ภ.ญ.ยุวดี สมิทธิวาสน์
ชื่อท้องถิ่น : ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ)
หางตะเข้ (ภาคกลาง)
ลักษณะ
: เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ข้อและปล้องสั้น ใบเดี่ยวเรียงรอบต้นอวบน้ำมาก สีเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม ภายในมีวุ้นใส ซึ่งใช้เป็นยาได้ ใต้ผิวสีเขียวมีน้ำยางสีเหลือง ซึ่งใช้ทำเป็นยาดำมีฤทธิ์ขับถ่าย
ว่านหางจระเข้เป็นพืชจัดอยู่ในกลุ่มตะบองเพชรเขตร้อน เป็นพืชที่ชาวบ้านได้นำมารักษา เกี่ยวกับบาดแผลต่าง ๆ มาเป็นเวลานานเป็นพันปี เช่น แผลจากไฟไหม้, น้ำร้อนลวก, แผลจากกำมันตภาพรังสี, แผลเรื้อรังต่าง ๆ บาดแผลจากความเย็นของหิมะ ปรากฏว่าใช้ได้ผลดีมาก สามารถลบรอยแผลเป็นลงได้ด้วย
วิธีใช้
: ให้เลือกใบว่านที่อยู่ส่วนล่างของต้น (อายุประมาณ 1 ปี) ล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างน้ำยางสีเหลืองออก ขูดเอาวุ้นใสปิดพอกบริเวณแผล หรือฝานเป็นแผ่นบางปิดแผลพันด้วยผ้าพันแผลที่สะอาด ทา 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย วุ้นจะเสียคุณสมบัติได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน ไม่ควรทิ้งวุ้นสดไว้นานเกิน 24 ชั่วโมง
มีการศึกษาวิจัยรายงานว่าวุ้นหรือน้ำเมือกของว่านหางจระเข้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และเรื้อรังและแผลในกระเพาะอาหารได้ดี เพราะวุ้นในใบมีสรรพคุณรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยสมานแผลได้ด้วย หนุ่มสาวที่มีสิวบนใบหน้าสามารถใช้วุ้น จากว่านหางจระเข้ทาแก้สิวได้ แต่ต้องระวังล้างน้ำยางสีเหลืองออกด้วยเพราะอาจจะแพ้ได้
ว่านหางจระเข้มีวางจำหน่ายในรูปของเจล ซึ่งต้องผ่านกรรมวิธีผลิตแบบปราศจากเชื้อ มีลักษณะใส น่าใช้ เหมาะสำหรับติดไว้ในตู้ยาประจำบ้าน เมื่อเกิดอุบัติเหตุน้ำร้อนลวก น้ำมันร้อน ๆ กระเด็นถูกผิวหนัง หรือถูกเตารีดร้อน ๆ จะได้หยิบใช้ได้ทันที เวลาทารู้สึกเย็น ๆ ไม่แสบร้อน ไม่ปวดมาก ไม่มีแผลเป็นเกิดขึ้น
ภ.ญ.ยุวดี สมิทธิวาสน์
main |