มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2541 ]
ท้องทีไร แท้งทุกที (RECURRENT ABORTION)
พ.ต.ต.นพ.เสรี ธีรพงษ์
การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของครอบครัว คือ การสูญเสียลูก แม้ว่าจะยังไม่ได้กำเนิดออกมาก็ตาม การสูญเสียทารกในครรภ์ขณะอายุน้อยกว่า 20 สัปดาห์ เรียกว่า การแท้งบุตร (ABORTION)
โดยทั่วไป การแท้งบุตรเองตามธรรมชาติ (SPONTANEOUS ABORTION) พบประมาณร้อยละ 15 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และมักจะเป็นสาเหตุจากตัวทารกเอง (FETAL FACTOR) ที่มีโครโมโซมผิดปกติ (พบถึงร้อยละ 50-60 ของการแท้งทั้งหมด) ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ไม่จำเป็นต้องหาสาเหตุ เพียงแต่อธิบายให้คนไข้รู้ว่า ไม่ควรจะเสียใจมากเกินไป เพราะหากได้ทารกที่พิการคลอดออกมา จะทำให้ต้องเป็นภาระ และทุกข์ใจมากยิ่งขึ้นอีก นอกจากนั้น การตั้งครรภ์ครั้งต่อไป จะไม่เกี่ยวกับการแท้งบุตรครั้งนี้ หมายความว่า ส่วนใหญ่การตั้งครรภ์ครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นมักจะปกติ
สำหรับในกรณีที่มีการแท้งบุตรติดต่อกันหลายครั้ง (REPEATED ABORTION) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
มากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป (RECURRENT ABORTION) ควรจะได้หาสาเหตุทุกราย เพื่อหาทาง ไม่ให้เกิดการแท้งซ้ำอีก ซึ่งส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้และประสบผลสำเร็จค่อนข้างดี คือได้ทารกที่ปกติออกมา
KNUDSEN และคณะ ได้ทำการศึกษาการตั้งครรภ์จำนวน 300,500 ครั้ง แล้วพบว่า มีอัตราการแท้ง โดยเฉลี่ยร้อยละ 11 เมื่อมีอาการแท้งซ้ำเกิดเพิ่มขึ้นหนึ่งครั้ง โอกาสที่จะแท้งครั้งต่อไปจะเพิ่มขึ้นอีก ประมาณร้อยละ 10 โดยมีอัตราการแท้งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16, 25, 45 และ 54 ตามลำดับ ภายหลังจากมีการแท้งซ้ำ (REPEATED ABORTION) เกิดขึ้น 1, 2, 3 และ 4 ครั้งติดต่อกัน
เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยเหลือ ในการควบคุมดูแลการตั้งครรภ์ได้มากทีเดียว SIMPSON พบว่า อุบัติการณ์ของการแท้งบุตรภายหลังจากใช้อัลตราซาวนด์วินิจฉัยว่า ทารกมีชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ 8-12 สัปดาห์ มีเพียงร้อยละ 3.2 เท่านั้น นั่นหมายถึงว่า ทารกที่โครโมโซมผิดปกติส่วนใหญ่ จะแท้งออกมา ก่อนอายุครรภ์ 8 สัปดาห์
ลำดับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ |
- 6 สัปดาห์ ทารกยังไม่มีรูปร่างเป็นมนุษย์ดีนัก ยาวเพียง 1-3 เซนติเมตร ตรวจการตั้งครรภ์จะได้ผลบวก
- 12 สัปดาห์ มดลูกโตขึ้นมาจนพ้นกระดูกเชิงกราน อวัยวะหลัก ๆ ของทารกเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว เล็บมือเล็บเท้าเริ่มงอก ทารกมีความยาว 7.5 เซนติเมตร
- 20 สัปดาห์ มดลูกโตขึ้นมาอยู่ที่ระดับสะดือแล้วของแม่และเด็กเริ่มดิ้น ทารกจะมีความยาวประมาณ 21 เซนติเมตร
- 28 สัปดาห์ มดลูกจะโตขึ้นมาอยู่ระหว่างระดับสะดือ และกระดูกหน้าอก เด็กดิ้นมาก และมดลูกอาจมีการบีบตัวเป็นจังหวะโดยไม่เจ็บท้อง เด็กมีความยาวประมาณ 37 เซนติเมตร
- 40 สัปดาห์ เด็กทารกโตเต็มที่และพร้อมจะออกมาดูโลกแล้ว
|
สาเหตุที่สามารถตรวจหาได้ (RECOGNIZABLE CAUSES)
1. สาเหตุทางด้านพันธุกรรม (GENETIC) |
พบประมาณร้อยละ 25 ครึ่งหนึ่งของสาเหตุ สามารถตรวจพบได้ว่าเกิดจาก โครโมโซมของพ่อและแม่ ผิดปกติ อีกครึ่งหนึ่งเกิดจากหลายเหตุปัจจัย (MULTIFACTORIAL FACTOR) ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบพบได้แน่ชัด อันอาจเป็นผลมาจาก
- ความผิดปกติของโครโมโซม ที่เกิดขึ้นในระหว่างแบ่งตัว
- อายุของแม่มากกว่า 35 ปี
- ฤดูกาลขณะเริ่มตั้งครรภ์
- เพศของทารก
- การติดเชื้อของมารดา
- การสัมผัสกับรังสีเอกซเรย์
- การปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธ์ที่เกิดขึ้นช้ากว่าเวลาอันควร (DELAYED FERTILIZATION)
จากรายงานการประชุมที่เจนีวาใน ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509) มีหลายรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ สรุปได้ว่าอุบัติการณ์ที่พ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีโครโมโซมผิดปกติ แฝงอยู่พบประมาณร้อยละ 4-14 ของครอบครัวทั้งหมดที่มีการแท้งซ้ำบ่อย ๆ (RECURRENT ABORTION) ดังนั้น จึงจำเป็นที่ จะต้องตรวจหาโครโมโซม ของคู่สามีภรรยาเสมอเมื่อมีการแท้งซ้ำ (RECURRENT ABORTION) เกิดขึ้น
แนวทางการรักษา
ในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีโครโมโซมผิดปกติ อาจแก้ไขด้วยการใช้วิธี "อุ้มบุญ" ซึ่งในที่นี้หมายถึง การใช้ "ไข่" จากสตรีอื่น แต่ตัวเองเป็นคนอุ้มท้อง ส่วนในกรณีฝ่ายชายมีโครโมโซมผิดปกติ ก็สามารถใช้ "น้ำเชื้อ" จากชายอื่นมาทดแทนผสมเทียมให้ได้ในทำนองเดียวกัน
สำหรับในกรณี "ไข่" หรือ "ตัวอสุจิ" มีโครโมโซมผิดปกติ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีแก้ไข มีรายงานการปฏิสนธิที่เกิดภายหลังจากไข่ตกนานเกินกว่า 24-48 ชั่วโมง มีอัตราการแท้งสูง ดังนั้น จึงควรมีเพศสัมพันธ์ให้ใกล้เคียงกับวันเวลาที่มีไข่ตกมากที่สุด หรือร่วมเพศบ่อยขึ้น ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
ปัจจุบัน เราสามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของโครโมโซมขณะตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ ได้ ด้วยการดูดเอาเซลล์รกขณะตั้งครรภ์ 7-8 สัปดาห์ หรือเจาะดูดเอาน้ำคร่ำขณะอายุครรภ์ 14-16 สัปดาห์ มาเพาะเลี้ยงโครโมโซม หากพบว่ามีความผิดปกติ ก็สามารถทำแท้งได้ทันทีและปลอดภัยแก่สุขภาพ ของมารดา
2. สาเหตุจากตัวมดลูก (UTERINE FACTOR) |
ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพโครงสร้างของมดลูกผิดปกติ เช่น
- มดลูกเนื้องอก (MYOMA UTERI)
- โพรงมดลูกมีพังผืด (INTRAUTERINE ADHESION)
- ปากมดลูกหลวม (INCOMPETENT CERVIX)
- ความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูก (CONGENITAL MALFORMATION OF THE UTERUS)
มดลูกเนื้องอก (MYOMA UTERI)
มีกล่าวไว้แล้วในบทก่อน (เล่ม 1)
ภาวะพังผืดในโพรงมดลูก
(INTRAUTERINE ADHESION OR ASHERMAN'S SYNDROME)
เกิดจากการขูดมดลูกรุนแรงเกินไปหรือขูดขณะที่มีการอักเสบภายในโพรงมดลูก
แนวทางการรักษา คือ การส่องกล้องเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วใช้เครื่องมือพิเศษทำเป็นกรรไกรเล็ก ๆ ตัดเลาะพังผืด หรือใช้วิธี
จี้ตัดด้วยไฟฟ้า (ELECTRIC CAUTER) ก็ได้ผลสำเร็จ ภายหลังผ่าตัดจะมีอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 23-87
ภาวะปากมดลูกหลวม (INCOMPETENT CERVIX) สาเหตุเกิดจาก
- คอมดลูกมีส่วนประกอบของกล้ามเนื้อน้อยเกินไป ทำให้คอมดลูก (CERVIX) อ่อนแอ
- ภายหลังการผ่าตัดปากมดลูกชนิดเป็นรูปกรวย (CONIZATION) หรือขยายปากมดลูก รุนแรงเกินไป
ผู้ป่วยจะมีประวัติแท้งซ้ำบ่อย ๆ (REPEATED ABORTION) ในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 3-6 เดือน) ลักษณะของการแท้งมักจะเริ่มจาก มีความรู้สึกถ่วงท้องน้อยและมีของเหลวคล้ายตกขาว จำนวนมาก ไหลออกมาจากช่องคลอดก่อน 1-2 วัน ถุงน้ำจะย้อยโผล่ออกมาจากปากมดลูก เมื่อถุงน้ำแตก จึงมีการเจ็บครรภ์และแท้งเด็กออกมาในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว
แนวทางการรักษา ผ่าตัดและผูกรัดคอมดลูก (CERVICAL CERCLAGE) หากผ่าตัดในระหว่างตั้งครรภ์ควรทำในไตรมาสที่ 2 ขณะอายุครรภ์ประมาณ 14-16 สัปดาห์ เนื่องจากทารกมีชีวิตรอดจนถึงไตรมาสสองได้ มักจะมีโครโมโซมปกติ ทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติ ส่วนใหญ่จะแท้งไปภายในไตรมาสแรก (3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) เท่านั้น นอกจากนี้ การผ่าตัดในไตรมาสที่ 2 ยังมีผลข้างเคียง (เช่น แท้งบุตร, จากยาดมสลบ
) เกิดขึ้นน้อยมาก
ผลสำเร็จจากการรักษา ทำให้อัตราการตั้งครรภ์จนทารกโตรอดชีวิต จากเดิมก่อนผ่าตัดร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 70-80
ความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูก
(CONGENITAL MALFORMATION OF THE UTERUS)
มดลูกของสตรี พัฒนาการมาจากท่อ (MULLERIAN TUBES) 2 ท่อ มาเชื่อมต่อกันตรงกลาง ในลักษณะคล้ายปาท่องโก๋ ส่วนบนของท่อ (MULLERIAN TUBES) จะพัฒนากลายเป็นมดลูก และท่อนำไข่ ส่วนล่างของท่อ (MULLERIAN TUBES) จะพัฒนาเจริญเป็นช่องคลอดส่วนบน
หากกระบวนการพัฒนาในระยะตัวอ่อนผิดปกติ ผลที่ได้อาจจะเป็น
- ไม่มีมดลูกหรือเป็นมดลูกขนาดจิ๋ว (MULLERIAN AGENESIS OR HYPOPLASIA)
- มดลูกแฝด (DOUBLE UTERUS)
- มดลูกเจริญเติบโตค่อนข้างสมบูรณ์จากท่อ (MULLERIAN TUBE) เพียงข้างเดียว (UNICORNUATE UTERUS)
- มดลูกที่มีลักษณะเว้าตรงส่วนกลาง ส่วนยอดมดลูกลักษณะคล้ายหัวใจ (BICORNUATE UTERUS)
- มดลูกที่มีผนังกั้นตรงกลางภายในโพรงมดลูก (SEPTATE UTERUS)
แนวทางการรักษา โดยการผ่าตัดตบแต่ง (METROPLASTY)
ซึ่งจะทำได้เฉพาะมดลูกแฝด ชนิดไม่สมบูรณ์(UTERINE DIDELPHYS) มดลูกรูปหัวใจ (BICORNUATE) และมดลูกที่มีผนังกั้นในโพรงมดลูก (SEPTATE UTERUS) เท่านั้น ส่วนมดลูกที่ผิดปกติชนิดอื่น นั้นจะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษเวลาตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจจะเกิดเหตุการณ์ผิดปกติขึ้นได้ เช่น แท้งบุตร, คลอดก่อนกำหนด หรือตกเลือดภายในช่องท้องคล้ายกับท้องนอกมดลูก เป็นต้น
3.สาเหตุทางด้านฮอร์โมน (ENDOCRINE FACTORS) |
ภาวะฮอร์โมนจากรังไข่บกพร่องภายหลังไข่ตก (LUTEAL PHASE INSUFFICIENCY)
พบเป็นสาเหตุของการแท้งเอง (SPONTANEOUS ABORTION) ประมาณร้อยละ 3.5
ของสตรีมีบุตรยาก แต่อุบัติการณ์จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในสตรีที่มีการแท้งซ้ำบ่อย ๆ (REPEATED ABORTION) จึงนับว่าภาวะนี้มีความสำคัญไม่ใช่น้อยทีเดียว
สาเหตุ
อาจเกิดจากกระบวนการควบคุมการเจริญเติบโต และการตกไข่ที่ไม่เป็นไปตามปกติ โดยอาจเป็นผลมาจากหรือเกิดร่วมกับ
- การกระตุ้นไข่ด้วยยาบางชนิด เช่น CLOMIPHENE CITRATE
- ภาวะที่มีฮอร์โมนโปรแลคตินสูงในกระแสเลือด (HYPERPROLACTIINEMIA)
- การออกกำลังกายที่มากเกินไป เช่น สตรีนักวิ่งมาราธอน
- ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (OVARIAN HYPERSTIMULATION)
- โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคตับ โรคไต หรือโรคหัวใจที่เป็นมานาน ๆ เป็นต้น
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (ENDOMETRIOSIS) ทั้งขณะที่โรคกำลังดำเนินอยู่และภายหลังการรักษาด้วยยา DANAZOL
- ภาวะร่างกายที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงเกินไป (HYPERANDROGENISM)
การวินิจฉัย
- ลักษณะอุณหภูมิพื้นฐานที่สูงขึ้นภายหลังไข่ตก มักจะน้อยกว่า 0.3 องศาเซลเซียส และคงอยู่นานน้อยกว่า 11 วัน (ซึ่งโดยปกติ อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างน้อย 0.3 องศาเซลเซียส และคงอยู่นานประมาณ 13-14 วัน)
- หากขูดเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะหลังไข่ตก ไปส่งตรวจพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างการเจริญเติบโตน้อยกว่าความเป็นจริง 2 วันหรือมากกว่า
- ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในเลือด หลังจากไข่ตก 7 วัน มีค่าต่ำกว่า 5 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (ค่าปกติในระยะนี้ จะไม่ต่ำกว่า 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร
แนวทางการรักษา
เนื่องจากสาเหตุของความผิดปกติจากภาวะนี้มีหลายปัจจัย บางปัจจัยเป็นความผิดปกติที่เกิดร่วมกัน ดังนั้น จึงควรค้นหาสาเหตุร่วมเหล่านั้นและรักษาไปพร้อม ๆ กันด้วย เช่น การตรวจหาระดับฮอร์โมนโปรแลคติน และฮอร์โมนจากต่อมธัยรอยด์ในกระแสเลือด เป็นต้น ความผิดปกติจากโครโมโซมของทารก ที่มีการแท้งในเวลาเดียวกัน การรักษาจึงควรเน้นถึงการวินิจฉัยที่แน่นอน เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การรักษาภาวะนี้กระทำโดย
- ให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทดแทนที่ร่างกายขาดไป
- ให้สาร HCG (HUMAN GONADROTROPIC HORMONE) เพื่อกระตุ้นการทำงานของรังไข่ บริเวณที่ไข่ตก (CORPUS LUTEUM) ให้ทำงานสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่อไป
- ให้ยา BROMOCRIPTINE ในกรณีที่พบว่ามีระดับโปรแล
คตินสูงในกระแสเลือด
- รักษาโรคอื่น ๆ ที่เกิดร่วมด้วยหรือเป็นผลให้เกิดภาวะนี้
สำหรับการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนั้น ให้ได้ 2 วิธี (ซึ่งเราจะให้ทันทีที่วินิจฉัยได้แน่นอนว่า ไข่ตกแล้ว เพราะถ้าให้เร็วเกินไป จะมีผลระงับการตกไข่
- โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- โดยการเหน็บทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก
ผลสำเร็จ ในการรักษา สตรีมีบุตรยากที่เกิดจากภาวะนี้ จะมีอัตราการตั้งครรภ์ ประมาณร้อยละ 37-54 ส่วนในกรณีที่มีประวัติแท้งซ้ำ
บ่อย ๆ (RECURRENT ABORTION) อัตราการตั้งครรภ์ และคลอดทารกปกติ จะสูงถึงร้อยละ 81
สาเหตุที่ไม่สามารถตรวจพบ (UNRECOGNIZABLE CAUSES)
กลุ่มที่มีโครโมโซมผิดปกติ (RECURRENT ANEUPLOIDY)
เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการแท้งซ้ำบ่อย ๆ ในคู่สามีภรรยาที่มีโครโมโซมปกติ และไม่มีประวัติคลอดบุตรพิการแต่กำเนิดมาก่อน
ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกกลไกการเกิดได้อย่างไร
พ่อแม่น่าจะเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิด ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกเหล่านี้ แม้ว่าโครโมโซมของพ่อแม่เองจะปกติก็ตาม
- กระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธ์ของหญิงและชายจะเกิดความผิดปกติขึ้น ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง
- "ไข่" ที่ได้รับการปฏิสนธิอาจจะแก่เกินไป ซึ่งมีสาเหตุมาจากอายุของสตรีที่มากหรือการตกไข่ที่ช้า
- กระบวนการปฏิสนธิ หรือการแบ่งตัวภายหลังการปฏิสนธิใหม่ ๆ อาจจะผิดปกติ ทำให้ได้ "ตัวอ่อน" (ทารก) ที่มีโครโมโซมผิดปกติไปด้วย
กลุ่มที่มีโครโมโซมปกติแต่มีการแท้งซ้ำบ่อย ๆ
(RECURRENT EUPLOIDIC ABORTION)
อาจจะเกิดจาก
- การทำงานของรังไข่บริเวณที่ไข่ตกบกพร่อง (UNDETECTED CORPUS LUTEUM PAILURE) ในขณะที่ตั้งครรภ์ใหม่ ๆ
- สาเหตุทางด้านภูมิคุ้มกัน (IMMUNOLOGIC ETIOLOGY) ซึ่งมากมาย และเป็นที่สนใจศึกษาค้นคว้ากันอย่างมากในปัจจุบัน
- สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENTAL FACTORS)
- การติดเชื้ออย่างทันทีทันใด ในกลุ่ม ซิฟิลิส (SYPHILIS), ไมโครพลาสมา (MYCOPLASMA), คลาไมเดีย (CLAMYDIS) และอื่น ๆ
- รังสีเอกซเรย์ในปริมาณสะสมที่มากอย่างมีนัยสำคัญ (ปกติไม่เกิน 180 มิลลิลิตร)
- แก๊สจากยาดมสลบ (ANESTHETIC GAS) พบมากในพยาบาลดมยา และพยาบาลห้องผ่าตัดตั้งครรภ์
- การสูบบุหรี่และดื่มแอลกฮอล์มากเกินไป ก็ถือเป็นสาเหตุของการแท้งซ้ำบ่อย ๆ เช่นกัน
สาเหตุและการพยากรณ์โรค |
สาเหตุ (อุบัติการณ์) |
โอกาสที่จะได้ทารกปกติ |
แนวทางการรักษา |
I. สาเหตุที่สามารถตรวจหาได้
|
1. สาเหตุทางพันธุกรรม พบร้อยละ25 |
ร้อยละ 32 |
การตรวจวินิจฉัยพันธุกรรม ก่อนคลอด (PRENATAL DIAGNOSIS) |
2. สาเหตุจากตัวมดลูก พบร้อยละ15
- มีผนังกั้นภายในโพรงมดลูก
(UTERUS SUBSEPTUS)
- ปากมดลูกหลวม
(INCOMPETENT CERVIX)
- เนื้องอกมดลูก
(MYOMA UTER)
- มีพังผืดในโพรงมดลูก
(ASHERMAN'S SYNDROME)
- ความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูก (CONGENITAL MALFORMATION
OF THE UTERUS)
|
ร้อยละ 60-70 |
- การผ่าตัด
(METROPLASTY)
- การเย็บปากมดลูก
(CERVICAL CERCLAGE)
- การผ่าตัด
(MYPMECTOMY)
- การส่องกล้องเข้าไปภายใน
โพรงมดลูก เพื่อทำลายพังผืด (HYSTEROSCOPICLYSIS OF SYNECHIAE)
- การผ่าตัดตบแต่ง
(METROPLASTY) |
3. สาเหตุจากภาวะฮอร์โมน พบร้อยละ 23
- ภาวะฮอร์โมนจากรังไข่ ภายหลังไข่ตกบกพร่อง (CORPUS LUTEUM DEFECT)
|
ร้อยละ 90 |
- ให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
เสริมเพิ่มเติมโดยวิธี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือเหน็บทางช่องคลอด
- ให้ยาลดสารโปแลคติน
ในกรณีที่มีสารตัวนี้ ในกระแสเลือดสูง
|
II. สาเหตุที่ไม่สามารถตรวจหาพบ (UNKNOWN ETIOLOGY) พบร้อยละ 37
1. กลุ่มที่มีโครโมโซมผิดปกติเกิดขึ้นซ้ำ ๆ กัน (RECURRENT ANEUPLOIDY) ซึ่งอาจจะ มีสาเหตุ จากไข่ตกช้า, อายุแม่มาก, การปฏิสนธิเกิดขึ้นช้ามากไป
2. กลุ่มที่มีโครโมโซมปกติแต่มีการ แท้งซ้ำเกิดขึ้นบ่อยๆ (RECURRENT EUPLOIDY) ซึ่งอาจมีสาเหตุจาก การสร้างฮอร์โมนของรังไข่ผิดบกพร่อง, ภาวะภูมิต้านทานผิดปกติ, สิ่งแวดล้อมผิดปกติ (การติดเชื้อ, เหล้า, บุหรี่)
|
ร้อยละ 62 |
- การตรวจวินิจฉัยพันธุกรรม ก่อนคลอด (PRENATAL DIAGNOSIS)
- หลีกเลี่ยงการใช้ไข่ หรืออสุจิ ที่มีอายุการใช้งาน แก่เกินไป
- ศึกษาเกี่ยวกับภาวะฮอร์โมน ในร่างกายเป็นระยะๆ และให้ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เสริมเพิ่มเติม
- การศึกษาเกี่ยวกับภาวะ
ภูมิคุ้มกัน (IMMUNOLOGIC STUDIES)
- การให้คำปรึกษา
ก่อนตั้งครรภ์
|
แนวทางรักษาสำหรับกลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ
ไม่ว่าจะอย่างไร จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุทางด้านพันธุกรรม
(GENETIC), โครงสร้างกายวิภาค (ANATOMY) และฮอร์โมน (ENDOCRINE) ก่อนเสมอ เพื่อว่าอาจจะพบสาเหตุซึ่งแต่เดิมหาไม่พบ จากนั้นจึงทำการรักษาอย่างเป็นขั้นตอนต่อไป ขณะเดียวกัน ต้องพยายามมองหาสาเหตุอื่นอีก เพราะคนไข้ในกลุ่มนี้มักมีหลายเหตุปัจจัย
- สตรีเหล่านี้ ควรดูอุณหภูมิกายพื้นฐาน (BASAL BODY TEMPERATURE) ติดต่อกันหลาย ๆ เดือน เพื่อศึกษาช่วงเวลาไข่ตกที่แน่นอนและวางแผนการตั้งครรภ์
- ในกรณีที่ไข่ตกช้าหรือไม่ตก ต้องหมั่นมารับการรักษาและกระตุ้นให้ไข่ตก เพื่อให้ "ไข่" ที่ปฏิสนธิมีอายุการใช้งานอยู่ในช่วงที่เหมาะสม
- ควรทำการทดสอบการปฏิสนธิระหว่าง "ไข่" กับ "เชื้ออสุจิ" หากมีปัญหาอาจรักษาแก้ไขได้ด้วยวิธี "อิ๊กซี่" (เจาะ "ไข่" ใส่ "เชื้ออสุจิ" เข้าไปเพียงตัวเดียว)
- สามีไม่ควรงดมีเพศสัมพันธ์กับภรรยานาน ๆ ก่อนไข่ตก เพราะอาจมี "อสุจิ" ที่อายุการใช้งานแก่เกินไป ปฏิสนธิกับ "ไข่" แล้วได้ "ตัวอ่อน" ที่มีโครโมโซมผิดปกติ (FETALANEUPLOIDY)
- ทั้งสามีและภรรยา ควรได้รับยาจำพวก DOXYCYCLINE เพื่อทำลายเชื้อโรคที่อาจเป็นสาเหตุ โดยรับประทานทุกวันในช่วง 10 วันแรกของรอบเดือนในระยะเริ่มแรกของการรักษา
- ทำการทดสอบเพื่อให้ทราบผลการตั้งครรภ์เร็วที่สุดเมื่อทราบว่า "ตั้งครรภ์" ควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น
- การให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่อไป
- การตรวจการทำงานของต่อมธัยรอยด์ตามความเหมาะสม
- การตรวจดูด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์อย่างสม่ำเสมอ
- หลักเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์
- เจาะดูดน้ำคร่ำเพราะเลี้ยงโครโมโซม เพื่อตรวจความผิดปกติของทารก
- การผสมเทียมโดยใช้เชื้อบริจาค อาจเป็นทางเลือกสำหรับคู่สามีภรรยาที่สงสัยอย่างมากว่าเป็นสาเหตุจาก สามีที่ก่อให้เกิดทารกมีโครโมโซมผิดปกติ (RECURRENT FETAL ANEUPLOIDY)
จากการวางแผนที่ดีและมีการติดตามอย่างเหมาะสม ตลอดการ
ตั้งครรภ์ในระยะแรก ทำให้ได้ผลสำเร็จคลอดทารกปกติถึงร้อยละ 62 ทีเดียว
สตรีที่ตั้งใจจะมีลูก พอตั้งท้องขึ้นมา จะรู้สึกถึงความสุขมากอย่างบอกไม่ถูก แต่เธอจะรู้หรือไม่ว่า อุปสรรคข้างหน้านั้นยังมีรออยู่อีกมาก โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งได้ทุกเมื่อ ดังนั้น จึงควรรีบฝากครรภ์และหาผู้ดูแลใกล้ชิดทันที ที่ทราบว่า "ท้อง"
สำหรับ คนที่มีประวัติแท้งซ้ำบ่อย ๆ (RECURRENT ABORTION) อย่างเพิ่งสิ้นหวัง เพราะมีแนวทางแก้ไขมากมาย ทั้งกลุ่มที่มีสาเหตุและหาสาเหตุไม่พบ ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีด้านการสืบพันธ์สมัยใหม่ เชื่อว่าจะช่วยสร้างความหวัง ของสตรีที่แท้งบุตรบ่อย ๆ เหล่านี้ ให้เป็นจริงได้ โดยไม่ยากลำบากนัก
พ.ต.ต.นพ.เสรี ธีรพงษ์
ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่
[ BACK TO LIST]
มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]
Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600