มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2542 ]

แบก

บินหลา สันกาลาคีรี


คนเดินทางแบกเป้
คนแม่บ้านแบกฟืน
คนเลี้ยงโคแบกถังนม
คนเล่าเรียนแบกตำรา
อูฐแบกแอก
มีแต่อูฐเท่านั้นเดินเพลินใจ
ไม่รับรู้ว่าสิ่งอยู่บนไหล่
เรียกว่าแอก

(Bharatpur, India)

(บันทึกในเช้าที่แบกเป้ขึ้นไหล่ มองกระจกเห็นตัวเองละม้ายคล้ายควายหงานไปทุกที)

แม้ไม่ใช่ภาชนะที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน และทุกวาระสถานที่ แต่เป้ก็ออกจะสมพงษ์และได้รับความนิยม ในหมู่นักบิน (เดียวหรือหมู่) โดยไม่มีลูกหาบมากที่สุด ข้อเสียที่ทำให้ผู้แบกดูเป็นตัวฮิปและเกะกะบ้าง ยามเบียดแย่งขึ้นรถโดยสารนั้น นัยว่าพอทนเมื่อเทียบกับดีหลาย ๆ ด้าน

เบ้แข็งแรงและร่างกายบึกบึนเป็นของคู่กัน แทนที่น้ำหนักสัมถาระจะกดลงที่แขน หรือไหล่ ข้างใดข้างเดียวเหมือนกระเป๋าทั่ว ๆ ไป มวลของเป้จะถูกแบ่งโบ้ยให้สองบ่าสองไหล่ แผ่นหน้าอกและบั้นท้อง ได้เฉลี่ยน้ำหนักกันไปบ้าง

แต่นั่นก็หมายถึงว่า ข้าวของในเป้มีแค่พอควร พอแต่สมควร

แม้ว่าคนเดินทางมิใช่ลา แต่นิทานเรื่องฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลาก็ถูกเล่าให้ตัวเองฟังบ่อย ๆ อะไรอยู่ในเป้?…รอบคอบและ (มัก) ง่าย ๆ ถกเถียงทุกครั้งที่จัดสัมภาระ

ใครและใครก็ไม่ต้องการแอกแบกหลัง แต่จะเร่ร่อนทั้งที 15 วันหรือ 1 เดือน จะมีเสื้อผ้าแค่ 3 ชุดเท่านั้นหรือ ? รองเท้า 2 คู่พอหรือไม่/คู่หนึ่งหนังหนาหุ้มข้อ อีกคู่เป็นฟองน้ำแบบาง เอาไว้ใส่เข้าห้องน้ำ หรือควรต้องมีสลีปเปอร์อีกสักหนึ่ง เผื่อไว้หน้าเตียงนอน น้ำหนักก็ไม่ได้มากอะไร?

อาหารกระป๋องจำเป็นไหม อาจไประกำลำบาก หนังสือ 1 เล่ม เราอ่านจบใน 1 คืน นี่จะไปตั้ง 15 คืน รูปถ่ายคนรัก, คนที่เคยรัก, คนที่แอบรัก, คนที่อาจจะรัก, เข็ม, ด้าย,เต็นท์, ถุงนอน, มุ้ง, หมอน, ยาทากันยุง, เปล, กล้องถ่ายรูป, ฟิลม์, ซาวนด์อะเบาต์, ม้วนคาสเซ็ต, ถ่าน 2A, ไฟฉาย, ไฟแช็ก, เทียนไข, ยางวง, แผนที่, ปากกา, ไกด์บุ๊ก, สมุดบันทึก, ลอริเอะ, โลชั่น, ครีมโกนหนวด, สบู่, ยาสีฟัน, ยาสระผม, ไดร์, แปรง (ทั้งสีฟันและแสกผม), ผงซักฟอก, ทิสชู, ปลาสเตอร์, ยาหม่อง, ยาใส่แผล, แก้ปวด, แก้ท้องเสีย, แก้ท้องผูก, ถุงยาง, เสื้อกันฝน, เชือก, หมวก, ถุงเท้า, ช้อน, ชาม, น้ำปลา, มาม่า, น้ำพริกแม่ประนอม, นาฬิกาปลุก, มือถือ, แพ็คลิ้งค์, สวิสอาร์มี และวิกส์วาโปรับ

สารภาพทั้งหมดที่ว่ามา เว้นแต่ลอริเอะ ผมเคยแบกเป็นลามาแล้ว

ไม่อาจจะโทษอื่นใด บางที เราอาจติดหล่มความรอบคอบของตัวเอง ไม่ก็นิสัยเดินทางด้วยรถยนต์ หรือไม่ก็เพราะจนเกินไป ไม่พร้อมจะควักสตางค์ซื้อกลางทาง ไม่ใช่เป้ ที่ควรแก่การแบกรับห้าสรรพสินค้านี้ กระเป๋าโดเรมอนน่าจะเหมาะกว่า

แต่คนที่ไม่เตรียมไม่พกอะไร ก็ใช่เบาสบาย หากกลายว่า แทบทุกกิโลเมตร เขาต้องหยุดซื้อหาข้าวของใส่หลัง และเป้ก็หนักขึ้น ๆ ขณะที่กระเป๋าสตางค์เบาลง

ทุกวันนี้ ผมยังไม่แน่ใจนักว่า มีอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นต้องแบกเป็นยันต์กันยากในทุกสถานการณ์ แต่รอยกดนุ่มนวลบนสองไหล่กระซิบว่า สำหรับ เข็ม ด้าย มุ้ง เทียนไข ไฟแช็ก เชือก และสวิวอาร์มี่ (หรือจะไชนีสอาร์มี่ก็ตามที) คุ้มค่ากับการใส่บ่าหาม

แค่สบู่ซักผ้าด้วยสักก้อน ก็ลดเสื้อผ้าได้หลายชุด นอกเหนือนี้แล้ว จะใส่อะไรลงในเป้อีก ก็ควรชั่งใจท่องคาถา "มีแต่อูฐเท่านั้นเดินเพลินใจ" กำกับด้วย 3 คาบ จึงจะเป็นเสร็จพิธี

จริงอยู่เป้ไม่ใช่บริษัท แต่เป้ก็ต้องการผู้จัดการ โลกของเราถูกย่อลงเหลือแค่แผ่นหลัง บางครั้งการเดินทางก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าคำถาม (จากเป้) ว่า… ชีวิตคุณมึงจะขาดแคลนอะไรสักอย่างในบางเวลา…ไม่ได้เลยหรือ ?

แทบจะทั้งร้อยของหนุ่มสาวนักศึกษา ชอบการเดินทางชนิดผจญภัย แต่แทบทั้งนั้นเช่นกันที่ผมพบว่า ชีวิตทุก ๆ วันของเขาและเธอ ไม่เคยซักเสื้อผ้าเองเลย ผู้อยู่หอพัก คุ้นเคยกับการส่งซัก ตรงร้านใต้ถุนหอ ผู้อยู่บ้าน เสื้อผ้าเขาคุ้นมือแม่และสาวใช้

แล้วจะทำอย่างไรยามเดินทาง จะแบกเสื้อผ้าทั้งตู้ไปด้วย หรือจะแบกแม่ไปดี

เนื้อที่ในเป้ยังเจียดไว้สำหรับของจำเป็นมากมาย ด้ายและเข็มกินพื้นที่ไม่มาก แต่ช่วยลด ปริมาณเสื้อผ้าได้ ทั้งการปะ ชุนผ้ายังเป็นความรื่นรมย์อย่างหนึ่ง พอ ๆกับนั่งปะยางจักรยาน

เชือก…พันธมิตรเบามือ ผมถูกสอนให้มีติดเป้คราวละ 2 เส้น ยาว 3 เมตรกับ 2 เมตร ใช้ทำราวตกผ้า ขวางกั้นผู้บุกรุกยามราตรี ตลอดจนวาระฉุกเฉินเฉพาะหน้า

แตะฟองน้ำ ก็ไม่กินที่ ถ้าเดินทางด้วยสองเท้าหรือถีบรถ เราจะพบว่าแต่ละสนธยาเป็นเวลาที่ ตีนต้องการปลดเปลือยอย่างที่สุด นี่ยังไม่พูดถึงยามต้องเข้าห้องน้ำรวม

มีดพก ยาแก้ปวด เทียนไข ไฟแช็ก ไฟฉาย แก้วสเตนเลส และขดลวดเสียบต้มน้ำ ทั้งหมดใช้ที่น้อย แต่ทำให้มีน้ำร้อนน้ำสะอาดกินตลอดทางและตลอดเวลา แก้วสเตนเลสทนร้อนและทนทาน แต่ก็เป็นตัวนำไฟฟ้าที่คล่องแคล่ว โปรดระมัดระวังยามใช้คู่กับขดลวด ไม่ควรจับแก้วขณะเดินไฟ นอกเสียจากไม่อยากเดินทางในโลกใบนี้แล้ว

กล้อง…แบกเป้คนเดียว ไปเมืองเปลี่ยว ใช้ชนิดป๊อกแป๊กพอดับกระหายสบายใจ (และเบาเป้) กว่า ราคาฟิล์มเมืองไทยถูกกว่าใน หลาย ๆ เมือง ซื้อเตรียมปริมาณพอใช้ อย่าลืมคำนวณรายจ่าย ตอนอัดรูปด้วย

ซาวนด์ อะเบาต์, หนังสือ… ติดนักก็พกเถิด แต่เลือกที่จะฟังและอ่านได้นานจริง ๆ จะได้ไม่ต้องขนเป็นคอนเทนเนอร์ (อย่าลืมว่า หนังสือกินน้ำหนักมากที่สุด) การแลกหนังสือกับคาสเซ็ตระหว่างเดินทางเป็นการพบเพื่อนใหม่ที่ดี เราคงพูดเรื่องนี้กันอีกครั้ง

ไกด์บุ๊ก…มีดี ๆ สักเล่ม แล้วจะสู้รบปรบมือกับหน้าม้าจอมตื้ออย่างเยือกเย็น

สมุดบันทึก…(ไม่มีคำอธิบายสำหรับเพื่อนยาก)

ว่าถึงประเภทกินที่บ้าง…มุ้งและถุงนอน เป็น 2 สัมภาระที่ควรให้โอกาส ถุงนอนต้องมีถุงใส่อีกชั้น เพื่อจะทูนไปเหนือเป้ได้ เป้…แล้วเลือกเป้ดี ๆ สักใบได้อย่างไร ?

คนตีนโตแนะว่า เป้ใบแรกที่ดีที่สุด คือ เป้เพื่อน เขาอธิบายด้วยสีหน้าจริงตังอ้างว่า เป้มีมากแบบ มากขนาด และต่างประโยชน์ใช้สอยลองเอาเป้เก่าของเพื่อนมาจัดสัมภาระเดินทาง แบกสะพาย จำลองสถานการณ์รื้อค้นข้าวของ พบเห็นข้อดีและข้อด้อยของเป้ใบนั้น เราก็จะได้รูปลักษณ์ของเป้ใบใหม่อย่างคร่าว ๆ แล้วจึงค่อยตรงเข้าร้าน

เป้เดินทางไม่ใช่เป้ลูกเสือ ไม่ใช่เป้มิกกี้เม้าส์ รุ่นเก่าจะมีโครงอะลูมิเนียมรองรับ เพื่อให้อกและเอวของผู้แบกได้เฉลี่ยน้ำหนักไปจากสองไหล่ด้วย (มีสายรัดอกรัดเอว) แต่รุ่นวันนี้มักเป็นโครงพลาสติก สอดอยู่ในแผ่นหลังของเป้ มองไม่เห็น แต่จับดูจะรู้ว่าเป้ก็มีกระดูก

เป้เดินทางยังแบ่งเป็น 2 แบบ แบบหนึ่งเปิดด้านบน มีเชือกรูดและฝาเปิด อีกแบบหนึ่งเปิดด้านหน้า ใช้ซิปเส้นยาวเดินตลอด แบบแรกแพร่หลายและราคาย่อมกว่า แต่แบบหลังสะดวกกว่าเวลารื้อ หยิบสัมภาระ รวมทั้งปลอดภัยสามารถคล้องกุญแจล็อก (ตรงหูซิป) ได้ เป้ต้องมีหูซิป 2 หู และช่องเล็กช่องน้อย พอประมาณ ใส่ของที่ต้องล้วงหยิบบ่อย ๆ

เป้ดียังต้องมีสารกันน้ำ ลองเปิดดูด้านในของเป้ จะมีคราบมัน ๆ วาว ๆ คล้ายเทียนไขเคลือบอยู่ อย่าไปทำลายมันด้วยการซักและใช้แปรงกระหน่ำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (แน่นอนว่าผมเคยกระหน่ำไปแล้ว) ทำความสะอาดโดยแช่น้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อเดตตอล สบายเป้กว่า

ตรวจทุกตะเข็บและเนื้อเป้ว่าเย็บแน่นหนาคงทนก่อนจะซื้อ โดยเฉพาะเป้มือสอง อาจมีปัญหาเนื้อเป้เปื่อย เซียนเดินทางสอนว่าไม่น่าซื้อ ไม่ว่าราคาจะถูกแค่ไหน

บินหลา สันกาลาคีรี


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1