มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc


อีกก้าวหนึ่งของการปฏิวัติเทคโนโลยี
อีกก้าวหนึ่งของการปฏิวัติการแพทย์
อีกก้าวหนึ่งของการปฏิวัติเผ่าพันธุ์มนุษย์
คือ...

ปฏิวัติพันธุกรรม

จะมีสักกี่คนที่ล่วงรู้ความสำคัญ ของของเหลวใสภายในหลอดทดลองนี้ ของเหลวซึ่งมีลักษณะ ไม่ต่างไปจากน้ำเปล่าดีๆ นี่เอง ทว่าเมื่อถูกคนด้วยแท่งแก้ว เพียงชั่วครู่ ฉับพลันของเหลวใส ก็กลายสภาพเหนียวข้น ก่อสายใยยาวเหยียดเบาบาง ม้วนตัวอยู่ภายในหลอดทดลอง หากจะกล่าวว่านี่คือ สาระ...แก่นแท้ของชีวิต ก็มิได้ผิดเพี้ยน ไปจากความจริงแต่อย่างใด "ดูให้เต็มตา... นี่ล่ะโฉมหน้าเนื้อแท้แห่ง ชีวิตจากมุมมองที่คุณไม่เคยพบ" เสียงของ ดร.ฟรานซิส คอลลินส์ ดังขึ้นภายใน
หลอดทดลองบรรจุดีเอ็นเอ
สารพันธุกรรมกำหนดชีวิต
ห้องปฏิบัติการชีววิทยาระดับโมเลกุล ที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา คอลลินส์รับผิดชอบโครงการไขความลับห้องสมุดชีวภาพ ที่ซ่อนเร้นข้อมูลของสายโมเลกุลแห่งชีวิตไว้อย่างซับซ้อน ด้วยเงินทุนหนุนหลังก้อนมหึมา เขากล่าวถึงงานชิ้นประวัติศาสตร์นี้ว่า มันเป็นภารกิจที่ท้าทายมนุษยชาติพอๆ กับการแยกอะตอม หรือการเดินทางไปสู่ดวงจันทร์เลยทีเดียว

ณ ห้องทดลองแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ดร.ดับเบิลยู เฟรนซ์ แอนเดอร์สัน ก็กำลังเพ่งมองของเหลวใสชนิดนี้ ทว่าภาพที่แจ่มชัดในจินตนาการ มิใช่ห้องสมุดอันเก็บงำความลับของชีวิต มันกลับเป็นภาพเข็มฉีดยา เป้าหมายของแอนเดอร์สันคือ การวิจัยค้นหายาวิเศษจากของเหลวในหลอดทดลองนี้ เขากล่าวว่า บางทีวันหนึ่งหลังจากหมอวินิจฉัยคนไข้แล้ว การรักษาก็จะเป็นไปอย่างง่ายดาย โดยอาศัยเพียงสายของโมเลกุลเล็กๆ นี้

สายโมเลกุลแห่งชีวิตนี้ก็คือ ดีออกซีไรโบนิวคลีอิกแอซิด (Deoxyribo Nucleic Acid : DNA) โมเลกุลรูปร่างบันไดเวียนซึ่งพบได้ทั่วไปในเซลล์สิ่งมีชีวิต เป็นที่รู้กันมาตั้งแต่ปี 2495 แล้วว่า ดีเอ็นเอ คือ หัวใจของการถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ก่อนที่โครงสร้างทางเคมีของมันจะถูกเปิดเผยในปีต่อมา ปัจจุบันเรารู้ว่าดีเอ็นเอของมนุษย์ทำหน้าที่เหมือนกับ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ชีวภาพจำนวน 3 พันล้านบิต ซึ่งทั้งหมดคือ ข้อมูลในการสร้างโปรตีน สารชีวเคมีพื้นฐานของชีวิต

แต่ความมหัศจรรย์ทั้งหมดที่นักพันธุศาสตร์ค้นพบ ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาก็เป็นเพียงอารัมภบท ให้แก่งานของคอลลินส์และแอนเดอร์สันในวันนี้ คอลลินส์รับผิดชอบโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome Project) เพื่อวาดแผนที่ยีน บนสายดีเอ็นเอของมนุษย์อย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม ภายในระยะเวลาโครงการ 15 ปี ขณะที่งานสร้างชื่อของแอนเดอร์สันคือ การบุกเบิกปฏิบัติการรักษาโรคโดยอาศัยยีนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และกำลังรณรงค์ให้นำวิทยาการใหม่นี้มาใช้ในการป้องกันรักษาโรค ให้แก่มนุษย์โดยเร็วที่สุด

กล่าวได้ว่าสิ่งที่ทั้งสองกำลังมุ่งมั่นค้นคว้าอยู่นี้ เป็นการปฏิวัติทางชีววิทยาการแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ซึ่งดำเนินไปในลักษณะเดียวกับข่ายงานจารกรรมในซิลิคอน แวลเลย์ (นิคมของสหรัฐ) ซึ่งใช้กระบวนการรีเวิร์สเอนจิเนียริ่ง แยกส่วนคอมพิวเตอร์ชิปเพื่อศึกษาและขโมยความลับจากโรงงานคู่แข่ง ทุกวันนี้นักพันธุวิศวกรรมก็กำลังอาศัยหลักการเดียวกัน ในการถอดรหัสค้นหาความลับในระดับโมเลกุลของชีวิต และพยายามใช้ข้อมูลที่ได้ในการย้อนรอยเพื่อเอาชนะ สาเหตุของโรคนานาชนิดสำหรับพวกเขาแล้ว ดีเอ็นเอจึงมีความหมายเป็นทั้งพิมพ์เขียวและเป็นสารพิเศษ ทางเภสัชกรรมซึ่งสามารถใช้รักษาโรคชนิดต่างๆ รวมทั้งใช้แก้ไขความผิดปกติในระดับดีเอ็นเอเพื่อป้องกันโรคต่างๆ เป็นการล่วงหน้าได้อีกด้วย

นี่ยังเป็นเพียงบทเริ่มต้นเท่านั้น ความสามารถในการแก้ไข ดัดแปลงพันธุกรรมจะทำให้โฉมหน้าของโลกอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งอาหารที่เรากิน เสื้อผ้าที่สวมใส่ วิถีชีวิตและความตาย รวมทั้งทัศนะต่อคำว่าชะตากรรมของเราด้วย…ยุคสมัยแห่ง พันธุกรรมปฏิวัติ กำลังคืบคลานเข้ามาแล้ว

ก้าวแรกสู่อนาคต

เมื่อโลกเริ่มเผชิญกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ได้มีสัญญาณบางอย่างบ่งบอกว่าระยะผ่านของการเปลี่ยนแปลง คงไม่เป็นไปอย่างราบรื่นนัก นับแต่การปฏิวัติทางพันธุกรรมเริ่มปรากฏผล ผู้คนก็เริ่มวิตกว่าเราจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อแลกกับสิ่งเหล่านี้ จากการสำรวจความคิดเห็นซึ่งนิตยสารไทม์จับมือกับซีเอ็นเอ็น พบว่าความเห็นของ สาธารณชนต่อการวิจัยทางพันธุกรรม แตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชนิดนี้

ต่อคำถามที่ว่า คุณยินดีจะเข้ารับการตรวจสอบพันธุกรรม เพื่อบ่งบอกโอกาสป่วยเป็นโรคชนิดต่างๆ ตลอดช่วงชีวิตนี้หรือไม่ ร้อยละ 49 ปฏิเสธ โดยขอคงความไม่อยู่ต่อไป ขณะที่ร้อยละ 50 ตอบตกล ยินดีรู้ล่วงหน้า นอกจากนั้น คนส่วนใหญ่ยังคัดค้าน การทำพันธุวิศวกรรมในมนุษย์อย่างรุนแรง นอกเสียจากว่า จะเป็นไปเพื่อการรักษาโรคหรือเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร โดยร้อยละ 58 คิดว่าการดัดแปลงพันธุกรรมนุษย์ เป็นการฝืนเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

พันธุวิศวกรรมได้สร้างจินตนาการในแง่ร้ายให้เกิดขึ้น พร้อมกับความก้าวหน้าใหม่ๆ ตัวอย่างหนึ่งก็คือความคิดที่ว่า บางทีความลับซึ่งซ่อนอยู่ในพันธุกรรมของแต่ละคน อาจย้อนกลับมาสร้างผลเสียให้แก่เจ้าตัวได้ เมื่อเลือดหยดเล็กๆ หรือผมเพียง 1 เส้นของคุณก็บรรจุความลับเหล่านี้เอาไว้ทั้งหมด จึงไม่ยากเกินไปนักที่นายจ้างหรือบริษัทประกันจะล่วงรู้ถึงอัตราเสี่ยง ที่คุณจะป่วยด้วยโรคชนิดต่างๆ ในข้อนี้กว่าร้อยละ 90 เห็นว่า น่าจะเป็นการผิดกฎหมายหากบริษัทประกันจะทำการตรวจสอบพันธุกรรมก่อน อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงก็คือ การกระทำดังกล่าว มิได้ขัดต่อกฎหมายของสหรัฐฯในปัจจุบันแต่อย่างใด

เจเรมี ริฟกิน ผู้คัดค้านการทำพันธุวิศวกรรม เพื่อจุดประสงค์บางอย่างมาเป็นเวลานานกำลังนวบรวมข้อมูล เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่เขาตระหนักว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหม่ ที่ร้ายแรงที่สุด "ความลับส่วนตัวทางพันธุกรรม จะกลายเป็นประเด็นสำคัญในรัฐธรรมนูญของคนรุ่นต่อไป" เขายืนยัน

ปฏิบัติการถอดรหัส

ไม่ว่าการปฏิวัติพันธุกรรมจะมีโฉมหน้าอย่างไรในอนาคต ก้าวแรกของวันนี้ยังอยู่ที่การทำแผนที่พันธุกรรมมนุษย์ โดยพยายามระบุตำแหน่งและรหัสของยีนทุกยีนบนสายดีเอ็นเอ และท่ามกลางความรีบเร่งของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ปรากฏว่าในปีที่ผ่านมางานได้คืบหน้าไปอย่างน่าอัศจรรย์ โดยอาศัยเครื่องมืออัตโนมัติ (Automated Cloning Equipment) ประกอบกับการร่างแผนที่พันธุกรรมอย่างคร่าวๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นทิศทางในการค้นหารายละเอียดท่ามกลางรหัสพันธุกรรมมหาศาล ด้วยความช่วยเหลือเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำแผนที่ยีน ด้วยอัตราความเร็วมากกว่า 1 ยีนต่อวัน โดยตัวอย่างของยีนที่ค้นพบ ในรอบปีที่ผ่านมาเช่น ยีนของโรคฮันทิงตัน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อ ชนิดเอสซีไอดี (SCID) โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และคาดว่าจะค้นพบยีนของโรคมะเร็งทรวงอกในเร็วๆ นี้

คอลลินส์เปรียบเทียบงานค้นหาตำแหน่งยีนของเขาว่า "คล้ายกับถูกใช้ให้ค้นหาหลอดไฟที่ขาดแล้วในบ้านหลังหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ โดยไม่บอกรับ เมือง และถนนที่บ้านหลังนั้นตั้งอยู่" แผนที่ยีนมนุษย์เท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ เป็นแผนที่ยีนอย่างคร่าวๆ ซึ่ง แดเนียล โคเฮนและทีมงาน ที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาการมนุษย์ในกรุงปารีสเพิ่งจะทำเสร็จเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นการกำหนดตำหน่งยีนอย่างกว้างๆ และยังเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด

นี่คืเหตุผลว่าทำไมโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ ของคอลลินส์จึงมีความสำคัยอย่างยิ่ง คอลลินส์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพันธุกรรมมนุษย์แห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายที่โครงการจะต้องบรรลุให้ได้ภายใน พ.ศ. 2548 มิได้อยู่เพียงแค่การระบุตำแหน่งของยีนทั้งหมดประมาณ 100,000 ยีนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการระบุลำดับสารเคมีที่เรียงตัวกันเป็นรหัสพันธุกรรม ในแต่ละยีนด้วย ถ้าจะเปรียบระบบพันธุกรรมของมนุษย์ เป็นสารานุกรมที่มี 23 บท (จำนวนโครโมโซมของมนุษย์มี 23 คู่) แต่ละยีน ซึ่งเปรียบเสมือนประโยค จะประกอบด้วย คำ ที่สะกดด้วยอักษร 3 ตัว (ตัวอักษรมีทั้งหมด 4 ตัว ใช้แทนโมเลกุลของสารเคมีหรือนิวคลีโอไทด์ ซึ่งมี 4 ชนิด ตามความแตกต่างของเบส 4 ชนิดที่เป็นองค์ประกอบ) เรียงสลับกันไปมาระหว่าง A (ADENINE) C (CYTOSINE) G (GUANINE) และ T (THYMINE) โดยถ้าศึกษาชนิด และลำดับของสารเคมีหรือตัวอักษรที่เรียงกันเป็นคำและประโยค นักวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถไขความลับถอดรหัสของยีนแต่ละตัวออกมาได้

แม้เครื่องมือการวิจัยจะพัฒนาไปเพียงใด ทว่าดูเหมือนเป้าหมายจะยังคงอยู่อีกห่างไกล ข้อมูลพันธุกรรมที่ค้นพบยังเต็มไปด้วยความน่าพิศวง ขณะที่นักวิจัยแกะรอยใกล้ขุมทรัพย์เข้าไปทุกขณะ เขากลับพบว่าสิ่งที่เคยเรียนรู้จากตำราของ เกรเกอร์ เมนเดล ผู้บุกเบิกวิชาพันธุศาสตร์ยังเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด เช่น แนวคิดที่ว่าลักษณะต่างๆ มักจะถูกกำหนดโดยยีนเพียงตัวเดียว แต่การศึกษาพันธุกรรมมนุษย์กลับให้ผลในทางตรงข้าม เช่น การค้นพบว่าลักษณะสีตาเกิดจากการทำงานร่วมกันของยีนหลายตัว และยังพบว่ายีนมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่เคยคิดกันมากนัก เช่น ยีนของโรคซิสติกไฟโบรซีสสามารถเกิดความผิดปกติขึ้นได้ถึง 350 จุด และยังค้นพบจุดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกแทบจะทุกสัปดาห์

กรณียีนของโรคฮันทิงตัน เป็นตัวอย่างอันแสดงถึง ความยากลำบากในการค้นหายีนได้เป็นอย่างดี หลังจากความพยายามอย่างต่อเนื่องนับสิบปี ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบว่า มันซุกซ่อนอยู่ที่ปลายโครโมโซมคู่ที่ 4 โดยเป็นลักษณะ ที่เรียกกันว่า "ยีนติดอ่าง" เนื่องจากรหัสของมัน ประกอบด้วยชุดตัวอักษร (สารเคมี) ที่เรียงลำดับกันเป็นคำ ทางพันธุกรรมคำเดียวกัน คือ CAG ซ้ำแล้วซ้ำอีก

สภาพปกติของยีนตัวนี้จะประกอบด้วยรหัส CAG 11-34 ชุดเรียงต่อกัน ทว่ากรณีของผู้ป่วยโรคฮันทิงตันจะพบรหัส CAG นี้ 37-100 ชุด แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าการ "ติดอ่าง" ของยีนทำให้เกิดโรคได้อย่างไร ทว่าทุกวันนี้เราแน่ใจได้ว่า ความรุนแรงของอาการของโรคต้องเกี่ยวข้องกับจำนวนการซ้ำ ของรหัส CAG อย่างแน่นอน เรื่องจากผู้ป่วยโรคฮันทิงตันที่มี CAG 80-100 ชุด จะแสดงอาการทันทีตั้งแต่เด็ก

พิชิตโรคจากระดับยีน

หลังจากค้นพบรหัสที่ผิดปกติแล้ว แม้เราจะไม่มีปากคีบ ที่เล็กพอจะหยิบตัว อักษร คำ หรือประโยคทางพันธุกรรม ที่ผิดปกติเหล่านั้นออกมาแก้ไขใหม่ ทว่าวิธีการที่ทีมงานของ แอนเดอร์สันร่วมกับ ดร.ไมเคิล บลีส และ เคนเนท คัลเวอร์ ประจำสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐฯ ใช้ในการทดลองครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 3 ปีก่อน ก็อาศัยหลักการเดียวกันนี้

สิ่งที่ท้าทายทีมงานในขณะนั้นก็คือ การหาทางรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (SCID) หรือที่นิยมเรียกกันว่าโรค "บับเบิลบอย" ซึ่งเด็กที่ป่วยจะต้องอยู่ภายใต้พลาสติกใสครอบหัวตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้เนื่องจากความผิดปกติของยีน ที่ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์สำคัญชื่อ เอดีเอ (ADA) หรือ อะดีโนซีน ดีอะมีเนส (ADENOSINE DEAMINASE) ซึ่งหากขาดมันแล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะไม่ทำงาน ก่อนหน้านี้หมอพยายามรักษาโดยใช้เอนไซม์เอดีเอจากวัว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยโชคดีบางคนสามารถอยู่ได้โดยปราศจากครอบพลาสติก แต่แอนเดอร์สันคิดว่าเขามีทางออกที่ดีกว่านี้ อันนำไปสู่ปฏิบัติการที่ยอมรับว่า เป็นการรักษาโรคด้วยวิธีทางยีนครั้งแรกของโลก

ทีมงานของเขาเริ่มต้นการทดลองครั้งประวัติศาสาตร์ โดยการสกัดเม็ดเลือดขาวจากเด็กหญิง 2 คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ แล้วทำการใส่ยีนผลิตเอดีเอ (ที่อยู่ในสภาพปกติ) เข้าไปในเซลล์ ก่อนฉีดเซลล์เหล่านี้กลับเข้าสู่ร่างกายเด็กหญิงทั้งสองด้วยความหวังที่ว่า เซลล์เม็ดเลือดเหล่านี้จะผลิตเอนไซม์เอดีเออกมากระตุ้น ระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมาทำงานตามปกติ…และแล้วความคาดหวังก็เป็นจริง ภายในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2536 มีร่างของเด็กหญิงอายุ 7 และ 12 ขวบเติบโตขึ้นจากเมื่อ 3 ปีก่อน อย่างผิดหูผิดตาร่วมอยู่ด้วย เธอทั้งสองคือหลักฐานยืนยันความสำเร็จ ของการทดลองครั้งประวัติศาสาตร์นี้ได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางความตื่นเต้นกับผลสำเร็จในช่วงแรก ทีมงานตระหนักดีว่าสาวน้อยทั้งสองได้รับการรักษาให้ดีขึ้น แต่ยังมิได้หายขาด เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดพิเศษที่ฉีดเข้าไปนี้ จะมีอายุอยู่ได้ไม่ถึง 1 ปี ทำให้เธอต้องกลับมาฉีดเซลล์ใหม่เพิ่มอยู่เป็นระยะ การพิชิตโรคขั้นเด็ดขาดจะต้องรุกเข้าสู่จุดต้นตอของปัญหา นั่นคือเซลล์ไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดขาวทั้งหมดในร่างกาย

1 สัปดาห์ก่อนหน้าการแถลงข่าวเมื่อปีที่แล้ว ทีมงานใส่ยีนผลิตเอดีเอลงในเซลล์ไขกระดูกซึ่งสกัดจากเด็กหญิง 1 คนจากนั้นจึงฉีดเซลล์เข้าสู่กระแสเลือดโดยหวังให้เซลล์เหล่านี้ เดินทางกลับไปยังไขกระดูกเอง การทดลองลักษณะนี้ ได้นำมาทดลองซ้ำหลายครั้งในทารก และดูดเหมือนว่า ทารกจะเติบโตขึ้นตามปกติ ทว่าไม่มีการเผยแพร่ผลที่แน่ชัดออกมา

ความสำเร็จในขั้นต้นได้จุดประกายความคิด ในการประยุกต์ใช้เทคนิคนี้กับโรคชนิดอื่นอีกมากมาย ทั้ง ซิสติกไฟโบรซิส มะเร็ง และโรคเอดส์ นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกกว่า 40 คนทั่วโลกกำลังทำให้การรักษาโรคจากระดับยีน กลายเป็นศาสตร์ทางการแพทย์อันน่าตื่นเต้นที่สุดในขณะนี้

เวกเตอร์ : กุญแจแห่งความสำเร็จ

ขั้นตอนที่ยากที่สุดของงานพันธุวิศวกรรมก็คือการ "ใส่ยีนที่ถูกต้องเข้าสู่เซลล์ที่ถูกต้อง" โดยปกติแล้ว จะต้องมีการฝากยีนเข้าไปกับ พาหะ หรือ เวกเตอร์ (VECTOR) ซึ่งในกรณีนี้แอนเดอร์สันเลือกเอา รีโทรไวรัส (RETROVIRUS) ไวรัสซึ่งมีความสามารถพิเศษ ในการเดินทางเข้าสู่สารพันธุกรรมของเซลล์ แต่ไวรัสประเภทนี้มีโอกาสทำอันตรายมนุษย์ได้ (ตัวที่กำลังดังกระฉ่อนไปทั่วโลกมีชื่อว่า HIV) และแม้นักวิทยาศาสตร์จะรู้วิธีทำให้หมดพิษสงลงเสียก่อนก็ตาม แต่ความเสี่ยงแม้เพียงน้อยนิดก็ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญ ของการใช้ไวรัสพวกนี้เป็นเวกเตอร์

ขณะเดียวกันนักพันธุวิศวกรรม หลายคนก็กำลังมองไปที่ไวรัสกลุ่มอื่นๆ ขณะที่ ดร.โรนัลด์ คริสตัล แห่งศูนย์การแพทย์คอร์เนลล์ โรงพยาบาลนิวยอร์ก กำลังวิ่งออกกำลังในเย็นวันหนึ่ง ทันใดนั้นเขาเกิดความคิดในการนำยีน เข้าสู่เซลล์ปอดของผู้ป่วยโรคซิสติกไฟโบรซิสโดยอาศัยไวรัส ซึ่งทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดา "อะดีโนไวรัสเหล่านี้ใช้เวลาหลายล้านปี เพื่อพัฒนาความสามารถพิเศษในการมุ่งตรงเข้าสู่ปอดอย่างแม่นยำ" คริสตัลชี้แจง และก่อนที่จะเริ่มงานค้นคว้าบุกเบิกชิ้นใหม่ในเร็ววันนี้ สิ่งที่เขาจะต้องคิดให้ตกก็คือ การหาหนทางทำให้อะดีโนไวรัส หมดพิษสงลงอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งวิธีการควบคุมการแพร่พันธุ์ของมันให้ได้ผล "เราต้องการให้มันช่วยรักษาโรคซิสติกไฟโบรซิส ไม่ใช่ให้มันบุกทะลวงเข้าสู่ปอดของคนทั้งโลก"

อย่างไรก็ตามเวกเตอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นไวรัสเสมอไป นักวิทยาศาสตร์บางคนกำลังหาทางนำยีนเข้าสู่เซลล์มนุษย์โยตรง อย่างการรักษาโรคมะเร็ง ผิวหนังโดยยีนของ ดร.แกรี่ เนเบิล แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งทำการบรรจุยีนต่อต้านเนื้องอก ไว้ภายในไลโปโซม (LIPOSOME) ก้อนไขมันขนาดจิ๋วซึ่งมีอยู่ในเซลล์ทั่วไป เมื่อนำไลโปโซมชนิดพิเศษนี้เข้าสู่เซลล์ผิวหนัง ยีนก็จะไปรวมกับสารพันธุกรรมในเซลล์และทำให้เนื้องอกสลายตัวไปในที่สุด

สงครามที่เพิ่งจะเริ่มต้น

ขณะที่พันธุกรรมของมนุษย์กำลังถูกนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง พยายามแก้ไขดัดแปลง พันธุกรรมของพืชและสัตว์ก็หนีชะตากรรมนี้ไปไม่พ้น โดยทั้งหมดเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์

การทดลองเกี่ยวกับโรคเอดส์หลายกรณีอาศัยหน ซึ่งถูกปลูกถ่ายยีนให้มีระบบภูมิคุ้มกันเลียนแบบมนุษย์ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์อังกฤษร่วมกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้สร้างสายพันธุหมูซึ่งเซลล์ของมันสามารถผลิตโปรตีน ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ดังนั้นในทางทฤษฎี เราจึงสามารถจะใช้อวัยวะ เช่น ตับหรือหัวใจของหมูสายพันธุ์นี้ ไปเปลี่ยนทดแทนให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะเหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าระบบภูมิคุ้มกันของเราจะไม่ยอมรับอวัยวะแปลกปลอมเหล่านี้

ขณะนี้ฝูงวัวนมในสหรัฐฯ ทั้งหมดได้รับการฉีดฮอร์โมน เร่งการเจริญเติบโตที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการพันธุวิศวกรรม (BST) เพื่อให้มันผลิตน้ำนมให้ได้มากกว่าวัวปกติ ขณะเดียวกันบริษัทเช่น มอนซานโต และคาลยีน ก็กำลังเตรียมบุกเบิกตลาดสำหรับพืช ที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม ซึ่งรวมทั้งมะเขือเทศที่สุกโดยไม่เน่าเสียง่าย และนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังจินตนาการถึงหญ้าทนแล้ง ที่ไม่ต้องตัดแต่งบ่อยๆ ด้วย

แม้งานวิจัยเหล่านี้อาจจะสำเร็จลงในอนาคตอันไม่ไกลนัก อย่างไรก็ตามโลกก็ยังคงห่างไกลจากจินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง "โลกวิไล" (Brave New World) ที่จะสร้างมนุษย์ หรือแม้แต่มะเขือเทศที่สมบูรณ์พร้อมขึ้นมา คุณค่าของพันธุวิศวกรรมต่อมนุษยชาติในปัจจุบัน ยังคงอยู่ที่การเยียวยาโรคร้ายนานานชนิด เรายังต้องการงานวิจัยอีกมาก ที่จะทำให้การรักษาโรคด้วยยีนกลายเป็นวิธีที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน และยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีในการกำจัดโรคร้ายให้หมดไปโดยสิ้นเชิง (ถ้าหากว่าเป็นไปได้)

เมื่ออนาคตถูกเปิดเผย

กล่าวกันว่าเทคโนโลยีพันธุกรรมที่เหมาะสม สำหรับอนาคตอันใกล้นี้ก็คือการตรวจสองพันธุกรรม หรือเจเนติกสกรีนนิง (Genetic Screening) โดยหมอจะทำการตรวจสอบ ข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดในดีเอ็นเอของแต่ละคนก่อนที่ความผิดปกติ จะแสดงผลร้ายออกมา และหวังว่าความรู้เช่นนี้อาจจะช่วยชะลอ หรือทุเลาอาการของโรคลงได้บ้าง อย่างเช่น ผู้ที่พบว่า ตนเองมียีนของโรคหัวใจซุกซ่อนอยู่ในเซลล์ ก็อาจจะหันมารับประทานอาหารไขมันต่ำเพื่อป้องกันไว้ล่วงหน้า หรือหากพบว่าร่างกายขาดแคลนโปรตีน เนื่องจากยีนที่ผลิตเกิดผิดปกติ ก็อาจจะรับประทานโปรตีนชนิดสังเคราะห์ทดแทน

ทว่าบางครั้งเราก็ไม่สามารถแก้ไขโชคชะตาที่ลิขิตไว้ในยีนของเราได้

หนึ่งในบรรดาคำถาม อันสร้างความกระอักกระอ่วน ให้แก่สังคมยุคปฏิวัติพันธุกรรมก็คือ ผู้คนจะยังคงอยากรู้สิ่งผิดปกติ ในพันธุกรรมของตน ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขได้อยู่อีกหรือ วิกกี บาโลจห์ แห่งมิชิแกน เป็นหนึ่งในผู้ที่กำลังประสบความยุ่งยากใจ กับปัญหาในลักษณะนี้ด้วยเหตุที่เธอ กำลังรอคอยผลการทดสอบว่า เธอมียีนของโรคอะทาเซีย (ATAXIA) อยู่ในตัวหรือไม่ โรคที่ทำให้ร่างกาย เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วนี้ คร่าชีวิตแม่ของเธอ เมื่ออายุเพียง 52 ปี และกำลังเริ่มต้น ทำลายใยประสาทในสมอง และไขสันหลังของน้องชายทั้งสามของเธอ "ตอนนี้ฉันอายุ 35 และทุกอย่างยังคงเป็นปกติ แต่ถ้าเขาค้นพบยีนอะทาเซีย ในเซลล์ของฉัน นั่นจะหมายถึงอาชีพการงาน และชีวิตที่เหลือของฉัน จะพลิกผันอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว" วิกกีรำพึงอย่างหวาดหวั่น

สำหรับชาวอเมริกันทุกวันนี้ ข้อมูลพันธุกรรม กำลังจะกลายเป็นความลับส่วนตัว ที่ต้องรักษาไว้อย่างสุดชีวิต (แม้ในทางปฏิบัติ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม) ด้วยเหตุที่ว่าองค์กรทางธุรกิจต่างกำลังตื่นตัว

ถ้าหากการทดสอบทางพันธุกรรม
เพื่อระบุชนิดของโรคทั้งหมดที่คุณมี
โอกาสจะเป็นในอนาคตสามารถกระทำได้
คุณจะเข้ารับการทดสอบดังกล่าวหรือไม่
ตอบรับ 50%
ปฏิเสธ 49%

ถ้าหากคุณหรือคู่สมรสตั้งครรภ์
คุณต้องการจะตรวจสอบความผิดปกติ
ทางพันธุกรรมของลูกในครรภ์หรือไม่

ตอบรับ 58%
ปฏิเสธ 39%

คุณคิดว่ากฎหมายควรจะอนุญาต
ให้นายจ้างใช้ผลการตรวจสอบพันธุกรรม
เป็นเกณฑ์ตัดสินใจเลือกบุคลากร เข้าทำงานหรือไม่

ตอบรับ 9%
ปฏิเสธ 87%

ข้อมูลจากการสอบถามชาวอเมริกัน
ที่บรรลุนิติภาวะ จำนวน 500 คนทางโทรศัพท์
ในวันที่ 2 ธันวาคม 2536
โดยบริษัท แยนเคโลวิช พาร์ตเนอร์
ซึ่งจัดทำข้อมูลให้แก่ไทม์และซีเอ็นเอ็น

ในการนำข้อมูลเหล่านี้มาแสวงหาผลประโยชน์อย่างน่าตกใจ ทุกวันนี้หากใครได้รับการวินิจฉัยว่า มียีนก่อโรคร้ายแรงอยู่ในตัว แล้วด่วนตัดสินใจลาออกจากงานหรือพาลยกเลิก กรมธรรม์ประกันสุขภาพละก็ เป็นอันเชื่อได้ว่า เขาจะไม่มีวันแสวงหาทั้งสองสิ่งได้อีกเลยชั่วชีวิต รายงานจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องสูญเสียงาน และกรมธรรม์สุขภาพไปเนื่องจากข้อมูลพันธุกรรมของตนรั่วไหล ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ กรณีที่องค์กรสุขภาพแห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำธุรกิจประกันสุขภาพค้นพบว่า ทารกมียีนของโรคซิสติกไฟโบรซิส องค์กรเสนอเงินก้อนหนึ่งให้เธอทำแท้งแต่หากเธอปฏิเสธ ทางองค์กรกล่าวว่า จะไม่มีการจ่ายเงินประกัน เพื่อรักษาเด็กคนนี้ในอนาคต ในที่สุดผู้เป็นแม่เลือกอย่างหลัง พร้อมกับดำเนินการทางกฎหมายกับองค์กรดังกล่าว

เมื่อการทำแท้งเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบพันธุกรรม ปัญหาที่ตามมาก็คือ ประเด็นทางจริยธรรม ในยุคที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การเลือกให้ทารกที่มียีนผิดปกติมีโอกาสออกมาดูโลก ย่อมเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พ่อแม่อย่างแน่นอน ความกดดันเช่นนี้ทำให้พ่อแม่จำนวนมาก ต้องประสบความยากลำบากในการตัดสินใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ส่วนผู้ที่ยังข้องใจต่อจินตนาการนิยายวิทยาศาสตร์ ในการคัดเลือกและพัฒนามนุษย์สายพันธุ์ใหม่คงจะสิ้นสงสัยได้ หากหันไปมองประเทศจีน ซึ่งประกาศโครงการทำแท้งเมื่อปลายปีที่แล้ว รวมทั้งออกกฎบังคับให้ทำหมัน และห้ามแต่งงานในบางกรณี ทั้งนี้มีจุดประสงค์ "เพื่อป้องกันการผลิตประชากรคุณภาพต่ำ และเป็นการยกระดับมาตรฐานประชากรของประเทศ"

"มันเป็นความบ้าที่เหลือเชื่อ" ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสุขภาพ นาม จอร์จ แอนแนส รำพึง เขาคิดว่า อีกไม่นานคงจะมีคนแอบเก็บเศษผมของบิล คลินตันจากร้านตัดผม นำไปเข้าเครื่องสแกนตรวจสอบพันธุกรรมจากดีเอ็นเอในเส้นผม แล้วจัดการตีพิมพ์รายการโรคร้ายที่แฝงอยู่ในยีนของประธานาธิบดี ซึ่งภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ ปัจจุบันไม่มีทางที่คลินตัน หรือใครจะหยุดยั้งการกระทำเช่นนี้ได้ นอกจากเส้นผมแล้ว ตัวอย่างเลือดจากการตรวจเลือดทั่วๆ ไปก็อาจถูกนำไปใช้ในลักษณะเดียวกันนี้ ดังนั้นแอนแนสจึงได้เสนอร่างกฎหมายที่จะช่วยป้องกัน การนำข้อมูลพันธุกรรมส่วนบุคคลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์จากการบังคับใช้กฎหมาย "ความเป็นส่วนตัวทางคอมพิวเตอร์" ของสหรัฐฯ ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าการเก็บรักษาความลับคงจะทำได้ไม่ง่ายนัก

แนวความคิดประการหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับยุคปฏิวัติพันธุกรรม ก็คือ การเห็นว่ายีนหรือพันธุกรรม คือสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรม แบบต่างๆ ของมนุษย์ ถ้าหากเราทำสิ่งใดผิดพลาดบกพร่อง นั่นก็เป็นความผิดของ ยีน มิใช่ ตัวเรา

จอห์น แมดดอกซ์ บรรณาธิการนิตยสารเนเจอร์ (Nature) กล่าวว่าหลุมพลางที่สำคัญที่สุด ของโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ (HUMAN GENOME PROJECT) อยู่ที่ "ความเสพติดคลั่งไคล้ในชัยชนะ" และการเร่งรีบค้นหายีนตัวใหม่ๆ อย่างไม่ลืมหูลืตานี้ได้ก่อให้เกิดทัศนะที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงขึ้นมา อย่างเช่นข่าวการค้นพบยีนขี้เหล้า ซึ่งแม้จะยังไม่ได้มีการพิจารณา ปัจจัยที่มีส่วนกำหนดพฤติกรรมอย่างรอบด้าน แต่สาธารณชนก็รวบลัด ลงความเห็นทันทีว่าพฤติกรรมที่ซับซ้อนอย่างการติดเหล้านี้ ถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ก่อนกำเนิด

แล้วถ้ามีการค้นพบยีนที่กำหนดความเป็นอาชญากร สังคมจะมีท่าทีอย่างไรต่อทารกเหล่านี้ เกรเกอรี่ แคเรย์ นักพฤติกรรมพันธุศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด ชี้ว่า "เราได้พบเครื่องหมายพันธุกรรมที่สามารถทำนายพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์" เขาระบุต่อไปว่า บุคคลที่มีพันธุกรรมแบบนี้มีสถิติถูกจับกุมและถูกพิพากษาชี้โทษ ในคดีก่อเหตุรุนแรงมากกว่าคนอื่นถึง 9 เท่า "เราสามารถสังเกตเครื่องหมายพันธุกรรมที่ว่านี้ได้อย่างง่ายๆ นั่นก็คือการเกิดมาเป็นเพศชายนั่นเอง"

บางคนกล่าวว่าสมุดบันทึกของเราทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว ในวัยเด็กให้แก่ตัวเราในปัจจุบัน และคงจะไม่น่าแปลกใจ ถ้าหากข้อความในบันทึกบางตอนถึงกับทำให้เราต้องสะดุ้ง แต่สำหรับจอร์จ แอนแนสแล้ว การปฏิวัติพันธุกรรม ทำให้กระบวนการนี้กลับหัวกลับหางกันเลยทีเดียว เขากล่าวว่ายีนของเราจะทำหน้าที่เป็นสมุดบันทึกแห่งอนาคต เปิดเผยเหตุการณ์วัยชราให้แก่ตัวเราในปัจจุบันได้ล่วงรู้

วอลเตอร์ กิลเบิร์ต นักชีววิทยาระดับโมเลกุล แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดทำนายว่า วันหนึ่งข้อมูลทางพันธุกรรม ของแต่ละคนจะถูกบรรจุยู่ในซีดี-รอม (CD-ROM) เพียงแผ่นเดียว เขาบรรยายต่อในหนังสือชื่อ รหัสนัยแห่งรหัส (The code of code) ว่า "การรับรู้ที่ว่าตัวตนของเราต่างถูกำหนด โดยกลุ่มข้อมูลจำนวนหนึ่งซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จะทำให้ทัศนะต่อความเป็นตัวเราต้องแปรเปลี่ยนไป และนี่คือพรมแดนแห่งความรู้ที่มนุษย์จะต้องก้าวไปถึง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง"

ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร แต่ยุคแห่งการปฏิวัติพันธุกรรม ก็ได้อย่างกรายเข้ามาแล้ว สำหรับผู้ที่ค้นพบยีนแห่งโรคร้ายในร่างกาย คงเป็นทุกข์อย่างสาหัสขณะเดียวกันยังคงมีแสงสว่างแห่งความหวัง อยู่ที่งานของคอลลินส์และแอนเดอร์สัน ผู้ซึ่งพบว่าโมเลกุลของดีเอ็นเอไม่เพียงจะลึกลับซับซ้อนเท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ได้อีกด้วย

สำหรับผู้ที่ยังหวาดหวั่นต่ออนาคตคงจะสบายใจขึ้นบ้าง หากตระหนักในความจริงที่ว่า แม้พันธุกรรมปฏิวัติ จะพาเราไปไกลเพียงใดก็ตาม แต่ชีวิตจะยังคงเป็นประหนึ่ง เกมเล่นไพ่พนันอยู่ต่อไป ยีนของเรามีคุณค่าเพียงไพ่ในมือ… สิ่งสำคัญจริงแท้นั้นอยู่ที่วิธีการเล่นของเราต่างหาก

แปลและเรียบเรียงจาก The Genetic Rvolation ของ Philipelmer-Dewitt จาก TIME ฉบับ January 17,1994

นพนันท์ อนุรัตน์


[ที่มา..หนังสือ UPDATE ปีที่ 9 ฉบับที่ 99 สิงหาคม 2537]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1