มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7กรกฎาคม 2541 ]

ฮอร์โมนสตรีเพศ : ดาบสองคมจริงหรือไม่

พญ.จันทรา เจณณวาสิน


สตรีหลายท่านมีความข้องใจว่าเธอควรได้รับฮอร์โมนเสริมหรือไม่ในเมื่อข้อมูลที่เธอได้รับ มีทั้งบวก และลบ ถึงแม้ว่าสตรีเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะได้รับผลดีทางด้านหัวใจ คือ อัตราตายเนื่องจาก หัวใจวายลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ถ้าเธอได้รับฮอร์โมนสตรีเพศเสริม และฮอร์โมนตัวนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมสูญเสียความจำ (ALZheimer's disease) ได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แต่จากสิถิติที่ว่าถ้าสตรีได้รับฮอร์โมนเสริมเกินสิบปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดมะเร็งของเต้านมสูงขึ้นถึง 43 เปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สตรี ไม่กล้าใช้ฮอร์โมนเสริม

กลุ่มนักวิจัยกรุงบอสตัน (The New England Medical Center) สรุปผลเมื่อต้นปีนี้ว่า ฮอร์โมนสตรีมีประโยชน์ในการทำให้สตรีมีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีมากกว่าจะมีโทษ บั่นทอนอายุและสุขภาพโดยทั่วไป ดังนั้น สตรีควรได้รับฮอร์โมนเสริมเมื่อร่างกายต้องการ ยกเว้นสตรีที่มีประวัติพี่น้องใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านม ถึงแม้สตรีที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง เบาหวาน โคเลสเตอรอลสูง มีระดับไขมันชนิดต่ำ (HDL) และสูบบุหรี่ ถ้าเธอได้รับ ฮอร์โมนสตรีเพศเสริมแล้ว คุณประโยชน์ที่เธอได้รับย่อมสูงกว่าอันตรายจากการเสี่ยง ของมะเร็งเต้านมอย่างมาก

สตรีที่ไม่ควรได้รับฮอร์โมนเสริมคือ สตรีที่มีมารดาหรือพี่สาวเป็นมะเร็งของเต้านม สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์คลอดบุตรเลยหรือมีบุตรเมื่ออายุ 30 ปี ขึ้นไป รวมทั้งสตรีที่เริ่มมี ประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยมาก และมีวัยหมดประจำเดือนเมื่ออายุเกิน 55 ปี และสตรีที่มีปัญหาก้อนในเต้านมและต้องรับการผ่าตัดนำชิ้นเนื้อไปตรวจดู

ถ้าคิดถึงสถิติของสตรีชาวอเมริกันตลอดช่วงอายุยืนยาวถึง 85 ปี แล้ว อัตราการเกิด มะเร็งเต้านมมีได้หนึ่งในแปด โดยที่ส่วนมากมะเร็งเกิดเมื่ออายุสูงราว 50 ปี ดังนั้นสตรีมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้เหมือนกัน ไม่ว่าเธอจะได้รับฮอร์โมนเสริม หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ การตรวจเต้านมด้วยเอกซเรย์ (Mammography) จึงเป็นสิ่งจำเป็น ในการช่วยค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก เพราะว่าถ้าก้อนมะเร็งโตถึงขนาดที่มือคลำได้แล้ว ส่วนมากมะเร็งจะมีหลายพันล้านเซลล์ และกระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ฮอร์โมนสตรีเพศ มีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้เร็วแต่มิใช่เป็นตัวก่อให้เกิดมะเร็ง คือมันเป็น เสมือนปุ๋ยทำให้มะเร็งงอกงาม ด้วยเหตุนี้การรับการตรวจเต้านมด้วยเอกซเรย์ จึงจำเป็น อย่างยิ่งในการตัดไฟต้นลม

จากรายงานผลการศึกษาสุขภาพของกลุ่มพยาบาลที่เฝ้าตรวจดูกลุ่มสตรีในวัยหมดประจำเดือน จำนวน 60,000 คน โดยที่สตรีกลุ่มนี้มิได้ดื่มเหล้า แต่เธอได้รับฮอร์โมนเสริมตามแพทย์สั่ง ปรากฏว่าฮอร์โมนเสริมไม่ได้เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งของเต้านมเลย แต่อย่างไรก็ตาม การได้รับฮอร์โมนเสริมเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคของถุงน้ำดีและเส้นเลือดอักเสบ รวมทั้งอัตราการเกิดมะเร็งของมดลูก ด้วยเหตุนี้ สตรีที่มีมดลูกอยู่ แพทย์ขอให้สตรีผู้นั้น รับประทานยาพวกโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสตรีเพศอีกตัวหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยง ในการเกิดมะเร็งของมดลูก

เมื่อระดับฮอร์โมนสตรีเพศลดลง บางคนเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย, หงุดหงิด, หน้ามืด นอนไม่หลับ ถึงแม้เธอมีอายุเพียงไม่ถึง 40 ปี และประจำเดือนมาสม่ำเสมอ ต่อมาเมื่อระดับ ฮอร์โมนลดลงจนประจำเดือนมามาหยุดหยุด ไม่เป็นเวลาตามกำหนด อาจมีจำนวนเลือด ออกมากขึ้นหรือน้อยลงแต่ออกมาเป็นระยะยาวนานกว่าปกติ พร้อมกันนี้เธออาจมีอาการ ซึมเศร้า,ฉุนโกรธง่าย, ร้อนวูบวาบตามผิวหน้าและลำตัวและรู้สึกว่าร้อนกว่าคนทั่วไป อาจมีเหงื่อออกกลางคืนอาการปัสสาวะบ่อย, กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง, ช่องคลอดอักเสบ, มีการติดเชื้อเพราะระดับฮอร์โมนที่ลดลงทำให้ผนังช่องคลอด, ผนังกระเพาะปัสสาวะและผิวหนังโดยทั่วไปบางลง, โดยเฉพาะบริเวณปากช่องคลอด ด้วยเหตุนี้ บริเวณอวัยวะเพศซึ่งผิวละเอียดอ่อน, ไม่ควรใช้สบู่หรือขัดถูแรง ๆ ควรใช้น้ำล้าง บริเวณนั้น โดยใช้มือค่อยทำความสะอาดเบา ๆ หลายคนมีอาการคันบริเวณข้างนอก ปากช่องคลอดเนื่องจากการขัดถูแรง ๆ และใช้สบู่ฟอกทำให้ผิวนอกสึกกร่อน ปลายประสาท ที่รับสัมผัสไวมากบริเวณนั้นเมื่อไม่มีผิวหนังปกคลุมย่อมก่อให้เกิดอาการคัน เมื่อสตรีมีความรู้สึกคัน เธอใช้มือเกายิ่งทำให้ผิวหนังถลอกลอกถึงชั้นประสาทมารับสัมผัส นับเป็นวัฏจักร "ยิ่งคัน ยิ่งเกา, ยิ่งเกา ยิ่งคัน" จนผิวลอกหลุดถึงปลายประสาทที่รับ ความรู้สึกเจ็บซึ่งอยู่ลึกลงกว่าประสาทที่รับสัมผัส ด้วยเหตุนี้บางคนเกาจนถึงเกิดความ รู้สึกเจ็บ, มีเลือดออกซิบ ๆ จนหมดอาการคัน เพราะเกิดความรู้สึกเจ็บขึ้นมาแทนที่ ดังนั้น การใช่สบู่แรง ๆ ถูฟอกบริเวณเนื้ออ่อนแถบอวัยวะเพศสตรี, การไม่ใช่ผ้าอนามัยบางชนิด ที่ใส่น้ำยาดับกลิ่น หรือน้ำยาทำให้กลิ่นหอมซึ่งอาจระคายเคืองเนื้ออ่อน ๆ และการไม่ใช่มือเกาบริเวณนั้น ย่อมเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสภาพของเนื้อเยื่อ บริเวณดังกล่าว นอกจากนี้บางรายต้องใช้ฮอร์โมนชนิดครีมทาเพื่อเสริมสร้างความหนาตัว ของเนื้อผิวหนังแถบนั้น

สตรีหลายท่านที่มีปัญหาประจำเดือนไม่สม่ำเสมอเพราะเข้าสู่วัยก่อนหมดประจำเดือน ที่เรียกว่า "ภาวะก่อนหมดประจำเดือน" (Perimenopause) บางครั้งประจำเดือนออกมาก และออกนานเป็นเวลาเกิน 10 วัน นอกจากแพทย์ให้เธอรับประทานยาบำรุงธาตุเหล็ก เพื่อสร้างเลือด แนะนำอาหารพวกผักใบเขียว ตับและไข่ แล้วการใช้ฮอร์โมนควบคุม ให้ประจำเดือนมีสม่ำเสมอจัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นของสตรีกลุ่มนี้ แต่ความที่เธอต่างเป็นกังวล ถึงข้อเสียต่าง ๆ ของการได้รับฮอร์โมนเสริมย่อมทำให้บางคนรับประทานฮอร์โมนเสริม ช่วงระยะหนึ่งแล้วหยุดเอง โดยไม่ได้บอกให้แพทย์ผู้ดูแลทราบหรือเปลี่ยนแพทย์นั้น ก่อให้เกิดปัญหาเลือดออกไม่หยุดหรือลำบากในการควบคุมประจำเดือน เพราะอาจต้อง เปลี่ยนวิธีการใช้ยา หรือถึงขั้นขูดมดลูกและได้รับการผ่าตัด รวมถึงการใช้แสงเลเซอร์ เข้าช่วยบำบัดในโพรงมดลูก

โดยเฉลี่ยสตรียุคปัจจุบัน ใช้ชีวิตนับถึงหนึ่งในสามของอายุอยู่ในช่วงที่หมดประจำเดือน ร่างกายขาดฮอร์โมนสตรีเพศซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ (Quality of life) อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบทบาทของสตรีสมัยนี้มีมากขึ้น ไม่ว่าทั้งในงานภาคเอกชน และภาครัฐบาล ตลอดจนถึงการเมือง, เศรษฐกิจ

ดังนันถึงแม้ฮอร์โมนสตรีเพศมีข้อพึงระวังดังกล่าวแล้วแต่คุณประโยชน์นั้นมีมาก จะเปรียบเสมือนดาบสองคมที่ผู้ใช้รู้จักวิธีใช้ย่อมไม่เกิดผลร้ายแด่เจ้าของนั่นเอง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องข้อและกระดูกเสื่อม เรื่องเกี่ยวกับความจำเสื่อมรวมทั้งหัวใจวาย

คนไข้ที่มาดิฉันบางคนบอกว่า สามีส่งมาหาเพราะอารมณ์ผันแปรมากจนสามีทนไม่ไหว หรือหมดความรู้สึกกระตือรือร้นในเรื่องหลับนอนกับสามี ซึ่งฮอร์โมนสตรีเพศเป็นตัวหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งทางด้านจิตใจ และเนื้อหนังรวมทั้งน้ำหล่อเลี้ยงช่องคลอด ที่เหือดแห้งไปตามระดับฮอร์โมนที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การได้รับฮอร์โมนเสริม ไม่ว่าเป็นแบบชนิดรับประทาน ชนิดฉีด ชนิดทาครีมหรือที่เคลือบบนแผ่นปลาสติกใส ใช้แปะตามผิวหนัง ควรได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ เพราะวิธีทางการใช้ และขนาดมากน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน ที่มีร่างกาย และวัยแตกต่างกันไป รวมทั้งการตอบสนองต่อฮอร์โมรแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน นอกจากนี้บางคนรับประทาน อาหารเสริมหรือเวชภัณฑ์บางชนิดที่อาจมีส่วนเสริมและลดคุณประโยชน์ของฮฮร์โมน อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายส่มำเสมอแม้แต่เพียงเดินเร็ว ๆ วันละครึ่งชั่วโมง การปรับสภาพจิตใจให้ไม่เครียดมีแต่ความร่างเริงแจ่มใส ไม่หมกหมุ่นกับเรื่องที่หนักใจ ซึ่งผ่านมาแล้ว แถมแก้ไขอย่างไรก็ไร้ผลดี คือ บางเรื่องต้องตัดใจ มุ่งหน้าคิดเรื่องที่ดี ที่เป็นคุณประโยชน์แก่สภาพจิตใจและร่างกายของเราให้คุ้มกับที่มีชีวิตยืนยาวอยู่มาจนบัดนี้

พญ.จันทรา เจณณวาสิน


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1