เหยี่ยวข่าวหน้าหยก
การใช้ประโยชน์จากของใช้แล้วหรือสิ่งที่ไม่มีมูลค่า กำลังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขวัญถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน
อันเป็นยุคตื่นตัวเรื่องการรีไซเคิล รวมถึงการใช้ทรัพยากรให้คุ่มค่า
และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสำหรับบ้านเราเมืองเรา
ที่เป็นประเทศเกษตรกรรมนั้น วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษต
ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่าประเภทหนึ่ง หากจะปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
ก็น่าเสียดาย เพราะในแต่ละปีๆ ก็ทิ้งกันนับล้านๆ ตัน ดังนั้นการนำวัสดุเหลือทิ้งเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์
จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาและกระทำเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่น
วัสดุเหลือทิ้งพวกฟางข้าว ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ
ในการผลิตน้ำตาลชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ไซลิทอล" ได้
ไซลิทอลเป็นน้ำตาลที่พบทั่วไปในผักและผลไม้อาทิ
กะหล่ำปลี มะเขือยาว สตรอเบอรี่ เป็นต้น น้ำตาลชนิดนี้ไม่มีกลิ่น ให้ความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลทรายและให้ความรู้สึกเย็นลิ้นนิดๆ
เวลารับประทาน
ปัจจุบันมีการใช้ไซลิทอลในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด
ทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมากฝรั่ง เนื่องจากข้อดีของไซลิทอลที่เป็นน้ำตาลซึ่งมีจุลินทรีย์น้อยชนิด
ที่จะสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารได้
และเป็นน้ำตาลที่จุลินทรีย์ในช่องปากของคนเราใช้ไม่ได้ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ไซลิทอลเป็นองค์ประกอบไม่เสื่อมเสียง่าย
เก็บไว้ได้นาน และไม่มีปัญหาเรื่องฟันผุ เหมือนการรับประทานน้ำตาลทั่วๆ ไป
ในทางการแพทย์ มีการใช้ไซลิทอลเป็นอาหารทางสายของผู้ป่วย และเป็นอาหารของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากไซลิทอล
ไม่ทำปฏิกิริยากับกรดอะมิโนทำให้การเตรียมอาหารเหลว
สำหรับใช้ทางสายง่ายกว่าการเตรียมโดยใช้น้ำตาลกลูโคส และการใช้ไซลิทอลในร่างกายไม่ขึ้นกับสารอินซูลิน ทำให้ไม่มีปัญหาการใช้น้ำตาลกลูโคสของผู้ป่วย อีกทั้งไซลิทอล
ยังเป็นสารให้ความหวานที่ไม่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด จึงปลอดภัยต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน
สำหรับไซลิทอลที่นำมาใช้กันในปัจจุบัน
โดยมากจะผลิตขึ้นโดยกระบวนการทางเคมี
วิธีนี้มีข้อเสียในเรื่องของต้นทุนและกระบวนการผลิต
ที่อาจทำให้มีสารปนเปื้อนออกมาด้วย จึงมีผู้คิดค้นหาวิธีอื่นๆ
ในการผลิตไซลิทอล ซึ่งก็ค้นพบว่า วิธีการหมักโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์
ก็เป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ได้ และในบ้านเรา ที่ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีนักวิจัยอีกท่านหนึ่ง
ที่ได้ศึกษาวิธีการผลิตไซลิทอลด้วยการหมักโดยใช้ฟางข้าวเป็นวัตถุดิบ
นักวิจัยท่านนี้ก็คือ ดร.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล
ดร.สาโรจน์ ได้เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการผลิตไซลิทอลจากฟางข้าวว่า
ขั้นตอนหลักๆ ในการผลิตไซลิทอลจากฟางข้าวพอที่จะแบ่งออกได้เป็น
3 ช่วงคือ ช่วงการสกัดน้ำตาลไซโลสออกจากฟางข้าว
ช่วงการเปลี่ยนไซโลสให้เป็นไซลิทอล
โดยใช้เชื้อยีสต์และช่วงการสกัดเอาไซลิทอลออกมา
ในช่วงแรกนั้นเริ่มด้วยการนำเอาฟางข้าวมาบดให้ละเอียด แล้วทำการสกัดน้ำตาลไซโลสออกจากฟางข้าว
โดยใช้กรดซัลฟูริกเจือจาง 0.5% เป็นเวลา 30 นาที
ที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงแยกเอากากหยาบออก
โดยใช้ฟิลเตอร์เพลทอีกครั้ง ถัดมาจะเป็นการกำจัดกรด
ที่ใช้ในการสกัดไซโลสออกจากฟางข้าวโดยใช้วิธีอิเล็กโตรไดอะไลซิส เมื่อได้น้ำเชื่อมที่เป็นน้ำตาลไซโลสออกมาแล้ว จึงนำน้ำเชื่อมมาทำให้มีความเข้มข้นขึ้นโดยแยกเอาน้ำออกบางส่วน
ด้วยวิธีรีเวอร์สออสโมซิส น้ำเชื่อมเข้มข้นที่ได้ในช่วงแรกนี้
จะนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับการหมักในช่วงการเปลี่ยนไซโลส
ให้เป็นไซลิทอลโดยใช้เชื้อยีสต์ต่อไป
ช่วงต่อมาจะเป็นการฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาในน้ำเชื่อม จากนั้นจึงนำน้ำเชื่อมไปเติมลงในถังหมัก เติมสารอาหารบางอย่าง
ที่จำเป็นสำหรับการหมักลงไป และเติมเชื้อยีสต์สายพันธุ์
Candida mogii ATCC 18364 ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์
ที่สามารถเปลี่ยนไซโลสไปเป็นไซลิทอลได้ดี
ในสภาพที่ออกซิเจนถูกกำจัดลงไปเพื่อทำการหมัก
หลังจากหมักโดยเชื้อยีสต์จะได้สารให้ความหวานไซลิทอลเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาที่มีไซลิทอลปริมาณมากพอแล้วก็จะทำการแยกเอาเชื้อยีสต์
ออกจากน้ำหมัก น้ำหมักซึ่งมีไซลิทอลอยู่จะถูกนำไประเหย
เอาน้ำออกเพื่อให้น้ำเชื่อมมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ต่อจากนั้นจึงทำการแยกเอาไซลิทอลออกมาโดยใช้เรซิน และทำการตกผลึกให้ได้ออกมาเป็นน้ำตาลไซลิทอลในช่วงสุดท้าย
การสกัดไซลิทอลจากฟางข้าวโดยวิธีนี้ ถ้าเริ่มจากฟางข้าว
100 กรัม จะสามารถผลิตเป็นไซลิทอลได้ประมาณ 8 กรัม โดยราคาของไซลิทอลที่ขายกันอยู่ในบ้านเราขณะนี้ก็ตกราวๆ
กิโลกรัมละ 300 บาท หรือตกกรัมละ 0.3 บาท ดังนั้นไซลิทอล 8 กรัม
ที่ได้จากฟางข้าว 100 กรัมก็จะมีราคาราว 2 บาทกว่าๆ ซึ่งเห็นได้ว่า
ฟางข้าวที่ไม่มีมูลค่านั้นเราสามารถนำมาทำให้เกิดผลิตภีณฑ์ที่มีมูลค่าได้ไม่
และนอกจากที่ไซลิทอลจะสามารถผลิตขึ้น
โดยการหมักที่มีฟางข้าวเป็นวัตถุดิบแล้ว วัสดุเหลือทิ้งทั้งทางเกษตรทุกชนิด
ที่มีส่วนของเฮมิเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ อาทิเช่น ซังข้าวโพด เปลือกไม้ ก็สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไซลิทอลได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสำหรับผู้ที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม
ในการผลิตไซลิทอลจากฟางข้าวนี้ก็สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่
ดร.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล
ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ (02) 579--8903 โทรสาร (662) 579-5521
|