มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc

[ คัดลอก จากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2540]

หมดประจำเดือน

นพ.อมรชัย หาญผดุงธรรมะ


ภาวะหมดประจำเดือน เป็นสัญญาณบอกถึงช่วงชีวิตของสุภาพสตรีที่เปลี่ยนจากวัยเจริญพันธุ์ เข้าสู่วัยสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จะเรียกว่าไม่เจริญพันธุ์ก็ได้ คือไม่ทำหน้าที่สร้างอนุชนรุ่นหลัง ด้วยการตั้งครรภ์อีกต่อไป ไม่สามารถมีลูกได้อีกว่างั้นเถอะ

เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายหรือจึงได้เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ?
ครับเกิดหลายอย่างทีเดียว ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของระบบต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังไข่ รังไข่จะไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นจากฮอร์โมนต่อมใต้สมอง ไม่ตกไข่ และลดการสร้างฮอร์โมน เอสโตรเจน และแอนโดรเจนลง

ผลของฮอร์โมนที่ลดลงนี้ ทำให้เกิดอาการ และอาการแสดงหลายอย่างรวมถึง เร่งการเกิด หลอดเลือดหัวใจตีบตัน และภาวะกระดูกพรุน

ลองมาดูกันให้ละเอียดอีกนิดว่า การเปลี่ยนแปลงมีอะไรบ้าง

ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
ก่อนที่จะหมดประจำเดือน รอบเดือนจะเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ อาการนี้เกิดจากความผิดปกติของ การตกไข่ หรืออาจไม่ตกไข่ก็ได้ เป็นอย่างนี้อยู่ระยะหนึ่ง แล้วรอบเดือนก็จะหยุดไป

แต่คุณผู้หญิงต้องอย่าลืมว่า รอบเดือนอาจไม่สม่ำเสมอ หรือขาดไปจากสาเหตุอื่นได้อีกหลายสาเหตุ อย่าด่วนสรุปว่า เป็นเพราะหมดหรือจะหมดประจำเดือนครับ แม้จะอยู่ในวัย 45-55 ปี (วัยหมดประจำเดือนของผู้หญิงส่วนใหญ่) ก็ตาม

ควรปรึกษาแพทย์ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้
  1. รอบเดือนมาเร็วกว่า 21 วัน
  2. รอบเดือนมาครั้งหนึ่งนานกว่า 7 วัน
  3. รอบเดือนมามากผิดปกติ
  4. มีเลือดออกในช่วงกลางระหว่างรอบเดือนครั้งนี้กับครั้งหน้า

ออกร้อน
อาการนี้พบได้บ่อย เรียกได้ว่า เป็นอาการหลักของการหมดประจำเดือนเลยทีเดียว จะรู้สึกว่าร้อน ผิวหนังจะแดงบริเวณใบหน้า ศีรษะ และหน้าอก มักร่วมกับเหงื่อออกด้วย และตามมาด้วยอาการหนาว บางคนจะมีอาการใจสั่น และกระวนกระวายอีกด้วย

อาการร้อนนี้ครั้งหนึ่ง ๆ จะเป็นนานราวครึ่งนาทีจนถึงหลายนาที วันหนึ่งจะเป็นไม่กี่ครั้ง หรือหลายครั้งก็ได้ มักชอบเป็นกลางคืนตอนกำลังนอน และเป็นตอนอากาศร้อนและชื้น

อาการนี้จะเป็นถี่ใน 2 ปีแรก ของการหมดประจำเดือน จากนั้นจะค่อย ๆ เป็นห่างออกไป และลดความรุนแรงลง บางคนอาจเป็นนานถึง 10 ปี

จากสถิติพบว่า อาการร้อนนี้พบราว 75% ของผู้ที่หมดประจำเดือน และผู้ที่หมดประจำเดือน จากการผ่าตัด จะมีอาการมากกว่าหมดตามธรรมชาติ

อาการร้อนที่รุนแรงมีผลต่อชีวิตประจำวันได้มาก การรับประทานอาหารรสจัด ดื่มกาแฟ หรือดื่มสุรา หรืออยู่ในสถานที่คับแคบ จะมีอาการมากขึ้น พบว่าผู้ที่อ้วนหรือน้ำหนักตัวมาก จะเป็นน้อยหรือรุนแรงน้อยกว่าครับ

ปัญหาที่มีมากคือ ผลต่อการนอนหลับ ทำให้หลับไม่สนิท ตื่นขึ้นมาเหงื่อชุ่มตัว ทำให้รู้สึกเหนอะหนะ ไม่สบายตัว ผลนี้อาจทำให้หงุดหงิด โมโหง่าย และขี้ลืม

การรักษาด้วยฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน พบว่าได้ผลดีทีเดียว อาจใช้แบบรับประทาน หรือเป็นแผ่นยาแปะที่ผิวหนังก็ได้ ลองปรึกษาแพทย์ดูครับ

ระบบอวัยวะสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ
จะมีการเปลี่ยนแปลงมากครับ บริเวณของลับ ช่องคลอด ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ จะเกิดเหี่ยวฝ่อลง เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน

ช่องคลอดมีเมือกหล่อลื่นน้อยลง จะแห้ง เยื่อบุช่องคลอดบางและซีดลง ท่อปัสสาวะเกิดอาการระคายเคือง หรือปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการเจ็บ เกิดบาดเจ็บ และติดเชื้อได้ง่าย และยังทำให้ลดความต้องการในการร่วมเพศลงไป

อย่าเพิ่งสิ้นหวังครับ ยังมีวิธีรักษาด้วยฮอร์โมนแพทย์จะช่วยคุณได้

ภาวะทางจิต
พบว่าการหมดประจำเดือนมีผลต่อจิตใจหลายประการ มีผลต่ออารมณ์ ความจำและความต้องการทางเพศ พบว่าการบำบัดรักษาด้วยฮอร์โมนทำให้อาการทางจิตดีขึ้น

การรักษาระยะยาว
ปัญหาใหญ่ 2 ประการที่ตามมาในผู้หญิงสูงอายุมาก คือ กระดูกพรุน และโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง

การป้องกันโรคเหล่านี้เสียแต่เนิ่น ๆ จึงจำเป็นและดีกว่าการรักษาเมื่อมีอาการแล้ว

โรคกระดูกพรุน
ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน, การได้รับแคลเซียมน้อย, การสูบบุหรี่, การดื่มเหล้า, ชีวิตที่ออกกำลังกายน้อยและความผอม ช่วยเร่งให้เกิดโรคกระดูกพรุนเร็วขึ้น กรรมพันธุ์ก็มีส่วนด้วยครับ เรียกว่าถ้ามีเชื้อสายเป็นโรคนี้กันมากก็คงหนีไม่พ้น

การรักษาด้วยเอสโตรเจน ร่วมกับให้แคลเซียม พบว่าได้ผลดีในการป้องกันโรคนี้ และยังได้ผลแม้เริ่มรักษาหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว ผลระยะยาวก็คือ การเกิดกระดูกหักจากการหกล้ม หรืออุบัติเหตุจะลดลงได้มากครับ

โรคหลอดเลือดหัวใจ
สาเหตุการตายที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้หญิงก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ หญิงที่ขาดเอสโตรเจนเร็ว จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเร็วขึ้นด้วย

ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องได้แก่ ความอ้วน, ระดับไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูง, การสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย

การแก้ไขปัจจัยเหล่านี้ไปด้วยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ครับ

ข้อเสียของการให้ฮอร์โมน
เหตุผลที่ผู้หญิงไม่อยากรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือแพทย์ไม่อยากให้ยานี้คือ กลัวการเกิดมะเร็งและกลัวว่าจะกลับมีประจำเดือนอีกนั่นเอง

มะเร็งเต้านม
ได้มีการศึกษาวิจัยกันมากว่า การให้เอสโตรเจนทำให้เป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผลยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก บางรายงานว่าเพิ่มขึ้นจริงแต่เพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้รับเอสโตรเจน ก็คงต้องติดตามการวิจัยเรื่องนี้กันต่อไปครับ

มะเร็งเยื่อบุมดลูก
การรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานานโดนไม่ได้ฮอร์โมนโปรเจสติน ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเกิดเยื่อบุมดลูกหนาตัวมาก และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุมดลูกสูงขึ้น

ปัญหานี้แก้โดยให้โปรเจสตินร่วมด้วยเป็นเวลา 12 วันต่อเดือนครับ

เลือดออกทางช่องคลอด
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่ค่อยอยากรักษาด้วยฮอร์โมนก็คือ การมีเลือดออกทางช่องคลอด คล้ายกลับมามีประจำเดือนอีก อาการเลือดออกนี้โดยทั่วไปแล้วจะออกไม่มาก และเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ

ผู้หญิงหลายรายไม่อยากกลับมามีประจำเดือนอีกหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว เมื่อแพทย์อธิบายให้ฟังถึงผลข้างเคียงของการรักษาด้วยฮอร์โมน จึงอาจลังเลใจ แม้ว่าจะเล็งเห็นผลดีหลายประการ เช่น ป้องกันกระดูกพรุนและลดการเกิดโรคหัวใจ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามยังมีวิธีหลีกเลี่ยงปัญหานี้ แพทย์อาจให้ฮอร์โมนร่วมกันหลายชนิด เช่น ให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสตินทุกวัน และให้เม็ดครอ็กซี่โปรเจสเตอโรนอะซีเตทด้วยทุกวัน อย่างต่อเนื่อง

พบว่าสูตรนี้ลดอาการเลือดออกลงได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบเลือดออกนิด ๆ หน่อย ๆ อีกบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเริ่มรักษาใหม่ ๆ ครับ หากยังคงมีเลือดออกผิดปกติอีก หรือไม่เคยมีเลือดออกมาก่อน แต่เพิ่งมาเป็นตอนนี้ ลักษณะเช่นนี้ควรปรึกษาแพทย์ครับ เพื่อดูว่าเกิดจากเยื่อบุมดลูกหนาตัว หรือดูว่ามีมะเร็งหรือไม่

วิธีการก็คือ การตัดเอาเยื่อบุมดลูกไปตรวจทางพยาธิวิทยา หากมีข้อสงสัย แพทย์ก็จะต้องตรวจค้นหาสาเหตุเพิ่มเติม จนได้คำวินิจฉัยที่แน่นอน

ครับคุณผู้หญิง ที่ใกล้หมดประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่น ๆ ครับ เพื่อวางแผนการรักษาระยะยาวกัน ผู้ที่หมดประจำเดือนแล้วและมีอาการไม่สบาย ก็ยังไม่สายเกินไปครับ รีบไปรักษาเถอะครับ

นพ.อมรชัย หาญผดุงธรรมะ


ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1