มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารแม่และเด็ก ปีที่ 21 ฉบับที่ 308 ตุลาคม 2540 ]

วิธีลดปวดประจำเดือน

ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุภระฤกษ์


การมีประจำเดือน เป็นเครื่องหมายของสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือ ตั้งแต่อายุได้ ประมาณ 12 ปี จนถึงอายุเฉลี่ยประมาณ 55 ปี โดยการทำงานของฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ที่มีหน้าที่ในการควบคุมกระบวนการสร้างไข่ ตกไข่ ตลอดจนการนำไปสู่ การปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย และการฟักตัวเป็นมนุษย์ในที่สุด

ประจำเดือนที่มาตามปกตินั้น จะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายดำเนินไปตามปกติ เพราะไข่ที่ไม่ได้รับการผสม จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ฝังตัว ของไข่ ถูกขับออกมา เป็นการถ่ายเทของเก่าเพื่อสร้างของใหม่ ทำให้ไม่มีของเสียคั่งค้าง ภายใน จึงนับว่าเป็นผลดีของการมีประจำเดือน

อย่างไรก็ตาม คุณผู้หญิงจำนวนมาก ก็ยังรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่อยากให้ช่วงเวลานั้ ของเดือน มาถึงเร็วนัก เพราะกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น ต้องงดการว่ายน้ำหรือการกระโดดโลดเต้น อีกทั้งยังต้องคอยระมัดระวัง และกังวล กับรอยซึมเปื้อน ทำให้ความั่นใจลดลง รวมไปถึงความไม่สบายกายอีกมากมาย เช่น อาการวิงเวียน คลื่นไว้ ท้องอืด เบื่ออาหาร หงุดหงิด มีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ อันเนื่องมาจากระดับฮอร์โมนเพศลดลงจากระดับปกติ ที่สำคัญคุณผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ยังต้องประสบกับปัญหาปวดท้องในขณะมีประจำเดือน ซึ่งสร้างความทรมาน ทั้งทางร่างกาย และอารมณ์ จนบางครั้งอาจส่งผลต่อการทำงานปกติ หรือการดำเนินชีวิตประจำวันได้

ความจริงแล้ว อาการปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการมีประจำเดือนแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ใด ๆ เพียงแต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงบางคน ที่มดลูกมีการบีบรัดตัว อย่างรุนแรง เท่านั้น จึงไม่มีอะไรที่น่าวิตกกังวล เว้นเสียแต่ว่าจะมีการปวดถ่วงอย่างรุนแรง บริเวณท้องน้อย ซึ่งหากปวดมาก ๆ จนไม่เป็นอันกินอันนอนควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เพราะการปล่อยให้อาการปวดประจำเดือนรุมเร้า ทุกครั้งที่มีประจำเดือน โดยไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกวิธีนั้น อาจส่งผลเสียต่อ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตอย่างมากได้

การับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งวิธีที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งก็ใช้ได้ผล แต่การสะสมของยาแก้ปวดในร่างกาย อาจส่งผลต่อกระบวนการ การทำงานของตับ และยังอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้ ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ และเหมาะสม ไม่หักโหมจนเกิดอาการเจ็บป่วย เช่น การวิ่งอยู่กับที่ การออกกายบริหาร แบบเต้นแอโรบิก การเดินวันละ 10-20 นาที นอกจากจะช่วยให้ระบบการทำงาน ของร่างกายโดยรวม เป็นไปด้วยดีแล้ว ที่สำคัญช่วยให้ร่างกายสามารถทนกับ ความเจ็บปวดได้มากขึ้น

การบำรุงร่างกายด้วยอาหาร และสมุนไพรจีนอย่าง "ตังกุย" ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของผู้หญิงยุคนี้ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วว่า สารสกัดที่อยู่ในตังกุยมีคุณสมบัติในการต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จึงทำให้สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือน และอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวได้ รวมทั้งสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ และสม่ำเสมอ นอกจากนี้วิตามินบี 1 บี 6 บี 12 กรดโฟลิก และไบโอติน ที่มีอยู่ในตังกุยยังเป็นสารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเลือด บำรุงเลือด และฟอกเลือด สำหรับสตรีอีกด้วย ดังนั้น การรับประทานตังกุยเป็นอาหารบำรุงในช่วงนี้ จึงนับว่า มีความเหมาะสมยิ่ง นอกจากนั้นแล้ว การเลือกรับประทานอาหาร ที่ให้พลังงานสูง จำพวกแป้ง ไขมัน น้ำตาล และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ๆ เช่น ตับ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา หอย ถั่วเมล็ดแห้ง ก็จะช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง จากการที่ร่างกายต้องสูญเสียเลือดไป ในขณะมีประจำเดือนด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวที่กล่าวมาแล้ว ยังควรคำนึงถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ บางประการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นในระหว่างที่มีรอบเดือน นั่นคือ ควรพิถีพิถัน กับการทำความสะอาดร่างกายให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณ "จุดซ่อนเร้น" ขณะเดียวกันก็ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในขณะที่มีประจำเดือน คือ ไม่ใส่เสื้อผ้าที่หลวมหรือคับจนเกินไป เลือกรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่ งดดื่มน้ำเย็นจัด ๆ ไม่ปล่อยความคิดให้ฟุ้งซ่าน หรือหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องเลวร้าย รวมไปถึงไม่ควรทุ่มตัวหักโหมกับงานจนเกินไป พยายามทำใจให้สบาย ทำอารมณ์ให้สดชื่น แจ่มใสอยู่ตลอดเวลา

เพียงคุณปฏิบัติตัวให้พร้อมอยู่เสมอดังที่กล่าวมา ปัญหาการปวดรอบเดือน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้คุณหงุดหงิด ว้าวุ่นใจอีกต่อไป

ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุภระฤกษ์


ขอบคุณนิตยสารแม่และเด็ก ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1