มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอกจาก นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 21 ฉบับที่ 233 กันยายน 2541 ]

ภูมิคุ้มกัน

กองบรรณาธืการ นิตยสารหมอชาวบ้าน


รอบ ๆ ตัวเราเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อโรคเล็ก ๆ มากมายที่ตาของเรา มองไม่เห็น มนุษย์ต้องสัมผัสกับเชื้อโรค ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า รอบ ๆ ตัวเรามีเชื้อโรคมากมาย และในแต่ละวันเราก็สัมผัสกับเชื้อโรคอย่างนับไม่ถ้วน ทำไมเราไม่เจ็บป่วยเพราะเชื้อโรคเหล่านั้น หรือหากจะเจ็บป่วยบ้างแต่ก็ไม่บ่อยนัก
การที่เราไม่เจ็บป่วยง่าย ๆ เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกัน (หรือภูมิต้านทาน) คอยปกป้องอยู่ ภูมิคุ้มกัน เป็นกลไกการป้องกันตนเองอย่างหนึ่งของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย และอาจเป็นโทษ ระบบภูมิคุ้มกัน ก็จะออกมาต่อต้าน หรือทำลายสิ่งแปลกปลอมนั้น ร่างกายจึงอยู่ได้อย่างปกติสุข

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับภูมิคุ้มกันดีขึ้น ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร หากเราจะเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน จะทำได้อย่างไร "หมอชาวบ้าน" ฉบับนี้ จึงได้เชิญ ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช ผู้เชี่ยวชาญ จากภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาตอบคำถาม และให้ความรู้กับท่านผู้อ่านด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย

กลไกการทำงานของภูมิคุ้มกัน
การทำงานของภูมิคุ้มกันเรียกรวมกันว่า ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ในการทำงาน แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ อาศัยเซลล์โดยตรง และอาศัยเซลล์โดยอ้อม ซึ่งทำงานสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เรียกว่ารวมกันเป็นกองกำลังติดอาวุธ และประจัญบาน ต่อต้านผู้บุกรุก ไม่ให้รุกรานร่างกาย

ภูมิคุ้มกันที่อาศัยเซลล์โดยตรง คือ เมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และเม็ดเลือดขาวไปพบเข้า ก็จะจับกินทำลายเสีย เปรียบกับการประจันหน้าศัตรู และใช้กำลังเข้าห่ำหั่นกัน
ภูมิคุ้มกันที่อาศัยเซลล์โดยอ้อม คือ เมื่อเชื้อโรคเข้ามา เซลล์จะสร้างสารต่อต้าน สิ่งแปลกปลอมขึ้นมา เรียกว่า แอนติบอดี (antibody) แอนติบอดีจะไปจับกับสิ่งแปลกปลอม เหมือนแม่กุญแจ กับลูกกุญแจ ทำให้สิ่งแปลกปลอมไม่สามารถแผลงฤทธิ์กับร่างกายได้

การสร้างสารภูมิคุ้มกันนั้น ในขั้นแรกเมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามา จะมีเซลล์ไปทำความรู้จัก กับเชื้อโรค แล้วบรรจุข้อมูล ส่งไปให้เซลล์ที่มีหน้าที่สร้าง สารต่อต้าน หากเคยรู้จักแล้ว ก็จะสร้างสารต่อต้านออกมาเลย แต่ถ้ายังไม่เคยรู้จักเลย ก็จะต้องส่งต่อไปให้เซลล์อีกตัวถอดรหัสก่อน เพื่อที่จะสร้างสารต่อต้าน ให้ถูกชนิดกับเชื้อโรคที่เข้ามา

สารภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) แต่ละชนิดจะมีอายุไม่เท่ากัน บางชนิดก็อยู่ได้ไม่นาน บางชนิดก็อยู่ได้หลายปี บางชนิดก็อยู่ได้ตลอดชีวิต เช่น วัคซีนหัดเยอรมัน ที่คุ้มกันได้ตลอดชีวิต

ทำไมจึงไม่สบาย
ในเมื่อร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ทำไมบางครั้งเราจึงเจ็บป่วย ได้อีก คุณเคยสงสัยหรือเปล่าว่า ทำไมบางคนจึงแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย แต่บางคนอ่อนแอไม่สบายบ่อย อะไรเป็นปัจจัย ให้แต่ละคนมีความต้านทานโรคต่างกัน

ความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือความต้านทานโรคที่ต่างกันขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย
  1. กรรมพันธุ์ ปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ระคนมีระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับการถ่าย ทอดจากพ่อแม่ ฉะนั้นหากพ่อแม่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ลูกก็ย่อมจะมีภูมคุ้มกันที่ดีด้วย หากพ่อหรือแม่มีภูมิคุ้มกันบางจุดบกพร่อง ลูกก็อาจได้รับถ่ายทอด ในจุดที่บกพร่องได้ เช่นกัน แต่โดยทั่ว ๆ ไปภูมิคุ้มกันก็จะได้มาตรฐานระดับหนึ่ง
  2. สุขภาพร่างกาย คนที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ไม่ค่อยออกกำลังกาย กินอาหารไม่ ครบหมู่ ขาดการดูแลสุขภาพ เมื่อได้รับเชื้อโรค ร่างกายจะต้องสร้างสารภูมิคุ้มกัน ได้เร็วและมากพอจึงจะกำจัดเชื้อโรคได้ ถ้าร่างกายอ่อนแอก็ทำให้ระบบอ่อนไป การสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายก็ไม่ค่อยดี จึงเกิดความเจ็บป่วยขึ้น
นอกจากการไม่ดูแลสุขภาพแล้ว การติดสารเสพติอ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็ทำลายสุขภาพด้วย

เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ถึงแม้แต่ละคนจะมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ต่างกัน แต่ก็สามารถมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้ เหมือนกัน หากมัวแต่คิดว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมแล้วไม่สู้โรค ก็เหมือนเป็นการซ้ำเติม ทำให้ร่างกาย อ่อนแอลงไปอีก แต่ถ้าไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ พยายามสร้างเสริมบางอย่างก็อาจจะดีขึ้น หรือการแพ้บางอย่างอาจจะหายไปเลยก็ได้

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันก็มีหลักง่าย ๆ ดังนี้
  1. อาหาร กินอาหารให้ครบทุกหมู่และเพียงพอ และอาหารที่กินควรมีคุณภาพดี เช่น สด สะอาด ปนเปื้อนน้อยที่สุด ไม่กินอาหารหมักดอง อาหารที่ทอดหรือย่าง จนไหม้เกรียม
  2. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น มีการแตก แขนงของหลอดเลือดในเนื้อเยื่อต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวหรือภูมิคุ้มกัน เข้าสู่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ง่าย เมื่อมีเชื้อโรคเข้ามาก็เข้าไปจัดการได้เร็ว
  3. ทำจิตใจให้เบิกบาน จิตใจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน หรือสารสุขในร่างกาย สารนี้พอหลั่งออกมาทำให้ระบบการทำงานของเซลล์ดีขึ้น ในทางตรงข้ามหากจิตใจห่อเหี่ยว เศร้า เป็นทุกข์ ร่างกายจะหลั่งสารทุกข์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่ดี ร่างกายอาจเจ็บป่วยได้ สารเอ็นดอร์ฟินจะหลั่งเมื่อจิตใจมีความสุข สงบ เบิกบาน ฉะนั้นการคิดแต่สิ่งดี ๆ คิด ช่วยเหลือผู้อื่น คิดในด้านบวก ก็เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเช่นกัน

สรุป
ถ้ามองในเรื่องของภูมิคุ้มกันว่าเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตมนุษย์ ตอบได้เลยว่าจำเป็นมาก เป็นสิ่งที่ควบคู่กับการมีชีวิตอยู่ เพราะในการดำรงชีวิตจะต้องมีสิ่งแปลกปลอมจากตัวเรา ฉะนั้นเราจะต้องมีกระบวนการจำแนกแยกแยะว่าสิ่งไหนเป็นของตัวตน ถ้าสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน เข้ามาในร่างกาย ก็ต้องจำแนกได้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่ มีคุณหรือมีโทษ ถ้ามีโทษก็ต้องมีกระบวนการที่จะทำลายหรือว่าต่อต้านฤทธิ์ของสิ่งแปลกปลอม นี้คือระบบของภูมิคุ้มกัน

ในส่วนของการทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น โดยธรรมชาติมันมีอยู่แล้ว แต่ว่าเราอาจจะเสริม คือทำให้สุขภาพอนามัยดี มีจิตใจที่ดีงาม ไม่พาตัวเองเข้าไปในที่ที่เสี่ยงต่อการถูกท้าทาย ภูมิคุ้มกัน เช่น สถานที่มีเชื้อโรคเยอะ ที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือสถานที่แออัด สิ่งแวดล้อมไม่สะอาด เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันจัดการให้มีมลภาวะน้อยที่สุด

ภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องของการติดตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อเกิดมาแล้วต้องดูแลตัวเองให้ดี เมื่อดูแลตัวเองแล้วทำงานทำการก็ต้องช่วยเหลือสังคมด้วย

คำถามน่ารู้
  1. ร่างกายเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ตอนไหน
    ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เลย เพราะเราอยู่ในโลกของสิ่งแปลกปลอมตลอดเวลา
    เซลล์ที่สร้างภูมิคุ้มกัน ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ในช่วงเดือนแรก ๆ ที่ทารก
    ยังสร้างภูมิคุ้มกันเองไม่ได้ ทารกจะได้รับสารภูมิคุ้มกันจากทางรก
    เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ภูมิคุ้มกันจากแม่ ก็ยังสำคัญอยู่ โดยภูมิคุ้มกันจะอยู่ ในน้ำนม ฉะนั้นแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ด้วย
  2. ทำไมเด็กจึงเป็นหวัดมากกว่าผู้ใหญ่
    ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสกว่า 200 ชนิด เมื่อเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสร้าง สารภูมิคุ้มกันขึ้นมา ครั้งต่อไปหากเป็นเชื้อตัวเดิมร่างกาย ก็จะมีสารภูมิคุ้มกัน จึงไม่ป่วยด้วยไข้หวัด
    สาเหตุที่เด็กป่วยเป็นหวัดมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กเคยได้รับเชื้อหวัดน้อยกว่าผู้ใหญ๋ จึงมีสาร ภูมิคุ้มกันน้อยกว่า แต่เมื่อเด็กโตขึ้นภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นมากขึ้น ดังนั้นผู้ใหญ่จึงเป็นหวัดน้อยกว่าเด็ก
  3. ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหรือไม่
    มีผล ยาบางอย่างไปกดไม่ให้สร้างภูมิคุ้มกัน ยาบางอย่างจะไปรบกวนการทำงาน ของระบบภูมิคุ้มกัน พอถูกรบกวนเซลล์ก็งง เลยทำหน้าที่ไม่ดี
    ยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น สตีรอยด์ ยาที่รักษามะเร็ง พวกเคมีบำบัด ที่รักษาโรคมะเร็ง
  4. ภูมิคุ้มกันนอกจากมีประโยชน์แล้วมีโทษหรือไม่
    มีครับ คนที่มีภูมิคุ้มกันมากไปจะเป็นโรคภูมิแพ้ เพราะไวต่อสิ่งกระตุ้น (เช่น ฝุ่น,เกสรดอกไม้, ขนสัตว์, เชื้อรา) มากเกินไป เช่น เจอเกสรดอกไม้
    คนแรกรู้สึกหอม ไม่เป็นอะไร แต่อีกคนจามแล้วจามอีก เพราะมีภูมิคุ้มกันมาก คือไวมากไป
    ภูมิคุ้มกันบางอย่างก็ทำลายเซลล์ตัวเอง เรียกว่า ออโตอิมมูน (autoimmune) เรียกง่าย ๆ ว่า โรคภูมิแพ้ตัวเอง
    ปกติภูมิคุ้มกันจะต่อต้านและทำลายสิ่งแปลกปลอม แต่คนเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง ระบบภูมิคุ้มกัน จะจำเซลล์ตัวเองไม่ได้ จึงทำลายตัวเอง ทำให้มีผลต่ออวัยวะหลายระบบ เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) โรคเอไอแอลดี (AILD)
  5. มีวิธีกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยไม่ต้องรอให้เป็นโรคได้หรือไม่
    ได้ครับ การฉีดวัคซีนคือการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่อาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน โดยการนำเชื้อโรคที่ทำให้ตาย หรือทำให้อ่อนแรงลง ฉีดเข้าไปในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน ก็จะถูกกระตุ้นโดยวัคซีนให้ผลิตสารภูมคุ้มกันขึ้นคุ้มครองร่างกาย
  6. เราจะมีวิธีสังเกตตนเองได้อย่างไรว่าภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
    อาจจะใช้ความอ่อนแอของร่างกายเป็นตัวสังเกต เช่น เจ็บป่วยง่าย โดนอะไรนิดหนึ่ง ก็มีปฏิกริยา และเป็นอยู่นาน แบบนี้เป็นการสังเกตอย่างหยาบ ๆ ส่วนทางแพทย์ ก็มีวิธีการตรวจเลือด วัดดูระดับภูมิคุ้มกันได้
  7. เวลาเป็นแผลบางครั้งทำไมจึงเป็นหนอง
    เมื่อร่างกายมีบาดแผล เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เม็ดเลือดขาวที่ประจำการอยู่แล้ว จะวิ่งเข้ามาจับเชื้อโรคกิน พอกินมาก ๆ เม็ดเลือดขาวก็แตก และตาย กลายเป็นเศษขยะ เม็ดเลือดขาว ตัวอื่นมาเห็นขยะ ก็รีบเข้ามากิน ก็แตกและตายอีก กลายเป็นหนอง หนองสีขาว ๆ ที่เห็นคือซากเม็ดเลือดขาวที่ตายนั่นเอง
  8. บางครั้งจะรู้สึกบวม แดง ร้อน ที่บาดแผล เป็นเพราะอะไร
    เม็ดเลือดขาวเวลาตายจะมีเม็ดเลือดขาวตัวอื่นมาเก็บ เพื่อนำสารต่าง ๆ ให้เข้าไปอยู่ในเซลล์ใหม่ ที่ผลิตขึ้น แต่บางครั้ง มันตายเยอ ะตัวอื่นมาเก็บไม่ทัน ระหว่างตาย ก็หลั่งสารออกมา สารบางตัว ก็เป็นกรด จึงรู้สึกร้อน ส่วนที่บวมก็เพราะปริมาณเซลล์ตรงนั้นเยอะ และแดงก็เพราะมีเลือดไหลเข้ามาเยอะ หรือที่เรียกว่า อักเสบ
  9. คนไข้ที่เป็นมะเร็ง เพราะภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงใช่หรือไม่
    ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งเป็นอย่างมาก ในคนปกติทั่วไป เมื่อมีเซลล์ในส่วนใดส่วนหนึ่งภายในร่างกาย เริ่มกลายพันธุ์ เพื่อก่อตัวเป็นมะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกัน จะทำหน้าที่ขจัดเซลล์ที่กลายพันธุ์นั้นทิ้งเสีย ก็ปลอดพ้นจากการเป็นมะเร็ง แต่ในคนที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้สูงอายุ เซลล์ที่กลายพันธุ์ ไม่ถูกระบบภูมิคุ้มกันทำลาย ก็จะกลายเป็นมะเร็งได้
    เมื่อก่อตัวเป็นมะเร็งแล้ว เซลล์มะเร็งสามารถอำพรางตัวเอง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน ในส่วนที่ทำหน้าที่ ต่อต้านและทำลายผู้บุกรุกนั้น เข้าใจผิดว่าเซลล์มะเร็งคือ เซลล์ปกติของร่างกาย จึงเฉย ๆ ไม่มีการทักทายหรือเข้าไปทำลายแต่อย่างใด ปล่อยให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย จนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
  10. มีโรคใดที่เป็นแล้วทำลายภูมิคุ้มกันหรือไม่
    โรคที่ทำลายภูมิคุ้มกันที่รูจักกันดีคือ โรคเอดส์ (AIDS) เมื่อสิ่งแปลกปลอมคือเชื้อ เอชไอวี (HIV) เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างสารออกมาต่อต้าน เรียกว่า แอนติ-เอชไอวี (anti-HIV) แต่เนื่องจากเชื้อเอชไอวี มีความเหนียวแน่น คงทน นอกจากจะไม่ถูกทำลายแล้ว ยังสามารถเจริญงอกงาม ในร่างกาย และไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
    เมื่อระบบป้องกันภัยถูกทำลาย หากมีสิ่งแปลกปลอมรุกราน ร่างกายจึงไม่สามารถ จะต่อต้านได้ คนที่เป็นโรคเอดส์จึงอ่อนแอ หากดูแลสุขภาพตนเองไม่ดี จะเจ็บป่วยได้ง่าย และสุดท้ายจะเสียชีวิตด้วยโรคจู่โจมอื่น ๆ

กองบรรณาธืการ นิตยสารหมอชาวบ้าน


[ BACK TO อายุรกรรม]   [ BACK TO อาหาร]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1