มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม 2541 ]

สาหร่ายพร้อมให้บริการ

อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ แปล


คนจำนวนมากคิดว่าสาหร่ายหมายถึงพืชที่เจริญเติบโตในน้ำ นิยามนี้เป็นที่ยอมรับกัน จวบจนศตวรรษที่ 18 ซึ่งถือกันว่าสาหร่าย "มิใช่พืชแท้" เพราะไม่มีทั้งดอกและเมล็ด ปัจจุบันนิยามดังกล่าวพ้นสมัยไปแล้ว สาหร่ายอาจเป็นได้ทั้งพืชและสัตว์ เจริญเติบโต ทั้งบนบกและในน้ำ ทั้งยังเป็นที่สนใจศึกษาของนักสัตววิทยาและนักพฤกษศาสตร์พร้อมๆ กัน

กระทั่งถึงตอนปลายทศวรรษ 1950 บรูโน เดอ เรอเวียรส์ อาจารย์อาวุโสแห่งพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งประเทศฝรั่งเศส อธิบายว่า นักวิทยาศาสตร์มักจะจำแนก ประเภทสรรพสิ่งว่าเป็นสัตว์หรือพืชเสมอ อันที่จริงแล้วสาหร่ายนั้นเป็นได้ทั้งสองอย่าง เรอเวียรส์กล่าวว่า "สาหร่ายเป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันหลาย ๆ กลุ่ม บางครั้งอาจมีลักษณะทางพันธุกรรม ที่ห่างไกลกันมาก และไม่ปรากฏสายสัมพันธ์โดยตรง"

ทัศนะโดยรวมที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก อาณาจักรพืชแต่เดิมถูกแบ่งออกเป็น แธลโลไฟท์ (thallo phytes) กับ คอร์โมไฟท์ (cormophytes) ประเภทแรกมาจากคำว่า thallos ในภาษากรีก ซึ่งหมายถึง หน่อ หรือกล้าไม้ ซึ่งถือเป็นพืชชนิด "ธรรมดาหรือพื้น ๆ " (บางครั้งใช้คำว่า "มีลักษณะด้อย") เพราะไม่มี ทั้งกิ่งก้านสาขา ใบ ราก หรือเส้นใบ พืชประเภทนี้ได้แก่ สาหร่าย เห็ด มอส ไลเคนส์ และบักเตรี ส่วนคอร์โมไฟท์มาจากคำว่า kormos ซึ่งหมายถึงกิ่งไม้ ในภาษากรีกได้แก่ พืชประเภทที่มีกิ่งก้าน ราก และดอก

แล้วเราจำแนกพืชเหล่านี้ออกจากสัตว์ได้อย่างไร ก็โดยดูจากความสามารถในการ เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสัตว์ที่พืชไม่มีแต่เรื่องก็ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นอีกเมื่อพบว่า สัตว์บางชนิด เช่น ดอกไม้ทะเลหรือปะการังเกาะแน่นอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกันตลอด ในขณะที่สาหร่ายขนาดเล็กบางชนิดสามารถเคลื่อนที่ได้เช่น สาหร่ายพันธุ์ Spirulina (สาหร่ายทะเลสีน้ำเงิน) หรือไดอะตอม (diatoms สาหร่ายทะเลแพลงก์ตอนสีน้ำตาล) ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ พืชสามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะที่สัตว์ที่ล่าและกินเหยื่อเป็นอาหาร แต่ทว่า สาหร่ายบางชนิดก็มีความสามารถ เช่นเดียวกับพืชกินเนื้อบางชนิดเช่นกัน เพราะมันสามารถล่าเหยื่อและกินอินทรีย์วัตถุ ได้ด้วย เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาดังกล่าว นักชีววิทยาในปัจจุบันจึงเสนอให้มีการ จำแนก อย่างน้อยเป็น 5 ประเภท โดยพิจารณาที่ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมมากกว่าจะ ดูที่ ความเกี่ยวพันระหว่างพืชและสัตว์แต่ละชนิดพันธุ์ดังก่อน

ประวัติศาสตร์อันยาวนานกับการผสานวงศ์ตระกูล
สาหร่ายนั้นพบอยู่ทั่วไปทุกหนไม่ว่าจะเป็นบนบก ในทะเล ในน้ำจืดและในน้ำกร่อย ในจานอาหารของเรา ในตู้ยาของเภสัชกร ในโรงกรองน้ำ และบางครั้งก็พบในปอดของ เราเอง สาหร่ายมีกี่ชนิดกันแน่ ? ประมาณว่ามีอยู่ระหว่าง 20,000-130,000 ชนิด แต่ตัวเลขที่เป็นไปได้มากน่าจะอยู่ที่ 45,000 ชนิด

พืชน้ำชนิดแรกในโลกที่มีคลอโรฟิลก็คือบักเตรี ซึ่งมีสีน้ำเงิน ไม่ใช่สีเขียว เนื่องจากมีตัวสีพิเศษติดมากับคลอโรฟิลด้วย ตัวสีดังกล่าวช่วยให้สามารถดึงดูดพลังงาน จากแสงได้ แม้ว่าแสงที่จำเป็นในกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งคลอโรฟิลสามารถ นำมาใช้ได้นั้นจะส่องผ่านน้ำก็ตาม สาหร่ายสีน้ำเงินที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ สาหร่ายพันธุ์ Spirulina ที่พบตามทะเลสาบแถบแอฟริกาเหนือ ชาด เม็กซิโก ฟลอริดา และหมู่เกาะ บาฮามาส สาหร่ายสีน้ำเงินนี้เป็นที่รู้จักและนำมารับประทานกันนานแล้วในรูปของบิสกิต และปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ได้ในประเทศเวียดนามและอิสราเอล

การจะเข้าใจความหลากหลายดังกล่าว เราต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่จุดแรกเริ่ม ออกซิเจนเกิดขึ้นจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายสีน้ำเงิน เกิดเป็นชั้นโอโซน ตามมาราว 700 ล้านปีที่แล้ว ชีวิตก็เริ่มอุบัติขึ้นและแยกย่อยเป็นหลายชนิดหลากพันธุ์ ลองนึกถึงภาพมงกุฎที่แยกออกเป็นแขนงสิ สาหร่ายสีน้ำเงินสืบทอดมาจากสาหร่ายสีขาว แต่ก็พัฒนามาไกลมาก ในขณะที่ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสาหร่ายสีแดง หรือสีน้ำตาลเลย เมื่อแตกแขนงแยกย่อยขึ้นก็ยังพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง สาหร่าย สีเขียว เฟิรน์และมอส รวมทั้งระหว่างไดโนไฟท์ (dinophyte seaweed) กับ เปรสิตพลาสโมเดียม ซึ่งทำให้เกิด เชื้อมาลาเรียอีกด้วย

บรรพบุรุษร่วมกันของสาหร่ายสีเขียวบางชนิดอุบัติขึ้นและค่อย ๆ ปรับตัวจนกระทั่ง สามารถใช้ชีวิตล่องลอยอยู่ในอากาศ ซ้ำสาหร่ายสีเขียวบางชนิดก็ยังพัฒนาจนกลับไป ใช้ชีวิตใต้น้ำได้อีกครั้งตัวอย่างคือ หญ้าปลาไหล (eel grass) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือน โรงเพาะเลี้ยงปลาย่อม ๆ นั้น สามารถผลิตดอกและขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ด และเช่นเดียวกับสาหร่าย มันสามารถใช้ใบดูดสารอาหารได้โดยตรง แทนที่จะใช้ราก เช่นพืชชนิดอื่น สาหร่ายสีน้ำตาลอาจมีขนาดเล็กมากเหมือนไดอะตอม (พืชเซลล์เดียว ที่ผนังเซลล์ประกอบด้วยซิลิคอนพบทั้งในน้ำจืดและเค็ม) หรืออาจมีขนาดใหญ่มาก เช่น ต้นเค็ลพ์ยักษ์ (giant kelp) ซึ่งอาจสูงได้ถึงกว่า 50 เมตร สาหร่ายดังกล่าวอาจพบได้ในความสูงระดับพื้นผิวน้ำไปจนถึงระดับความลึก 150 เมตร ไดโนฟลาเจลเลบ (Dinoflagellates) ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ทำให้เกิดสภาพ "ทะเลแดง" และสามารถปล่อยสารพิษหลายชนิด สารพิษเหล่านี้ซึ่งบางชนิดมีฤทธิ์รุนแรงกว่าโคเคนถึง 100,000 เท่าจะทำลายระบบประสาทของมนุษย์เช่นเดียวกับกรณีของซิกัวเตรา ซึ่งเป็นเชื้อโรคเขตร้อนซึ่งเกิดจากการบริโภคปลาที่กินสาหร่ายทะเลมีพิษ

การใช้ประโยชน์จากสาหร่าย
อัลวาโร อิสราเอล แห่งสถาบันแห่งชาติอิสราเอลในกรุงไฮฟาได้จำแนกประเภทสาหร่าย ที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ได้เป็น 107 ประเภท และ 493 ชนิด ส่วนใหญ่เจริญเติบโตและนำมาบริโภคกันมานานแล้วในแถบตะวันออกไกลและแปซิฟิก ตัวอย่างได้แก่ ประเทศเกาหลี พบสาหร่ายสีน้ำตาลอายุ 10,000 ปีในเศษอาหารที่ฝังอยู่ใน หลุมฝังศพโบราณที่เกียงหลูในประเทศญี่ปุ่น เมื่อศตวรรษที่ 4 พระราชสำนักแห่ง องค์พระ จักรพรรดิมีการจัดเก็บภาษีการบริโภคโนริ (Porphyra) วากาม (Undaria) และคอนบุ (Laminaria) และนับจากนั้นซูซิ (ข้าวกับปลาดิบ) ซึ่งเป็นอาหารประจำชาติของ ญี่ปุ่น ก็ต้องเสิร์ฟคู่มากับโนริเสมอ

ในประเทศแถบตะวันตก ภาวะขาดแคลนอาหารในศตวรรษที่ 15 ส่งผลให้ประชาชนต้อง หันมาบริโภคสาหร่ายกัน เป็นเหตุให้การบริโภคสาหร่ายถือเป็นสิ่งที่น่าเหยียดหยามกัน มานมนานในภูมิภาคดังกล่าว ปัจจุบันชาวจีนเป็นชาติที่รับประทานสาหร่ายกันมากที่สุดคือ ราว 20 กก. ต่อคนต่อปี รองลงมาได้แก่ ชาวเกาหลีและญี่ปุ่นซึ่งบริโภคในปริมาณเฉลี่ย คนละ 13.4 กก.ต่อปี สาหร่ายสีน้ำตาลและสีแดงประมาณ 60 ชนิดถูกนำไปบริโภค ในรูปของ ผักปาเต้ แยม ซุป ขนมปังและเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ในแถบแปซิฟิกมีการนำ "พวงผลไม้เล็ก ๆ " แสนอร่อย จากสาหร่ายคอเลอร์พา (caulerpa) ไปปรุงเป็นสลัด ด้วย ที่ศูนย์การวิจัยและพัฒนา สาหร่าย (CEVA) อันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิจัย เพื่อการใช้ประโยชน์จากทะเลแห่ง ประเทศฝรั่งเศส (IFREMER) โจแอล เฟลอรองซ์ ได้ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของสาหร่าย "คุณค่าของมันมีหลายด้าน แปรเปลี่ยนไปตาม ปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ชนิดพันธุ์ ฤดูกาล สภาพแวดล้อมและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และสรีรศาสตร์"

สาหร่ายที่กินได้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต น้ำตาลเชิงซ้อน และเส้นใยอาหาร สาหร่ายสีน้ำตาลมีโปรตีนน้อยที่สุด คือร้อยละ 5-15 ของน้ำหนักเมื่อแห้งแล้ว แต่สาหร่ายสีแดงเช่นสาหร่ายพันธุ์ Palmaria และ Porphyra tenera มีโปรตีนราว ร้อยละ 47 และ rival soya มีร้อยละ 35 สาหร่ายมีไขมันต่ำมาก นอกจากนั้นยังประกอบด้วย เกลือแร่ และสารอื่น ๆ เช่น แมกนีเซียม สารหนู ทองแดง ลิเธียม ตะกั่ว และสังกะสี นอกจากนั้นยังพบวิตามินทุกชนิด โดยเฉพาะวิตามินเอ ซึ่งถ้าขาดไปก็อาจทำให้ตาพิการ น่าเสียดายที่วิตามินเหล่านี้มักจะสลายตัวเมื่อนำไป ตากแห้งหรือปรุงเป็นอาหาร โดยเฉพาะ วิตามินซี

ภาคอุตสาหกรรมยังได้รับประโยชน์จากสาหร่ายในรูปของเกลือแอลจิน (alginates) และเคราจีน (carrageens-สาหร่ายทะเลที่ใช้ทำโลชั่น เยลลีและยา) ซึ่งเป็นสารเสริม ที่มีประโยชน์ในการผลิตอาหารหลายประเภทเช่น ช่วยให้ซอสข้นพอดี และทำให้ผลิตภัณฑ์จากนมประเภทต่าง ๆ มีครีมมากขึ้น สารทั้งสองนี้จะพบได้จากผลิตภัณฑ์ของสหภาพยุโรปที่มีรหัส E400-407

เป็นไปได้ไม่สิ้นสุด ไม่เพียงแต่เราจะเก็บสาหร่ายได้ทุกเวลาและทุกสถานที่เท่านั้น แต่สาหร่ายยังสามารถ ดูดซึมสารพิษ เช่น สารปรอทได้ด้วย มีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเขตที่ เลือกสรรและกำจัดควบคุมไว้เป็นอย่างดี ในทวีปเอเซียมีฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายเป็นเนื้อที่ 530,000 เฮกตาร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจแบบ ในครอบครัว 250,000 ราย คิดเป็นแรงงาน 950,000 คน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าในปี 1994 สาหร่ายสดที่ เก็บ ได้ มีรวมทั้งสิ้น 7,637,000 ตัน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 เป็นสาหร่ายที่เพาะเลี้ยงขึ้นเอง

ประโยชน์ของสาหร่ายดูเหมือนจะมีอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
  • คุณอยากจะทำเหล้าเชอร์รี่โดยไม่ต้องใช้ลูกเชอร์รี่จริง ๆ
  • อยากให้ต้นไม้ของคุณเติบโตดี
  • ทำให้ผ้าอ้อมของทารกซึมซับปัสสาวะได้ดี
  • ทำให้ร่มหรือเสื้อกันฝนกันน้ำได้
  • ทำให้พื้นพลาสติกและพื้นไม้เป็นเงาวับโดยไม่ต้องขัด
  • อุดฟันโดยไม่ต้องห่วงว่าจะทำไฟไหม้ปากคนไข้
  • ผลิตฟิล์มถ่ายรูปที่เจลาตินจะไม่ละลายเมื่อโดนความร้อน
  • หรือสกัดไฟป่าโดยการพ่นสารเคมีหนาทึบ จากเครื่องบินดับเพลิง ไหมเล่า ?

นักชีววิทยาพากันคิดว่ายังมีงานวิจัยจะต้องทำอีกมากเกี่ยวกับสาหร่าย โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์ด้านอาหาร ในขณะที่โลกกำลังมุ่งสู่ความหิวโหย และก็มีสาหร่ายขึ้นอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง

ที่มา : ยูเนสโกคูริเย
โดย ฟรองซ์ เบอแกตต์
อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ แปล


[ BACK TO อาหาร] [ BACK TO สมุนไพร]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1