คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ วิจัยสกัดเป็นเจลบัวบก รักษาแผลในช่องปากได้ผลชะงัด ไม่มีแผลเป็น แนะประชาชนคั้นน้ำใบบัวบกดื่มแก้ร้อนใน เจ็บคอ พร้อมเตือนอย่าดื่มเป็นประจำ อาจมีอันตรายต่อม้าม
รศ.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ ภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้ร่วมกับ รศ.สุชาดา ประเสริฐวิทยาการ อาจารย์คณะเดียวกัน ร่วมกันวิจัยเรื่อง "เจลบัวบกยึดติดเยื่อบุเมือกในช่องปาก" เป็นการนำสมุนไพรบัวบก มาใช้ประโยชน์ในการรักษา แผลในช่องปากอย่างได้ผล เนื่องจากใบบัวบกมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลภายนอกร่างกายให้หายเร็วขึ้น และไม่เป็นแผลเป็น จากสรรพคุณดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดในการนำใบบัวบกมาใช้ในการรักษาแผลในช่องปาก
รศ.ชัยโย กล่าวว่า สารสกัดจากบัวบก ได้จากการแช่ยุ่ยใบสดในเมธานอล และแยกสารสกัด โดยวิธีลำดับส่วน จากการศึกษาได้มีการพัฒนาเจลใบบัวบกให้ยึดติดเยื่อบุเมือกในช่องปากมากขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วยาในลักษณะเจลที่ขายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่มีความเหนอะหนะ
ทั้งนี้ ได้มีการทดลองนำเจลบัวบกมาเปรียบเทียบกับยาหลอก และยาที่ขายในท้องตลาด ในกลุ่มอาสาสมัคร100 คน โดยให้อาสาสมัครทายา 3 ครั้ง คือ หลังอาหารเช้า, เย็น และก่อนนอน แล้ววัดขนาดของแผลเป็นมิลลิเมตร ในความแรง 0.5, 1 และ 2% ซึ่งผลการทดลองพบว่า เจลบัวบกทำให้ขนาดของแผลลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยยิ่ง มีสารสกัดของใบบัวบกมากขึ้น ก็จะทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น ทำให้อาการปวดแผลหายเร็วกว่าการใช้ยาที่ขายตามท้องตลาดด้วย
รศ.ชัยโย กล่าวด้วยว่า ในอนาคตมีแนวคิดที่จะพัฒนาให้เจลใบบัวบกติดทนได้นานกว่าเดิม โดยนำไขโกโก้มาเคลือบปิดตัวยา เพื่อให้พอลิเมอร์ที่มีอยู่ในยา ไม่ถูกน้ำลายชะล้างได้ง่าย ทำให้เจลบัวบกอยู่ได้นานขึ้นถึง 5-6 ชั่วโมง มีผลทางการรักษา ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
สำหรับประชาชนทั่วไป หากมีแผลร้อนใน เจ็บคอ หรือไม่สบายตัวช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถนำใบบัวบกมาใช้ได้ด้วยการนำใบมาปั่น หรือตำด้วยครกคั้นน้ำมาผสมกับน้ำ ตาลทรายแดงตามชอบรับประทาน เมื่อมีอาการจะทุเลาลงได้ แต่ไม่ควรรับประทานเป็นประจำ เพราะใบบัวบกมีฤทธิ์เย็น ตามตำรายาจีนระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อม้ามและอวัยวะภายใน ทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย
รศ.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ
รศ.สุชาดา ประเสริฐวิทยาการ
ภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย
main |