มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ]

ถันยรักษ์

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศไทยนั้น พบได้เป็นรองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะภายนอก ตรวจพบได้ง่ายถ้าหากสนใจ เอาใจใส่ในการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง จึงมีการพยากรณ์โรคค่อนข้างดี ตรวจพบในระยะเริ่มแรกได้ง่าย และการรักษามะเร็งเต้านมในระยะที่ยังไม่ลุกลามออกนอกเต้านมนั้น มีอัตรารอด สูงกว่าร้อยละ 80-90

ในช่วงของการรณรงค์ค้นหาและรักษามะเร็งเต้านมในเดือนมิถุนายนนี้ รองศาสตราจารย์นายแพทย์พิชัย เจริญพานิช สูตินารีแพทย์ ภาคววิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้ โดยการตอบคำถามต่าง ๆ ไว้ดังนี้

ถาม - อาการแรกเริ่มของมะเร็งเต้านมมีอะไรบ้าง มีวิธีอะไรบ้าง มีวิธีการใดช่วยให้วินิจฉัยได้เร็วบ้าง
ตอบ - เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยต่อมเหงื่อที่เปลี่ยนแปลง ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หลาย ๆ ต่อมมารวมกัน เป็นเต้านมเต้าเดียว ทำหน้าที่ในการสร้างน้ำนม เพื่อเลี้ยงตัวอ่อน ควบคุมโดยฮอร์โมนเพศ ดังนั้นจึงเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบเดือนโดยตรง เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จนเกิดเป็นมะเร็งได้ง่าย

อาการแรกเริ่มของมะเร็งเต้านมเกือบจะไม่มี แต่อาการที่เห็นหรือคลำพบว่าเต้านมผิดจากปกติ ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่โตขึ้น รูปร่างที่เปลี่ยนแปลง หัวนมหรือผิวหนังบุ๋มหรือนูน สีของผิวหนัง ที่แปรไป หลอดเลือดที่เด่นชัดมากขึ้น ปวดที่เต้านม มีน้ำเหลือง เลือด หรือน้ำใส ๆ ไหลออกมาจากหัวนม คลำพบก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ เป็นสิ่งบงชี้ว่าอาจเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อการตรวจแยกโรคมะเร็ง

สรุปได้ว่าอาการใด ๆ ที่พบว่าเต้านมผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง ขนาด ผิวหนัง เจ็บปวด คลำพบก้อน มีน้ำใส ๆ ไหลออกมาจากหัวนมจำเป็นต้องรีบไปหาแพทย์ หากไม่มีอาการแรกเริ่มของมะเร็งเต้านมสตรีทุกคนที่มีอายุเกิน 35 ปี จำเป็นต้องหมั่นสังเกต ความผิดปกติเหล่านี้ รวมทั้งตรวจคลำเต้านมทุกเดือนหลังจากหมดประจำเดือนใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร้งเต้านมได้ง่าย ซึ่งในกลุ่มนี้แพทย์อาจแนะนำ ให้ตรวจด้วยรังสีวินิจฉัยทุก 6 เดือน

ถาม - น้ำเหลือง น้ำนม หรือหนอง ที่ไหลออกมาจากหัวนม มีความสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมหรือไม่
ตอบ - การที่มีน้ำไม่ว่าจะเป็นอะไร แม้แต่น้ำนม เว้นแต่น้ำนมที่ไหลออกมาจากหัวนม ระหว่างการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตรนั้นถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ ต้องการตรวจวินิจฉัย และรักษา

การที่มีน้ำเหลือง หนอง หรือเลือดไหลออกมาจากเต้านมนั้นถือเป็นอาการผิดปกติที่อาจบ่งชี้ ว่าเป็นมะเร็งได้ แพทย์จะตรวจว่ามีก้อนในเต้านมหรือไม่โดยการคลำและด้วยรังสีวินิจฉัย ถ้าตรวจพบก้อนจะต้องตัดเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย แล้วให้การรักษาตามการตรวจพบต่อไป

ส่วนในรายที่พบว่าเป็นน้ำนมโดยการตรวจหากลุ่มเม็ดไขมัน ถ้าพบแสดงว่าเต้านมหลั่งน้ำนม ออกมา เพราะมีฮอร์โมนผิดปกติ ให้การรักษาเกี่ยวกับความผิดปกติของฮอร์โมนต่อไป ที่อาจจะเกิดที่ต่อมใต้สมอง หรือยาที่ผู้ป่วยได้รับ

ถาม - มะเร็งเต้านม จะวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างไร
ตอบ - การวินิจฉัยประกอบด้วยการตรวจข้อมูลจากประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจพิเศษด้วยเครื่องแมมโมแกรม และตัดเนื้อส่งตรวจพยาธิจุลภาพ

ประวัติ ประกอบด้วย มารดาหรือญาติใกล้ชิดตามสายโลหิตเคยเป็นมะเร็งเต้านม คลำพบก้อน มีแผลที่เต้านม หรือรักแร้ ตรวจร่างกาย พบก้อน แผล ที่เต้านมหรือรักแร้ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่มีหลอดเลือดดำขยายตัว ผิวหนังแห้ง เหมือนเปลือกส้มที่แห้ง หัวนมบุ๋ม มีน้ำโดยเฉพาะเลือดไหลออกจากหัวนม

การตรวจพิเศษ ด้วยเครื่องรังสีวินิจฉัยที่เรียกว่าแมมโมแกรมนั้น ได้พัฒนาก้าวหน้า ไปเป็นอันมาก สามารถจะบ่งบอกได้ชัดเจนว่าก้อนที่คลำพบ หรืออาจจะเล็กจนยังคลำไม่พบ นั้น มีลักษณะเป็นมะเร็งหรือไม่ จึงเป็นที่นิยมที่จะใช้ในการตรวจวินิฉัยมะเร็งเต้านมในสตรี เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศอเมริกาและหลาย ๆ ประเทศในยุโรป

ส่วนด้านการรักษานั้นให้การรักษาตามพยาธิสภาพและระยะของโรค ซึ่งประกอบด้วย การตัดเอาเนื้องอกหรือมะเร็งออกทั้งหมด ตัดเต้านมพร้อมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ข้างเดียวกันออกด้วย อาจตัดเอาเต้านมข้างที่ไม่มีพยาธิสภาพออกไปด้วยในผู้ป่วยบางราย

ถ้าตรวจพบมีมะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้วอาจตามด้วยการฉายรังสีบำบัด ที่รักแร้ข้างเดียวกัน และต่อมน้ำเหลืองที่ทรวงอกด้วย ในรายที่มะเร็งกระจายไปไกล ๆ จะตามด้วยสารเคมีบำบัด

หลังจากรักษาแล้วผู้ป่วยต้องกลับมาให้แพทย์ติดตามตรวจต่อไป อาจทุก 2 เดือน ในระยะแรก ๆ ทุก 4 เดือน ในเวลาต่อมาแล้วทุก 6 เดือนหรือทุกปี

ท่านที่ได้ยินข่าวเรื่องการรณรงค์เพื่อการตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก หรือท่านที่ได้อ่านบทความนี้แล้วยังลังเลอยู่ว่าควรจะพาตนเองไปพบแพทย์หรือไม่ อย่างน้อยก็น่าจะลองตรวจเต้านมตนเองสักครั้ง ซึ่งมีหลักการและวิธีการดังนี้

  1. ถอดเสื้อนั่งตัวตรงหน้ากระจกเงา แนบแขนทั้งสองข้าง ข้างลำตัว สังเกตความผิดปกติ ต่าง ๆ ทั้งขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง สีผิว รอยบุ๋มต่าง ๆ รวมทั้งบีบที่หัวนมดูน้ำเหลืองด้วย
  2. ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ แล้วสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ
  3. นอนหงายบนเตียง ใช้หมอนรองใต้ไหล่ซ้าย วางแขนซ้ายข้างลำตัว ใช้มือขวาใช้นิ้ว นวดคลำและลูบไล้ที่เต้านมด้านนอกจากบนลงล่างช้า ๆ
  4. ยกแขนซ้ายขึ้น ตรวจคลำเต้านมด้านใน ในลักษณะเดียวกัน
  5. เปลี่ยนมาคลำเต้านมอีกข้าง ในลักษณะเดียวกัน

จากการตรวจข้างต้นนั้น ถ้าท่านคลำพบก้อนหรือสงสัยว่าอาจจะมีก้อนผิดปกติที่เต้านม ก็ ควรตัดสินใจได้แล้วโดยพาตนเองไปพบแพทย์โดยเร็ว หากคลำไม่พบก้อน หรือสิ่งผิดปกติ ที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง ก็ควรจะทำการตรวจซ้ำด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 2-3 เดือน

หรือถ้าไม่แน่ใจว่าท่านจะตรวจเต้านมตัวเองถูกหรือไม่ ก็อาจจะพาตนเองไปตรวจ แมมโมแกรมเสียเลยก็ได้ในช่วงที่มีการรณรงค์นี้ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลมักจะมีโปรแกรมพิเศษที่จะตรวจให้ในอัตราต่ำอยู่แล้ว

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1