มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ที่มา..หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 16573 27 ก.พ. 2538 หน้า 31]


จากลายนิ้วมือถึงลายม่านตา

ชัยวัฒน์ คุประตกุล


ลักษณะทางพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดให้สิ่งมีชีวิต มีความเหมือนหรือแตกต่างกัน และมีลักษณะทางพันธุกรรมหลายลักษณะ ที่อาจแปรผันไปได้เนื่องจากอิทธิพลของสิ่งแวด-ล้อม เช่น สีผิวของคน สติปัญญา ขนาดหรือน้ำหนักของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น แต่มีลักษณะทางพันธุกรรมบางลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เช่น ลายนิ้วมือ ลายดีเอนเอ ในหมู่เลือดระบบ ABO และลายม่านตา ลักษณะทา งพันธุกรรมเหล่านี้ เป็นลักษณะเฉพาะในแต่ละบุคคลจึงนำมาใช้เป็นประโยชน์ ในการพิสูจน์หลักฐาน

การใช้ลายนิ้วมือมาเป็นหลักฐานตรวจสอบบุคคลได้มีมานานแล้ว สมัยก่อนผู้ที่อ่านเขียนหนังสือไม่ได้ใช้การพิมพ์ลายนิ้วมือแทน และในการสืบสวนหาตัวอาชญากรที่ทิ้งลายนิ้วมือเอาไว้ ในบริเวณประกอบอาชญากรรม ก็มีการพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้กระทำผิด หรืออาชญากรเก็บไว้เป็นหลักฐานในแฟ้มของตำรวจ หรือบุคคลที่เข้ารับราชการหรือทำงานในหน่วยงานต่างๆ ก็มีการพิมพ์ลายนิ้วมือเก็บไว้เป็นหลักฐานในหน่วยงานนั้นๆ ด้วย

ลายดีเอนเอ ในหมู่เลือดระบบ ABO ก็เช่นเดียวกัน ก็สามารถใช้เป็นหลักฐาน ตรวจสอบบุคคลต่างๆ ได้ การพิสูจน์หลักฐานวิธีนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งนำมาใช้เมื่อประมาณเกือบสิบปีมานี้เอง และกำลังมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบหาตัวอาชญากรที่ไม่ทิ้งร่องรอย เป็นลายนิ้วมือเอาไว้ แต่มีสิ่งอื่นๆ ทิ้งไว้แทน เช่น คราบอสุจิ คราบเลือด เส้นขนหรือผม การพิสูจน์คือ ต้องทำลายคราบเลือด เส้นผม คราบอสุจิ เพื่อให้เห็นลายดีเอนเอตำรวจ ก็สามารถได้หลักฐานสำคัญ มัดตัวอาชญากรได้อย่างที่อาชญากรคาดไม่ถึง

นอกจากหลักฐาน 2 วิธีดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีได้พัฒนาไปมากจนสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ ใช้ตรวจสอบลายม่านตาได้ จึงสามารถใช้เป็นหลักฐานได้ คล้ายๆ กับลายนิ้วมือหรือลายดีเอนเอ และหลักฐานชนิดนี้ มีข้อดีกว่าใช้หลักฐานทางลายนิ้วมือและลายดีเอนเอบางประการที่น่าสนใจ คาดว่าน่าจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในอนาคตอันใกล้สำหรับตรวจสอบบุคคลากร ที่จะเข้าไปในสถานที่พิเศษ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศชาติ หรืออนาคตขององค์กรทางด้านธุระกิจระดับใหญ่ๆ เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

ลักษณะการใช้งานของลายม่านตาจะคล้ายๆ กับลายนิ้วมือ คือ อาศัยระบบตรวจลาย ม่านตาของบุคคลที่ต้องการตรวจสอบ เปรียบเทียบกับลายม่านตาของบุคคลนั้น ซึ่งมีการตรวจสอบเอาไว้ก่อนแล้ว ระบบจะเป็นตัวบอกว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่

ตัวอย่างการใช้งานของลายม่านตาเป็นดังนี้

นายดำจะเข้าไปในห้องพิเศษขององค์กรหนึ่ง ซึ่งต้องห้ามสำหรับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ที่ประตูห้องจะมีอุปกรณ์คล้ายเครื่องตรวจวัดสายตาเหมือนร้านแว่นตา นายดำต้องมายืนที่จุดกำหนดแล้วยื่นหน้าเข้าไปอยู่ในตำแหน่ง พอเหมาะติดกับอุปกรณ์คล้ายกล้องส่อง ตา สักครู่ นายดำก้าวถอยหลัง ออกมาอีกเพียง 5 วินาทีมีไฟเขียวสว่างขึ้นที่เครื่องตัวอักษร จะปรากฎชื่อนายดำให้เห็น แล้วประตูจะเลื่อนเปิดออก เมื่อนายดำเดินผ่านประตู เข้าไปประตูจะเลื่อนปิด

การตรวจสอบลายม่านตาของบุคคลต่างๆ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอลา มอส (Los Alamos National Laboratory) ในประเทศสหรัฐอเมริกามี โรเจอร์ จอห์นสตัน (Roger Johnston) และ เคลวิน เกรช (Kevin Grace) ร่วมทีมอยู่ด้วย เทคโนโลยีการตรวจสอบบุคลลากรโดยอาศัยลายม่านตา ระบบแรกที่ใช้งานได้จริง มีชื่อเรียกว่า BATAS ประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญคือ กล้องวีดีทัศน์ที่มีกำลังขยายสูงสามารถตรวจ จับลักษณะของลายม่านตาได้อย่างละเอียดแล้วส่งข้อมูล เกี่ยวกับลายม่านตาให้ไมโครคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ เก็บเป็นรหัสทางคณิตศาสตร์ เป็นรหัส ลายม่านตาของแต่ละคนเอาไว้ ในคลังลายม่านตา (ลักษณะคล้ายแฟ้มลายนิ้วมือ หรือแฟ้มดีเอ็นเอของตำรวจ)

ในทางปฏิบัติการใช้ลายม่านตา มีขั้นตอนคล้ายฉากสมมติ เกี่ยวกับนายดำคือผู้ที่ ถูกตรวจสอบต้องให้ระบบเป็นกล้องวิดิทัศน์ อ่านลายม่านตา โดยใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ออกมาเป็นรหัสลายม่านตา แล้วระบบก็จะเปรียบเทียบกับรหัสลายม่านตาของเจ้าตัว ในคลังลายม่านตานั่นเอง

การพิสูจน์หลักฐานโดยลายม่านตาเป็นวิธีที่ดีกว่าลายนิ้วมือ คือ ปลอมแปลงไม่ได้เพราะลายนิ้วมือสามารถปลอมแปลงได้ และยังดีกว่าดีเอนเอคือวิธีการตรวจสอบง่ายกว่า และสามารถตรวจสอบได้ทันที ปัจจุบันเทคโนโลยีการใช้ลายม่านตายังอยู่ในระยะแรกๆ ของการพัฒนาความแม่นยำจากการทดสอบ แต่ก็ปรากฏว่าแม่นยำ ถึง 96-98% นับว่าสูงมาก และนักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีการปรับปรุงวิธีการนี้อยู่ตลอด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทดสอบที่สูงกว่านี้ เพราะฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้การตรวจสอบบุคคลากรในวงการต่างๆ คงจะใช้เทคโนโลยีใหม่โดยการตรวจลายม่านตาเข้ามาแทน หรือเสริมลายนิ้วมือและลายดีเอ็นเอ



ขอบคุณหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1