มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอกจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2541]

อาร์.ซี. สำเร็จรูป บอกอะไรในสังคมไทย?

อรศรี งามวิทยาพงศ์


การบูมของน้ำอาร์.ซี. (R.C.Rejuvenating Concoction) แบบอินสแตนต์ หรือสำเร็จรูป ซึ่งเดินไปที่ไหนก็พบ แม้ไม่ใช่ย่านคนพลุกพล่านมากนัก เป็นปรากฏการณ์หนึ่ง ที่ช่วยยืนยันถึงกระแส "สำเร็จรูปนิยม" และ "การทำสำเร็จรูป" ของนักบริโภคยุคใหม่ ธุรกิจ และของสังคมไทย ในกระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยม ได้อย่างชัดเจน (และน่าเป็นห่วง) คือนิสัยที่ นิยมชมชอบอะไรที่ง่าย ไม่ต้องออกแรงมาก สะดวกรวดเร็วทันใจ

ผู้ผลิตสินค้าที่จับจุดบริโภคนิสัยนี้ออก ก็จะนำ "ความสำเร็จรูป" นี้มาเป็นจุดขายและส่งเสริมการตลาด เช่น น้ำอาร์.ซี. ชนิดบรรจุห่อที่เปิดห่อชงน้ำร้อนดื่มได้เลย

ยิ่งธุรกิจฉ้อฉลบิดเบือนว่า การดื่มน้ำดังกล่าว มีผลต่อการป้องกัน และรักษาโรคมะเร็ง ก็ยิ่งทำให้น้ำอาร์.ซี. สำเร็จรูปขายดิบขายดี
เพราะคนจำนวนมากมีแนวโน้มเชื่ออะไรง่าย และมีความสำเร็จรูปนิยมอยู่แล้วในใจ

วิถีชีวิตของคนเมือง ที่รู้สึกว่าตนเองมีเวลาจำกัด ทำอะไรต้องแข่งกับเวลา เพื่อเอาเวลาไปทำงาน หรือเก็บไว้ยามพักผ่อน ทำให้ "สำเร็จรูปนิยม" กลายเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

เราจึงมีสินค้าสำเร็จรูปมากมายในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารพร้อมปรุง ประเภทแกะแล้วกิน หรือเทลงหม้อ ต้มเดือดแล้วกินได้เลย มีนมกล่องประเภทผสมนมเกลือแร่ ธาตุโน้นธาตุนี้ ไว้ในกล่องเดียว หรือยาสระผม ครีมบำรุงผิว ชา-กาแฟ ทูอินวัน ทรีอินวัน ไปจนกระทั่งถึง สินค้าประเภทใช้แล้วทิ้ง ตั้งแต่กระดาษทิสชู (แทนผ้าเช็ดหน้า) ผ้าอ้อมสำเร็จ (แทนผ้าอ้อมผ้า) เครื่องดื่ม กระป๋อง (แทนเครื่องดื่มคืนขวด)

ความสำเร็จรูปนี้มาพร้อมกับการบริโภคแบบตะวันตก คนอเมริกันและญี่ปุ่น ดูจะเป็น เจ้าแห่งลัทธิ สำเร็จรูปนิยม หรือการทำให้สำเร็จรูปนี้มากกว่าเพื่อน ในญี่ปุ่น มีแม้แต่ผ้าขี้ริ้วสำเร็จรูป คือถูแล้วทิ้ง ไม่ต้องซักล้าง ฯลฯ

ความสำเร็จรูปได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย ความก้าวหน้าในทรรศนะ ของคนไทยจำนวนมาก รวมทั้งในชนบทด้วย แม้ว่าวิถีชีวิตจะมิได้เร่งรีบ เหมือนคนเมืองก็ตาม

แม้จะเป็นความจำเป็นของครอบครัวยุคใหม่ แต่ก็ควรที่เราจะได้ฉุกคิด และตั้งคำถาม กันสักนิดว่า ความเคยชินกับสิ่งสำเร็จรูป จนกลายเป็นนิสัยหรือค่านิยมในวิถีชีวิต ที่ไม่เกี่ยวข้อง กับเวลา (คือรีบ หรือไม่รีบ ก็ชอบสำเร็จรูปนิยมอย่างปักใจ) และลักษณะ "สำเร็จรูปนิยม" ที่ระบาดจนเหมือนลัทธินี้ มีผลข้างเคียงอะไร ต่อชีวิต และสังคมของเรา มากน้อยเพียงใดบ้าง

ผลข้างเคียง ประการแรก ของ "สำเร็จรูปนิยม" คือทำให้บางครั้ง เราลืมไปว่า บางสิ่งบางอย่าง บางเรื่อง ไม่สามารถทำให้เป็น "สำเร็จรูป" ได้ เพราะมันมิใช่เป็นเรื่องของเทคนิค รูปแบบ วิธีการ หากแต่เป็นเรื่องของ แนวคิด คือในกระบวนการใช้ หรือปฏิบัตินั้น มีฐานคิดรองรับอยู่ หรือมีแนวคิดเป็นต้นกำเนิดวิธีปฏิบัติ ที่จะถูกตัดออกไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด
น้ำอาร์.ซี.สำเร็จรูปเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้

แนวคิดของน้ำอาร์.ซี. คือแนวคิดชีวจิต ซึ่งไปไม่ได้แน่นอนกับลัทธิสำเร็จรูปนิยม เพราะ "ชีวจิต" เป็นแนวคิด และการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง ให้เข้ากับธรรมชาติ มิใช่เป็นเรื่องเชิงเทคนิค หรือรูปแบบที่แยกเป็นชิ้น ๆ เอาไปทำตามเป็นส่วน ๆ หรือทำให้เป็นของสำเร็จรูปขาย หากจะปฏิบัติก็ต้องรับแนวคิด หรือรับแนวคิด ก็ต้องปฏิบัติด้วย

ท่านเจ้าของแนวคิด "ชีวจิต" ได้บอกไว้ชัดเจนในหนังสือของท่านว่า ชีวจิต เป็นการดำรงชีวิต อย่างเข้ากับธรรมชาติ ทั้งกาย จิต สังคม น้ำอาร์.ซี. เป็นชีวจิต ต้องลงมือทำเอง ดื่มน้ำอาร์.ซี.เสร็จ ส่วนประกอบที่เหลือ ผ่านจากการต้ม ก็เอามาเป็นอาหารที่มีประโยชน์ได้อีกด้วย
น้ำอาร์.ซี. จึงไม่ใช่การซื้อซองมาชงดื่มอย่างที่ธุรกิจพยายามจะสวมรอย โดยอาศัยลัทธิสำเร็จรูปนิยม เข้ามาหาผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด

นอกจากน้ำอาร์.ซี.แล้ว เราจะพบประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน หรือมีแนวโน้มบางอย่าง ที่อาจจะคล้ายกันได้ คือการทำให้สำเร็จรูป ก็อาจจะทำให้แนวคิด แนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" กลายเป็นแค่การทำไร่นาสวนผสม การปลูกผักปลอดสารพิษ ฯลฯ

ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจพอเพียงจะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยฐานคิดเรื่องของชีวิต ธรรมชาติ เป็นฐานรองรับการปฏิบัติ และมิใช่เป็นเพียงเรื่องอาชีพ ปากท้องเท่านั้น แต่เป็นเรื่องทางสังคมด้วย คือเรื่องของค่านิยม การศึกษาเรียนรู้ การอนุรักษ์ระบบนิเวศ ฯลฯ

เช่นเดียวกับธุรกิจชุมชนที่บูมกันอยู่ขณะนี้ ก็มิใช่เป็นเพียงการให้ชาวบ้านผลิตสินค้าพื้นบ้าน สินค้าอุตสาหกรรม อยู่ในชุมชนตนเอง หรือกลุ่มชุมชนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้น

ฐานคิดของ "ธุรกิจชุมชน" คือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยผูกโยงเศรษฐกิจ เข้ากับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น โครงสร้างทางสังคมของกลุ่ม กระบวนการเรียนรู้ ความสัมพันธ์เชิงสังคม และระดับการปฏิสัมพันธ์ ของคนในกลุ่ม ฯลฯ
เป้าหมายจึงมิใช่เพียงรายได้ หรือ "การเป็นเจ้าของ" เท่านั้น

ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยซึ่งพยายามผลักดันงานดังกล่าว เข้าใจแนวคิดนี้เพียงใด ในการดำเนินการ เพราะหากใช้วิธีคิดแบบสำเร็จรูปนิยมเข้าไปจับ งานทั้งหลาย ก็อาจถูกทำให้กลายเป็น "เรื่องสำเร็จรูป" แบบหยาบ ๆ วัดผลแบบง่าย ๆ ไปไม่ถึงหัวใจหรือแก่นของความคิด แม้แต่ในวงการ พุทธศาสนา บางสำนัก ก็ทำให้พุทธธรรม กลายเป็นเรื่องเร็จรูป เหลือเพียงการนั่งสมาธิ เพ่งหินลูกแก้ว สบายใจแล้วก็กลับไป ใช้ชีวิตแบบเดิม ในสังคมวัฒนธรรมบริโภคนิยม-วัตถุนิยม
หลุดส่วนของปัญญาอันเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนาไปเลย

ประการที่สอง ในระดับปัจเจกบุคคล ความเคยชินที่เคยทำอะไรโดยง่าย จากความสำเร็จรูปนิยม ก็อาจมีผลให้บุคคลมีแนวโน้ม ติดรูปแบบมากกว่าสาระประโยชน์ เอาความสะดวก รวดเร็ว ความสบาย เป็นตัวตัดสินคุณค่า จนลืมนึกไปถึงคุณค่าที่แท้จริง หรือคุณค่าด้านอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าความสะดวก สบาย ความรวดเร็ว เช่นกระแสความนิยมของคนในสังคม ที่เลือกการลดความอ้วน โดยไม่ต้องปรับพฤติกรรม การกิน และออกกำลังกาย ด้วยการกินสารสกัด จากผลส้มแขก การฝังเข็ม การใช้ครีมละลายไขมัน ฯลฯ

ทั้ง ๆ ที่การปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย มิใช่มีคุณค่าเพียงการลดความอ้วน เท่านั้น แต่ยังมีผล โดยรวมต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น การขับถ่าย, กระดูก, หัวใจแข็งแรง, สุขภาพจิตดี จาการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายสดชื่น (สวยขึ้นมากกว่าแค่ความผอมที่ลดลง) แต่การขายดี ของยาลดความอ้วน และธุรกิจให้บริการลดน้ำหนัก ก็บอกนัยโดยชัดเจนแล้วว่า คนไทยนิยมลัทธิสำเร็จรูป มากกว่าการลงแรงทำเอง

ประการที่สาม ความเคยชินกับสำเร็จรูปนิยม ยังทำให้สังคมของเรา อาจสนใจผลสำเร็จของรูปแบบ มากกว่ากระบวนการ ทั้ง ๆ ที่ ในบางเรื่องบางกรณี กระบวนการ มีความสำคัญเท่ากับ (หรือมากกว่า) ผลสำเร็จ เช่นกระบวนการเรียนรู้ ที่กระตุ้นให้คิด วิเคราะห์ สังเกต ฯลฯ มีความสำคัญมากกว่า ความรู้แบบสำเร็จรูป ที่คนอื่นคิดแล้วมาบอกให้ และยังทำให้คนในสังคมเสพติดความสะดวกสบาย รอไม่ได้ รอไม่เป็น เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นวันนี้ ก็ต้องการให้แก้ไข ให้เสร็จวันพรุ่งนี้ แก้แบบไหน ยั่งยืนหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับความ "ทันใจ" เมื่อไม่ได้ดังใจก็วิพากษ์ ต่อว่าต่อขาน

นอกจากนี้ สิ่งที่เราจะสูญเสียให้แก่สังคมสำเร็จรูปนิยมอีกอย่าง โดยเฉพาะ เด็กรุ่นใหม่ คือ จะกลายเป็น ผู้ที่ขาดความสามารถ และทักษะของการบริหารจัดการ หรือมีความสามารถด้านนี้ลดลง เพราะความสำเร็จรูป ทำให้ไม่ต้องคิด ไม่ต้องวางแผน ทุกอย่างถูกจัดการมาหมดแล้ว

ลองคิดเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า การกินอาหารสำเร็จรูป (บรรจุกระป๋อง หรือบรรจุ แพ็กโฟม พร้อมปรุง) กับการทำกับข้าวด้วยตนเอง มีผลแตกต่างอะไรอีกหรือไม่ นอกจากรสชาติ ราคา ความสะดวก ประหยัดเวลา ฯลฯ

สิ่งที่เรามักจะลืมไปไม่ได้นึกถึง คือกิจกรรมดังกล่าวทำให้เราต้องรู้จักการวางแผนและการจัดการ ในการไป จ่ายตลาด การลงมือทำ การใช้เวลา ได้ฝึกความละเอียดรอบคอบ ไม่ให้ตกหล่น เพราะอาหารบางชนิด มีส่วนประกอบมากมา ยต้องซื้อต้องเตรียม และได้เรียนรู้คุณสมบัติ ของอาหารแต่ละอย่างระหว่างปรุง (อะไรสุกง่าย สุกยาก ต้องใส่อะไรก่อนหลัง เคล็ดลับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการปรุงอาหาร ฯลฯ) แถมบางคน ยังได้สัมพันธ์กับผู้คน ยามไปจ่ายตลาด คลุกคลีกับคนในครอบครัวเวลาทำครัวและอื่น ๆ ที่เรามักจะไม่เคยนึก

เช่นเดียวกับของเด็กเล่นที่มาจากการประดิษฐ์ด้วยเศษวัสดุและใช้จินตนาการของแต่ละคน ให้คุณค่าต่อการเรียนรู้ของเด็ก ฝึกสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าของเล่นสำเร็จรู ปที่ไม่ต้องทำอะไร มากไปกว่าการกดปุ่มแล้วเล่น (เบื่อง่ายอีกต่างหาก)

การบูมของน้ำอาร์.ซี.สำเร็จรูป จึงเตือนสังคมของเราอีกครั้งว่า ลัทธิสำเร็จรูปนิยมนี้ มีกำลังแรง และพร้อมที่จะกวาด ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ให้กลายเป็นเพียงเหยื่อของธุรกิจ และเตือนให้เรา ต้องระวังมากขึ้นว่า ดำเนินการอะไร อย่าจับแต่รูปแบบ หรือเทคนิค วิธีการ จนลืมสาระสำคัญของแนวคิด

เมื่อทบทวนถึงตรงนี้ ก็ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ เมื่ออ่านข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความปรารถนาดี อยากทำวิจัย ประเมินว่า วิธีการของชีวจิตได้ผลหรือไม่ ตามข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ (วันที่ 11 ก.ค. 41) บอกว่าจะมีการหาอาสาสมัครทดลอง วิธีการรักษาแบบชีวจิต เช่น การออกกำลังกายด้วยกระบอง ดื่มน้ำอาร์.ซี. หากประเมินว่าได้ผลดีก็จะเผยแพร่ไปในวงกว้าง ให้เป็นกิจกรรมหนึ่งของอาสาสมัคร สาธารณสุข ประจำหมู่บ้านหรือ อสม.

ประเด็นที่เป็นห่วงคือข่าวชวนให้เข้าใจว่า การวิจัยดังกล่าว จะมุ่งไปที่เฉพาะรูปแบบ ของชีวจิตเพียงอย่างเดียว?
นอกจากนี้ข่าวยังบอกอีกด้วยว่า ถ้าประเมินแล้วว่าดี กระทรวงจะนำไปเผยแพร่ ผ่าน อสม. ก็ ทำให้ยิ่งน่าวิตก เพราะเกรงว่า จะเกิดชีวจิตสำเร็จรูป ที่เป็นสูตรสำเร็จ มีแต่วิธีการ ไม่มีสาระ ที่เป็นแก่นความคิด เหมือนน้ำอาร์.ซี.สำเร็จรูป

ดังนั้น หากกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ก็ควรร่วมกับท่านเจ้าของแนวคิด ทำการวิจัย ที่มีผลเชื่อถือได้ แล้วแสวงหากลไก และวิธีการเผยแพร่ที่ได้ทั้งแนวคิด และการปฏิบัติ หากทำได้จริง ปฏิบัติการชีวจิต ก็อาจจะก่อกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ ด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวต้านลัทธิบริโภคนิยม ที่มีพลัง เพราะเริ่มจากเรื่องของสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้คน และเป็นแนวคิดสุขภาพ ที่โยงไปสู่เศรษฐกิจใหม่ วัฒนธรรม และค่านิยมใหม่ ของชีวจิต และสังคมที่เข้ากับธรรมชาติ อย่างที่เรียกว่า เป็นมิตรกับธรรมชาติโดยแท้จริง

อรศรี งามวิทยาพงศ์


[BACK TO LISTS]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1