กองบก.ใกล้หมอ
วิทยาการก้าวหน้าที่ช่วยคู่สมรส ซึ่งมีบุตรยากให้มีบุตรสืบสกุลได้นั้น ประสบความสำเร็จมากพอ ที่จะเป็นความหวังของคู่สมรสที่มีบุตรมากทั่วโลก ทั้งยังมีวิธีต่าง ๆ ให้เลือกมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้อกฎหมายและจริยธรรมก็เกิดตามมาอย่างชนิดที่คาดไม่ถึง
ยกตัวอย่างวิธีช่วยการเจริญพันธุ์แบบ "อิ๊กซี่" (ICSI) ซึ่งเป็นวิธีฟังดูง่าย ๆ คือ จับตัวอสุจิของฝ่ายชาย ฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจาก ความผิดปกติของตัวอสุจิที่ทำให้มีบุตรยากนั้นจริง ๆ แล้ว อาจเป็นเพราะความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งในกรณีนี้การนำตัวอสุจิไปปฏิสนธิ ให้เกิดทารก ก็หมายความถึง การส่งต่อพันธุกรรมที่ผิดปกติไปสู่ทายาทซึ่งไม่น่าจะเป็นการดีเลย
หรือในบางรายตัวผู้ชายประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตแล้ว ฝ่ายภริยาหรือหญิงอื่นเกิดอยากให้หมอ เก็บตัวอสุจิมาผสมเทียม อาจเป็นปัญหาข้อกฎหมายได้เพราะ ฝ่ายชายซึ่งเสียชีวิตไปแล้วนั้น ไม่อาจลงนามยินยอมได้
ตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ก็เป็นปัญหาได้ เพราะมีคำถามมากมายที่หาคำตอบไม่ได้ เช่น
ทางแก้ที่สำคัญคือ ให้นำไข่ที่ยังไม่ปฏิสนธิมาแช่แข็งแทน เพราะไข่อย่างนี้ไม่มีทางถือว่าเป็นมนุษย์ได้ (แม้ว่าทางโรมันคาทอลิกไม่ยอมรับการผสมเทียมเกือบทุกอย่างอยู่แล้ว) ข้อสำคัญคือ จะไม่มีประเด็นใครเป็นเจ้าของมาเกี่ยวข้อง เนื่องจากไข่ที่ไม่ได้ปฏิสนธินั้นยังไม่มีพ่อ
พอวงการแพทย์แก้ปัญหาทางจริยธรรมและข้อกฎหมายไปได้เปลาะหนึ่งก็ต้องเผชิญกับอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งแปลกไปอีกแบบหนึ่ง
แต่เดิมนั้นพอหญิงลุเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ก็หมายความว่า เธอไม่มีไข่เหลือไว้ทำพันธุ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม, อุปกรณ์อื่น ๆ ในการเจริญพันธุ์ของเธอก็ยังอยู่ และกระตุ้นให้ทำงานต่อได้ ด้วยฮอร์โมนเสริม หญิงวัยหมดประจำเดือนสมัยใหม่ จึงตั้งครรภ์ได้โดยอาศัยไข่คนอื่น
แล้วใครจะเชื่อเล่าว่า เกิดมีหญิงอายุสูงกว่า 50 ปีอุ้มท้องนับ 100 แล้ว ในสหรัฐอเมริกา และอีกเท่าไรไม่ทราบทั่วโลก แม้สถิติตัวเลขอายุ 60 ปี ที่ว่าแก่ที่สุดแล้วในการตั้งครรภ์ ยังถูกทำลายไปถึง 2 ครั้ง คือ หญิงวัย 63 ปี ที่แคลิฟอร์เนียไปโกหกอายุกับหมอ แล้วอุ้มท้องจนคลอดบุตรสำเร็จ ก่อนหน้านี้ในปี 2537 ก็มีหญิงชาวอิตาเลี่ยนวัย 62 ปีคลอดบุตร
ยังดีว่าไม่มีคุณยายคุณย่าวัย 70-80 ปีที่ขออุ้มบุญบ้าง แต่นักวิจัยก็บอกเผื่อไว้แล้วว่า โดยหลักการแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีการจำกัดอายุหญิงที่จะตั้งครรภ์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงว่าในอนาคต เมื่อหญิงจำนวนหนึ่งฝากไข่ไว้ให้แช่แข็งแล้ว วันดีคืนดีเกิดอยากตั้งครรภ์ขึ้นมาเมื่ออายุมาก ๆ แล้ว หมอจะต้องวุ่นวายใจแน่
เพราะอะไรหรือ ?
การตั้งครรภ์แม้เมื่ออายุเพียง 50 ปีก็ยังเป็นภาระหนักหน่วงต่อร่างกายของเธอ โดยยังไม่ต้องพูดถึงการเลี้ยงดูอุ้มชูลูกจนโต ข้อสำคัญคือ เรื่องนี้อาจเป็นการไม่ยุติธรรมต่อเด็ก เพราะกว่าเด็กจะโตจนเรียนหนังสือขึ้นมหาวิทยาลัยได้ คุณแม่ก็มีอายุปาเข้าไป 70-80 ปีแล้ว ถ้าหากเธอไม่ตายจากโรคอื่นเสียก่อน อย่างนี้ดูเหมือนเป็นการสร้างภาวะการมีลูกกำพร้าให้เห็น แต่เกิดแล้วสังคมจะยอมรับว่า โอเคหรืออย่างไร
หญิงสูงอายุหลายคนถกเถียงว่า ทุกวันนี้คนเราอายุยืนขึ้น สุขภาพดีและแข็งแรงจนถึงอายุ 70-80 ปี ทีผู้ชายอายุ 70-80 ปี ทำให้หญิงท้องได้ก็ตีปีกดีใจว่าเก่ง พอหญิงสูงอายุจะอุ้มท้องบ้าง ก็เห็นเป็นตัวประหลาดก็ว่ากันไป แต่ที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตไว้น่าพิจารณามาก คือ ระหว่างพ่อกับแม่แล้ว แม่เป็นบุพการีที่สำคัญกว่าพ่ออยู่แล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีเพียงไม่กี่คลินิกในสหรัฐอเมริกาที่จะยอมรับหญิงวัย 50 ปีขึ้นไปเป็นลูกค้า คณะกรรมการจริยธรรมของสมาคมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของอเมริกา กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ว่า ภาวะหมดประจำเดือน มีเอกลักษณ์โดยธรรมชาติอยู่ประการหนึ่งคือ ต้องเป็นหมัน หรือไม่มีการเจริญพันธุ์อีก
นอกเหนือจากประเด็นภาระค่าใช้จ่ายและความยุติธรรม ตลอดจนความเป็นห่วงต่อสวัสดิภาพ ของแม่ผู้สูงอายุทั้งหลาย รวมทั้งการกำจัดตัวอ่อนแช่แข็งที่ไม่ได้ใช้แล้ว คำถามเชิงจริยธรรม ที่ครอบคลุมเทคนิคการช่วยเจริญพันธุ์ทั้งหลาย รวมทั้งการนำสำเนามนุษย์ที่เรียกว่า โคลนนิ่ง (CLONING) ด้วย คือ ว่ามนุษย์จะทำตัวเป็นพระผู้เป็นเจ้าหรืออย่างไร ในการเข้าไปแทรกแซง การผลิตทารก ด้วยวิธีไฮเทคต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่การสืบพันธุ์เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์แท้ ๆ
ขอส่งท้ายด้วยกรณีตัวอย่างของเด็กหญิงกำพร้าที่มีผู้ปกครองถึง 6 คน แต่ศาลที่รัฐแคลิฟอร์เนีย พิพากษาว่า เธอเป็นเด็กไม่มีพ่อแม่ตามกฎหมาย กรณีของเด็กหญิงวัย 2 ขวบผู้นี้ เป็นตัวอย่างแสดงความล้าหลัง ของกฎหมายที่ตามหลังวิทยาศาสตร์การเจริญพันธุ์ในปัจจุบัน
เด็กหญิงเจซี หลุยส์ บุซซังก้า วัย 2 ขวบ ที่มีสุขภาพดีผู้นี้มีคน 6 คน ที่เข้าข่ายเป็นพ่อแม่ได้ เมื่อปี 2537 พ่อแม่ของเธอซึ่งมีปัญหาการมีบุตรยากติดต่อคลินิกช่ยเจริญพันธุ์แห่งหนึ่ง ให้จัดหาตัวอสุจิ และไข่ จากผู้บริจาคนิรนามมาทำการผสมเทียม แล้วนำตัวอ่อนไปว่าจ้างหญิงลูกสองอีกคนหนึ่ง อุ้มท้องให้ แต่พอถึงปี 2538 สามีฟ้องหย่าและปฏิเสธที่จะจ่ายค่าเลี้ยงดูให้
เมื่อเดือนกันยายน ปี 2540 ศาลเห็นด้วยว่า จอห์น บุซซังก้า ผู้สามี ไม่ได้เป็นพ่อของเด็ก ตามนิยามในกฎหมาย จึงไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร อีกทั้งพิพากษาว่า ลูแอน บุซซังก้า ผู้ภริยา ก็ไม่ได้เป็นแม่ตามกฎหมายของเด็กหญิงเจซี แต่จะอนุโลมให้เป็นได้ ถ้าลูแอนประสงค์ จะรับไว้ เป็นบุตรบุญธรรม
แต่ใครล่ะ จะเป็นผู้อนุญาตให้ลูแอนรับเจซีไปเลี้ยงในฐานะลูกบุญธรรมได้ ? ในเมื่อพ่อแม่ที่แท้จริงนั้นนิรนาม หญิงที่มารับจ้างอุ้มบุญกับสามีของเธอน่ะหรือก็ยังสงสัยอยู่ ? มีอยู่ตอนหนึ่งที่หญิงดังกล่าวทำท่าจะอ้างความเป็นเจ้าของเด็ก ด้วยเหตุผลว่า ที่รับจ้างไว้นั้นในฐานะที่คู่สัญญาเป็นคู่สมรสที่ดูมีความสุขดี แต่ตอนนี้เกิดหย่ากันแล้วนี่ แต่ในที่สุดเธอก็ยกเลิกคำอ้างดังกล่าว
หลังการพิพากษาศาลอนุญาตให้ลูแอนเป็นผู้พิทักษ์เด็กหญิงเจซี เป็นการชั่วคราว แล้วสั่งให้จอห์นอดีตสามีจ่ายค่าเลี้ยงดูไปก่อนจนกว่าจะสิ้นสุดการอุทรณ์
ระหว่างนี้อนาคตของเด็กหญิงเจซี ในทางกฎหมายแล้ว คือ เด็กกำพร้าไม่มีพ่อไม่มีแม่
กองบก.ใกล้หมอ
main |