มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 21 ฉบับที่ 318 สิงหาคม 2541 ]

ฝากท้องใครว่าไม่สำคัญ

ภ.ญ.ยุวดี หงส์รัตนาวรกิจ


เป็นที่รู้กันว่า"คุณแม่ยุคโลกาภิวัตน์" จะรู้จัก "การฝากครรภ์" กันดีทุกคน แต่ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าใจว่า การมาฝากครรภ์เป็นการมาจองเตียงคลอดธรรมดา ก็เลยไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ของการมาตามนัด แต่จากสถิติเปรียบเทียบในต่างประเทศพบว่า อัตราการตายของทารกที่คลอดนอกโรงพยาบาลสูงกว่าในโรงพยาบาลถึง 2 เท่า และอัตราการตายของทารกในหญิงที่ไม่ฝากครรภ์ หรือฝากครรภ์แต่มาตรวจไม่สม่ำเสมอ สูงกว่าผู้ที่มาตรวจตามนัด 2-4 เท่า แต่ถ้าฝากครรภ์ตั้งแต่ครรภ์อ่อน ๆ จะได้ประโยชน์มากกว่า จะสังเกตได้ว่า โรงพยาบาลหลายแห่ง มีระเบียบว่า จะไม่รับฝากครรภ์ ถ้าอายุครรภ์เกินกว่า 5 เดือน เพราะการฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ ตัวท่านเอง ก็สามารถจดจำประจำเดือนครั้งสุดท้าย ก่อนการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถพยากรณ์ อายุครรภ์ได้แม่นยำขึ้น และแพทย์ยังสามารถตรวจสุขภาพของท่าน พร้อมทั้งซักประวัติโดยละเอียด

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือท่านควรเล่าอาการประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของท่านอย่างละเอียด เช่น ภาวะหรือโรคบางอย่าง อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ เบาหวาน กามโรค ซึ่งล้วนแต่ก่อให้เกิดอันตรายของทั้งแม่และทารก แต่ถ้ารีบรักษา หรือแก้ไขป้องกันตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ก็สามารถประคับประคองจนคลอดได้

นอกจากนี้ถ้าท่านมีประวัติว่ามีญาติ ๆ ทางฝ่ายแม่ที่มีลูกแฝด โอกาสที่ท่านจะมีลูกแฝดก็สูง กว่าคนปกติพอ ๆ กับผู้ที่มีประวัติเคยแท้ง เคยคลอดก่อนกำหนด หรือเคยตั้งครรภ์นอกมดลูก จะพบว่าอัตราเสี่ยงจากการคลอดมากกว่าปกติเช่นกัน และยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ในกลุ่มอาการของความพิการแต่กำเนิด ของทารกกว่า 2,000 ชนิด มีโอกาสเกิดซ้ำสูง ในการตั้งครรภ์ครั้งใหม่

เริ่มครั้งแรกที่ฝากครรภ์แพทย์มักจะวัดส่วนสูงและน้ำหนักตัวของท่าน เพื่อคำนวณขนาด ของเชิงกรานโดยคร่าว ๆ ถ้าท่านมีน้ำหนักมาก อ้วนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ควรจะควบคุม น้ำหนักตัว โดยรับประทานอาการที่มีโปรตีนสูง แต่มีไขมัน และคาร์โบไฮเดรตต่ำ และในครั้งแรกนี้เอง แพทย์จะทำการตรวจเลือด หาเชื้อซิฟิลิส, เอดส์, ตับอักเสบ, ดูความสมบูรณ์ของเลือด, หมู่เลือด นอกจากนี้ ยังคงตรวจพิเศษกรณีที่แม่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น อายุมาก รับประทานยาบางประเภท แพทย์อาจตรวจหา Alpha ketoprotein ขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ เพื่อตรวจหาความ "พิการ" ของทารกในครรภ์ หรือช่วงที่มีการระบาดของ "หัดเยอรมัน" ก็ควรตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคนี้ โดยตรวจ HI Antibody เพราะถ้ารับเชื้อหัดเยอรมันเข้าไป ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก อาจทำให้เด็กพิการได้

นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว "อาหาร" ก็มีส่วนสำคัญต่อผู้ที่กำลังจะเป็นแม่ทุกคน อาหารที่ผู้หญิง มีครรภ์ควรรับประทานคือ อาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของ ทารกในครรภ์ เพื่อรักษาสุขภาพมารดา ช่วยให้แข็งแรงตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ และช่วยให้มีน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารก

น้ำหนักตัวของคุณแม่เฉลี่ยแล้วควรให้เพิ่มขึ้นเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม และไม่เกิน 15 กก. ก่อนคลอด โดยถือว่าร่างกายต้องการแคลอรี่โดยเฉลี่ย 2,300-2,500 แคลอรี่/วัน เมื่อเริ่มตั้งครรภ์และเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน คือไตรมาสที่ 2 เพิ่มเป็น 2,600-2,800 แคลอรี่/วัน ไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอดควรรับประทานให้ได้วันละ 3,000 แคลอรี่ ในจำนวนแคลอรี่ เหล่านี้แบ่งออกตามชนิดของอาหารโดยถือว่าโปรตีนเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นอาหาร ที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายของ ทั้งแม่และทารก รวมทั้งมดลูกและเต้านม เพื่อเตรียมพร้อมในการคลอด และยังช่วยเพิ่มปริมาณเลือด เฉลี่ยแล้ว หญิงมีครรภ์ ควรได้รับอาหารที่มีโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน คิดง่าย ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ท่านต้องรับประทานโปรตีนให้ได้วันละ 50 กรัม ก็ไม่ถึง 1 ขีด (แต่อย่าลืมนะคะว่า อาหารทุกชนิด จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบด้วย ดังนั้นเนื้อหมู 1 ขีด ไม่เท่ากับโปรตีน 100 กรัมเสมอไป) แหล่งโปรตีนที่สำคัญ ที่หาได้ง่าย ในยามเศรษฐกิจเช่นนี้ นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว ก็มีไข่และถั่วต่าง ๆ

อาหารที่สำคัญรองจากโปรตีนก็คือวิตามินและเกลือ ตัวที่สำคัญ ๆ สำหรับคุณแม่ก็คือ

ส่วนคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่แพทย์จะแนะนำท่าน
เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปที่ต้องระวังก็คือ

การเจ็บครรภ์
สำหรับท่านที่เพิ่งจะมีลูกเป็นคนแรกจะไม่มีประสบการณ์ในเรื่อง "เจ็บท้องคลอด" ท่านจึงควรทราบอาการไว้บ้าง จะได้เตรียมตัวมาโรงพยาบาลได้ทันท่วงที อาการเริ่มตั้งแต่แน่น อึดอัด อยากถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะบ่อย เมื่อเอามือคลำท้องดู จะพบว่าท้องแข็งเนื่องจากการแข็งตัวของมดลูก และจะมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด
คล้าย ๆ ประจำเดือนที่ออกมาใหม่ ๆ บางท่านมีอาการเหล่านี้ โดยไม่ปวดท้องเลย ก็เลยไม่รีบมาโรงพยาบาล ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องก็คือ ท่านควรเห็น ความสำคัญของอาการเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นให้เตรียมตัวมาโรงพยาบาลได้เลย
การเตรียมตัวก็คือ การทำความสะอาดร่างกาย งดรับประทานอาหาร เพราะหากจำเป็นต้องผ่าท้องคลอด แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาสลบ การงดอาหารทำให้ท้องว่าง จะช่วยลดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ จากยาสลบได้มาก

สำหรับการมาตรวจครรภ์ตามนัดที่กล่าวไว้ในตอนแรก แพทย์มักจะนัดท่านให้มาพบทุก ๆ เดือนในช่วง 7 เดือนแรก พอถึงช่วงครรภ์ได้ 8 เดือน จะนัดถี่ขึ้นคือทุก ๆ 2 สัปดาห์ และทุกสัปดาห์ในระยะใกล้คลอด ซึ่งในช่วงที่ท้องแก่แพทย์จะให้ท่านนำปัสสาวะ ที่ถ่ายในตอนเช้า มาตรวจปริมาณน้ำตาล และไข่ขาว ตามธรรมดาไม่ควรพบไข่ขาว ในปัสสาวะ ถ้าพบ ถือว่าผิดปกติต้องหาสาเหตุให้พบ และบางรายอาจพบน้ำตาลในปัสสาวะ ซึ่งต้องทำการตรวจเลือด เพื่อพิสูจน์ระดับน้ำตาล และวินิจฉัยโรคเบาหวาน โรคที่พบได้จากการตรวจปัสสาวะก็คือ โรคเบาหวาน, โรคไต และครรภ์เป็นพิษ

ส่วนโรคที่ถ้าแม่เป็นตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ต้องได้รับการดูแลอย่างดีจนกว่าจะคลอด ได้แก่โรคความดันโลหิตสูง, โรคไตเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจและโรคโลหิตจาง เพราะโรคบางอย่างส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ด้วย เช่น โรคเบาหวาน

อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ถ่ายปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง เส้นเลือดขอด เป็นตะคริว ใจสั่น และท้องผูก ซึ่งหากไม่รุนแรงก็ไม่มีอะไรน่าวิตกกังวล

ส่วนยาที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงก็คือ ยาปฏิชีวนะ กลุ่มเตตราซัยคลิน เพราะมีผลต่อการเติบโตของกระดูก เป็นพิษต่อตับและทำให้ฟัน ของทารกเปลี่ยนสี กับยากลุ่มคลอแรมเฟนิคอล และซัลโฟนาไมด์ ไม่ให้ใช้ในช่วง 3 เดือนก่อนคลอด เพราะอาจทำให้ทารกถึงตายได้หรือตัวเหลือง ยาอีกกลุ่มที่ควรระวังคือ กลุ่มชาลิซแลตที่ทำให้เกิดเลือดออกในทารกหลังคลอดและสั่นชักจนถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังในเรื่องยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคเบาหวาน ฮอร์โมนเพศ ยารักษาโรคทัยรอยด์ ยาต่อต้านการแข็งตัวของเลือด และวัคซีนชนิดต่าง ๆ หากจำเป็นต้องใช้ให้ใช้ตามความจำเป็น

ภ.ญ.ยุวดี หงส์รัตนาวรกิจ


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1