ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล
เรามารู้จักโฟเลทกันก่อน โฟเลท, กรดโฟลิก (Folic acid) โฟลาซิน (Folacin) เป็นชื่อเดียวกันทั้งนั้นค่ะ คือ วิตามินในกลุ่มวิตามินบีที่ละลายน้ำได้
โฟเลทสำคัญต่อสุขภาพ ช่วยสังเคราะห์ยีนหรือสารพันธุกรรม (DNA) ให้คงรูปโครโมโซม จำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลล์ และการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ
ผลจากการขาดโฟเลท ทำให้เกิดความผิดปกติของการแบ่งตัวของเซลล์ การสร้างโปรตีน และฮีม ซึ่งเป็นสารสีแดงที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง เกิดภาวะโลหิตจางชนิดที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่กว่าปกติ การขาดโฟเลทนั้น พบได้ง่ายและพบมากในคนที่บริโภคไม่เพียงพอ กลุ่มทารก เด็กที่กำลังเจริญเติบโต และหญิงมีครรภ์ คือ กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดโฟเลทมากที่สุด
ปริมาณโฟเลทที่ควรได้รับจะได้รับมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับช่วงอายุ คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันของคนไทย จึงแนะนำว่า ควรบริโภคโฟเลทต่อวันดังตารางที่กำหนดมานี้
วัย | ทารก | ต่ำกว่า10ปี | เด็ก 10-19 ปี | ผู้ใหญ่ | หญิงตั้งครรภ์ | หญิงให้นมลูก |
---|---|---|---|---|---|---|
ปริมาณไมโครกรัม | 20-30 | 40-65 | 90-165 | 150-175 | 500 | 250 |
แหล่งโฟเลท ในสัตว์พบจากตับมากที่สุด ส่วนพืชพบในผักสีเขียว ผักโขม ผักคะน้า ส่วนผลไม้ พบโฟเลทในส้ม และแคนตาลูป
ความร้อนทำลายโฟเลท จึงควรปรุงอาหารประเภทผัก โดยทำให้สุกเร็ว ๆ เพราะความร้อนอาจทำลายโฟเลทได้ 80-90%
อาหารที่เสริมโฟเลท นอกจากแหล่งธรรมชาติในนม ธัญพืช อาหารเช้าสำเร็จรูปบางชนิด ก็เป็นแหล่งโฟเลทที่ดีด้วย
สิ่งขัดขวางการดูดซึมของโฟเลทไปใช้ในร่างกาย ได้แก่ แอลกฮอล์ ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกต่าง ๆ
ถ้าได้รับโฟเลทมากไป อาจจะทำให้ไม่เห็นความผิดปกติของการตรวจเลือด วัดภาวะการขาดวิตามินบี 12 ไปบ้าง แต่ก็พบความเป็นพิษน้อย
พึงตระหนักเสมอนะคะว่า โฟเลทนั้นเป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ แม้ว่าคุณสามารถได้รับโฟเลท จากการรับประทานผักสด โดยเฉพาะผักใบเขียว แต่ถ้าหากผ่านการหุงต้ม โดยผ่านความร้อน คุณค่าของโฟเลทที่ควรได้รับจะสูญเสียไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันคุณสามารถที่จะเลือก รับประทานอาหารที่จะเสริมวิตามินนี้ เช่น นมเสริมวิตามิน ก่อนซื้อทุกครั้งอย่าลืมตรวจสอบนะคะว่า ผลิตภัณฑ์ที่คุณเลือกซื้อนั้นสามารถโฟเลทในปริมาณ 500 ไมโครกรัม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการจัดทำสารอาหารของคนไทย
ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล
สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
main |