มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc


[ที่มา..หนังสือ UPDATE ปีที่ 9 ฉบับที่ 104 มกราคม 2538]

ผมเส้นเดียว...
ระบุตัวฆาตกรได้
เส้นด้ายที่ตกอยู่...
บอกให้รู้ว่ามาจากเสื้อตัวไหน
รอยสีเปื้อน...
นำไปสู่รถที่ใช้กระทำความผิด

นิติเวชศาสตร์

วิทยาศาสตร์แห่งการสืบสวน
ร่องรอยเล็กๆ สามารถชี้ชัดที่มาและความเป็นไปในอาชญากรรม
ด้วยศาสตร์อันลี้ลับพิสดาร จากห้องปฏิบัติการล้ำสมัย
ร่วมกับสมองอันเฉียบแหลมของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์


หลักฐาน 8 อย่างที่นินจาจอห์นฝากไว้ให้ตำรวจ

นินจาจอห์น คือฉายาของสายลับมือดีในแวดวงธุรกิจ เหตุเกิดขึ้นเมื่อบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ จ้างให้จอห์นลักลอบเข้าไปปลอมแปลงเอกสารในสำนักงาน ของบริษัทคู่แข่งซึ่งเพิ่งเริ่มกิจการได้ไม่นานนัก เนื่องจากเอกสารเหล่านี้ ระบุว่าบริษัทใหญ่ได้ขโมยลูกค้าไปจากบริษัทเล็ก

จอห์นเริ่มงานตอนกลางคืนโดยงัดหน้าต่าง เขาซุ่มซ่ามจนทำกระจกแตกบาดมือ ถึงตอนนี้จะชักช้าไม่ได้แล้ว จอห์นรีบแก้ไขเอกสาร แล้วสร้างร่องรอยกลบเกลื่อน โดยรื้อข้าวของ ระเบิดเซฟ หยิบเอาเงินไป ให้ดูเหมือนการลักทรัพย์ธรรมดา

แต่จอห์นโชคร้าย คืนนั้นคุณวิลลิงที่ปรึกษาประธานบริษัท ยังทำงานอยู่จนดึก เธอได้ยินเสียงผิดปกติ จึงเข้ามาดู และพบนินจาจอห์นเข้าพอดี ด้วยความตกใจ จอห์นชักปืนออกมายิงวิลลิงตายโดดขึ้นรถที่ขโมยมา ขับออกจากสำนักงานด้วยความรีบร้อน รถไปชนเสาข้างทางเข้าอาการ ไฟหน้าแตกไปหนึ่งดวง

เวลานั้นตรงกับวันหยุดยาวในเทศกาลอีสเตอร์ กว่าตำรวจจะได้รับแจ้งเหตุ ก็ผ่านไปแล้วหลายวัน ต่อมาไม่นาน มีผู้พบรถยนต์ไฟหน้าแตก ถูกทิ้งไว้ในที่จอดรถแห่งหนึ่งห่างไปไม่ไกลนัก วิดีโอของหน่วยรักษาความปลอดภัย บันทึกภาพคนขับขณะออกจากรถไว้ได้แต่เห็นภาพไม่ชัด ยามที่หน้าบริษัทให้การว่า เห็นคนมีพิรุธมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ สำนักงานเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

จากรูปการณ์ ดูเหมือนว่า จอห์นจะเป็นนินจากระจอก ไม่สมควรเป็นอาชญากรมืออาชีพ เขาทิ้งหลักฐานไว้ให้ตำรวจมากมาย ตามธรรมดา เจ้าหน้าที่อาจไม่สนใจร่องรอยเหล่านี้เท่าใดนัก แต่ด้วยกระบวนการทางนิติเวชศาสตร์ ซึ่งได้นำคอมพิวเตอร์ เข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถนำไปสู่การพิสูจน์ที่มัดตัวผู้ต้องหาได้


เมื่อตำรวจมาถึง
ในกรณีอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ฆาตกรรมในบริษัท คอมพิวเตอร์แห่งนี้ เจ้าหน้าที่จะปิดกั้นบริเวณ ที่เกิดเหตุโดยรอบ ห้ามผู้ใดเข้าออก จนกว่าพนักงาน พิสูจน์หลักฐานจะเดินทางมาถึง
บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ในที่เกิดเหตุ ได้แก่ ช่างภาพ ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืน (หากมีเหตุยิงกัน) และแพทย์นิติเวช ถ้าหากเป็นกรณีข่มขืน ทำร้ายร่างกายที่ไม่ถึงตาย จะต้องมีแพทย์ของทางตำรวจอยู่ในทีมด้วย
พนักงานสืบสวนทั้งหมด จะไม่พยายามแตะต้องเคลื่อนย้ายสิ่งใด สวมใสชุดกระดาษที่ใช้แล้วทิ้ง สวมถุงมือ และสวมรองเท้าทับนอกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม จากภายนอกปะปนเข้ามา
แพทย์นิติเวชบันทึกรายละเอียด ท่าของศพ บาดแผลที่ปรากฏบนศพ ช่างภาพบันทึกภาพของห้อง และหลักฐานที่ปรากฏ เมื่อเคลื่อนย้ายศพ ไปยังห้องเก็บศพแล้ว จึงเริ่มตรวจสถานที่โดยละเอียด
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปหารอยนิ้วมือ เก็บตัวอย่างเส้นผม เลือด เส้นใยผ้า ฯลฯ ถ้าพบกระสุนฝังอยู่ในเนื้อไม้ หรือรอยเท้า ปรากฏอยู่บนบริเวณที่มีฝุ่น ก็จะเก็บตัวอย่างโดยใช้ไฟฟ้าสถิต
ตัวอย่างทั้งหมดจะเก็บใส่ถุง เขียนฉลากกำกับ และส่งต่อไปยังห้องวิเคราะห์ ต้องเก็บตัวอย่าง จากบริเวณใกล้เคียงที่ดูปกติด้วย เพื่อการเปรียบเทียบ และป้องกันผลบวกลวง (false positives)

ศพร้องได้

เมื่อมีการตายผิดธรรมชาติ หรือมีเหตุแวดล้อมที่น่าสงสัย แพทย์นิติเวชจะถูกตามไปตรวจศพ และให้ความเห็นเบื้องต้น กันการปนเปื้อน ที่จะทำให้เกิดความสับสน ระหว่างส่วนต่างๆ แล้วห่อศพเพื่อนำส่งห้องชันสูตร

ในระหว่างการตรวจศพ แพทย์นิติเวชจะบรรยาย สิ่งที่ตรวจพบลงในเครื่องบันทึกเสียง มีการถ่ายภาพศพ ทั้งตอนที่มีเสื้อผ้า เมื่อนำเสื้อผ้าออกแล้ว และทุกขั้นตอนในระหว่างการผ่า หากมีบาดแผลถูกยิงถูกแทง ต้องถ่ายภาพบาดแผล และตรวจสอบเขม่าดินปืนด้วย การถ่ายภาพเอกซเรย์ในมุมต่างๆ ช่วยให้ค้นหากระสุนในร่างกายง่ายขึ้น เพราะวิถีกระสุนเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อกระทบอวัยวะภายใน

ตัวอย่างเส้นผม และเล็บจะต้องเก็บไว้ รวมทั้งใช้ไม้พันสำลีป้าย ของเหลวจากอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเก็บไว้ เพื่อตรวจโดยเฉพาะเมื่อ สงสัยว่าจะมีการข่มขืน แผลที่ถูกแทง จะต้องมีรายละเอียดบ่งบอกว่า น่าจะเกิดจากอาวุธ ชนิดใด แผลลึกเท่าไร การแทงใช้แรงมากหรือน้อย

กะโหลกนี้คือใคร?

เทคนิคการสร้างรูปหน้าคน จากกะโหลกศรีษะได้คิดค้นขึ้น เป็นครั้งแรกในรัสเซีย และผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้จนเชี่ยวชาญได้แก่ ริดชาร์ด นีฟ แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์
ขั้นตอนแรก คือ การทำพิมพ์ปูนปลาสเตอร์จากกะโหลกจริง แล้วปักหมุด เพื่อกำหนดความหนาของเนื้อในแต่ละจุด จากนั้นใช้ดินเหนียวปั้นส่วนต่างๆ เติมเข้าไปให้ถูกตามหลักกายวิภาค ในที่สุดก็จะได้รูปหน้าขึ้นมา
นิติพยาธิแพทย์ท่านหนึ่งใน โรงพยาบาลชาริง ครอส กำลังพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ช่วยรับหน้าที่นี้แทนมือมนุษย์
ถ้าแผลเป็นรูปตัว Y อาจเป็นการแทงเข้าแล้วดึงออก หากมีรอยกัดและรอยฟกช้ำใดๆ จะต้องบันทึกไว้ ร่องรอยบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก่อนตายควรบันทึก ด้วยกล้องถ่ายภาพอัลตราไวโอเลต เพราะอาจมีความสำคัญในบางกรณี เช่น การทารุณเด็ก เป็นต้น

ข้อมูลจากวิถีกระสุน

ทุกครั้งที่มีการยิงกันตาย ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืน จะต้องมายังที่เกิดเหตุพร้อมกับแพทย์นิติเวช เพื่อลงความเห็นว่าทิศทางการยิง กับลักษณะของศพสอดคล้องกันหรือไม่ และเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร
การตรวจบาดแผลที่ถูกยิงทำให้ทราบระยะยิง กระสุนที่ยิงจากระยะใกล้จะมีรอยไหม้ รอยรูกระสุนและมีเขม่าจับโดยรอบ แต่ถ้ายิงจากระยะไกล ดินปืนจะฝังอยู่ในผิวหนังใกล้บาดแผล ดูคล้ายรอยสัก
ปืนทุกกระบอกมีตำหนิเฉพาะ ดังนั้นกระสุนที่ยิงออกมา ซึ่งจะต้องเคลื่อนผ่านลำกล้อง จึงมีตำหนิจากลำกล้อง เป็นร่องรอยกระสุนเสมอ ปลอกกระสุนก็จะมีร่องรอย ของเข็มแทงชนวน และช่องคายปลอกกระสุน การพิสูจน์ว่า กระสุนยิงออกจากปืนรุ่นใด จะต้องนำรอยบนกระสุนมาเทียบ กับกระสุนที่ยิงออกจากปืนแบบและรุ่นต่างๆ ที่ทางห้องปฏิบัติการรวบรวมไว้
การทดสอบอำนาจการยิงของปืน ทำโดยยิงปืนในห้องพิเศษ ที่มีอุปกรณ์วัดความเร็วกระสุน เพื่อประมาณทิศทางและแรงปะทะ จากนั้นใช้กล้องจุลทรรสน์ เปรียบเทียบรอยเกลียวลำกล้อง ที่ปรากฏบนกระสุนที่ทดลองยิง กับกระสุนที่เป็นหลักฐานในคดี
ถ้ามีปืนที่สงสัยว่า จะใช้กระทำความผิด ก็ทดสอบด้วยวิธีเดียวกัน เพื่อดูตำหนิที่ปรากฏบนกระสุน
ในการยิงปืน ตัวผู้ยิ่งเอง ก็จะได้รับแก๊สที่กระแทก ออกมาจากโคนกระสุน แล้วรวมตัวกันเป็นอนุภาคของเล็ก จับติดแน่นอยู่ที่มือ
กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ช่วยวิเคราะห์ชนิด และปริมาณธาตุที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสัมพันธ์กับทิศทางของกระสุน การพิสูจน์หลักฐานในลักษณะนี้ มักใช้กันในที่ๆ มีการยิง และลอบยิงกันบ่อยๆ เช่น ในไอร์แลนด์เหนือ เป็นต้น

ภาพบน : ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แสดงอนุภาคที่เกิดจากการยิงปืน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ผู้ต้องสงสัยได้ยิงปืนกระบอกนี้
ภาพล่าง : การทดสอบวิถีกระสุน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มักใช้วิธียิงเข้าไปในกล่องสำลี หรือถังน้ำที่ยาวมากๆ

นิติพยาธิแพทย์ต้องผ่าศพ ตรวจดูอวัยวะภายใน และผ่าเปิดกะโหลกเพื่อตรวจสมอง อวัยวะในช่องอก และช่องท้อง จะต้องนำออกมาตรวจว่า ได้รับอันตรายอย่างไร มีโรคหรือไม่ และนำไปตรวจหาสารพิษ

การตรวจศพที่จมน้ำ พอจะบอกได้จากฟองเล็กๆ สีขาวบริเวณจมูกและตา ถ้าเป็นการจมน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ มักจะมีพืชน้ำ เช่นพวกไดอะตอมอยู่ในปอด เนื่องจากการสำลักของผู้ตาย แต่ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็แสดงว่า น่าจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่บนบก

บอกเวลาตายได้อย่างไร ?

นักสืบในหนังทีวีมักจะเก่งผิดปกติ สามารถบอกเวลาตาย จากการตรวจศพได้อย่างแม่นยำ แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

แพทย์นิติเวชทำได้เพียง ประมาณเวลาตายเท่านั้น โดยดูสภาพว่าศพเริ่มมีการแข็งตัว (rigor mortis) หรือยังศพจะเริ่มแข็งตั้งแต่ 6-18 ชั่วโมงหลังตาย โดยเริ่มจากส่วนที่มีกล้ามเนื้อเล็กๆ ก่อน เช่น ปลายนิ้ว ใบหน้า และจะกลับอ่อนตัวอีกครั้งหลังจาก 36 ชั่วโมง เนื่องจากการย่อยสลาย

บางครั้งแพทย์นิติเวช จะวัดอุณหภูมิร่างกายศพทุก 2 ชั่วโมง เพื่อดูอัตราการลดอุณหภูมิ และประมาณเวลาตาย แต่ก็ถือเอาความแม่นยำไม่ได้ เพราะบางกรณี อุณหภูมิร่างกายอาจสูงขึ้น หลังตายใหม่ๆ เช่น การถูกรัดคอ หรือถูกยาพิษบางชนิด บางครั้งการตรวจของเหลวจากตา เพื่อหาปริมาณโพแทสเซียม ก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะระดับโพแทสเซียม จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังตาย

ที่ใครๆ อาจนึกไม่ถึงก็คือ นักนิติกีฏวิทยา (forensic entomologist) ผู้สามารถดูหนอน ที่
ขึ้นศพ และบอกได้ว่าเป็นศพที่ตายมานานเท่าใด อันที่จริงหนอนขึ้นศพเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้นัก

แกะรอยจากหลักฐาน

หลักฐานทั้งหมดที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ จะถูกส่งมายังห้องปฏิบัติการนิติเวชซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายเคมี และฝ่ายชีววิทยา ตัวอย่างของเหลวที่ได้จากส่วนต่างๆ ของร่างกาย (รวมทั้งจากห้องเก็บศพ ก็ต้องส่งด้วย เพื่อเปรียบเทียบ) และเส้นใย ตกเป็นหน้าที่ของนักชีวิวิทยา ส่วนเสื้อผ้าจากศพ (และผู้ต้องสงสัยที่จับกุมได้) รวมกับหลักฐานเอกสาร จะมีผู้เชี่ยวชาญแยกไปตรวจสอบต่างหาก

การตรวจหลักฐานเหล่านี้ เป็นงานยากและมีขั้นตอนชัดเจน ต้องตรวจหารอยเลือดหรือสิ่งปนเปื้อน บนเศษผ้าทุกชิ้นทุกตารางมิลลิเมตร เศษผ้าทุกชิ้นจะถูกปิดไว้ด้วยเทปกาว เมื่อลอกออกมาดูถ้าพบการฉีกขาด ผม ขน เศษสิ่งของและซากอื่นๆ เช่น เมล็ดพืช หรือเกสรดอกไม้ จะต้องบันทึกไว้ทั้งหมด
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ จะทำงานให้ตำรวจ หาหลักฐานมัดตัวผู้ต้องหา เพื่อมาดำเนินคดี แต่หลักฐานเหล่านี้ ฝ่ายจำเลยก็สามารถนำไปใช้ เป็นประโยชน์แก่ตนได้ ผู้มีหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ ต้องไม่ทำการใดๆ ที่จะเป็นการทำลายหลักฐาน และจำเลยยังมีสิทธิร้องขอ ให้ผู้เชี่ยวชาญคณะอื่น ที่เป็นอิสระมาตรวจหลักฐาน ชุดเดียวกันนี้ได้อีกด้วย

นักเคมีมักเริ่มด้วย งานตรวจที่ไม่ยุ่งยากก่อน แต่ก็อาจใช้เครื่องมือ และวิธีการที่ก้าวหน้ามากๆ ได้ถ้าจำเป็น การทดสอบบางอย่าง ให้คำตอบได้ แม้ตัวอย่างที่ตรวจ จะมีปริมาณน้อย จนบางคนนึกไม่ถึง สารเคมีบางชนิด อาจตรวจพบได้ ในระดับความเข้มข้น เพียงหนึ่งในสิบล้านกรัมต่อซีซี ซึ่งเปรียบได้กับการค้นหาหนู 1 ตัวบนดวงจันทร์

การแปลผลการตรวจ นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง เพราะถ้าประมาท ก็เกิดความผิดพลาดได้อย่างร้ายแรง เช่น กรณีผู้บริสุทธิ์ทั้งหก แห่งเบอร์มิงแฮม ถูกศาลตัดสินจำคุก ในข้อหาพัวพันกับการวางระเบิด เพราะห้องปฏิบัติการ ตรวจพบว่ามือของพวกเขา มีสารไนโตรกลีเซอรีนติดอยู่ การตรวจที่ใช้นั้นเรียกว่า Griess test โดยใช้โซดาไฟ เป็นตัวทดสอบ ถ้ามีไนโตรกลีเซอรีนปนอยู่ จะทำปฏิกิริยาได้สารไนไตรต์ เมื่อนำไปผสมกับสารอินทรีย์บางชนิด จะปรากฏเป็นสีม่วง

ผู้บริสุทธิ์ทั้งหก แม้จะถูกตรวจพบว่ามีสารไนไตรต์ ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาเป็นผู้กระทำความผิด เพราะยาฆ่าเชื้อโรคในสบู่ สารที่ใช้เคลือบหน้าไพ่ หรือแม้แต่ยาแก้โรคหัวใจ ก็ให้สารไนไตรต์ออกมาได้เช่นกัน ดังนั้นผู้มีหน้าที่แปลผล การทดสอบจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ให้หลักฐานไปปะปนกับสิ่งใดๆ ด้วยความ
เหลือแต่ฟันก็ฟ้องได้

ศพที่เน่าสลาย จนเกินกว่าจะหาหลักฐาน มาระบุว่าเป็นบุคคลใด หากยังมีฟันและกระดูกกรามเหลืออยู่ ผู้เชี่ยวชาญก็ยังพอจะชี้ทางสว่างให้ได้
การศึกษาลักษณะของฟัน จากศพมีใช้กันในวิชามานุษยวิทยา ซึ่งซากมนุษย์โบราณ มักจะเหลือแต่กะโหลกและกระดูก อายุของผู้ตายสามารประมาณได้ จากลักษณะฟัน และความใสของเนื้อฟัน ส่วนที่อยู่เหนือรากฟัน เพศชายหรือหญิง อาจบอกได้จากเซลล์ ที่หลงเหลืออยู่ในโพรงฟัน ตำหนิของฟันอาจนำมาเทียบ กับข้อมูลของทันตแพทย์ หรือฟิล์มเอกซเรย์ ที่เคยถ่ายไว้ก่อนเสียชีวิต มีหลายครั้งที่หลักฐานส่วนนี้ นำไปสู่การระบุตัวผู้ตาย และนำฆาตกรมาลงโทษได้

กินทิ้งกินขว้าง
อาชญากรกัดผลไม้เหลือไว้ เจ้าหน้าที่สามารถนำรอยฟัน มาหล่อพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ เป็นหลักฐานนำไปสู่การจับกุมได้ในที่สุด ในคดีฆาตกรรมรอยกัด คือหลักฐานมัดตัวที่สำคัญ เพราะตำหนิและลักษณะฟัน ของคนทุกคนมีลักษณะเฉพาะตัว
ประมาทต้องรู้ข้อมูลและเหตุการณ์แวดล้อม เกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ พอสมควร มิฉะนั้นอาจตกเป็นเครื่องมือ ในการบิดเบือนรูปคดีโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เมื่อการตรวจสอบต่างๆ เสร็จสิ้นลงผู้เชี่ยวชาญจะออกเอกสาร "ความเห็นของพนักงานพิสูจน์หลักฐาน" ยื่นต่อพนักงานอัยการ หากอัยการเห็นว่ามีมูลฟ้อง ก็จะต้องทำสำเนาเอกสารดังกล่าว ให้กับฝ่ายจำเลยด้วย เพื่อโอกาสในการสู้คดี

ลายนิ้วมือหลักฐานชิ้นสำคัญ

หลักฐานมัดตัว : ซูเปอร์กลู (Superglue) ใช้ค้นหาสารเคมีจากรอยนิ้วมือ ผงสีขาวช่วยให้เห็นลายนิ้วมือได้ชัดเจน

ลายนิ้วมือ ถือเป็นหลักฐานมัดตัวชิ้นเอก คนเราในโลกนี้ ไม่มีใครมีลายนิ้วมือเหมือนกันเลย แม้แต่แฝดเหมือน โอกาสที่ลายนิ้วมือของคนสองคน จะมีลักษณะเหมือนกันทั้ง 16 จุด มีเพียง 1 ในสี่พันล้านเท่านั้น

รอยนิ้วมือประทับอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้เพราะเหงื่อและไขมัน สมัยก่อนการหาร่องรอยของลายนิ้วมือ ต้องโรยผงแป้งไปตามที่ที่สงสัย เป็นภาระที่น่าเหน็ดเหนื่อย และเสียเวลามาก ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่ จะใช้แสงเลเซอร์ส่องไปรอบๆ ห้อง บริเวณที่มีรอยนิ้วมืออยู่ จะเรืองแสงขึ้นทันที และถ่ายภาพไว้เพื่อเป็นหลักฐาน

ถ้ายังไม่ได้รอยนิ้วมือก็มีวิธีอื่นๆ อีกแล้ว แต่ลักษณะพื้นผิว เช่น การสเปรย์ด้วยสารนินไฮดริน ซึ่งทำปฏิกิริยากับกรดอะมิโนในรอยนิ้วมือกลายเป็นสีม่วง หรือใช้สเปรย์ซิงค์คลอไรด์เพื่อช่วยให้นินไฮดรินเรืองแสง และเห็นได้ชัดเจนขึ้น

ถ้าเป็นพื้นผิวเปียก กรดอะมิโนอาจหลุดออกไป แต่สารไขมันปริมาณน้อยๆ ก็ยังคงเหลืออยู่ น้ำยาชนิดใหม่ที่มีโลหะเงินเป็นส่วนประกอบ จะช่วยให้เห็นร่องรอยขึ้นมาได้

วิธีการใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือการใช้สารโมโนเมอร์ ไซยาโนอะคริเลต ในรูปที่เป็นละออง หรือที่เรียกกันว่า ซูเปอร์กลู (Superglue) เมื่อพ่นลงไป จะเห็นลายนิ้วมือ ปรากฏเป็นสีขาว
สิ่งที่ยังเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ใกล้ความจริงเข้าไปทุกที เพราะหน่วยตำรวจม้าของแคนาดา กำลังวิจัยอยู่ ก็คือการหารอยนิ้วมือ ฆาตกรจากผิวหนังของศพ

เมื่อได้รอยนิ้วมือมาแล้ว เจ้าหน้าที่จะแยกประเภท ตามลักษณะของลายนิ้วมือ ให้รหัสเป็นตัวเลข และเก็บไว้ในฐานข้อมูลดิจิตอล ควบคู่กับภาพวิดีโอ ขณะนี้สก็อตแลนด์ ยาร์ดสะสมลายนิ้วมือ ไว้ได้ประมาณ 4 ล้านชุดแล้ว

ภาพบน : รอยนิ้วมือเรืองแสง เมื่อถูกส่องด้วยแสงเลเซอร์

ภาพล่าง : ลายนิ้วมือที่ถูกเก็บไว้ ในฐานข้อมูลดิจิตอล สัญลักษณ์สีม่วงเล็กๆ นั้น ระบุลักษณะเฉพาะของลายนิ้วมือ

คอมพิวเตอร์นับเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในการค้นคว้า และเปรียบเทียบลายนิ้วมือ แต่เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้าย ก็ต้องใช้สายตาของผู้เชี่ยวชาญรับรองและพิสูจน์อีกครั้ง จึงจะเป็นที่ยอมรับโดยสมบูรณ์

วัดรอยเท้า
ห้องปฏิบัติการพิสูจน์หลักฐาน จะต้องเก็บตัวอย่างรองเท้า ของรองเท้ารุ่นต่างๆ ไว้ให้มากที่สุด รองเท้ายี่ห้อดอกเตอร์มาร์ติน แต่ละรุ่นมีลายที่ส้นแตกต่างกัน ทำให้ตรวจสอบได้ง่าย ตำรวจลอนดอนและซัสเซ็กส์ในอังกฤษ มีข้อมูลลายพื้นรองเท้าต่างๆ ถึง 7,000 ลาย นายแพทย์เดนนิส โรเซน แห่งยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจ กรุงลอนดอน ได้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องรูปแบบ การสึกของพื้นรองเท้าอันเกิดจากแรงกดของเท้า ช่วยให้ทราบท่าทางการยืน และการเดินของผู้ต้องสงสัย ทำให้มีข้อมูลสำหรับการจับกุมมากขึ้น

พยานบุคคล
ช่วยจับอาชญากรได้อย่างไร

การระบุลักษณะของคนร้าย ในปัจจุบันทำได้โดย ใช้คอมพิวเตอร์ ที่เก็บลักษณะต่างๆ ของใบหน้ามนุษย์ เอาไว้ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือหน้าผากและผม คางและแก้ม ตา จมูก และปาก เมื่อนำองค์ประกอบเหล่านี้ มารวมกัน จะได้ใบหน้าที่แตกต่างกัน 12-15 ล้านแบบ
เมื่อคอมพิวเตอร์ สร้างภาพใบหน้าได้ ตรงตามที่พยานให้ปากคำแล้ว ช่างเขียนภาพ จะตบแต่งรายละเอียดขั้นสุดท้าย นำมาเปรียบเทียบ กับภาพในแฟ้มอาชญากร หรือเผยแพร่แก่สื่อมวลชน
การใช้ออปติคอลดิสก์ เก็บแฟ้มภาพอาชญากร ร่วมกับโปรแกรมสร้างภาพ ของคอมพิวเตอร์ จะทำให้ภาพที่ได้มีความสมบูรณ์ขึ้น และเทียบหาตัวผู้ต้องสงสัย จากแฟ้มได้อัตโนมัติ
ใครคือผู้ต้องหา ?

โทรทัศน์วงจรปิด ที่ติดตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ น่าจะเป็นเครื่องมือ ที่ช่วยจับอาชญากรได้ แต่คุณภาพของวิดีโอ ส่วนใหญ่มักไม่ดีพอ ที่จะใช้ระบุตัวบุคคลได้ ภาพที่บันทึกไว้มักพร่ามัว เนื่องจากใช้กล้องคุณภาพต่ำ เลนส์สกปรกเพราะไม่มีใครดูแล และเทปก็อัดทับซ้ำแล้ว ซ้ำอีกจนเสื่อมสภาพ

โชคดีที่คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน สามารถปรับปรุงภาพเหล่านี้ ให้มีคุณภาพดีขึ้นได้ เช่น กรณีที่หนูน้อย เจมส์ บัลเจอร์ อายุ 2 ขวบ ถูกลักตัวไปฆ่าเมื่อไม่นานมานี้ วิดีโอของฝ่ายรักษาความปลอดภัย ในศูนย์การค้า บันทึกภาพไว้แต่ภาพนั้น ไม่มีความคมชัดพอ ที่จะให้ข้อมูลอะไรแก่เจ้าหน้าที่ จนผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ ของไอบีเอ็ม ในวินเชสเตอร์ได้นำวิดีโอ ไปแก้ไขสี ตัดสัญญาณรบกวน เน้นส่วนที่เป็นใบหน้า จึงทราบลักษณะหน้าตา ของเด็กสองคน ที่ลักตัวเจมส์ไป

เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องอาศัย ห้องปฏิบัติการของเอกชน ในบางกรณีที่ต้องการเทคนิคพิเศษ เพื่อตรวจสอบภาพจากวิดีโอ คริส มิลส์ และจอห์น วอล์สกลิน ซึ่งทำงานอยู่ที่เครือข่าย นิติเวชศาสตร์ (Network Forensic Sciences)
รับภาระในการตัดสัญญาณรบกวนภาพวิดีโอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ตำรวจนครบาล ความชัดเจนของภาพที่ได้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสัญญาณที่บันทึกไว้

คนประเภทไหนจึงจะก่อคดีแบบนี้ได้

การใช้หลักทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ นับเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งตำรวจใช้ควานหาตัวฆาตกร ที่เอฟบีไอ มีหน่วยพฤติกรรมศาสตร์จัดตั้งขึ้นเพื่อหาความรู้ด้านโดยเฉพาะ ผู้ที่ก่ออาชญากรรมซ้ำๆ ด้วยวิธีการคล้ายกันมักเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตใจ บรรดาอาชญากรโรคจิตที่ก่อคดีเขย่าขวัญผู้คนนั้นมีอยู่หลายราย เช่น ปีเตอร์ ซัทคลิฟฟ์ เจ้าของฉายา Yorkshire Ripper

เหล่าร้ายประเภทนี้มักมีรูปแบบการก่อคดีในลักษณะเฉพาะ และกระทำซ้ำหลายครั้ง บางรายจะเก็บ "ของที่ระลึก" ไปทุกครั้งที่กระทำความผิด

นักจิตวิทยาเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้ อาจดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนคนปกติทั่วไป แต่มีปัญหาเก็บกดภายใน เช่น รู้สึกว่าตนไร้สมรรถภาพทางเพศ ชอบสะสมสิ่งพิมพ์ลามก และมีชีวิตเพ้อฝันอยู่ในโลกส่วนตัว

การเก็บข้อมูลทางจิตของอาชญากรโดยเฉพาะในอังกฤษ ไม่มีการพัฒนามากนัก จนกระทั่งปี 2529 นักจิตวิทยาชื่อ เดวิด แคนเตอร์ มหาวิทยาลัยเซอเรย์ ได้ให้ความเห็น ในคดีฆ่าข่มขืนสตรี 2 ราย ซึ่งคนร้ายกระทำอย่างเหี้ยมโหด ปรากฎว่าแคนเตอร์สามารถวิเคราะห์ได้อย่างน่าทึ่งว่าฆาตกรมีอายุ 20-30 ปี รูปร่างเล็ก มีอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถบ้างเล็กน้อย แต่งงานแล้วแต่มีปัญหาในชีวิตสมรส และชอบใช้ความรุนแรง เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทั้งหมดนี้ตรงกับลักษณะของ จอห์น ดัฟฟี่ ฆาตกรถูกจับได้ในเวลาต่อมา

ตัวอย่างจากคราบเลือด ที่พบในที่เกิดเหตุ นำมาวิเคราะห์ และเทียบกับดีเอ็นเอ จากเลือดของผู้ถูกข่มขืน และของผู้ต้องสงสัย

ดีเอ็นเอ
วัตถุพยานชิ้นเอก

ในคดีฆาตกรรม หรือทำร้ายร่างกายนักนิติชีววิทยา จะตรวจเสื้อผ้าของผู้ตายทุกตารางนิ้ว เพื่อหาคราบและร่องรอยต่างๆ ถ้าพบรอยเลือดและพิสูจน์ได้ว่า เป็นเลือดมนุษย์ จะต้องนำเลือดนั้นไปตรวจสอบ

ขั้นแรกคือ การตรวจหมู่เลือดว่าเป็นกลุ่ม A, B, AB หรือ O แต่สำหรับคนบางคน ถึงไม่มีเลือดตกอยู่ในที่เกิดเหตุ แม้มีเพียงน้ำลาย น้ำอสุจิ หรือสารน้ำจากช่องคลอด ก็สามารถตรวจพบ สารเคมีที่ช่วยให้ทราบได้ว่า มีหมู่เลือดอะไร

การทดสอบเช่นว่านี้ถือว่าสำคัญในการพิสูจน์ร่องรอยการข่มขืน แต่นับจากปี 2530 เป็นต้นมา มีวิธีการตรวจใหม่เกิดขึ้นเรียกว่า การพิสูจน์ตัวบุคคลด้วยดีเอ็นเอ (DNA profile) ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมวงการนิติเวชเลยทีเดียว

ดีเอ็นเอเป็นอณูเล็กๆ มีอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย รูปร่างเป็นสองสายไขว้กันเป็นเกลียวหลวมๆ โดยมีส่วนเชื่อมระหว่างสายคล้ายขั้นบันได ส่วนประกอบของสายดีเอ็นเอเป็นสารเคมีเรียกว่า เบส มีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด มีชื่อย่อว่า A, T, G และ C เบสที่จะมาประกบสองข้างของบันไดขั้นเดียวกันต้องเข้าคู่กันได้ คือ A ต้องคู่กับ T และ G ต้องคู่กับ C

เมื่อสิบปีที่แล้ว คือปี 2527 อเล็ค เจฟฟรีย์ แห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ได้ค้นพบส่วนของสายดีเอ็นเอ ที่มีลำดับเบสขนาดสั้นๆ ที่เรียกว่า minisatellites เรียงตัวซ้ำกันกระจายอยู่เป็นช่วงๆ หลายตำหน่งบนเส้นดีเอ็นเอ จำนวนเบสที่ซ้ำกันในสายดีเอ็นเอนี้ ในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าต้องการพิสูจน์ว่าดีเอ็นเอมาจากเซลล์ของใคร ก็ต้องตรวจจากตำแหน่งของ minisatellites

วิธีตรวจ minisatellites ก็ต้องมีเทคนิค เฟฟรีย์ใช้เทคนิคในการสร้าง ส่วนของสายดีเอ็นเอ ที่มีลำดับเบส ที่สามารถจับคู่ได้พอดีกับ minisatellites ในดีเอ็นเอที่ต้องการตรวจ และติดฉลาก ด้วยสารกัมมันตรังสีไว้ ที่ส่วนของดีเอ็นเอนี้ด้วย เรียกส่วนดีเอ็นเอนี้ว่า ตัวตรวจตาม (probe)

ในการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ จะต้องนำดีเอ็นเอที่สงสัย มาย่อยเป็นชิ้นๆ โดยใช้เอนไซม์แล้ว วางบนแผ่นที่เคลือบด้วยเจล ผ่านกระแสไฟฟ้าลงไป ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ที่เริ่มวิ่งแข่งกัน ตามแรงไฟฟ้า ชิ้นส่วนที่เบาและสั้น จะวิ่งได้เร็วกว่า จนในที่สุดชิ้นส่วนแต่ละชิ้น จะเรียงลำดับ ตามขนาดที่แตกต่างกัน

เมื่อเติมตัวตรวจตามลงไป ตัวตรวจตามจะไปจับ กับส่วนที่เป็น minisatellites ปรากฏเป็นแถบเรืองแสงขึ้นมา นี่แหละคือ ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA fingerprint หรือ DNA profile) ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการ

การตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอ มีโอกาสผิดพลาดได้ ถ้าผู้ทดสอบไม่ระมัดระวัง ปล่อยให้ดีเอ็นเอของตนเอง หรือดีเอ็นเออื่นลงไปปะปน ทำให้แถบเรืองแสงเคลื่อนย้าย ไปผิดที่หรือเกิดแถบแปลกปลอมขึ้น

ในคดีข่มขืน เมื่อนำของเหลว จากช่องคลอดมาตรวจ ก็จะสามารถแยกดีเอ็นเอผู้ร้าย ออกจากดีเอ็นเอ ของผู้เสียหายได้ ดีเอ็นเอเพียงนิดเดียว ก็เพียงพอแก่การพิสูจน์แล้ว และถ้าเป็นคราบเลือด ที่มีขนาดใหญ่ไม่เกินเหรียญบาท ก็พอแล้วที่จะทำการ ตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอ
ดิ้นไม่หลุด
จากหลักฐาน สืบถึงผู้ต้องสงสัย มัดตัวฆาตกร

ศพ
วันที่พบศพ เป็นวันทำงานต่อจากวันหยุดยาว อากาศค่อนข้างร้อน แพทย์นิติเวชดูจากขนาด ของหนอนแมลงวันหัวเขียวที่ขึ้นศพ ประมาณว่าเสียชีวิตมาแล้วราว 4 วัน นั่นคือ คุณวิลลิงถึงแก่กรรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว

ผู้ต้องสงสัย
หลักฐานชิ้นแรกคือ รถยนต์ที่ถูกขโมย และนำมาทิ้งไว้ วิดีโอของหน่วย รักษาความปลอดภัย ในที่จอดรถบันทึกภาพไว้ เมื่อนำมาวิเคราะห์ ด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้เห็นใบหน้าผู้ต้องสงสัย ซึ่งตรงกับที่ยามรักษาการณ์ให้การ และสร้างภาพใบหน้า จากโปรแกรม Photofit ตำรวจค้นแฟ้มอาชญากรรม พบว่าตรงกับลักษณะ ของนินจาจอห์น

รถยนต์
การตรวจไฟหน้า ที่รถที่แตก แสดงว่าการชน เกิดขึ้นในเวลากลางคืน เศษแก้วที่ตกอยู่บริเวณนั้น มีดัชนีหักเหแสง เท่ากับของกระจกไฟรถที่แตก รอยยางรถในที่เกิดเหตุ ก็ตรงกับยางรถคันนี้เช่นกัน

ที่บ้านของจอห์น
- พบเครื่องมืองัดแงะ มีตำหนิตรงกับรอย ที่หน้าจ่างซึ่งถูกงัด
- รองเท้าซึ่งพื้นมีลาย ตรงกับรอยเท้า ในสำนักงาน
- พื้นรองเท้า มีเศษพรมจากสำนักงาน และผมของผู้ตายติดอยู่
- ปืนซึ่งพิสูจน์ได้ว่า เป็นกระบอกเดียว กับที่ใช้สังหารคุณวิลลิง
- ถุงมือและเสื้อคลุม พบร่องรอยและดินปืน จากการยิงตรงกับ ที่พบในที่เกิดเหตุ

หลักฐานมัดตัว
คราบเลือด ที่พบในสำนักงาน ไม่ใช่เลือดของผู้ตายทั้งหมด แต่เป็นเลือดของฆาตกรด้วย การพิสูจน์ดีเอ็นเอยืนยันว่า จอห์นอยู่ในที่เกิดเหตุ รายงานจากห้องปฏิบัติการ พบลายนิ้วมือจอห์น อยู่บนเอกสารในห้อง และมีร่องรอยการแก้ไขเอกสาร

ในอนาคตแม้จะได้ตัวอย่างมาตรวจเพียงเล็กน้อย เช่น เส้นผมเพียงเส้นเดียว ก็สามารถใช้เอนไซม์ เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอขึ้นให้มากเท่าที่ต้องการได้ โดยปฏิกิริยาที่เรียกว่า polymerase chain reaction หรือ PCR

ลายพิมพ์ดีเอ็นเอจากคดีอาญาในอังกฤษ ที่ทางการรวบรวมไว้ ขณะนี้มีประมาณ 1,200 ราย โยบันทึกภาพเป็นข้อมูลดิจิตอลและเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์


ความลับของเส้น สี แก้ว และเอกสาร

เส้นด้าย

หลักการพิสูจน์ทางนิติเวชมีอยู่ว่า เมื่อมีการสัมผัส ย่อมเกิดจากการแลกเปลี่ยนสสารระหว่างพื้นผิว ในคดีดฆาตกรรม มักมีเส้นด้ายจากเสื้อผ้าของฆาตกรตกอยู่กับศพ ด้ายเพียงเส้นเดียวให้ข้อมูลอะไรแก่เราได้บ้าง
ในห้องปฏิบัติการ มีเส้นใยนานาชนิดสะสมไว้ เป็นตัวอย่างเส้นใยที่พบในที่เกิดเหตุเป็นเส้นใยธรรมชาติ หรือใยสังเคราะห์
เมื่อเปรียบเทียบด้วยสายตาแล้วก็นำมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูหน้าตัดของเส้นด้าย ซึ่งอาจเป็นรูปกลม รูปดัมเลล์ หรือรูปสามแฉก
จากนั้นใช้แสงที่มีค่าความยาวคลื่นเฉพาะ ส่องดูเส้นใย แสงสีน้ำเงินเข้มและแสงอัลตราไวโอเลต จะทำให้สีบางชนิดเรืองแสงขึ้นมาได้ ชนิดของเส้นใย สามารถตรวจด้วยอินฟราเรด สเปกโตรมิเตอร์ โดยดูลักษณะการดูดแสงที่ความยาวคลื่นต่างๆ ทำให้ทราบองค์ประกอบทางเคมีได้
แม้เสื้อผ้าที่ผลิตจำหน่ายแพร่หลายเช่น เสื้อยืดของมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ สีเสื้อในแต่ละล็อตก็ยังแตกต่างกัน กรณีนี้สามารถตรวจวิเคราะห์ได้โดยวิธี thinlayer chromatography) แต้มสีลงบนแผ่นแก้วที่เคลือบซิลิกาเจล ตั้งแผ่นแก้วให้ปลายจุ่มไว้ในตัวทำละลายจำนวนน้อยๆ ตัวทำละลายจะวิ่งขึ้นไปบนแผ่นแก้ว ทำให้สีละลายและลากสีให้เคลื่อนขึ้นไปบนแผ่นแก้ว และแยกออกเป็นแถบวีซึ่งเป็นส่วนประกอบของสารเคมีต่างๆ ในหยดสีจึงเทียบได้ว่ามีชนิดและปริมาณสารเคมีตรงกับตัวอย่างใด

สี
สีจากตัวถังรถที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิด บางครั้งเพียงแต่นำไปเทียบกับรอยถลอกที่ตัวรถ ก็สรุปได้ทันทีว่ามาจากรถคันใด แต่ถ้ายังไม่พบรถที่ต้องสงสัย การทดสอบสีก็ทำได้หลายวิธี เช่น ใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจสี ซึ่งมักจะมี 3 ชั้น คือ สีรองพื้น สีจริง และสีเคลือบ แล้วเทียบว่าตรงกับสีของรถรุ่นใดจากโรงงานใดเพียงเท่านี้ ก็สามารถติดตามจนพบรถต้นเหตุได้ เพราะส่วนผสมของสี ที่ใช้ในรถแต่ละรุ่นแต่ละปี จะไม่เหมือนกัน
ถ้าต้องการทราบส่วนประกอบทางเคมี นักเคมีจะใช้การตรวจ emission spectrometry ซึ่งคล้ายกับการดูว่า เชื้อเพลิงชนิดใดเมื่อนำมาเผาแล้วจะได้เปลวไฟสีอะไร การทดสอบนี้นำสีมาเผาในเตาไม่โครเวฟพิเศษ ธาตุโลหะแต่ละชนิดในเนื้อสีเมื่อได้รับความร้อนก็จะเปล่งรังสี ที่มีความยาวคลื่นเฉพาะตัวออกมา
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ตรวจหารายละเอียดที่เล็กมาจนแสงธรรมดามองไม่เห็น นังสีที่สะท้อนออกมาเป็นรังสีเอ๊กซ์ของธาตุแต่ละชนิด ซึ่งจะแตกต่างกันไป

แก้ว
เศษแก้วที่แตกจากไฟหน้ารถ เช่น อุบัติเหตุชนแล้วหนี สามารถนำมาปะติดปะต่อจนเห็นตัวหนังสือ หรือตัวเลขบอกรุ่นหรือยี่ห้อของรถได้ และยังรู้อีกด้วยว่า ขณะที่กระจกแตกนั้นไฟรถเปิดหรือปิดอยู่ ถ้าไฟเปิด ออกกซิเจนจากภายนอกจะทำปฏิกิริยากับไส้หลอดซึ่งร้อนจัด เกิดเป็นออกไซด์จับอยู่บนผิวแก้ว และอาจพบแก้วละลายติดกับไส้หลอด
เศษแก้วที่ตกอยู่เพียงชิ้นเล็กๆ ก็มีความหมาย การทดสอบดัชนีหักเหแสงของแก้วเพียงชิ้นเดียว ก็อาจรู้แหล่งผลิตและที่มาของแก้วได้
ดัชนิหักเหหาค่าได้โดยจุ่มเศษแก้วลงในของเหลวพิเศษ ซึ่งมีเครื่องทำความร้อนอยู่ แล้วนำไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ค่อยๆ เร่งอุณหภูมิของเหลวขึ้นทีละน้อยทำให้ดัชนีหักเหแสง ของของเหลวเปลี่ยนไปด้วย จนถึงจุดหนึ่ง จะมองไม่เห็นเศษแก้ว แสดงว่าดัชนีหักเหของแก้วและของเหลวในขณะนั้นเท่ากัน จึงคำนวณค่าดัชนีหักเหได้
ถ้ายังไม่ได้ข้อมูลที่พอใจ อาจนำแก้วไปทำให้ร้อนจนหลอมเหลว เพื่อวิเคราะห์ความยาวคลื่นแสงที่เปล่งออกมาได้

เอกสาร
เอกสารที่ถูกแก้ไข สามารถตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย โดยใช้แสงความยาวคลื่นต่างๆ กัน ก็จะเห็นสีหมึกที่แปลกปลอมหรือรอยแก้ไขได้ทันที
การแก้ไขเอกสาร บางครั้งจะมีรอยให้เห็นบนกระดาษที่ใช้รองเขียน ซึ่งมีวิธีตรวจหาโดยใช้ไฟฟ้าสถิต เรียกว่า electrostatic deposition analysis (ESDA) วิธีนี้มีผู้ค้นพบโดยบังเอิญที่โรงเรียนการพิมพ์กรุงลอนดอน คือถ้านำแผ่นพลาสติกบางๆ วางบนกระดาษแผ่นที่สงสัย ผ่านไฟฟ้าสถิตลงบนแผ่นพลาสติก แล้วโรยผงหมึกถ่ายเอกสารลงไป ร่องรอยบนกระดาษจะปรากฏเป็นตัวหนังสือบนแผ่นพลาสติกได้
ปัจจุบันนี้วิธี ESDA มีใช้อย่างแพร่หลายในห้องปฏิบัติการพิสูจน์ หลักฐานทั่วๆ ไป และใช้ในการลอกรอยเท้าบนพื้นเปื้อนฝุ่นจากที่เกิดเหตุด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก Forensics ของ Nina Hall จากนิตยสาร Focus ฉบับ May'93

ดร.เยส


ขอบคุณหนังสือสารคดี ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1