มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc



ผ่าทางตันสุขภาพคนไทย
ซ่อมมากกว่าสร้าง-จ่ายแพงกว่าทำไม


ซ่อมมากกว่าสร้าง

"อโรคยา ปรมา ลาภา" พระท่านสอนว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ และก็ยังมีคำสอนต่ออีกว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" คนไทยก็เชื่อดังนี้ แต่ในความเป็นจริง กลับให้ความ
สำคัญ ต่อการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคกันน้อย ตรงกันข้าม ให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาล เพื่อแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ อย่างเอาเป็นเอาตาย ค่านิยมนี้เกิดจากทั้งด้านประชาชนเองและเป็นผลพวง จากอิทธิพลการชี้นำของบุคลากรด้านสุขภาพ ตามระบบการแพทย์ตะวันตกด้วย

จนกระทั่งสังคมไทย นำเรี่องสุขภาพไปผูกไว้อย่างแคบๆ กับการเจ็บไข้ได้ป่วย การรักษาพยาบาล โรงพยาบาล หยูกยา เครื่องมือแพทย์ การผ่าตัด แพทย์ พยาบาล เท่านั้น ค่านิยมเช่นนี้ ได้กลายเป็นกรอบความคิดเรื่องสุขภาพของคนไทยส่วนใหญ่ไป โดยไม่ทันรู้ตัว

เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพ จึงกลายเป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าถึงได้ยาก และหมดความสามารถในการดูแลสร้างเสริมให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีโดยปริยาย ต้องพึ่งพิงแพทย์ พยาบาล เครื่องไม้เครื่องมือและระบบบริการด้านสุขภาพ อย่างยอมจำนน ถึงขนาดบางครั้งเหมือนกับต้อง "ขอทานบริการ" ก็ยังต้องยอม

นั่นเป็นเพราะสังคมมีแนวคิดติดแน่นอยู่กับ "การซ่อมสุขภาพ" มากกว่า "การสร้างสุขภาพ" โดย 'เป็นอะไรให้รีบไปหาหมอ ไม่เป็นอะไรก็ให้ไปหาหมอ เพื่อตรวจเช็คร่างกาย' ซึ่งเป็นประโยคซ้ำๆ ที่ชักนำให้คนไทย พึ่งพิงระบบบริการสถานเดียว สุขศึกษาหรือคำแนะนำด้านสุขภาพ ที่ออกจากปากบุคลากรด้านสุขภาพส่วนใหญ่ ทำให้ประชาชนหวาดวิตก และช่วยตนเองไม่ได้ ข้อสรุปสุดท้ายก็มักจะเป็นว่า ให้รีบไปตรวจกับหมอที่ร้ายไปกว่านั้น บางรายไม่สอน ไม่แนะนำ บอกว่าโรคภัยไข้เจ็บและการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องของหมอ ปล่อยให้หมอจัดการเอง ประชาชนไม่เกี่ยว

มีการแซวกันว่าไปโรงพยาบาลเข้าคิว ทำบัตร ไปโต๊ะโน้น โต๊ะนี้ พอเจอหมอ หมอก็จัดการ "แลบลิ้น ปลิ้นตา เขียนใบสั่งยา อ่านไม่ออก แล้วก็บอกให้ไปเสียเงิน" กลับมาจากโรงพยาบาลไม่รู้ว่าป่วยเป็นอะไร เกิดจากสาเหตุอะไร จะป้องกันได้อย่างไร ยาที่จ่ายให้คือยาอะไร มีผลดีผลเสียอย่างไร (มักจะทำเม็ดยา ขวดยาให้แปลก ไม่ระบุชื่อยา เพื่อไม่ต้องการให้ผู้ป่วยรู้อีกตะหาก)

คนไทยทั้งบ้านทั้งเมือง จะมีสักกี่คนที่มีโอกาสรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนเอง รู้จักโรคที่ตัวเองเป็น รู้จักยาที่ตัวเองใช้ รู้จักส่งเสริมสุขภาพอย่างถูกต้อง อย่างถ่องแท้ รู้จักป้องกันโรคอย่างเหมาะสมและปฏิบัติได้จริง นี่เป็นคำถามสำคัญที่สังคมต้องช่วยกันตอบ

วิชาชีพทางด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ถูกผูกขาด ด้วยกลุ่มคนที่มีโอกาสสอบเข้าไปเรียนรู้สืบต่อกันมา ตามวัฒนธรรมตะวันตก โดยมีคำว่า "การประกอบวิชาชีพ" เป็นเกราะศักดิ์สิทธิ์ ใช่หรือไม่ มิหนำซ้ำสังคมยังตกกระไดพลอยโจน ยอมให้วิชาชีพนี้เป็นธุรกิจค้ากำไรไปแล้วด้วย แทนที่จะควบคุมดูแลให้เป็นวิชาชีพเพื่อมนุษยธรรม

การที่ประชาชนถูกดึงดูดให้ติดอยู่กับ "การซ่อมสุขภาพ" จึงยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก เพราะฝ่ายผู้ให้บริการ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เบ็ดเสร็จ และทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ถ้าจะมีการ "สร้างเสริมสุขภาพ" ก็มักจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนต้อง "เสียเงิน" ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือออกกำลังกาย อาหารเสริมสุขภาพ ที่นอนแม่เหล็ก ฯลฯ เป็นตัวอย่างร้ายของเรื่องเหล่านี้

ทั้งที่จริงแล้ว การสร้างสุขภาพดี เริ่มได้ที่ทุกคน ที่บ้าน ที่ครอบครัว ที่ทำงาน ที่ชุมชน ทุกๆ ที่ โดยไม่จำเป็น ต้องเสียเงินเสียทองเกินจำเป็น จริงอยู่ "การซ่อมสุขภาพเสีย" โดยการรักษาพยาบาลนั้น มีความจำเป็นต้องพึ่งพาวิทยาการ เทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาและรักษาชีวิต เป็นศาสตร์และศิลป์ที่สำคัญ

แต่การซ่อมสุขภาพที่รัฐและประชาชนจ่ายเงินไปมากกว่า ร้อยละ 80 ของเงินค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดนั้น มิใช่คำตอบเดียวของการมีสุขภาพดี เป็นการจ่ายกันมากเกินจำเป็น เพราะการเจ็บป่วยแบ่งได้ 4 ประเภท

หนึ่ง "รักษาหาย ไม่รักษาก็หาย" กลุ่มนี้มีมากที่สุด กว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ไปหาหมอ แค่รู้จักดูแลรักษาตัวเอง อย่างถูกต้องเหมาะสมก็หาย

สอง "รักษาหาย ไม่รักษาตาย" กลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแล รักษาอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ตรงนี้การซ่อมสุขภาพมีความจำเป็น และควรทำให้คนทุกคนที่มีความจำเป็นเข้าถึงบริการให้ได้

สาม "รักษาตาย ไม่รักษาก็ตาย" กลุ่มนี้ฝืนสัจธรรมไปไม่พ้น การดูแลรักษาเป็นเรื่องลดความทุกข์ทรมาน แต่ทุกวันนี้การดูแลรักษา กลายเป็นความพยายามทุ่มเทค่าใช้จ่าย เพื่อเรียกสิ่งที่กลับมาไม่ได้ให้กลับคืนมา หลายกรณีกลายเป็นการสนุก กับการใช้วิทยาการเทคโนโลยีอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อผลประโยชน์แฝงอื่นๆ

สี่ "รักษาตาย ไม่รักษาหาย" กลุ่มนี้มีบ้างเหมือนกัน ที่จริงไม่ได้เป็นอะไรหนักหนา แต่ดูแลรักษากันมากเกินไป หรือได้รับการรักษาที่ขาดคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน จนต้องตายอย่างไม่สมควรตาย นี่เป็นโทษของการซ่อมสุขภาพประการหนึ่ง

"การซ่อมสุขภาพ" มีคุณต่อมนุษยชาติมาก แต่ไม่ควรทุ่มสุดตัวอยู่เพียงแค่นี้ เพราะ "การสร้างสุขภาพ" นั้นถูกกว่า ได้ผลลัพธ์สูงกว่า ที่สำคัญคือ สามารถเพิ่มความสุข และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้มากกว่า

จ่ายแพงกว่าทำไม

เมื่อคนไทยผูกพันเรื่องสุขภาพไว้กับการรักษาพยาบาล เพื่อการซ่อมสุขภาพเสีย คนไทยจึงจ่ายเงินเป็นจำนวนมากอย่างไม่ทันรู้ตัว เพราะ "เรื่องของชีวิต เสียเท่าไรเท่ากัน" คือเหตุผลหลัก เราจึงเห็นชาวบ้านต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการรักษาลูก รักษาแม่ รักษาญาติพี่น้อง บางรายต้องขายควาย ขายนาเพื่อรักษาพ่อ

ชาวนาขายข้าวเปลือกหนึ่งเกวียน ยังแทบไม่พอจ่ายค่าเอกซเรย์สมอง ให้ลูกชายที่ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้มเพียงครั้งเดียว ค่าเอกซเรย์สมองที่ตั้งราคาไว้นั้นก็แพงมาก ถึงครั้งละสามสี่พันบาทนั้น เพราะต้องตั้งเผื่อโน่นเผื่อนี่ รวมค่าหัวคิวให้แพทย์ผู้ส่งตรวจอีกด้วย ความจริงเช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบ

คนไทยจึงจ่ายค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรวมกัน ถึงปีละ 2 แสน 5 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายนี้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ทุกปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงและมีอัตราเพิ่มที่สูงมาก ถ้าจ่ายกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ เราจะเจ๊งไม่ทันรู้ตัวค่าใช้จ่ายมากมายนี้ รัฐจ่ายด้วยเงินงบประมาณ เพียง 1 ใน 3 ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายเองถึง 2 ใน 3 ทั้งๆ ที่ประชาชน ต้องจ่ายภาษีอากรให้รัฐอย่างเต็มที่แล้ว

โดยค่าใช้จ่ายนี้ กว่าร้อยละ 80 จ่ายเพื่อการซ่อมสุขภาพ ที่จ่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ถึงร้อยละ 20 ผลตอบแทนด้านสุขภาพที่คนไทยได้รับกลับคืนมาจึงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ยิ่งบริการด้านสุขภาพ ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าเสรี บริการมีราคาแพงขึ้น ไร้มาตรการควบคุมราคาอย่างสมเหตุสมผล ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ผลตอบแทนยิ่งต่ำ เพราะมุ่งทำการรักษาพยาบาลกันเกินความจำเป็น เกินข้อบ่งชี้ทางวิชาการ ตรงนี้คือหายนะของระบบบริการสุขภาพไทย เพราะเมืองไทยเปิดเสรี ในการจัดหาและใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ราคาแพง อย่างไม่มีขอบเขต

เมืองไทยมีการผ่าตัดเด็กออกทางหน้าท้อง โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนที่ค้ากำไร และในจุดที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องการรับผลตอบแทนมากๆ ไม่นับรวมการส่งตรวจวินิจฉัยอื่นๆ การรักษาด้วยยาที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ซึ่งนับวันแต่จะมากขึ้น เสียเงินมากโดยไม่จำเป็น แถมเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้นอีกด้วย

เมืองไทยมีการใช้ยามูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการใช้ยาเกินจำเป็น ใช้ยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ทางวิชาการที่มีเหตุมีผลจำนวนมาก เพราะบ้านเรายังไม่มีระบบควบคุม กำกับเรื่องพวกนี้ที่ดีพอ อย่างนี้แหละ ที่ทำให้คนไทยต้องจ่ายแพง แต่ได้ผลลัพธ์ต่ำ

มีคนบอกว่า หลักการ "ใครใคร่ค้า-ค้า" นั้น ถ้าใช้กับเรื่องสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบ จะให้ผลลัพธ์ 2 ประการ คือ "เจ๊งแน่ กับ เจ๊งแน่นอน"

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากเอกสารเรื่อง "ร่วมผ่าทางตันเพื่อสุขภาพคนไทย" วัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ และหนทางที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ


[ที่มา..หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1