เภสัชกร ประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุล
อาการปวดประจำเดือนโดยทั่วไป เกิดขึ้นเนื่องจากผนังมดลูกมีการสร้างสารชนิดที่เรียก ว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมามากขึ้น หรือมีความไวต่อสารตัวนี้ เพิ่มขึ้น ทำให้มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกและมดลูกหดตัวแรงขึ้น อันเป็นสาเหตุของ อาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเลือดหดตัวในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้อีก เช่น ทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเดิน ร่วมกับอาการปวดประจำเดือน
อาการปวดประจำเดือนจะรุนแรงในวันแรกของการมีประจำเดือน แล้วค่อย ๆ ลดลง แต่ก็มีสตรีบางคนอาจจะมีอาการปวดตลอดระยะเวลาของการมีประจำเดือน ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวดได้ โดยการวางถุงน้ำร้อนบริเวณหน้าท้องหรือพักผ่อน ให้เพียงพอ หากปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาที่มีฤทธิ์ ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นสารที่เป็นสาเหตุสำคัญของการปวดประจำเดือน ได้แก่ กลุ่มยาต้านอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ส่วนในตำรับยาแผนโบราณให้รับประทานตังกุย หรือใช้ดอกคำฝอยชงดื่มเป็นยาบำรุง โลหิตประจำเดือน และบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้
เภสัชกร ประวิทย์ ตันติสุวิทย์กุล
ที่ปรึกษาองค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข
main |