ประเทศไทยมีการใช้สมุนไพรและเครื่องเทศมาแต่โบราณ โดยเฉพาะสมุนไพรนั้น ได้นำมาใช้ในการรักษาโรคจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการแพทย์แผนปัจจุบัน ยังกระจายไปไม่ทั่วถึง ทำให้ร้อยละ 70-80 ของจำนวนครั้งของความเจ็บป่วย ต้องบำบัด ด้วยยาแผนโบราณและสมุนไพร ซึ่งพบว่ายังคงมีการใช้กับประชาชนถึงร้อยละ 24.6 ของประชากรทั้งประเทศ และหนึ่งในบรรดาพืชสมุนไพรทั้งหลายที่มีการใช้ในปัจจุบันคือ "ฟ้าทลายโจร"
ฟ้าทลายโจรเป็นพืชสมุนไพรที่รู้จักกันมานานและมีชื่อเรียกกันหลายอย่างตามแต่ละท้องถิ่น เช่น น้ำลายพังพอน ชวงซิมน้อย เจ็งเกี้ยงฮี่ ฟ้าสาง หญ้ากันงู สามสิบดี เขยตายายคุม ฟ้าทลายขุนโจรห้าร้อย ฟ้าสะท้าน เป็นต้น บางทีชาวจีนก็เรียกฟ้าทลายโจรว่า " ซิปังกี่โขว่ เช่า" ซึ่งหมายถึงพืชที่มีลำต้นสี่เหลี่ยม มีรสขม อันเป็นความหมายที่ชัดเจนและตรงกับ ลักษณะเด่น ของพืชสมุนไพรชนิดนี้มากกว่าคำว่า "ฟ้าทลายโจร" และทุกส่วนของต้นฟ้าทลายโจรนั้นจะมีรสขมถึงกับมีการขนานนามพืชชนิดนี้ว่า "เจ้าแห่งความขม" (King of the bitterness)
ฟ้าทลายโจรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata Wall.ex nees จัดอยู่ในวงศ์ Acanthaceae จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยตระกูลเดียวกับ กะเพรา โหระพา ต้อยติ่ง และทองพันชั่ง ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ลักษณะใบเรียวยาว ปลายใบแหลม สีเขียวเข้มเป็นมัน ขอบใบมีรอยหยัก เล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ดอกเป็นดอกเดี่ยวเล็ก ๆ สีขาว ด้านในมีรอยกระสีม่วงแดง ฝักคล้ายฝักต้อยติ่ง ฝักแก่จะเป็นสีน้ำตาล เมื่อแตกออกจะมีเมล็ดเล็ก ๆ นำไปขยายพันธุ์ได้ พบได้ทั่วไป ในเขตร้อน เช่น อินเดีย จีน ไทย สำหรับทางภาคใต้ของประเทศไทยนั้นนิยมปลูกตามบ้าน และยังพบขึ้นตามป่าดงดิบ ป่าสน ป่าก้อ และป่าเต็งรัง
โดยธรรมชาติแล้ว ฟ้าทลายโจรเป็นพืชปลูกง่าย ชอบอากาศร้อนชื้น เจริญเติบโตได้ในทุก ฤดูกาล สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด แต่จะชอบดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำดี ทั้งในที่ร่ม และกลางแจ้ง การขยายพันธุ์ฟ้าทลายโจรนั้นโดยการใช้เมล็ด ดังนั้นเมล็ดที่จะนำมาปลูก ควรคัดจากต้นที่มีความแข็งแรง เป็นเมล็ดที่ได้จากฝักแก่และมีสีน้ำตาลแดง ฤดูกาลปลูกที่เหมาะสมคือ ช่วงฤดูฝน การปลูกฟ้าทลายโจรสามารถทำได้หลายวิธีคือ การหว่าน โรยเป็นแถวหรือหยอดเป็นหลุม การเก็บเกี่ยวสามารถทำได้เมื่อมีอายุได้ 3-5 เดือน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ ระยะที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่ และเริ่มออกดอก หรืออายุ 110-150 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ให้ผลผลิตสูง การเก็บเกี่ยวนั้นให้ตัดทั้งต้นเหลือเพียงตอสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อให้ต้น เจริญต่อไป อีกโดยไม่ต้องปลูกใหม่
ฟ้าทลายโจร เป็นสมุนไพรที่ใช้กันอย่างกว้างขวางมานานแล้ว เพราะเป็นพืชที่ใช้ ประโยชน์ ได้ทั้งต้น ใบสดและใบแห้ง ในทางการแพทย์แผนโบราณของจีน นิยมใช้ฟ้าทลายโจร ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ ในประเทศอินเดียใช้เป็นยาบำรุงประเภทที่มีรสขม ใช้แก้โรคบิด และท้องร่วง ประเทศอินโดนีเซียใช้ใบแก้งูพิษ และแมลงต่อย โดยนำใบมาขยี้ แล้วทาที่แผล หรือคั้นเอาน้ำมารับประทานแก้โรคเบาหวาน โดยเชื่อว่ารสขมนั้น จะมีส่วนช่วยในการ บำรุงโลหิต
สำหรับในประเทศไทย ฟ้าทลายโจรเพิ่งได้รับการพิจารณาจากกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นสมุนไพรที่จะส่งเสริมให้ประชาชนใช้ในการสาธารณสุขมูลฐาน โดยใช้รักษา อาการเจ็บคอ อาการท้องเสีย แก้ไข้ และส่งเสริมให้พัฒนาสมุนไพรนี้เพื่อใช้เป็น ยาแผนปัจจุบันต่อไป
ดังนั้นในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 ปีที่ผ่านนมานี้ จึงมีหลายหน่วยงานได้ให้ความสนใจ ในการวิจัยศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเพาะปลูก วิธีการเก็บรักษา และความคงตัวของยา องค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา การศึกษาทางคลินิก ตลอดจนพิษวิทยา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการนำเอาประโยชน์ทางยาของฟ้าทลายโจร มาใช้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ในประเทศไทย ได้มีการศึกษาส่วนประกอบทางเคมีพื้นฐานของฟ้าทลายโจร พบว่าในใบแห้งประกอบด้วยสารพวก diterpene lactones หลายชนิด สารเหล่านี้เป็นสารที่ให้รสขมและมีปริมาณมาก ใบและก้านแห้งหนัก 100 กรัม แยกสารพวกนี้ได้ 4 ชนิดคือ
สารที่พบในฟ้าทลายโจร | |
- andrographolide | 1.7 กรัม |
- 14-deoxy-11, 12-didehydroandrographolide | 0.9 กรัม |
- neoandrographolide | 0.1 กรัม |
- deoxyandrographolide-19-D-glucose | 0.055 กรัม |
และยังพบสาร KH2PO4 | 3.8 กรัม |
และจากผลการวิจัยต่าง ๆ สรุปได้ว่าสมุนไพรฟ้าทลายโจรนั้นมีความปลอดภัยที่จะนำมา ใช้โดยวิธีรับประทาน เนื่องจากไม่ปรากฏอาการเป็นพิษ แต่อย่างไรก็ตาม การนำฟ้าทลายโจรมาใช้นั้นควรจะมีความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรุนแรง มีไข้สูง หนาวสั่น ในเด็กเล็ก และคนสูงอายุ ตลอดจนคนที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ
ดังนั้นการที่จะขยายพันธุ์ฟ้าทลายโจรเพื่อนำมาใช้เป็นยานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง วิเคราะห์สาร diterpene lactone โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาร andrographolide ซึ่งได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสารออกฤทธิ์เป็นยาเพื่อที่จะได้พันธุ์ที่มีคุณภาพในการใช้ยาสูง และสามารถศึกษาแหล่งปลูกที่เหมาะสมได้
รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ และ รศ.ดร.บุญส่ง คงคาทิพย์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการวิจัยโดยสกัดและแยกสาร andrographolide จากฟ้าทลายโจร เพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานในการวิเคราะห์ คุณภาพของฟ้าทลายโจร เมื่อมีการปรับปรุงพันธุ์หรือขยายพันธุ์พบว่า ใบฟ้าทลายโจร 1.5 กิโลกรัม เมื่อนำมาสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์สามารถแยกสารออกฤทธิ์ซึ่งเป็นของแข็ง สีขาวได้ 50 กรัม มีความบริสุทธิ์ 74% เมื่อนำมาตกผลึกด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ได้ผลึกสีน้ำตาลอ่อน 37.7 กรัม คิดเป็น 2.51% เมื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์พบว่ามีความบริสุทธิ์ 100%
นอกจากนี้ รศ.ดร.ราเชนทร์ ถิรพร และคณะจากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาการเกษตรกรรมและปรับปรุงพันธุ์ฟ้าทลายโจร โดยศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกฟ้าทลายโจรเป็นพืชสมุนไพร และเก็บเกี่ยวเมื่อฟ้าทลายโจรอายุ 140 วัน พบว่า ฟ้าทลายโจรสามารถเจริญเติบโตแตกต่างกันในแต่ละช่วงการปลูก คือ การปลูกในเดือน มิถุนายนจะให้ผลผลิต น้ำหนักสดของใบสูงกว่าการปลูกในเดือนกรกฎาคม, พฤศจิกายน, ตุลาคม และสิงหาคม ตามลำดับ ในขณะที่น้ำหนักแห้งของใบตอบสนองต่อการปลูกในเดือนกรกฎาคมมากกว่าเดือนเมษายน, มิถุนายน และพฤศจิกายน
จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
main |