มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2541 ]

สอนลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์

นพ.นริศ เจนวิริยะ


ปัจจุบันนี้เรารู้กันแล้วว่า ทารกในครรภ์มีการเจริญพัฒนามีขัณฑ์ 5 ครบถ้วน ตอนที่เกิดออกมา จากท้องพ่อท้องแม่ เพียงแต่เรายังไม่รู้แน่ว่า ขัณฑ์ 5 คือ รูป เวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (จิตนาการ) วิญญาณ (ความรู้สึกด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) มันเริ่มตั้งแต่เมื่อไร มีหลายประเทศที่ออกกฎหมายห้ามทำแท้งหลังอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เพราะเข้าใจว่าเด็กมีความเป็นคนมีขัณฑ์ 5 เกิดขึ้นครบตอนนั้น

เมื่อก่อนนี้เรายังไม่รู้กันว่า เด็กในครรภ์สามารถจดจำประสบการณ์ได้เมื่ออายุเท่าไร นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่า เด็กที่อายุน้อยกว่า 24 สัปดาห์ ไม่สามารถจดจำประสบการณ์ ที่ได้รับตอนอยู่ในท้อง เช่น ได้ยินเสียง (ผ่านท้องแม่) เห็นแสง ชิมรส ฯลฯ ได้ แต่จากการทดลองเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าเด็กสามารถจดจำได้ก่อน 24 สัปดาห์ เสียอีก ในการทดลองนั้นเขาใช้อาสาสมัครหญิงตั้งครรภ์ 15 คน ในบรรดานี้ 10 คนเข้าร่วมโครงการ เมื่อท้องได้ 12 สัปดาห์ มีอยู่ 5 คนที่เขาใช้เป็น ตัวเปรียบเทียบเข้าร่วมโครงการ เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ผู้ทดลองใช้เพลงพื้นบ้าน 3 เพลง ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักมาเป็นตัวทดลองความจำ ของทารกในครรภ์ แต่ละเพลงมีความแตกต่างจากกัน ไม่ว่าจะเป็นทำนอง จังหวะ และหญิงตั้งครรภ์ทั้งหลาย ไม่รู้จักเพลงเหล่านั้น ตอนที่ทดลองเขาให้คนท้อง 10 สัปดาห์ ฟังเทปเพลง 2 เพลงซึ่งยาว 16 นาที ตอนแรกเขาให้ฟังเทปที่หนึ่งทุก ๆ วัน ละครั้งเป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่อายุครรภ์ 20 จนถึง 21 สัปดาห์ เสร็จแล้วเมื่อท้องได้ 31 สัปดาห์ เขาให้ฟังเพลงเทปที่สอง แบบเดียวกัน ส่วนหญิง 5 คน ที่ให้เป็น ตัวเปรียบเทียบไม่ได้ฟังเพลงใด ๆ หลังจากเด็กคลอดแล้ว 2 ถึง 3 สัปดาห์ เขาก็ทำการทดลอง ความจำของเด็ก โดยการให้ฟังเพลงที่เป็นช่วงสั้น ๆ สลับกัน ระหว่างเพลงที่เคยฟัง 3 นาที กับไม่เคยฟัง 3 นาที แล้วใช้กล้องวิดีโอจับอากัปกิริยาของเด็ก โดยคนแปลผลเป็นคนทีไม่เกี่ยวข้องกับการทดลองข้างต้น เด็กเมื่อได้ยินเพลงที่ตัวเองเคยได้ยิน จะผ่อนคลายสงบเตะขาน้อยกว่าเมื่อฟังเพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน จากการทดลองนี้พบว่าเด็กแค่ 20 สัปดาห์ก็สามารถเรียนรู้จดจำได้แล้ว

การทดลองนี้ นอกจากบอกเราเรื่องความจำแล้ว ยังบอกเราว่าเด็กมีการเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ที่จริงในปัจจุบันนี้มีการทดลองมากมายที่ช่วยให้เราเข้าใจ เรื่องพัฒนาการของเด็กว่า เกิดจากการกำหนดของพันธุกรรมและอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ปกติสารพันธุกรรมหรือที่เขาเรียกว่า ยีน (gene) ที่ทำหน้าที่กำหนดรูปลักษณ์ โครงสร้างและการทำงานของคนเรานั้นมีอยู่ราว 100,000 ยีน ในบรรดานี้มีอยู่ราว 50,000 ถึง 70,000 ยีน ที่ควบคุมโครงสร้างและการทำงานของสมอง สมองของคนเราประกอบไปด้วยเซลล์สมอง และเส้นประสาทที่โยงใยเซลล์สมอง ให้เป็นเครือข่าย เซลล์สมอง เหมือนกับวงจรจุลภาค (ในเครื่องคอมพิวเตอร์) ซึ่งทำหน้าที่จำเพาะอย่าง ๆ เช่น วงจรการมองเห็นในสมอง ยีนเป็นตัวกำหนดจำนวนเซลล์สมอง และกำหนดเครือข่ายเฉพาะสายเมน สายหลักในวงจรจุลภาค ส่วนอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นให้มีการสร้างวงจรภายในที่สมบูรณ์ สามารถทำงานได้ คือ ถ้าขาดแสงสว่างจากภายนอกมากระตุ้นวงจรการมองเห็นในสมอง คนนั้นก็ทำงานไม่ได้ คนนั้นก็จะตาบอด นี่เป็นตัวอย่างเพียงอย่างเดียวของหน้าที่ของสมองมากมายมหาศาล ด้วยเหตุนี้เขาจึงสรุปว่า พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญทั้งสองอย่าง

สมองของเด็กในครรภ์เริ่มก่อตัวขึ้น จากพันธุกรรมแล้วอาศัยสิ่งแวดล้อมช่วยกระตุ้นให้มันพัฒนาขึ้นมา เขาพบว่า เด็กได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นแสง เสียง ฯลฯ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว (ดังที่กล่าวมาในเรื่องการจำเพลงที่ได้ยินในครรภ์) สมองของเด็กจึงพร้อมและต้องการ การกระตุ้นจากสิ่งภายนอก เด็กที่ขาดการกระตุ้นจะพัฒนาช้าหรือไม่พัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อารมณ์ ฯลฯ จึงเห็นได้ว่าสิ่งแวดล้อม มีผลกระตุ้นการพัฒนา ตั้งแต่ก่อน จะอ้อนจะออกเสียอีก จึงมีคำกล่าวที่ค่อนข้างจะสุดกู่เพื่อให้เห็นความจริงว่า "ก่อนจะถึงอนุบาลก็สายไปเสียแล้ว"

ความจริงในเรื่องนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่มีข้อมูลสนับสนุนมากมาย แต่วงการศึกษายังปรับเปลี่ยนการสอน ให้เข้ากับวิทยาศาสตร์ใหม่ไม่ทัน หรือยังต่อต้านของใหม่มีฐิทิติดอยู่กับความเคยชินแนวคิดเก่า ๆ อยู่ โรงเรียนอนุบาลหลายแห่งจึงยังไม่สอนวิชาการใด ๆ แก่เด็กอนุบาล แม้แต่ที่สหรัฐอเมริกา ก็ยังมีหลายโรงเรียนที่ยังล้าหลังในเรื่องนี้ เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้รับความร่วมมือ จากประธานาธิบดี บิล คลินตัน และนางฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน ออกมาแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ออกโทรทัศน์ให้คนอเมริกัน เห็นถึงความสำคัญ ของการเลี้ยงดูฟูมฟัก ให้ความรัก กระตุ้นเด็กสอนเด็ก ตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ สำหรับนางฮิลลารี รอดแฮม คลินตันนั้น มีความสนใจเรื่องนี้มาก ถึงขนาดเขียนหนังสือให้เห็นถึงความสำคัญ ของสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาของเด็ก โดยให้ชื่อหนังสือว่า It Takes a Village ต่อไปสังคมอเมริกันคงจะหันมาสนใจสอนเด็กกระตุ้นเด็กเล็กกันมากขึ้น แล้วก็ตามฟอร์มการศึกษาไทยจึงค่อยหันมาเอาอย่าง

ในเมืองไทยเรามีโรงเรียนอนุบาลอยู่สองแบบ แบบหนึ่งสอนวิชาการ อ่านเขียนเลขคณิต อ่านเขียนเลขคณิตเท่าที่เด็กจะรับได้ อีกแบบหนึ่งสอน "ความพร้อม" คือ สอนให้พร้อมที่จะกินจะนอน หรือเข้าแถวเคารพธงชาติ เด็กที่เรียนจบอนุบาลสามจากโรงเรียนประเภทหลังนี้เวลาจะไปสอนเข้า ป.1 ประเภทเซ็นต์หรือสาธิตก็ต้องเข้าโรงเรียนกวดวิชาติวเข้ม เค้นคอเด็กให้ทำข้อสอบเป็น ทำให้เด็กเกิดความเครียดเนื่องจากสมองไม่พร้อมที่จะรับ พ่อแม่ก็เครียด เนื่องจากลูกไม่พร้อม โรงเรียนอนุบาลแบบสอน "ความพร้อม" ในการกินนอนเป็นโรงเรียนที่เก็บค่าเล่าเรียนเหมือนเขา บางแห่งแพงกว่าเขา โดยไม่ได้สอนวิชาการที่จะเอาไปสอบกับเขาเลย (บางแห่งยังแถมติดประกาศคุยว่าเด็กของเขาสอบเข้าสาธิตได้) โรงเรียนประเภทนี้ นอกจากจะทำให้ เด็กเสียเวลาอันมีค่าในวัยสมองควรได้รับการกระตุ้นยังเป็นโรงเรียน ที่หลอกผู้ปกครองด้วยคำว่า "ความพร้อม" ซึ่งหมดสมัยแล้ว สมัยนี้วิทยาศาสตร์มีข้อมูลมากมายแล้วว่า ต้องสอนเด็กกระตุ้นเด็ก กันตั้งแต่อยู่ในครรภ์นะครับ

นพ.นริศ เจนวิริยะ


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1