มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 มกราคม 2541 ]

ฮอร์โมนเสริมเพื่อความเยาว์วัยของสตรี

พญ.จันทรา เจณณวาสิน


วันวานที่ผ่านไปพร้อมกับสังขารที่เปลี่ยนแปร เสื่อมถอยไปตามวัย ถึงแม้ว่าคนเราในยุคนี้ มีอายุขัยโดยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น เนื่องจากการระวังรักษาสุขภาพด้วยตนเอง และโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่อวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะต่อม (Glands) ไร้ท่อหลายแห่ง ที่ผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีความจำเป็นในการดำรงชีวิตย่อมเสื่อมประสิทธิภาพลดถอยไปตามกาลเวลา

ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบัน วงการวิจัยทางด้านผู้สูงอายุได้เสนอผลดีผลเสียของการให้ฮอร์โมนเสริม เป็นต้นว่า
ฮอร์โมนเสริม
  • ฮอร์โมนสตรีเพศเอสโตรเจน (Estrogen)
  • โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
  • ฮอร์โมนจากต่อมธัยรอยด์
  • ฮอร์โมนบุรุษเพศ เทสโทสเตอโรน (Testosterone)
  • ฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต (Growth hormone)
  • ฮอร์โมนสำหรับต่อมหมวกไต ที่มีชื่อย่อว่า "DHEA" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศชาย, หญิง
  • และอีกหลายชนิดที่คาดว่ามีผลดี

ฮอร์โมนสตรีเพศเอสโตรเจนนั้น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีความสำคัญสำหรับสตรี ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างมาก เพราะเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับร่างกายส่วนต่าง ๆ ทุกระบบ อาการสำคัญที่ทำให้สตรีมาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องฮอร์โมนตัวนี้ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบตามเนื้อตามตัว โดยเฉพาะแถบใบหน้า บางคนมีหน้าแดงและเหงื่อแตก ทั้งนี้เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ย่อมมีผลกระทบต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เส้นโลหิตฝอยตามผิวหนังขยายตัว อย่างทันทีทันใด   ก่อให้กระแสโลหิตไหลมาคั่ง บริเวณผิวหนัง ปรากฏการณ์นี้อาจเกิดบ่อยถึงวันละ 20 ครั้งหรืออาจเกิด เพียงแค่เดือนละครั้งเดียว แต่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของสตรีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ไม่เกิดปัญหานี้ อาการเหงื่อออกมากอย่างทันทีทันใดนั้น ถ้าเกิดตอนกลางคืน (Night sweats) ย่อมรบกวนสตรีผู้นั้น ทำให้หลับไม่สนิท ยังผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด และอาจเศร้าซึมด้วยอีกประการหนึ่ง เพิ่ม

นอกเหนือจากผลของฮอร์โมนที่มีต่อสภาพจิตใจไปในทางซึมเศร้ามักโกรธง่าย มีอารมณ์แปรปรวน บ่อยครั้งขึ้น ถ้าสามีหรือบุคคลรอบข้างไม่เข้าใจถึงปัญหานี้ ย่อมก่อให้เกิดการแตกแยกบานปลาย ออกไปอีก สตรีหลายคนที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อการขาดฮอร์โมนนี้ถึงขั้นวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อาจถึงกับเป็นลม และมีอาการใจสั่นเพราะระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงนี้ อาจมีผลไปกระทบกระทั่งเส้นประสาท ของกล้ามเนื้อหัวใจโดยเฉพาะยามที่สตรีผู้นั้นเหนื่อย หรือมีเรื่องเครียด

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหัวใจและกระดูกได้สนับสนุนให้สตรีผู้อยู่ในหมดประจำเดือนได้รับฮอร์โมน เอสโตรเจนเสริม เนื่องจากข้อมูลตามสถิติแสดงให้เห็นว่าอัตราตายที่เกิดจากโรคหัวใจวาย พบในสตรีน้อยกว่าในบุรุษ ต่อเมื่อสตรีเข้าสู้วัยหมดประจำเดือนแล้ว ถึงได้มีอัตราตายจากโรคหัวใจวาย กลับสูงขึ้น

และในสตรีกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนสตรีเพศเอสโตรเจนเสริมนั้น นักวิจัยพบว่า ฮอร์โมนช่วยลด การเกิดโรคหัวใจในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะช่วยลดระดับไขมัน ชนิดเลวร้าย (LDL) ช่วยเสริมความยืดหยุ่นในเส้นเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจ ส่วนปัญหาข้อเสื่อม Osteo arthritis และกระดูกผุนั้น เป็นสาเหตุให้สตรีหันมาพึ่งพาฮอร์โมนนี้มากขึ้น

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงทำให้พลังกล้ามเนื้อลดลงด้วย อารมณ์เครียด และการเกร็งกล้ามเนื้อ บางส่วนย่อมทำให้กล้ามเนื้อตามคอและหลังกระตุกแข็งตัว (Spasm) ผสมโรงกับการไม่ออกกำลังกาย ก่อให้เกิดความรู้สึกปวดเมื่อยตัวแข็งข้อแข็งไปหมด รวมทั้งมีน้ำคั่งในกระดูกข้อต่อและในขา ดังนั้นการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งการฝึกโยคะและมวยจีน ตลอดจนการทำสมาธิ จะช่วยลดอาการดังกล่าว เอสโตรเจนเป็นตัวสำคัญในการทำให้กระดูกแข็งแกร่ง เพราะเมื่อระดับฮอร์โมนลดลง กระดูกสูญเสียแคลเซียม (ธาตุหินปูน) จนเกิดสภาพกระดูกเสื่อม กระดูกผุ (Osteoporosis) เป็นเหตุให้กระดูกหักได้ง่าย ซึ่งพบได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ในสตรีสูงอายุ ที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริม ส่วนที่พบปัญหาหักบ่อย คือ กระดูกข้อมือ, กระดูกสะโพก, กระดูกสันหลัง ดังนั้นนอกจากการได้รับฮอร์โมนเสริมแล้ว การรับประทานแคลเซียม โดยเฉพาะทางอาหารตามธรรมชาติ เช่น ผักใบเขียว นม เนย

ตัวการสำคัญที่ทำให้สตรีสนใจในการรับประทาน หรือแปะแผ่นยางที่มีฮอร์โมน แม้แต่บางรายฉีดฮอร์โมนและทาฮอร์โมนนั้น คือ ฮอร์โมนนี้ช่วยลดความเหี่ยวย่นของผิวหนัง เนื่องจากระดับฮอร์โมนมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อต่าง ๆ (แบบเดียวกับตามข้อต่อต่าง ๆ) ดังนั้น ความตึงเต่งของผิวหนัง ขึ้นกับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และการป้องกันแสงแดด ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการทำให้ดูผิวแก่วัย

ปีที่ผ่านมา สถาบันมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ได้เสนองานวิจัยว่า การใช้ฮอร์โมนสตรีเพศเสริมนี้ ช่วยลดอัตราตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) ได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ สตรีกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนเสริมเลย ทั้งนี้นักวิจัยคาดว่า เนื่องจากเอสโตรเจนช่วยลดการผลิต กรดน้ำดี (bile acid) ซึ่งคาดกันว่าเป็นตัวการก่อให้เกิดเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ เอสโตรเจน ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้อาหารไม่แช่เป็นพิษอยู่นานในลำไส้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ เมื่อระดับฮอร์โมนสตีเพศลดลงในวัยหมดประจำเดือน ระบบทางเดินอาหารถึงได้เฉื่อยชา เชื่อช้าลงจนเกิดลมคั่ง มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว ท้องผูก การเลือกรับประทานอาหารบางชนิด และการออกกำลังร่วมกับฮอร์โมนเสริมจะช่วยลดปัญหานี้

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen Replacement therapy -ERT-) ช่วยลดกรณีฟันหัก, ฟันโยกผุ เพราะเอสโตรเจนช่วยลดปัญหากระดูกขากรรไกรเสื่อม กระดูกขากรรไกรซึ่งเป็นตัวรองรับฟันนี้ แข็งแรงขึ้นในรายที่ได้รับฮอร์โมนเสริม โดยสตรีกลุ่มนี้สูญเสียฟัน (หนึ่งซี่หรือมากกว่า) น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเสริมถึง 24 เปอร์เซ็นต์ (จากผลการทดลองของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)

นอกจากเอสโตรเจนยังช่วยเสริมสร้างผนังของช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะให้แข็งแรง ผิวบุช่องคลอด และผิวบุกระเพาะปัสสาวะสมบูรณ์เหมือนเยาว์วัย และช่วยคงสภาวะความยืดหยุ่นของ กล้ามเนื้อ และพังผืดตามอวัยวะทั้งสองแห่ง และอวัยวะเพศส่วนอื่น ๆ เพื่อช่วยลดกรณีของ กระบังลมหย่อน มดลูกเคลื่อนต่ำอันเป็นเหตุให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ ซึ่งยังผลไปถึงการอยู่ร่วมเพศสัมพันธ์จนสตรีเกิดอาการเจ็บแสบ และถ้ามดลูกเคลื่อนต่ำลงมา ถูกแรงกระแทกจากอวัยวะเพศชาย ย่อมทำให้สตรีผู้นั้น ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ได้

สตรีเมื่อมีอายุสูงขึ้นอาจสังเกตว่า เธอมีโอกาสเกิดสิวตามใบหน้า แผ่นหลัง บริเวณหัวหน่าวได้ง่าย นอกจากนี้อาจพบว่าเธอมีขนอ่อน ๆ เกิดขึ้นเหนือริมฝีปากหรือคาง ทั้งนี้เพราะเมื่อ ระดับฮอร์โมนสตรีเพศเอสโตรเจนลดต่ำลง ระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ซึ่งมีอยู่ในตัวสตรีผู้นั้นตามปกติอยู่แล้ว ย่อมสำแดงฤทธิ์ออกมาโดยมีผลกระตุ้น การเจริญเติบโต ของขนตามใบหน้า แนวหนวดและแนวเครา (รังไข่ และต่อมหมวกไตของสตรี ผลิตฮอร์โมนเพศชายตัวนี้อยู่ตลอดเวลาในระดับคงที่และอาจเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น)

ฮอร์โมนสตรีเพศเอสโตรเจนนี้ มิใช่แต่มีความสำคัญในการรักษาสภาพร่างกายให้เสื่อมช้าลงเท่านั้น ยังมีความสำคัญต่อความคิดความอ่าน ความทรงจำ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของสมองอีกด้วย ทั้งนี้เพราะการวิจัยแสดงให้เห็นว่า เอสโตรเจนมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและการคงสภาพ ของเซลล์ในสมอง จากการทดลองในสัตว์พบว่า เซลล์สมองฝ่อตายไปถ้าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ลดต่ำลง

กรณีของสุภาพบุรุษนั้นฮอร์โมนเพศชายซึ่งทำหน้าที่ช่วยความจำแบบเดียวกับเอสโตรเจนไม่ลดระดับ ลงฮวบฮาบ ในบุรุษที่สูงอายุเหมือนกับระดับเอสโตรเจนของสตรีเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การได้รับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน นอกจากช่วยปกป้องเซลล์ของสมองแล้ว ยังพบว่าช่วยเพิ่ม ปริมาณสารที่ชื่อ "อเซทีลโคลีน" (Acetylcholine) ซึ่งมีบทบาทในการสื่อสารของเซลล์ประสาท และยังผลโดยตรงต่อความทรงจำ ดังนั้นสรุปว่า เอสโตรเจนช่วยรักษาสภาพสมองของสตรีเพศให้คงที่ ไม่เสื่อมถอยจนเกิดโรคความทรงจำเสื่อม (Aizheimer's disease) รวมทั้งการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ และทักษะในการพูดจา (จากการทดลองระยะ 10 ปี ของ Barbara Sherwin Ph.D. ศาสตราจารย์ ทางจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Mc Gill ใน Montreal และกลุ่มนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Hopkins)

อย่างไรก็ตาม บางอย่างเมื่อมีคุณอนันต์อาจมีโทษมหันต์ ดังนั้นการได้รับฮอร์โมนเสริม ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด สตรีผู้มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งมดลูก ย่อมต้องพิจารณาเป็นพิเศษรวมทั้งการตรวจเต้านมโดยถ่ายภาพรังสี (Mammogram) การตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ

ปัญหาการได้รับฮอร์โมนเพศชายเสริมนี้ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป และยังอยู่ในขั้นที่ต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพราะยังอยู่ในระยะทดลองเป็นส่วนใหญ่ แต่ผลจากการวิจัยหลายแห่งยืนยันถึงผลดีของการให้ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนเสริมว่า ช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแกร่งขึ้น บุรุษผอมลง ความทรงจำดีขึ้น ส่วนความต้องการทางเพศสูงขึ้น การตัดสินใจดีขึ้น ไม่หลงทิศทางช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจ เพราะมันช่วยลดระดับไขมันตัวเลวร้าย (LDL) ขณะเดียวกับที่เสริมระดับไขมันตัวที่ดี (HDL cholesterol level) (จากการทดสอบในมหาวิทยาลัย จอห์นสฮอปกินส์ และSt.Louis University Medical School )

ส่วนฮอร์โมน DHEA ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยช่วยให้คนทำงานไม่เหนื่อย มีร่างกายแข็งแรงขึ้น ไม่อ่อนเพลียหรือง่วงเหงาหาวนอน และฮอร์โมนที่มีชื่อว่า human growh hormone (hGH) ช่วยทำให้กล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระดูกสันหลังหนาตัว ผิวหนังตึงดูเหมือนวัยหนุ่มสาว ริ้วรอยเหี่ยวย่นหายไป สภาพจิตใจและร่างกายรู้สึกกระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง ไขมันที่พอกอยู่ตามตัวลดลง (เมื่อคน 12 คน อายุ 61 ปี) ได้รับการฉีดฮอร์โมน hGH เป็นเวลา 6 เดือน ที่สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งวิสคอนซิน)

อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมน hGH มีส่วนในการทำให้เกิดเบาหวาน ความดันโลหิตสูง น้ำคั่งตามข้อต่อ ทำให้ปวดข้อและข้อมือ ที่เรียก Carpal tunnel syndrome และ DHEA อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ ถ้าได้รับในขนาดมากพอควร ด้วยเหตุนี้วงการวิจัยจึงต้องค้นคว้าในการหาว่า ฮอร์โมนขนาดใดปริมาณเท่าใดจึงเหมาะสมและพอเพียงต่อการเสริมสร้าง และทดแทน ระดับฮอร์โมนที่ลดลงอย่างเอสโตรเจนนี้ ได้มีการใช้และทดลองกันมากนานจนทราบผลว่า อย่างน้อยขนาดเอสโตรเจนที่ช่วยคงสภาพกระดูก ไม่ให้ผุนั้นต้องเทียบเท่ากับขนาด Natural Conjugated Estrogen 0.625 mg (ชื่อในท้องตลาดคือ Premarin)

ถึงอย่างไร ไม่ว่าอาหารเสริมหรือฮอร์โมนชนิดใดไม่สำคัญมากไปกว่าสภาพจิตใจที่ดีงาม มีความเมตตา, กรุณา, มุทิตา และอุเบกขา รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดเสพสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ต่อสุขภาพของท่าน ทั้งนี้เพื่อบรรลุผลถึงพลานามัยที่ดีปราศจากโรคภัยทั้งปวง ดังพรปีใหม่ ที่ทุกท่านพึงประสงค์

พญ.จันทรา เจณณวาสิน


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1