้งมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนแปลง แต่รูปแบบการเรียนการสอน วิชากายวิภาคศาสตร์ อันเป็นวิชาพื้นฐานของการเรียนแพทย์ ก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก

การเรียนกายวิภาคศาสตร์แบ่งออกเป็น 4 วิชาหลัก คือ วิชามหากายวิภาคศาสตร์ (Gross Anatomy) เป็นการเรียนด้วยการชำแหละ วิชาจุลกายวิภาคศาสตร์ (Microscopic Anatomy) ดูสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยนำเนื้อเยื่อในอวัยวะมาตัดบางๆ แล้วปิดผนึกลงบนแผ่นสไลด์กระจก แล้วดูใต้กล้องจุลทรรศน์ สามคือวิชาที่ว่าด้วยการเจริญเติบโตจากไข่ (Embryology) ดูว่าหลังจากไข่มีการปฏิสนธิแล้ว ตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวอย่างไร และสุดท้ายคือ ประสาทกายวิภาคศาสตร์ (Neuroanatomy) เป็นการเรียนกายวิภาคของระบบประสาท

แต่ความสะดวกสบายในการเรียนของคนสมัยก่อน ย่อมมีน้อยกว่าสมัยนี้อย่างแน่นอน

บรรยากาศการเรียนกายวิภาคสมัยแรก
"โรงเรียนแพทย์บ้านเรา เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2433 ก็ 107 ปีแล้ว" รศ.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล อันถือเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรก ของประเทศไทยเริ่มเล่า" ในครั้งนั้นซึ่งเป็นสมัยเริ่ม แรกมีครู 1 คน
นักเรียน 13 คน ครูก็สอนทุกวิชา เป็นหมอธรรมดาไม่ได้ ถูกอบรมมาให้เป็นครู อุปกรณ์ก็ไม่ได้มีอะไรมาก แรกๆ ก็ใช้หุ่น ต่อมามีการชำแหละศพ ท่าน (นักศึกษาแพทย์สมัยนั้น) เขียนกันไว้ว่า เมื่อได้ศพมาก็ชำแหละกันสดๆ ยุติการเรียนทุกวิชามาชำแหละ เรียนกันไปให้มากที่สุด จนกว่าศพจะเน่าจนเรียนไม่ได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ต่อมาก็มีการเก็บ และใช้ยารักษาศพเหมือนกัน สิ่งที่เรียนมี 2 อย่างคือ ศพกับกระดูก รุ่น พ.ศ.2450-60 ท่านเขียนไว้ว่า ต้องไปขุดกระดูกที่ป่าช้าในวัด มาทำความสะอาดเอาเอง บางท่านบอกว่าตอนหลังเริ่มใช้กรดคาร์บอกซิลิกฉีดกันเน่า แต่เดินวนรอบโต๊ะ 1 เดือนโดยไม่ได้เข้า ใกล้ศพเลย เพราะทนกลิ่นไม่ได้ การเรียนการสอนเริ่มได้ผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 เพราะเริ่มมีการรักษาศพที่ดี ได้ศพที่ยังไม่เน่า..."

"ตอนแรกได้จากศพที่ตายแล้วญาติไม่อยากเอาไป ก็ขอๆ กัน ต่อมาเริ่มมีการบริจาคร่างกายก่อนตาย คิดว่ารายแรก น่าจะเป็นพระยาอุปกิตศิลปสาร หรือไม่ก็ ม.ร.ว.ดนุสิริ สิริวงษ์..."

"นักศึกษาแพทย์ จะได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่ต้นว่า ศพ กระดูก อวัยวะและเศษเนื้อ จะต้องเป็นสิ่งที่เราเคารพ เราจะต้องถือว่า ศพเป็นครู เราก็เลยเรียกศพว่า อาจารย์ใหญ่ แต่ก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนเริ่มต้น โรงเรียนแพทย์ต้องหาของสองสิ่งนี้ไว้ ศพที่ใช้ชำแหละใช้แล้วก็สิ้นสุดไป กระดูกอยู่ได้นานกว่า..."

อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้เรียนวิชานี้ก็มีความสะดวก ในการเรียนมากขึ้น ระยะเวลาการเรียนอาจยาวนานตลอด 1 ปีการศึกษา แต่โรงเรียนแพทย์บางแห่งก็อาจใช้เวลาน้อยกว่านี้ โดยเมื่อเรียนในส่วนใดก็จะเปิดเฉพาะส่วนนั้น ในระหว่างปิดภาคการศึกษาอาจารย์ใหญ่ก็นอนสงบนิ่งอยู่บนโต๊ะเช่นเดิม มิได้นำกลับไปแช่ในบ่อดองแต่อย่างใด

กายวิภาคศาสตร์ เป็นวิชาที่นักศึกษาแพทย์ทุกคน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายากและหนัก เพราะต้องท่องจำชื่อต่างๆ มากมาย จำนวนชั่วโมงเรียนที่มีต่อสัปดาห์นั้นเป็นของวิชานี้ไป ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาเรียนทั้งสัปดาห์และด้วยการขาดทักษะ ในการใช้มือของเด็กรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน ยิ่งทำให้เวลาที่ใช้ ในภาคปฏิบัติของวิชานี้ยืดยาวออกไป จากบ่ายเลิกเย็น ก็กลายมาเป็นเลิกค่ำจนเป็นปกติ และถุงกับเลิกดึกหากเป็นช่วงใกล้สอบ

อาจารย์สรรใจ พูดถึงเรื่องนี้ว่า "เด็กเดี๋ยวนี้ไม่เคยฝึกฝน การใช้มือมาเลย บอกว่าชำแหละศพ คุณต้องจับมีดเหมือนจับปากกานะ แต่เขาก็จับปากกาแปลกๆ เวลาที่เราทำงานละเอียดจะต้องมีส่วนที่พลิกมือ มีนิ้วแตะกับพื้นถ้าเคยทำงานประเภทเลื่อยฉลุ เคยวาดเขียน ของพวกนี้ก็จะไม่ยาก"

แต่ไม่ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญเพียงไร นักศึกษาแพทย์ทุกคน ก็ตั้งใจเรียนกันอย่างขะมักเขม้น เพราะวิชานี้เป็นพื้นฐานสำคัญ ของการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพปกติของร่างกายของคนเรา เพื่อในอนาคต เมื่อพวกเขาได้ศึกษาถึงโรคและความเจ็บไข้ต่างๆ เขาจะมีความรู้พื้นฐานในการเปรียบเทียบระหว่างความปกติกับไม่ปกติ อันเป็นอาการของโรคได้เป็นอย่างดี

และถ้าจะถามว่า ถ้าจะไม่เรียนจาก "ของจริง" จะเป็นไปได้หรือไม่ในเรื่องนี้คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดี เท่าอาจารย์สรรใจ "ถ้าจะไม่เรียนจากของจริงก็มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือต้องการใช้เทคโนโลยีมาก ประเภทที่สองคือ ที่ๆ ไม่มีศพ อย่างเช่นประเทศมุสลิม อย่างมาเลเซีย เขาได้ศพแค่ปีละ 1-2 ศพเท่านั้น เขาขอความช่วยเหลือมาที่นี่ (ศิริราช) ก็ไม่รู้ว่าจะให้ได้อย่างไร ถ้าให้ก็คงถูกว่า ถ้าถามว่าเรียนกับหุ่นได้มั้ย ก็อยากจะถามกลับว่า เวลาคุณเป็นคนไข้ คุณเป็นคนจริงๆ หรือเปล่า ก็เรียนได้ แต่ไม่เหมือนโดยตลอด ประเทศไทยขณะนี้ เราไม่มีความลำบากในการหาศพ คนไทยใจบุญบริจาคกันเยอะ ค่าใช้จ่ายต่อศพรวมเผาให้เสร็จก็ไม่เกิน 3,000 บาท"

แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่มีเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเสียเลย มีวิธีการรักษาสภาพชิ้นส่วนให้คงอยู่อย่างถาวรโดยใช้พลาสติก วิธีการนี้เรียกว่า การกำซาบพลาสติก (Plastination) เป็นวิธีการที่คิดค้นขึ้นโดย ศาสตราจารย์ลุกวอน ฮาเกนส์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน วิธีการทำเริ่มต้นจากใช้อะซีโตน ไล่น้ำออกจากเซลล์ หลังจากนั้นจึงไล่อะซีโตนออก โดยใช้เรซินเข้าไปแทนที่ แล้วนำไปรมด้วยตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อให้เรซินเกิดการรวมตัวกันเป็นพอลิเมอร์ กลายเป็นพลาสติกเข้าไปแทรกอยู่ในเซลล์ ทำให้อวัยวะที่ได้มีความแข็งแรงทนถาวร มีสภาพดูเหมือนพลาสติกทั้งๆ ที่ทำจากของจริง แต่ราคาค่อนข้างสูง และใช้ได้เฉพาะบทเรียน บางเรื่องเท่านั้น

กายวิภาคศาสตร์ วิชานั้นสำคัญไฉน

กาวิภาคศาสตร์ (Anatomy) เป็นวิชาที่เก่าแก่วิชาหนึ่ง วิชานี้เป็นการเรียนรูปร่างสัณฐานของร่างกาย ส่วนประกอบของร่างกายตั้งแต่เห็นด้วยตาเปล่า จนต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ สำหรับผู้ที่จะเป็นแพทย์ในอนาคต จำเป็นต้องรู้จักทุกส่วนที่ประกอบเป็นร่างกาย เรียนรู้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ในสภาพที่เป็นปกติก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ก่อนจะไปเรียนถึงความผิดปกติ ที่เกิดจากโรคต่างๆ วิชากายวิภาคศาสตร์จึงถือวิชาพื้นฐาน ในหลักสูตรของโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า วิชานี้จะเรียนกันเฉพาะแพทย์เท่านั้น ยังมีสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ก็ยังต้องเรียนรู้วิชานี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทันตแพทย์ที่เน้นหนักเฉพาะส่วนตัว อก ช่องท้อง กายภาพบำบัดเน้น แขน ขา สันหลัก กล้ามเนื้อหลัง ซึ่งในส่วนต่างๆ ที่กล่าวมา พวกเขาต้องเรียนรู้ให้มากกว่าแพทย์เสียอีก

นอกจากสองสาขาที่กล่าวมา ยังมีสาขาอื่นๆ อีก เช่น นิติเวช ที่ต้องเรียนรู้กายวิภาคเพื่อการพิสูจน์หลักฐาน ผู้เรียนวิชามานุษยวิทยากายภาพ ซึ่งต้องเรียนรู้มานุษยวิทยา ในเชิงรูปร่างหน้าตา จำแนกประเภท ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานในวิชานี้ หรือแม้แต่ศิลปินวาดรูป ปั้นรูปก็ต้องมีพื้นฐานกายวิภาค อย่างน้อยก็ในเรื่องของกระดูและกล้ามเนื้อ ส่วนสัตวแพทย์นั้นต้องรู้จักกายวิภาคของสัตว์

ความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์จะสมบูรณ์นั้น ต้องอาศัยการชำแหละศพ ในสมัยแรกเริ่มนั้นเริ่มต้นจาก การชำแหละสัตว์มากกว่าคน หรือถ้าเป็นคนก็คงได้ศพ จากนักโทษประหารเท่านั้น ในยูโรปเองเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว ก็ยังมีการขโมยศพคนไปขายให้โรงเรียนแพทย์ ความรู้กายวิภาคนี้เริ่มต้นสั่งสมมาจากประเทศในโลกซีกตะวันตก ส่วนคนตะวันออกนั้นเรียนรู้เรื่องนี้อย่างไม่เป็นระบบ เนื่องจากแพทย์แผนตะวันออกไม่ได้เรียนการชำแหละ สำหรับความรู้กายวิภาคของแพทย์แผนไทยนั้น รู้จักกายวิภาคแต่เพียงอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายในชิ้นใหญ่ๆ เท่านั้น ที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย เช่น หัวใจ ตับ ปอด ม้าม ลำไส้ แต่ไม่มีการตั้งชื่อกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกเข้าไป

กว่าจะมาถึงวันนี้ วิชากายวิภาคศาสตร์ได้ผ่านพัฒนาการอันยาวนาน เทคนิคอันสำคัญที่มีส่วนช่วยอย่างมาก คือน้ำยารักษาศพ ที่ช่วยคงสภาพศพไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยจากการที่นักเรียนแพทย์ ต้องรีบเร่งเรียนรู้จากการชำแหละก่อนที่ศพจะเน่า มาเป็นมาชำแหละไปทีละส่วนๆ ได้อย่างไม่รีบเร่ง จนกว่าจะหมดระยะเวลาไปตามหลักสูตรที่กำหนด

น้ำยารักษาศพที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีฟอร์มาลินเป็นองค์ประกอบหลัก แต่ก็ยังมีสารอื่นๆ อีกได้แก่ โพแทสเซียมไนเตรต, อาร์เซนิก, กลีเซอรีน, แอลกอฮอล์, กรดคาร์บอกลิก และน้ำ ในสัดส่วนต่างๆ กัน จะมีการฉีดส่วนผสมนี้เข้าไปในร่างกายโดยใช้ความดัน 8 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น ถ้าต้องการให้หลอดเลือดแดงมีสีแดงที่ทำให้ชำแหละได้ง่ายนั้น ก็อาจจะฉีดสีเข้าไปหลอดเลือดแดงได้ แล้วจึงนำศพไปแช่ไว้ ในน้ำยาอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีกลีเซอรีน กรดคาร์บอกนิก และน้ำ อีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้สภาพศพมีความชุ่มชื่นในขณะใช้เรียน น้ำยารักษาศพจะคงสภาพเนื้อเยื่อต่างๆ ไว้ไม่ให้สลาย และหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราได้

ส่วนน้ำยารักษาศพที่ใช้ฉีดกันเน่าให้ศพทั่วๆ ไปนั้นเป็นเพียงน้ำผสมฟอร์มาลินเท่านั้น และฉีดในปริมาณที่ไม่มากนัก

ชิ้นส่วนชีวภาพพลาสติก
อุปกรณ์การศึกษาของกายวิภาคศาสตร์

นอกจากการชำแหละร่างกายของอาจารย์ใหญ่ เพื่อการเรียนรู้ในเนื้อหาวิชากายวิภาคศาสตร์แล้ว นักศึกษาแพทย์ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการเรียนอีก เช่น แผ่นสไลด์ภาคตัดขวางของส่วนต่างๆ แสดงรายละเอียด ที่ต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์แต่สำหรับอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง นักศึกษาแพทย์มักจะเรียนรู้โดยอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้สาธิตการชำแหละ เนื่องจากสมองมนุษย์นั้น แม้เมื่อผ่านการเก็บรักษาในน้ำยามาแล้ว ก็ยังคงมีความนิ่มไม่แตกต่างจากเต้าหู้สักเท่าไร สมองจึงมีโอกาสเสียหายจนไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ หากปล่อยให้นักศึกษาแพทย์เป็นผู้ชำแหละเอง

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดแนวคิด ที่จะนำก้อนสมองมาสร้างเป็นอุปกรณ์การศึกษา ในวิชากายวิภาคศาสตร์ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า การกำซาบพลาสติก (Plastination) เพื่อให้ก่อนสมองที่มีความแข็งเทียบเท่าก้อนเต้าหู้ กลายสภาพมาเป็นแผ่นพลาสติกที่มีความแข็งซึ่งเพิ่มความสะดวก หลายประการแก่ผู้ศึกษาหลายประการ เช่น ความสะดวกในการหยิบจับชิ้นสมอง สามารถนำไปศึกษาด้วยตนเองนอกห้องเรียน โดยไม่กลิ่นเหม็นของฟอร์มาลิน โดยชิ้นส่วนเหล่านี้ ไม่มีความแตกต่างจากของจริงเลย เพราะทำมาจากของจริง นั่นเอง ตลอดระยะเวลา 3 ปี นายแพทย์บุญเสริม วิทยาชำนาญกุล แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการวิจัยใน "โครงการผลิตชิ้นส่วนชีวภาพกำซาบด้วยสารพลาสติก" จนได้ผลงานภาคตัดขวางของสมอง ที่กลายเป็นแผ่นพลาสติกแข็ง มีความหนาประมาณ 4 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัย เผยแพร่ในต่างประเทศ ก็ได้รับคำชมเชยว่า เป็นผลงานของที่สวยงามมีการย้อมสีชัดเจน เรียบร้อยกว่าที่เคยมีมา

ขั้นตอนการทำสมองกำซาบพลาสติกนั่นเริ่มจาก นำสมองซึ่งต้องเป็นสมองที่ค่อนข้างสดจากศพที่เพิ่งเสียชีวิตไม่นาน นำมาล้างทำความสะอาด และแช่ไว้ในฟอร์มาลินเป็นระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงนำสมองทั้งก้อนมาตัดเป็นแผ่นหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร โดยตัดตามแนวตั้ง แนวนอน หรือตัดด้านข้างจากซ้ายไปขวา สุดแต่ต้องการจะศึกษา แล้วทำการย้อมสีในส่วนที่ต้องการ

ขั้นต่อมาเป็นการดึงน้ำออกจากเซลล์โดยแช่ในอะซีโตน (ตัวทำละลาย) ที่เย็นจัดเมื่ออะซีโตนไปแทนที่อุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียสในสภาพสุญญกาศ เพื่อให้พลาสติกค่อยๆ ซึมเข้าไปแทนที่อะซีโตน จึงจะมาถึงตอนสุดท้ายคือ การอบเคลือบพลาสติกให้แข็งและเรียบตลอดชิ้น กลายเป็นแผ่นสมองพลาสติกที่มีความแข็ง แต่แผ่นสมองพลาสติกเหล่านี้ จะมีแผ่นพลาสติกและแข็งห่อหู้มอีกทีอย่างเรียบร้อย เพื่อให้สะดวกเวลานำไปใช้

จากผลงานนี้ทำให้ นายแพทย์บุญเสริม ได้รับการติดต่อจากโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง ที่ต้องการสั่งทำชิ้นส่วนสมองพลาสติกเพื่อประกอบการเรียน แต่บางแห่งก็ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ซึ่งต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนสมองพลาสติกนี้ คิดเป็นเงินประมาณ 12,000-18,000 บาท ต่อสมอง 1 ก้อน แต่ก็ยังจัดว่า ราคาต่ำกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศ

นอกจากผลงานของนายแพทย์บุญเสริมแล้ว ยังนักวิจัยอีกหลายท่านที่ทำการผลิตชิ้นส่วนชีวภาพพลาสติก เพื่อการศึกษา เช่น ดร.วีระชัย สิงหนิยม แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร

เสี้ยวหนึ่งของชีวิตนักศึกษาแพทย์

นพท.ธนิต เฉลิมวัฒนชัย
ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

เมื่อพูดถึงการเรียนแพทย์ หลายคนมักจะคิดถึง การเรียนกับอาจารย์ใหญ่ ซึ่งดูว่าจะเป็นเอกลักษณ์ ของการเรียนวิชาชีพนี้เลยทีเดียว จากประสบการณ์ของผม ตอนเรียนวิทยาศาสตร์เตรียมแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ปี1) มักจะถูกเพื่อนๆ ต่างคณะ (ส่วนใหญ่เป็นสาวๆ) ถามถึงการเรียนกับอาจารย์ใหญ่ ซึ่งตอนนั้นรู้เพียงว่า จะได้เรียนตอนชั้นปี 2

การเรียนกับอาจารย์ใหญ่ เป็นการ
เรียนในภาคปฏิบัติการ ของวิชามหกายวิภาคศาสตร์ (Gross Anatomy) ซึ่งเป็นวิชาที่ผูกพันกับนักเรียนแพทย์ทหาร ชั้นปีที่ 2 มากที่สุด เพราะจะต้องเรียนกันตลอดทั้งปี ก่อนเรียนจะมี "พิธีทำบุญอาจารย์ใหญ่ก่อนศึกษา" (ซึ่งในงานจะมีฐาติของผู้ที่อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษามาร่วมทำบุญด้วย) เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้สอนและผู้เรียนบรรดานักเรียนแพทย์ทุกคน ตั้งจิตอธิษฐาน ขอขมาท่าน (เนื่องจากจะต้องผ่าตัดเพื่อที่จะศึกษา) และขอพรจากท่านให้เรียนผ่านด้วยคะแนนดีๆ

การจัดการเรียน การสอนวิชามหกายวิภาคศาสตร์ ของวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้แบ่งการศึกษาออก เป็น 8 ส่วน (region) ศึกษาภาคเรียนละ 4 ส่วน โดยเทอมแรกจะศึกษาบริเวณทรวงอก (pectoral region), แขน (upper extremity, ทรวงอกและผนังหน้าท้อง (thorax and anterior abdominal wall), ขา (lawer extermity), และในภาคปลายจะเรียนท้อง (abdomen), เชิงกราน (perineum and pelvis), ศีรษะและคอ (head and neck), และอวัยวะสัมผัสพิเศษ (special sense) โดยจัดอาจารย์ใหญ่ 1 ท่าน ต่อ นักเรียนแพทย์ทหาร 4 นาย

ในครั้งแรกที่เรียน ผมจะต้องค่อยๆ ลอกหนังออก เพื่อศึกษาเส้นประสาทใต้ผิวหนัง (cutaneous nerve) จากที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และอาจมือหนักไปหน่อย ทำให้ผมลอกหนังลึกเกินไปจึงหาเส้นประสาทส่วนนี้ไม่เจอ แต่ก็มีเพื่อนๆ หลายคนที่หาเจอเลยต้องไปขอเพื่อนดู จากนั้นจึงเริ่มเรียนบริเวณหน้าอก ซึ่งบริเวณนี้อาจารย์ใหญ่ ที่เป็นเพศชายจะต่างจากเพศหญิง

หลังจากเรียนจบในแต่ละส่วน จะมีการสอบเก็บคะแนน ซึ่งก่อนสอบ บรรดานักเรียนแพทย์ทหารทั้งหลาย ก็จะมีดอกไม้บ้าง พวกมาลัยบ้างมาไหว้ ขอพรจากอาจารย์ใหญ่ ขอให้คะแนนสอบที่ได อย่าได้ต้องผจญภัยใต้ mean เลย

ในการเรียนส่วนต่อมาคือ ส่วนที่เกี่ยวกับระยางค์ (แขน-ขา) อาจารย์ผู้สอนจะเน้นการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เส้นเลือด และเส้นประสาท ซึ่งส่วนนี้จะมีความแตกต่างระหว่างเพศชาย กับเพศหญิงอีก คือ กล้ามเนื้อของเพศชายจะเห็นชัดเจนกว่าของเพศหญิง อีกทั้งเส้นเลือดก็เห็นได้ชัดเจนกว่า

ในเทอมแรกที่ผ่านมา ผมได้ศึกษาทรวงอกที่มีอวัยวะภายใน หลักๆ คือ หัวใจ และปอด ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ของอาจารย์ใหญ่แต่ละท่าน จะแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าท่านเสียชีวิตด้วยโรคอะไร อย่างอาจารย์ใหญ่ของผม ท่านเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ตอนที่ผมทำการศึกษาพบว่า หัวใจของท่านมีขนาดใหญ่มากครั้งแรกที่เห็นยังรู้สึกตกใจ การศึกษาในลำดับต่อมา เป็นการศึกษาโครงสร้างภายในของหัวใจ ผมต้องตกใจเป็นครั้งที่สอง เมื่อพบว่า ลิ้นหัวใจของท่าน มีสภาพเป็นแผ่นหิน
(ตรงนี้กระมังที่เคยทางโทรทัศน์ว่า มีแคลเซียมมาสะสมที่หัวใจ) และเพื่อนของผมอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อาจารย์ใหญ่เสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว หลังจากที่ผ่าตัดเพื่อเปิดทรวงอกแล้ว พบว่า ปอดของท่านแฟบไปข้างหนึ่ง

ในเทอมนี้ เนื้อหาที่เรียนส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ ระบบประสาทและอวัยวะภายในความแตกต่างระหว่างอาจารย์ใหญ่ ในแต่ละท่านก็มากขึ้น ทำให้วิชานี้แต่เดิมก็ว่ายากอยู่แล้ว ก็จะทวีความยากขึ้นไปอีก (ตรงนี้ ขอให้ม่านผู้อ่านเป็นกำลังใจ ให้ผมด้วยนะครับ) หลังจากที่ศึกษาครบทุกส่วนแล้ว ทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจะมี "พิธีพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่" เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้อุทิศร่างกาย

สำหรับความรู้สึกของผม ผมรู้สึกเคารพและผูกพันกับอาจารย์ใหญ่มาก ถึงแม้ว่าจะไม่เคยพบกันมาก่อน มาพบกับท่านครั้งแรก ในพิธีทำบุญอาจารย์ใหญ่ก่อนศึกษา ในวันนั้นผมรู้สึกซาบซึ้ง ในความมีน้ำใจของท่าน ที่ท่านเสียสละอุทิศร่างกายให้พวกผม ได้ศึกษาและขอขอบพระคุณญาติของท่าน ที่เห็นด้วยกับการเสียสละของท่าน

ความรู้สึกที่ว่ากลัวอาจารย์ใหญ่ไหม โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่กลัว ตรงกันข้ามผมรู้สึกรักท่าน จะกลัวก็คือ กลัวจะทำให้ร่างของท่านเสียหายโดยไม่จำเป็น กลัวจะเก็บชิ้นส่วนของท่านไม่ดี ซึ่งอาจารย์ผู้สอนให้ความสำคัญ ในการเก็บชิ้นส่วนนี้มากว่า ห้ามสลับกัน กล่าวคือ ต้องใส่ถังที่วางอยู่ใต้เตียงของอาจารย์ใหญ่ตนเองเท่านั้น

สุดท้ายนี้ ผมขอสัญญาว่า จะนำความรู้ที่ศึกษาจากท่าน ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้ในอนาคต

เตรียมตัวเป็นอาจารย์ใหญ่

โรงเรียนแพทย์แต่ละแห่งที่มีการรับบริจาคร่างกาย จากผู้มีจิตศรัทธาประสงค์ให้ร่างกายของตนเป็นวิทยาทาน แก่นักศึกษาแพทย์นั้น มียอดผู้บริจาคเป็นหลักพัน หรืออาจถึงหลักหมื่นในบางแห่ง จนบางที่อย่างเช่นที่ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกฎเกล้าต้องงดรับบริจาคร่างกาย อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ส่วนของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็มีเงื่อนไขระบุไว้ในแบบฟอร์มการบริจาคร่างกายอย่างชัดเจนว่า "ภาควิชาขอสงวนสิทธิ์จะไม่รับศพในกรณีที่เก็บศพของภาควิชาเต็ม" เช่นกัน

แม้ว่าจำนวนผู้บริจาคร่างกายจะสูงถึงหลักพันหลักหมื่น แต่จำนวนของศพที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์หลักร้อยเป็นอย่างมากเท่านั้น เพราะหากญาติไม่แจ้งมา ทางโรงเรียนแพทย์ก็ไม่อาจติดตามได้เลย และในบางกรณีก็มีปัญหาเกิดขึ้น

"ญาติมาทะเลากันเอง อีกกลุ่มหนึ่งจะให้ อีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้ จริงๆ แล้วได้มีคำพิพากษาฎีกาแล้วว่า ศพเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย เหมือนกับข้าวของ ถ้าทำพินัยกรรมให้ใครแล้วต้องให้ เคยมีศพพระผู้ใหญ่ที่นครนายก ยกไปยกมา 3 เที่ยว ลูกศิษย์พวกหนึ่งให้รับไป รับมาแล้วอีกพวกหนึ่งโวยวายเอาศพกลับ อีกพวกไปเอามาคืน สุดท้ายก็ให้เขาไปโหวตกัน" อาจารย์สรรใจ กล่าวถึงตัวอย่างของกรณีนี้


สถานที่บริจาคร่างกาย

โรงเรียนแพทย์แต่ละแห่ง ต้องมีการเตรียมการ เกี่ยวกับการเรียนการสอน วิชากายวิภาคศาสตร์ให้พร้อม เริ่มต้นตั้งแต่การรับบริจาคร่างกาย การเตรียมสถานที่เก็บรักษาศพ มีเจ้าหน้าที่ฉีดยาและรับศพ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ของโรงเรียนแพทย์นั้นๆ และสถานที่รับบริจาคร่างกาย ของโรงเรียนแพทย์แต่ละแห่ง จะมีดังรายชื่อต่อไปนี้

โรงพยาบาลศิริราช : ภาควิชากายศาสตร์ ตึกกายวิภาคศาสตร์ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทร. 419-7035, 411-2007 หรือ 411-0241-9 ต่อ 7035

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ : แผนกเลขา ตึกอำนวยการชั้นล้าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โทร. 256-4628

โรงพยาบาลรามาธิบดี : ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 254-5198 หรือ 246-1358-74 ต่อ 4101, 4102

คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ สุขุมวิท 23 กรุงเทพฯ 10110 โทร. 260-1532, 260-2234-5 ต่อ 4501

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า : ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า อาคารเรียนวพม. ชั้น 4 315 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 246-0066 ต่อ 93606

สำหรับต่างจังหวัด สามารถบริจาคได้ ที่โรงเรียนแพทย์ในภูมิภาค
วิธีการบริจาคร่างกายนั้น ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เพียงแค่ติดต่อไปยัง โรงเรียนแพทย์หลายๆ แห่งที่รับบริจาคร่างกาย ก็จะได้แบบฟอร์มซึ่งถือเป็น "พินัยกรรม" เมื่อกรอกรายละเอียดต่างๆ เรียบร้อย ผู้บริจาคร่างกาย จะได้รับพินัยกรรม และบัตรประจำตัว เก็บไว้ 1 ชุด ทางโรงเรียนแพทย์เก็บไว้ 1 ชุด ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้น ขั้นตอนการบริจาคร่างกาย แต่ในโรงเรียนบางแห่ง เช่น ศิริราช ผู้บริจาคร่างกาย สามารถเลือกได้ว่า จะบริจาคร่างกายทั้งตัว หรือบริจาคเฉพาะกระดูก เมื่อเสียชีวิตไป เจ้าหน้าที่จะได้จัดการ ให้ตรงตามความประสงค์

แม้เราจะมีความตั้งใจดี ต้องการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น แม้เมื่อร่างกายไร้ลมหายใจแล้ว โดยการบริจาคร่างเป็น "กายวิทยาทาน" ก็ตาม ถึงกระนั้นโรงเรียนแพทย์แต่ละแห่ง ก็มีเงื่อนไขบางอย่างในการรับ หรือไม่รับเช่นกัน

เงื่อนไขการรับบริจาคนั้น มีเพียงอย่างเดียวคือ ผู้บริจาคร่างกายควรจะเป็นผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบต่างๆ ในร่างกายพัฒนาจน สมบูรณ์หมดแล้ว แต่เมื่อผู้บริจาคเสียชีวิต ยังมีเหตุผลอีกหลายประการ ที่ไม่สามารถรับศพ ของผู้บริจาคร่างกายนั้นได้

"สิ่งที่เราเรียนคือ ร่างกายที่เป็นปกติ เราอยากได้ศพที่ไม่มีโรค
แต่เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่มีใครเขาก็ไม่ตายนะสิ ศพนั้นไม่มีโรค ศพนี้มีโรคนี้ ก็แลกเปลี่ยนกันเรียนได้ ศพที่จะไม่รับคือ ศพคดี ศพอุบัติเหตุ ศพมีโรคที่ได้รับการผ่าตัด มากมายเป็นมะเร็งอย่างหนัก หรือผอมมากจนกล้ามเนื้อลีบ ก็เรียนไม่ได้" อาจารย์สรรใจอธิบายให้ฟัง

ส่วนผู้บริจาคกระดูกนั้น หากเสียชีวิตก่อนอายุ 50 ปี ทางโรงเรียนแพทย์จึงจะยินดีรับกระดูก หากเกินกว่านี้ ก็ไม่สามารถรับได้ เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้นกระดูกจะเริ่มเสื่อม บางและกรอบ ไม่สามารถนำมาใช้เรียนได้ ซึ่งถ้าผู้มีความประสงค์บริจาคกระดูกเสียชีวิตเมื่ออายุเกิน 50 ปี ก็อาจนำร่างกายของท่านเหล่านั้นไปศึกษาทั้งตัว หากญาติยินยอม

นอกจากนี้โรงเรียนแพทย์แทบทุกแห่งจะไม่รับศพ ที่เสียชีวิตเมื่ออายุมากๆ ศพที่เป็นโรคเอดส์ โรคไต โรคเบาหวาน และจำกัดภูมิลำเนาของผู้บริจาค ว่าจะต้องอยู่ในรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากโรงเรียนแพทย์ เนื่องจากมีปัญหาการจราจรในขั้นตอนในการรับ-ส่ง และฉีดยารักษาสภาพศพ

ณ เชิงตะกอน

วันนี้เป็นวันพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ ประตูเหล็กที่เคยมีโซ่คล้องอยู่กับกุญแจสายยูที่ล็อกตลอดเวลา ได้เปิดกว้างออก อาคารศาลากายวิทยาทานของคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ที่ปกติมักจะปิดเงียบ กลับคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่อยู่ในเครื่องแต่งกายไว้ทุกข์ ที่นี่เป็นสถานที่เก็บดองศพ และใช้เป็นสถานที่จัดงานพระราชทาน เพลิงศพอาจารย์ใหญ่ ส่วนโรงเรียนนายแพทย์แห่งอื่นๆ จะจัดงานนี้ ณ ฌาปนสถานของวัดแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นงานพระราชทานเพลิงศพทั้งสิ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์ใหญ่ทุกท่าน เมื่อเจ้าหน้าที่ สำนักพระราชวังนำไฟพระราชทานมาถึง ทุกคนยืนตรงให้ความเคารพ พระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ พิธีการเผาศพเริ่มขึ้น ผู้มาร่วมงานทุกท่านค่อยๆ ทะยอยเดินเข้ามาวางดอกไม้จันทน์บนพานที่ตั้งอยู่หน้าโลงศพสีขาว ที่ตกแต่งประดับประดาดอกไม้ไว้อย่างสวยงาม เมื่อแขกคนสุดท้าย วางดอกไม้จันทร์เรียบร้อยก็นับได้ว่าพิธีพระราชทานเพลิงศพนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

หลังการเรียนสิ้นสุด จะมีการรวบรวมเศษชิ้นส่วน ของอาจารย์ใหญ่
แต่ละท่านห่อไว้เป็นรายๆ ไป รอการฌาปนกิจ หลังจากงาน
ประราชทานเพลิงศพ
เศษชิ้นส่วนร่างกาย ของอาจารย์ใหญ่ ที่อยู่ในโลงศพสีขาว ที่ประดับดอกไม้งดงามนั้น ถือเป็นตัวแทนของอาจารย์ใหญ่ทั้งหมด ที่จะนำไปเผาจริงในวันทำพิธี ส่วนอาจารย์ใหญ่ท่านอื่นๆ ที่บัดนี้ ชิ้นส่วนร่างกายของท่าน บรรจุอยู่ในห่อผ้าสีขาว ก็ยังวางเรียงราย อยู่ในห้องเก็บศพของ ศาลากายวิทยาทาน
รอนำเข้าเตาเผาในวันต่อๆ ไป โดยแต่ละห่อจะมีแผ่นป้ายชื่อที่บอกว่า ซากร่างที่อยู่ในห่อผ้าห่อนี้คือใคร

เมื่อแรกทำพินัยกรรมบริจาคร่างกาย ผู้บริจาคร่างกาย สามารถเลือกได้ว่าจะให้โรงเรียนแพทย์จัดการกับซากร่างที่เหลือ ของเขาอย่างไร ซึ่งมีทั้งให้ญาติรับกลับไป ทำพิธีเองหลังจากการเรียนสิ้นสุด ให้ทางโรงเรียนแพทย์จัดการฌาปนกิจให้โดยญาติขอรับอัฐิกลับไป หรือจะให้โรงเรียนแพทย์เป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด โดยญาติไม่ต้องรับอะไรเลยก็ทำได้เช่นกัน การทำพิธีศพที่หมู่นักศึกษาแพทย์มักจะเรียกวันนี้ว่า "วันทำบุญอาจารย์ใหญ่" จะเป็นการประกอบพิธีตามศาสนาพุทธ หากอาจารย์ใหญ่นับถือศาสนาอื่น ผู้บริจาคก็มักจะระบุ ให้ญาติมารับไปทำพิธีตามศาสนาของเขาต่อไป

เปลวไฟในเตาเผากำลังลุกโชติช่วงแลบลามเลียโลงศพสีขาว ไปรอบด้านประตูเตาเผาค่อยๆ เลื่อนลงมาปิด หลังจากที่ดอกไม้จันทน์ดอกสุดท้ายถูกใส่เข้าไป ด้วยประสิทธิภาพชั้นเยี่ยมของเตาเผา ซากร่างของอาจารย์ใหญ่ ก็จะกลายเป็นเถ้าถ่านภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง สิ้นสุดหน้าที่ แห่งการเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ยังประโยชน์แก่การศึกษา ของนักศึกษาแพทย์แต่เพียงเท่านี้

แต่สิ่งซึ่งไม่สูญหายไปคือ ความทรงจำ อย่างน้อยที่สุดก็คือ ความทรงจำของนักศึกษาแพทย์ผู้เป็นลูกศิษย์ ที่จะจดจำไปตลอดชีวิตว่า การที่พวกเขามีความรู้ในระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ได้นั้น เป็นเพราะความยินดีในการอุทิศร่างกายของบุคคลท่านหนึ่ง ซึ่งได้มอบร่างไร้ลมหายใจของท่านมาเป็นอาจารย์ใหญ่ ซึ่งนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาชิ้นสำคัญที่จะทำให้พวกเขา ก้าวไปสู่ความเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต



ขอขอบคุณ
รส.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร, คุณยุพดี ห่อเนาวรัตน์,
นพ.บุญเสริม วิทยชำนาญกุล, คุณวารินทร์ โตสารภี,
นักศึกษาแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลชั้นปีที่ 2
และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ให้ข้อมูลและความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ในการจัดทำบทความนี้

นิสากร ปานประสงค์


[ที่มา..นิตยสาร UPDATE ปีที่ 12 ฉบับที่ 137 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2541]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1