นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์
อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของมนุษย์อันใดเลย ที่จะได้รับการศึกษาวิจัยและแทรกแซงเท่ากับกระบวนการตั้งครรภ์ (การเจริญพันธุ์) เพราะเพียง ช่วงเวลา 20 ปีนับตั้งแต่การลืมตามาดูโลกของหนูน้อย หลุยส์ บราวน์ ผู้เป็นผลผลิตของการ ผสมเทียมในหลอดแก้วรายแรกของโลก เมื่อปี 2521 เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ก็มีเด็กหลอดแก้วถึง 33,000 คน และโลกได้เป็นประจักษ์พยานของนวตกรรมใหม่ ๆ ในการสร้างทารกชนิดที่แหวกแนวผิดแปลกไปจากธรรมชาติมากมายหลายวิธี ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่เป็นหนูน้อยสมาชิกใหม่ของครอบครัว ที่เฝ้ารอวันเวลาดังกล่าวอย่างใจจดใจจ่อ แต่ก็มีบางรายที่จบด้วยความทุกข์ใจ จากปัญหาข้อกฎหมายตามไม่ทันวิทยาศาสตร์
เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีคลินิกระดับสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์ช่วยการเจริญพันธุ์ (FERTILITY CLINIC) กระจายอยู่ทั่วประเทศถึง 315 แห่ง และยังมีอีกหลายร้อยแห่งทั่วโลก ที่ล้วนตั้งขึ้นรองรับความต้องการของคู่สมรส ที่พยายามแล้วพยายามเล่าในการที่จะมีบุตร ไว้สืบสกุลตามวิธีธรรมชาติ แต่ไม่สำเร็จ ศูนย์เหล่านี้จึงเป็นความหวังของพวกเขาเหล่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้นับหญิงโสเภณีโสดที่ประสงค์จะอุ้มท้องมีลูกกับเขาสักคน แม้จะไม่มีพ่อก็ยอม
เป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร เพราะนั่น คือสัญชาตญาณปกติของมนุษย์ ที่ผ่านวิวัฒนาการมานับล้านปี ผ่านการโปรแกรมเข้าสู่สมอง และร่างกายว่า หนึ่งในคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตที่สำคัญคือ การสืบพันธุ์ได้
ใครที่เคยไปนั่งรอตรวจรักษาตามคลินิกผู้มีบุตรยาก คงจะได้เห็นภาพที่ตรึงตาตรึงใจ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นภาพคู่สมรสจับมือกันแน่นขณะที่ดวงตาและใบหน้า บ่งบอกความหวังขณะรอฟังผล หรือภาพคู่สมรสที่กอดกันกลมด้วยความยินดีต่อข่าวดีที่ได้รับทราบ คนอื่น ๆ ที่นั่งรอ คงมีโอกาสได้เห็นภาพของเด็กทารกหน้าตาน่ารักน่าชัง ที่เป็นผลผลิตของคลินิกนั้น ๆ แล้วแขวนเรียงรายไว้อวดผลงานกัน อย่างน้อยเพื่อแสดงให้ผู้ที่นั่งรอว่าชีวิตนี้ยังมีหวัง
อีกไม่นานนักหรอก คลินิกที่มีชื่อว่า REPRODUCTIVE BIOLOGY ASSOCIATES หรือ R.B.A. ซึ่งตั้งอยู่ที่ชานเมืองแอ็ตแลนตาในสหรัฐอเมริกา จะต้องแขวนภาพฝาแฝดชายคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตชิ้นแรกของโลกที่ได้จากการนำไข่ที่แช่แข็งมาแล้ว 2 ปี เพื่อมาปฏิสนธิ แล้วฝังตัวในหญิงอีกคนหนึ่ง ซึ่งรังไข่ไม่ทำงาน ไม่ว่าจะกระตุ้นด้วยยาขนานใดก็ตาม ทางออกที่เสนอให้เธอขอบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง ได้รับการปฏิเสธและเธอยอมรับวิธีใหม่ที่ยังถือว่า อยู่ระหว่างการทดลองนี้โดยมีข้อแม้ว่า ห้ามเปิดเผยเธอต่อสังคม แน่นอนที่สุดว่าความลับนี้คงจะเก็บไว้ไม่นานในเมื่อใคร ๆ ก็อยากรู้อยากเห็น
แปลกแต่จริงที่ว่าใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงในประเทศอุตสาหกรรมมีอัตราการมีบุตรยาก สูงขึ้นตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ผู้หญิงแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้น หรือมีบุตรช้าลง สถิติระหว่างปี พ.ศ.2532-2538 พบว่า หญิงชาวอเมริกันในวัยเจริญพันธุ์ มีบุตรยากเพิ่มจาก 4.9 ล้านเป็น 6.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 25% จึงไม่น่าแปลกใจว่า หากมีวิทยาการใหม่ ๆ ที่ค้นพบ เกี่ยวกับการช่วยเจริญพันธุ์ จะถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับหญิงเหล่านี้ทั้งสิ้น
การที่กรณีนำไข่แช่แข็ง 2 ปี มาใช้ได้ผลสำเร็จ ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะว่า ไข่ของหญิง จะมีความบอบบางมากกว่าตัวอสุจิมาก ความพยายามในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาในการแช่แข็งไข่ ประสบความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อนำมาละลายเพื่อใช้งาน อย่างไรก็ตาม ข่าวความสำเร็จนี้ ถูกบดบังด้วยข่าวการคลอดฝาแฝด 7 คน จนผู้คนทั่วโลกเฮโลไปติดตามข่าวฝาแฝดเจ็ด ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญทางการเจริญพันธุ์และคู่สมรสที่มีบุตรยาก ซึ่งให้ความสนใจโทรศัพท์ ซักถามรายละเอียดจากคลินิก RBA อย่างล้นหลาม
แพทย์ได้พยายามมานับศตวรรษแล้ว ในการเอาชนะธรรมชาติเกี่ยวกับการสร้างทารก และประสบความสำเร็จในการผสมเทียมเมื่อปี 2533 แต่รายที่นับว่าเป็นการผสมเทียมนอกมดลูก (ทารกในหลอดแก้ว) จริง ๆ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2521 และจากนั้นมา นักวิจัยได้ค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ ยุคไฮเทค จนปรากฏผลงานในเด็กหลอดแก้ว 33,000 รายที่สหรัฐอเมริกา โดยบูมสุดขีดเมื่อปี 2537 ซึ่งทำได้สูงสุดถึง 7,000 ราย
การผสมเทียมในหลอดแก้ว (IVF หรือ INVITRO FERTILIZATION) การใช้ยากระตุ้นการเจริญพันธุ์ และเทคนิคอื่น ๆ ได้ร่วมกันปฏิวัติวิธีการสร้างทารก และดูเหมือนกระบวนการปฏิวัติยังไม่สิ้นสุด เมื่อนักวิจัยทั่วโลก ยังคงศึกษาหาความรู้และสรรหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความหวัง ของคู่สมรสที่ไม่มีบุตร และให้โอกาสแก่หญิงยุคใหม่ที่ประสงค์จะชะลอการมีบุตร ไปจนกว่าเธอจะพร้อม
เทคนิคการแช่แข็งไข่ จะต้องพัฒนาต่อไปจนดีที่สุด เพื่อช่วยหญิงทั่วโลกจำนวนมาก ที่อาจเก็บรักษาไข่ไว้ก่อนที่รังไข่จะถูกทำลายโดยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา เนื่องจากมะเร็งที่เป็นอยู่ หรือเพื่อช่วยหญิงยุคใหม่ที่ประสงค์จะมีบุตร เมื่อตนพร้อมจริง ๆ แต่อาจจะมีอายุสูงเกินกว่าที่ รังไข่จะสมบูรณ์พอ
นอกจากการแช่แข็งไข่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังทำการเก็บเนื้อเยื่อรังไข่และอัณฑะ เพื่อใช้งานในอนาคตหาทางทำให้ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วในหลอดแก้ว ให้เกิดความแข็งแรง กว่าที่เป็นอยู่ก่อนจะนำไปฝังตัวในมดลูกบ้าง ถึงกับทำจุลศัลยกรรมเพื่อโยกย้ายหน่วยพันธุกรรม (โครโมโซม) จากไข่เก่าที่เสื่อมสภาพแล้วไปสู่ไข่สดฟองใหม่
เทคนิคเหล่านี้ ล้วนมีวัตถุประสงค์สำคัญสำหรับหญิงผู้มีบุตรยากให้เอาชนะธรรมชาติให้ได้
จริงอยู่ อเมริกาเป็นตลาดการผสมเทียมที่ใหญ่ที่สุด เนื่องจากความร่ำรวยของบรรดาลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย แต่พัฒนาการในเทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์ครั้งแรก ๆ เกิดขึ้นในประเทศอื่น อย่างเช่นกรณีทารกหลุยส์ บราวน์ ก็มาจากประเทศอังกฤษ เด็กทารกที่เกิดจากตัวอ่อนที่แช่แข็งมาก่อนจากออสเตรเลีย และการฉีดตัวอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรงก็เป็นผลงานของนักวิจัยที่ประเทศเบลเยียม วิธีหลังช่วยให้ฝ่ายชายที่มีตัวอสุจิอันอ่อนแอปวกเปียกว่ายน้ำไม่เก่ง สามารถมีบุตรได้ เรียกว่าวิธี อิ๊กซี่ ซึ่งมาจากคำย่อ ICSI (INTRAPLASMIC SPERM INJECTION)
การเลือกใช้วิธีต่าง ๆ จะเป็นไปตามความเหมาะสมภายใต้วิจารณญาณของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านการเจริญพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น สามีภรรยาคู่หนึ่ง ฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับตัวอสุจิตอนแรก ๆ หมอก็ลองวิธีผสมเทียมในหลอดแก้ว (IVF) เมื่อปี 2536 จนได้ลูกสาว ครั้งพอจะขอลอง IVF อีกเพื่อให้ได้บุตรคนที่สอง กลับไม่สำเร็จ จนหมอต้องลองวิธี ICSI จึงประสบความสำเร็จ ได้บุตรสาวคนที่ 2
คู่สมรสอีกคู่หนึ่ง ฝ่ายหญิงที่ท่อนำไข่อุดตัน (ซึ่งร้อยละ 35 ของหญิงที่มีบุตรยาก จะเกิดจากปัญหานี้) แพทย์ลอง IVF แต่แท้งเสียก่อน แพทย์ใช้ตัวอ่อนที่เหลืออยู่แล้วแช่แข็งไว้ก็ไม่สำเร็จ จึงลองนวตกรรมใหม่โดยเก็บไข่ชุดใหม่จากท้องฝ่ายหญิงแล้วใช้เทคนิคที่เรียกว่า ASSISTED ZONA HATCHING ซึ่งเป็นกระบวนการทำให้ เยื่อไข่ชั้นที่เรียกว่า โซน่า เพลลูซีด้า (ZONA PELLUCIDA) อ่อนตัวลงทางเคมี เพื่อให้โอกาสตัวอสุจิเจาะผ่านเปลือกไข่เข้าไปง่ายขึ้น ผลปรากฏว่า คู่สมรสนี้ได้ลูกชายมาเชยชมเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2540
เทคนิคการนำไข่แช่แข็งกลับมาใช้อีก ยังมีอัตราความสำเร็จต่ำ (2 ใน 23 รายที่แอ็ตแลนตา) และเป็นวิธีที่แพงมาก จึงยังไม่นำไปใช้ทั่วไป
เทคนิคใหม่ที่ส่อเค้าว่าจะใช้ได้ดีคือ การผสมเทียมในจานเพาะเลี้ยงไข่ แล้วเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ ในจานเพาะเลี้ยงได้นานขึ้นอีก 2-3 วัน แทนที่จะนำไปฝังในผนังมดลูกตั้งแต่อายุ 1-2 วัน ซึ่งตัวอ่อนยังบอบบางมาก แต่ก็จำเป็นเพราะหากทิ้งไว้นอกมดลูก จะมีการเปลี่ยนแปลง ทางเมตาบอลิสม์ของตัวอ่อน เนื่องจากน้ำหล่อเลี้ยงที่ใช้ทั่วไปไม่อาจเลี้ยงตัวอ่อนได้เพียงพอ นี่เองเป็นเหตุผลหนึ่งที่สูติแพทย์ต้องใส่ตัวอ่อนเข้าสู่มดลูกพร้อม ๆ กันหลายตัว เพื่อหวังผลสำเร็จมากขึ้น แต่ก็เกิดปัญหาตามมาคือ เกิดการฝังตัวสำเร็จมากกว่า 1 จนมีผลทำให้ได้ลูกแฝด 3, แฝด 4 หรือแม้แต่แฝด 5
นักเอมบริโอวิทยาชาวออสเตรเลียชื่อ เดวิด การ์ดเนอร์ และคณะแห่งศูนย์โลโลราโด เพื่อเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ค้นพบส่วนผสมสำหรับจานเพาะเลี้ยงที่สามารถทำให้ตัวอ่อนมีชีวิต และเติบโตได้นานถึง 5 วัน ทำให้แพทย์สามารถเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุด แล้วใส่เข้ามดลูกแบบที่จะต้องใส่ครั้งละ 3-5 ตัวอ่อน คาดว่าเทคนิคนี้จะใช้ทั่วไปได้ในปี 2541 นี้
อีกวิธีหนึ่งแทนที่จะใช้ไข่ของหญิง แต่กลับเก็บเนื้อเยื่อสร้างไข่ที่อยู่ในรังไข่มาแช่แข็งไว้ ทำให้หญิงนั้นสามารถเจริญพันธุ์ต่อไปได้ แม้รังไข่ต้องถูกตัดออกด้วยความจำเป็นใดก็ตาม เหมาะสำหรับทำกับหญิงวัยรุ่นที่อายุน้อยเกินกว่าจะเริ่มสร้างไข่สุกสมบูรณ์ หรือหญิงที่จะต้องรับรังสีรักษาก็รักษาไป ในเวลาต่อมาแพทย์สามารถนำเนื้อเยื่อรังไข่ที่แช่แข็งไว้ กลับไปปลูกถ่ายในร่างกาย เพื่อการเจริญพันธุ์ต่อไป (วิธีนี้ทดลองสำเร็จในแกะแล้วแต่ยังไม่ได้ลองทำในคน)
ผู้ชายก็อาจทำวิธีคล้ายคลึงกันคือ เก็บเนื้อเยื่ออัณฑะบางส่วนมาแช่แข็งไว้ คาดว่าวิธีดังกล่าวจะใช้แพร่หลายในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
วิธีใหม่ที่แปลกราวกับนวนิยายทางวิทยาศาสตร์คือ อาศัยความรู้พื้นฐานที่ว่าไข่ของหญิงสูงอายุ จะมีความเจริญพันธุ์ด้อยกว่าไข่ของหญิงสาว โดยเชื่อว่า เป็นผลจากกลไกทางชีววิทยา ที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์มากกว่าความผิดปกติทางโครโมโซม นักวิจัยจึงทดลองปลูกถ่ายแบบจุลศัลยกรรม โดยเอานิวเคลียสของเซลล์ที่มีโครโมโซม ของไข่หญิงสูงอายุมาใส่ในไข่ของหญิงสาว ซึ่งได้เอานิวเคลียสออกไปแล้ว ปรากฏว่าการปลูกถ่ายประสบความสำเร็จ โดยมีอัตราความผิดปกติของโครโมโซมเพียง 15%
แม้ไข่ดังกล่าวจะยังไม่สามารถผลิตทารกออกมาได้ แต่แนวทางกลับกันก็ใช้ได้ผลมาแล้ว ที่สหรัฐอเมริกากล่าวคือ คณะแพทย์ได้ทดลองดูดส่วนของเซลล์ที่เรียกว่าไซโตพลาสซึ่ม (CYTOPLASM) ซึ่งคือส่วนของเซลล์ที่ไม่ใช่นิวเคลียสของไข่หญิงสาวไปใส่ในไข่ของหญิงสูงอายุกว่า ปรากฏว่าไข่ฟองหนึ่งพัฒนาไปเป็นทารกแล้ว และอีกฟองหนึ่งคงจะเป็นทารกตามมาในปีนี้
การช่วยการเจริญพันธุ์ (ASSISTED REPRODUCTION) เป็นสาขาการแพทย์ที่มีการควบคุม กำกับดูแลน้อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่างจากในยุโรป คลินิกช่วยเจริญพันธุ์ ในสหรัฐอเมริกาไม่ต้องขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาต และหลายแห่งมุ่งแสวงหากำไรเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าสหรัฐอเมริกามีทั้งคลินิกช่วยเจริญพันธุ์ที่ดีที่สุด และหลายแห่งห่วยแตกที่สุดในโลก
วงการประกันสุขภาพก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเพราะในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก การผสมเทียมเพื่อผลิตทารกในหลอดแก้วได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย แม้ว่าการประกันสุขภาพส่วนบุคคลในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่จะไม่จ่ายเงินให้ การพยายามทำผสมเทียมแต่ละครั้ง สิ้นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 8,000 เหรียญสหรัฐ แถมยังเสี่ยงต่อการ ตั้งครรภ์แฝด เพื่อจะได้ไม่ต้องทำซ้ำบ่อยครั้งจนเกินไป
ประเด็นคำถามสำคัญที่สังคมต้องตอบให้ดีคือว่า คนเรามีสิทธิ์ที่จะเล่นบทบาทการเป็นพระเจ้า ในการแทรกแซงหน้าที่ทางชีววิทยาพื้นฐานที่สุดประการนี้ ?
แน่นอนที่สุดว่า ฝ่ายพัฒนาเทคนิคการเจริญพันธุ์คงอธิบายว่า พวกเขาเป็นเพียงปัจจัย ช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามธรรมชาติ ซึ่งก็แน่นอนที่สุดอีกว่า พวกเขามีแนวร่วม คู่สมรสที่มีบุตรยากนับแสนคู่ทั่วโลกที่แสวงหาความช่วยเหลืออยู่ทุกวันนี้
นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์
main |