มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2541 ]

สมุนไพรสำหรับโรคน้ำกัดเท้า

เภสัชกรหญิงพัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร


ช่วงหน้าฝน หรือฝนต่อหนาว โอกาสที่จะเกิดอาการอับชื้น หมักหมมจนเกิดอาการคัน หรือเท้าเปื่อยจากเชื้อราจะมีได้สูง เชื้อราที่ทำให้เกิดน้ำกัดเท้า เป็นเชื้อตัวเดียวกับ ที่ทำให้เกิดกลาก เชื้อรานี้จะแทรกใยราของมันเข้าไปในหนังกำพร้าของเรา ที่ที่มันจะเติบโตได้ดีคือส่วนที่อับชื้น เช่น เท้าที่ใส่ถุงเท้า จะเป็นจุดอับที่เหมาะกับมัน ที่สุด และที่สำคัญมันมักจะชอบตรงง่ามเท้า ซึ่งเป็นจุดที่เปื่อยง่ายเสียด้วย ถ้าไม่รีบรักษา ผื่นที่เท้านี้ก็จะเรื้อรังได้

ผื่นจากเชื้อรามีลักษณะพิเศษคือ เป็นแผลเปื่อย มีขอบเป็นสะเก็ด แดง ๆ ถ้าเป็นนาน ๆ แผลจะแห้งและคันมาก ถ้าเกาจนแผลถลอกเลือดออก จะเจ็บและอาจมีแบคทีเรีย เข้าแทรกซ้อน ทำให้แผลมีน้ำเหลือง และมีกลิ่นเหม็นมาก กลายเป็นแผลเรื้อรัง และรักษายากขึ้น

การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า จะดีกว่ามาคอยตามรักษาภายหลัง โดยทั่วไปหลังอาบน้ำทุกครั้ง ควรเช็ดง่ามเท้าให้แห้ง จะโรยแป้งด้วยก็ได้ ถุงเท้าต้องเปลี่ยนทุกวัน อย่าใช้ซ้ำ ถ้าเหงื่อออกมาก เช่น เล่นกีฬา หรือไปย่ำน้ำมา ควรถอดถุงเท้าเปลี่ยนทันที ถุงเท้าที่ซักแล้ว ควรตากให้แห้ง จะดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งในที่ร่ม การใส่รองเท้าแตะ เพื่อเปิดเท้า ให้ได้รับอากาศ สลับกับการใส่รองเท้าคัชชู หรือหุ้มส้นจะช่วยได้มาก ถ้าเป็นคนที่เหงื่อออกง่าย หรือเท้าชื้นควรใช้แป้งโรยเท้าก่อนใส่รองเท้าทุกวัน เพื่อให้บริเวณง่ามเท้าแห้ง และไม่อับชื้น ในวันที่อากาศแสงแดดดี ควรผึ่งเท้า ให้ขาได้รับแดดบ้าง และควรนำรองเท้า มารับแสงอุตร้าไวโอเลตจากแสงแดด เพื่อฆ่าเชื้อโรค และป้องกันการเติบโตของเชื้อรา

เมื่อรู้สึกเริ่มมีอาการคัน หรือสังเกตว่าเท้าชื้น หรือไปลุยน้ำสกปรกมา อาจป้องกันน้ำกัดเท้า โดยล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ หรือถ้าน้ำที่ย่ำมาสกปรกมาก ให้ใช้น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำอุ่น ๆ ประมาณ 2 ลิตร ล้างเท้าให้ทั่วร่วมทั้งบริเวณง่ามเท้าทุกง่าม ทำซ้ำวันละ 3-4 ครั้ง หรือใช้น้ำยาบอริค 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 1 ลิตร แช่เท้าวันละ 10-20 นาที เป็นการฆ่าเชื้อโรค จากนั้นอาจใช้ครีมวิตามินอีทาป้องกัน และช่วยลดอาการคัน ถ้ามีผื่นแดงมี ขอบตกสะเก็ด แสดงว่าเชื้อราได้ยึดเอาเท้าของเราเป็นที่เติบโตแล้ว ก็จะต้องใช้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งต้องทาติดต่อกันนาน 14 วัน จึงจะหายขาด แม้ว่าในวันหลัง ๆ จะไม่คัน และผื่นจางมากแล้ว ก็ตาม ยังคงต้องทายาต่อไปจนกระทั่งแน่ใจว่าหายสนิท หากหยุดยาก่อน อาจทำให้เป็นเชื้อราเรื้อรัง และรักษายาก

ทั้งยาทาวิตามินอี และยาทาต้านเชื้อรา เป็นยาที่ต้องสั่งวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าไม่อยากเสียดุลการค้า อาจจะใช้สมุนไพรพื้นบ้านของไทยเรา ซึ่งมีราคาถูก และหาง่ายมาใช้ในการรักษาโรคเชื้อรา เช่น โรคกลาก, น้ำกัดเท้า สมุนไพรไทย ที่มีสรรพคุณออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา คือ "พลู" ในตำรายาไทยบ่งว่า ใบพลูสามารถระงับ อาการคันจากลมพิษ หรือแมลงกัดต่อยได้ โดยใช้ใบสดตำแล้วทา หรือขยี้ใบสด ลงบนผิวหนังที่เป็น หรือตำใบพลูกับเหล้าแล้วทาบริเวณที่เป็น

จาการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยแพทย์และเภสัชกรคนไทย ผลวิจัยพบว่า ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย เรียกว่า Betel oil อยู่ประมาณ 0.7-2.6% ซึ่งน้ำมันหอมระเหยนี้ มีส่วนประกอบหลักคือ chavieol eugenol และ chavibetol ซึ่งมีฤทธิ์ชาเฉพาะที่ บรรเทาอาการคัน และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด จากการศึกษาฤทธิ์ด้านจุลชีพ ของเจลพลู โดย ผศ.ภญ.ดร.พิณทิพย์ พงษ์เพ็ชร และ ภญ.วารินพินทุ ประเสริฐศิลป์ โดยทุนอุดหนุนการวิจัยจาก องค์การเภสัชกรรม พบว่า เจลพลูมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราทุกชนิดได้ดีมาก ใกล้เคียงกับครีมคลอไตรมาโซล (clotrimazole cream 1%) ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อรา ในรูปยาทาภายนอก ที่มีประสิทธิภาพสูง และให้ผลดีกว่าครีมโทลนาฟเตต (tolnaftate cream 1%) ซึ่งเป็นยาทาต้านเชื้อราอีกชนิดหนึ่ง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (PL 0.05)

ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม และบริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ขององค์การเภสัชกรรม ได้นำน้ำมันหอมระเหยจากใบพลูมาเตรียมเป็น เภสัชภัณฑ์ ในรูปเจลในความเข้มข้น 4% นั่นคือ "พลูจีนอล" เป็น 1 ในผลิตภัณฑ์ ตามโครงการ ยาจากสมุนไพรมาตรฐานสากล ที่เราสามารถนำมาใช้ ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ โดยเฉพาะกรณี "น้ำกัดเท้า"

เภสัชกรหญิงพัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1