มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc


พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ คองดอน

อัควีร์ มัธยมจันทร์




ประวัติศาสตราจารย์ คองดอน

เอ็ดการ์ เดวิดสัน คองดอน (...-2423) ผู้วางรากฐาน การศึกษากายวิภาคศาสตร์ ของประเทศไทย จนได้รับยกย่องเป็น Father of Moderm Teaching Anatomy in Thailand สำเร็จ Ph.D. จากมหา
วิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในทางสัตวศาสตร์ หลังจากเป็นรองศาสตราจารย์กายวิภาคศาสตร์ ในโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงของนครปักกิ่ง (Peking Union Medical College) ก็ได้รับเชิญมาเป็นศาสตราจารย์กายวิภาคศาสตร์ ในคณะของมูลร็อกกี้เฟลเลอร์ ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ กายวิภาคแห่งแรกนี้ขึ้นในประเทศไทย และคณะได้ให้ชื่อท่าน เป็นนามของพิพิธภัณฑ์นั้น งานสำคัญที่ท่านได้เริ่มแรกขึ้น ก่อนแหล่งอื่นๆ คือการสอน Collelated Course ซึ่งได้พิมพ์ใน Anatomical Record 45 หน้า 232-327 ค.ศ.1930 และงานค้นคว้าทางเอ็มไบรโอวิทยาที่ยังเป็นบทความอ้างอิง จนถึงเวลานี้ก็คือ Transformation of the aortic archsystem during the development of human embryo carnagy cont. to embryo เล่มที่ 14 หน้า 47-100 ค.ศ.1922


ในการศึกษาวิชาแพทย์ กายวิภาคศาสตร์ แห่งการศึกษาอวัยวะกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อที่ทำงาน เป็นส่วนประกอบทุกชิ้นของร่างกาย เป็นหนึ่งในแขนงสรรพสาขาวิชาที่ผู้ฝึกฝนตนเอง เพื่อที่จะเป็นแพทย์จะต้องเรียนรู้และเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อใช้ประกอบกับการวิเคราะห์วินิจฉัยถึงอาการต่างๆ ของโรค ได้อย่างชัดเจนถูกต้อง ซึ่งเป็นการนำไปสู่การรักษาโรคต่างๆ ให้ได้ดีอย่างที่สุด

ภายในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นสถานรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย และยังเป็นที่ตั้งของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาอีกด้วย ตีกไม่เล็กไม่ใหญ่หลังหนึ่งภายในรั้วรอบขอบชิด ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาของษิริราช เป็นที่ตั้งของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ สถานที่ที่ใช้สำหรับนักศึกษาได้เข้ามาแสวงหา ศึกษา เรียนรู้ ระบบการทำงานร่วมกันของอวัยวะกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเลือด รวมไปจนถึงกระดูกชิ้นต่างๆ ด้วยการชำแหละดูจากของจริง ซึ่งใช้ตำราเรียนกายวิภาคร่วมกับร่างที่ได้รับการ บริจาค

นอกจากห้อง "เรียน" กายวิภาค ที่ทางทีมงาน Update กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีก นั่นคือ พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นที่ 3 ของตึกภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยพิพิธภัณฑ์นี้เก็บรวมสิ่งแสดง (Specimen) ทางด้านกายวิภาคศาสตร์ด้วยตนเองของนักศึกษาแพทย์ แพทย์ นักศึกษาในสาขาวิชาใกล้เคียง และเพื่อผู้สนใจทั่วไป ได้เข้ามารับความรู้เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ได้เพิ่มเติมด้วยตัวเองอีกด้วย ในขณะที่หลายคนเพิ่งเคยได้ยินชื่อพิพิธภัณฑ์นี้เป็นครั้งแรก แต่ในหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เยอรมนีและภาษาญี่ปุ่น มีชื่อของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ด้วย ในฐานะเป็นสถานที่น่าสนใจริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

รศ.นายแพทย์ สรรใจ แสงวิเชียร หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ได้เล่าให้ฟังถึง ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า

"เริ่มต้นตั้งแต่ โปรเฟสเซอร์ คองดอน (เอ็ดการ์ เดวิดสัน คองดอน) เข้ามา (ในนามของมูลนิธิ ร็อคกี้เฟลเลอร์-กองบก.) ท่านพูดภาษาไทยไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษนักเรียนสมัยนั้น ซึ่งเก่งภาษาอังกฤษกว่าตอนนี้เยอะ ยังฟังยาก ท่านก็ใช้ 3 วิธีเข้าช่วย วิธีแรกเอากระจกสไลด์มาฉาย สมัยนั้นฟิล์ม 35 มม. ไม่มี จึงใช้กระจกแทน วิธีที่สองก็รูปวาด วิธิที่สามก็คือชำแหละให้นักเรียนดู ส่วนที่เหลือจากวิธีนี้ ก็เก็บมาเริ่มต้นจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2470"

และต่อมาในปี พ.ศ.2473 ได้มีการประชุมเวชกรรมเขตร้อน ครั้งที่แปด ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ คองดอนร่วมด้วยอาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และนักศึกษาแพทย์ในรุ่นนั้นได้ช่วยกันชำแหละชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเริ่มมีการระบายสีหลอดเลือดและเส้นประสาท ให้เห็นเด่นชัดขึ้น ด้วยการใช้สีผสมไข่ขาว (Albuminous Paint) ชิ้นส่วนต่างๆ ที่นำออกแสดงในงานประชุมก็ได้นำมาร่วมจัดแสดง ในพิพิธภัณฑ์ยุคต้นด้วย

ต่อมาภายหลังเมื่อศาสตราจารย์คองดอน เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ทางภาควิชากายวิภาคศาสตร์ก็ค่อยๆ สะสมชิ้นส่วนแสดงเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งขยายส่วนจัดแสดง เป็นพิพิธภัณฑ์มาตรฐานได้ ในช่วงที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้า ภาควิชากายวิภาคศาสตร์นั้น มีการใช้วิธีระบายสีโดยใช้ Brush Lacquer ซึ่งสามารถเก็บตัวอย่างไว้ได้ในฟอร์มาลิน (สะดวกขึ้นเพราะไม่ระเหยง่ายแบบแอลกอฮอล์) การจัดทำโหลแสดงตัวอย่างที่ทำจากพลาสติก ซึ่งสามารถออกแบบสร้างให้มีขนาดเหมาะสม แล้วแต่ขนาดของตัวอย่างที่จะแสดง แม้กระทั่งโหล ใส่ร่างกายของมนุษย์ทั้งร่างก็สามารถทำจากพลาสติกได้ โดยเจ้าหน้าที่ช่างไม้ในภาควิชานั่นเอง

ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2491 คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้ทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์กายวิภาคแห่งนี้อย่างเป็นทางการ และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ศาสตราจารย์คองดอน จึงอนุมัติให้ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่าพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน

"สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์กายวิภาคนี้จะเป็นสิ่งที่ หนึ่ง ได้ชำแหละอย่างดีและเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งที่พบได้น้อย เพราะฉะนั้นระบบการเรียนเราจะให้นักเรียนชำแหละของปกติ ในชั้นเรียนแล้วของแปลกผิดปกติจึงขึ้นมาดูบนนี้ ซึ่งจะแสดงของปกติไว้ด้วยเพื่อเปรียบเทียบกัน" รศ.สรรใจ แสงวิเชียร แสดงความคิดเห็นในการใช้พิพิธภัณฑ์กายวิภาค เพื่อประกอบการเรียนของนักศึกษาแพทย์

นำชมพิพิธภัณฑ์

ถ้าหากท่านต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน ก่อนที่ท่านจะขึ้นไปยังชั้น 3 ของตึกคณะกายวิภาคศาสตร์ศิริราชพยาบาล ท่านต้องลงชื่อที่บริเวณส่วนติดต่อ-สอบถามชั้นหนึ่งเสียก่อน จากนั้นจึงใช้บันไดขึ้นไปที่ชั้น 3 ห้องพิพิธภัณฑ์จะอยู่ทางด้านขวา เมื่อท่านขึ้นบันไดไปถึงชั้น 3 แล้ว และการเข้าชม พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอนนั้น ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด


มุมมองแรก เมื่อก้าวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์
คองดอน
พิพิธภัณฑ์ กายวิภาคศาสตร์คองดอน แบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องที่หนึ่ง ห้องกายวิภาคศาสตร์ทั่วไป และห้องที่สอง ห้องแสดงกระดูก

เราเริ่มกันที่ห้องที่หนึ่ง กันก่อนครับ เมื่อผ่านประตูห้อง เข้าไปแล้ว ชั้นแสดงแถว

ห้องแสดงกระดูก
แรกทางด้านซ้ายมือ แสดงอวัยวะรับความรู้สึกคือ หู ตา จมูก ลิ้น และปลายนิ้ว ในชั้นสุดท้ายของแถวแรกนี้ แสดงการเจริญเติบโตของใบหน้าและฟัน ชั้นแสดงแถวที่สอง แสดงตัวอย่างของสมอง หัวใจ การเจริญเติบโตของหัวใจ ความผิดปกติแต่กำเนิดของหัวใจ ระบบหลอดเลือดและระบบประสาท สิ่งแสดงสำคัญของชั้นแสดงนี้คือ ระบบประสาททั่วร่างกาย และระบบหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นชิ้นส่วนแสดง ที่มีเพียงอย่างละชิ้นเดียวในโลกก็ว่าได้ ผลงานอันยอดเยี่ยมทั้งสองชั้นนี้ เป็นฝีมือของ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพทาย ศิริการุณ ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านการ
ชำแหละมาก และดูแลพิพิธภัณฑ์นี้อยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 25 ปี

รศ.สรรใจ กล่าวถึง สิ่งแสดงชิ้นสำคัญในพิพิธภัณฑ์ กายวิภาคศาสตร์คองดอนไว้ว่า "สิ่งแสดงชิ้นที่เป็นเส้นประสาททั่วร่างกาย และหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอย่างละชิ้นเดียวในโลก คนที่จะทำงานแบบสองชิ้นนี้ได้จะต้องมี 3 อย่าง
1. รู้กายวิภาคดี
2. เป็นศิลปิน
3. ทนทำ
ต้องมีความอุตสาหะ อาจารย์หมอเพทายทำอยู่ 3 เดือน วันละครึ่งคืน คนที่มีความรู้แต่ไม่มีศิลปะพอก็ทำไม่ได้ ศิลปินก็ไม่รู้กายวิภาคพอที่จะทำ"

ชั้นแสดงในแถวที่ 3 (เมื่อเข้าประตูไปแล้วอยู่แถวแรกทางขวามือ) จัดแสดงการเจริญเติบโตของมนุษย์ ตั้งแต่เป็น Embryo ขนาดเล็ก ทารกในครรภ์ (Fetus) ขนาดต่างๆ จนถึงระยะคลอด ความผิดปกติของตัวอ่อน รวมไปถึงตัวอย่างของมดลูก ถุงน้ำคร่ำ และรก

ถัดจากชั้นแสดงนี้ไปทางด้านที่ติดกับหน้าต่าง จะเป็นกล่องพลาสติกปิด 2 ใบขนาดใหญ่เท่าตัวคน บรรจุร่างกายเต็มตัวที่มีการชำแหละบางส่วนของชายและหญิง อยู่ใบละ 1 ร่าง ชั้นแสดงที่ถัดเข้าไปด้านในมีอีก 2 แถว ชั้นแสดงที่ 4 แสดงระบบอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งเพศชายและหญิง ชั้นแสดงที่ 5 แสดงอวัยวะภายในตั้งแต่หลอดอาหารถึงลำไส้เล็ก ประกอบด้วย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับ ไต ม้าม ละไส้เล็ก

ชั้นแสดงที่ 6 และตู้แสดงที่ฝังติดกับผนัง แสดงความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของทารกในแบบต่างๆ เช่น ไม่มีสมอง และกะโหลกส่วนบน ไม่มีใบหู ไม่มีทวารหนัก สมองผิดปกติ หัวใจอยู่นอกทรวงอก เป็นต้น และยังมีการแสดงแฝดติดกัน (Siamese Twins) ในแบบต่างๆ รวมถึงสิ่งแสดงที่เป็นฝีมือของศาสตราจาย์คองดอนด้วย

ชั้นที่ 7 แสดงหลอดลมและปอดทั้งปกติและผิดปกติ รวมไปถึงกล่องเสียงด้วย ส่วนที่ 8 แสดง แขน ขา และร่างกายภาคตัดขวางตลอดตัวของชายและหญิง ร่างกายตัดขวางนี้เคยใช้สอนวิชา Topographic Anatomy ซึ่งวิชานี้ได้เลิกสอนไปแล้ว แต่กำลังได้รับการขอร้องให้สอนใหม่ เมื่อมีการใช้เครื่องซีทีสแกน ในประเทศไทย (ภาพที่ได้จากการทำซีทีสแกนจะเป็นภาพตัดขวางส่วนต่างๆ ของร่างกายเหมือนกับตัวอย่างที่จัดแสดงอยู่)

ติดกับส่วนแสดงนี้เป็นประตูเชื่อมต่อไปยังห้องที่สอง คือห้องกระดูกโดยที่เมื่อเข้าไปแล้วทางด้านขวามือติดกับผนัง แสดงการเจริญเติบโตของกระดูก การแสดงกระดูก ที่ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น Decalcifition แช่กระดูกในกรดเจือจาง (5% Nitric acid) จะละลายส่วนที่เป็นอนินทรีย์สารออกเหลือแต่ส่วนที่เป็นอินทรีย์ สารทำให้กระดูกอ่อนตัวลง บิด งอ ม้วนได้ โดยไม่หัก และ Calcination เผาเอาอินทรีย์สารออกไป เหลือแต่สารอนินทรีย์ส่วนใหญ่ คือ แคลเซียมฟอสเฟต กระดูกที่ผ่านกระบวนการนี้จะเปราะและร่วน และที่บริเวณมุมห้องแสดงโครงกระดูก ในแบบปกติตัวสูงเกินไปและตัวเตี้ยเกินไป

ชั้นแสดงที่หนึ่ง แสดงกะโหลกศีรษะกระดูกแกนกลาง ของร่างกาย กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกก้นกบ รวมไปถึงกระดูกเท้า แขน ขา และมือ ส่วนในชั้นแสดงที่สอง แสดงข้อต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งที่แช่อยู่ในน้ำยา การกำซาบด้วยพลาสติก (Plastination) รวมไปถึงข้อต่อเทียมที่ทำจากโลหะ

ผนังอีกด้านหนึ่งของห้องกระดูก แสดงโครงกระดูกของอดีตอาจารย์ศิริราช บุคคลในวงการแพทย์และการศึกษา ตัวอย่างเช่น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ขุนกายวิภาคพิศาล (เสงี่ยม หุตะสังกาศ) ศ.นพ.สรรค์ ศรีเพ็ญ ศ.นพ. สุด แสงวิเชียร เป็นต้น

หากท่านสนใจจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน เพื่อความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างกายของตัวเราเอง สามารถเข้าชมได้ฟรี ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 9.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ทางพิพิธภัณฑ์ปิดทำการ


[ที่มา..นิตยสาร UPDATE ปีที่ 12 ฉบับที่ 137 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2541]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1