ท้าให้คุณแม่ทำแบบทดสอบความรู้เรื่องการให้นมแม่...เร้ว
...งัดความรู้ออกมาประลองกัน
ตอบง่ายๆ แค่ว่า...ใช่หรือไม่...ใครแอบดูคำเฉลยก่อน
ขอให้ตาเป็นกุ้งยิง !!!
Q : เด็กที่กินนมแม่จะไม่มีปัญหาเรื่องดูดลมเข้าท้อง คุณแม่จึงไม่ต้องไล่ลมให้เหมือนกินนมขวด
ไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมขวด เด็กๆ
สามารถดูดเอาลมเข้าไปขณะที่ดูดนมเสมอ ลมจะไปคั่งอยู่ในกระเพาะ ดันผนังกระเพาะจนเด็กอึดอัด บางครั้งอัดจนเต็มกระเพาะ
ทั้งที่ยังดูดนมไม่อิ่มเลย หนูๆ บางคนจะร้อง บางคนทำท่าอึดอัด
ไม่ยอมดูดนมต่อ คุณแม่ต้องช่วยไล่ลมให้เรอโดยการอุ้มพาดบ่า
ให้คางเกยไหล่ เอามือตบหลังเบาๆ หรือจะจับนั่งตักแล้วเอามือลูบเบาๆ
ที่บริเวณกระเพาะก็ได้
Q : การให้ลูกดูดนมเข้าไปจนถึงลานนม
จะทำให้หัวนมแม่แตกได้ เพราะเมื่อดึงกลับลูกจะใช้เหงือก
กดลานนมและครูดหัวนม
ไม่ใช่ จริงๆ แล้ว การให้ลูกดูดนมแล้วลูกงับอยู่แค่หัวนม งับอมไม่มิดถึงบริเวณสีน้ำตาลที่เรียกว่า ลานนมหัวนมต่างหาก
ที่ทำให้หัวนมแตกเพราะหัวนมเป็นบริเวณที่บอบบางมาก
เมื่อลูกขบย้ำอยู่อย่างนั้นบ่อยๆ จึงแตกได้ นอกจากนั้น
น้ำนมยังไม่ออกอีกด้วย เพราะตรงหัวนมไม่มีท่อน้ำนมอยู่ค่ะ
Q : วิธีหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมคือ
ให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า
ใช่ การให้ลูกดูดนมข้างใดข้างหนึ่งก่อนจนอิ่ม แล้วครั้งต่อไปให้ดูดอีกข้างหนึ่งจนอิ่มอีกนั้นจะกระตุ้นร่างกาย
ให้ผลิตน้ำนมออกมาเต็มที่ถ้าลูกดูดจนเกลี้ยงเต้า
ถ้าลูกดูดข้างใดข้างหนึ่งไม่หมด อย่าบีบทิ้ง เพราะน้ำนมที่เหลืออยู่
เป็นน้ำนมที่มีสารอาหารมาก พอมื้อหน้าก็ให้ดูดข้างที่ยังไม่หมดนี้ต่อ
Q :
หากลูกกินนมแม่ได้น้อย ดูๆ แล้วลูกไม่อิ่ม
คุณแม่ควรเพิ่มนมขวดบ้าง เพื่อการเจริญเติบโตที่ดีของลูก
ไม่ใช่ การให้นมแม่ผิดกับการให้นมขวดตรงที่มองไม่เห็นว่า
ลูกดูดไม่กี่ทีก็เลิก คุณแม่เลยทึกทักเอาว่าลูกกินน้อย กลัวลูกจะไม่โต
จะไม่อิ่ม จึงให้นมขวดด้วย ในที่สุดลูกเลยดูดนมแม่น้อยลงๆ
เพราะอิ่มนมขวดแล้ว
วิธีที่จะดูว่าลูกดูดนมแม่ได้อิ่มหรือไม่พอหรือไม่
มีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ หากได้นมพอ ลูกควรปัสสาวะวันละมากกว่า
6-8 ครั้ง และทารกที่กินนมแม่ไม่พอใน 2 สัปดาห์แรก
จะถ่ายอุจจาระน้อยกว่าวันละ 4 ครั้ง และอุจจาระจะออกมาทีละน้อย
หลังจากเดือนแรกผ่านไป ถ้ากินนมพอจำนวนครั้งที่ถ่ายอุจจาระจะน้อยลง
บางคนวันละครั้ง แต่ละครั้งจะมีปริมาณมากและไม่แข็ง
อีกอย่างในช่วงเดือนแรกน้ำหนักลูกจะขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ
800 กรัมหรือถ้าไม่ได้ชั่งน้ำหนัก แต่ดูลูกมีเนื้อมีหนังขึ้น
จับแล้วเนื้อแน่นขึ้น ดูแข็งแรง แววตาแจ่มใส
แสดงได้ว่าน้ำนมพอค่ะ
Q : มื้อแรกในชีวิตของลูก
ควรได้รับหัวน้ำนม (โคลอสตรัม) เท่านั้น
ใช่ ข้อนี้ง่ายที่สุด เพราะใครๆ ก็รู้ว่าหัวน้ำนม
หรือน้ำนมเหลืองมีคุณค่ามากแค่ไหน แต่ถึงกระนั้นทารกบางคนก็
"พลาด" อาหารชั้นยอดนี้ในมื้อแรกของชีวิต ที่กลับได้รับนมขวด
หรือน้ำตาลกลูโคสแทน ซึ่งมีข้อเสียหลายอย่างทีเดียว เช่น
ทำให้ลูกอิ่มไม่อยากดูดนมแม่ (จึงไม่ได้กินหัวน้ำนม)
และเมื่อมีการกระตุ้นในตอนแรก น้ำนมก็ผลิตออกมาน้อย
ทำให้น้ำนมออกมาน้อยด้วย
Q : การให้นมแม่ควรให้ลูกกิน
ตามใจตัวเองมากกว่ากินตามตาราง
ใช่ เด็กที่กินนมแม่จะหิวบ่อยกว่าเด็กที่กินนมขวด
เพราะนมแม่ย่อยง่าย ลูกจึงหิวบ่อย จึงไม่อาจให้ลูกกินตามตารางได้ และการทำเช่นนี้อาจทำให้เต้านมแม่คัดด้วย
Q : เมื่อท่อน้ำนมอุดตัน
ควรหยุดให้ลูกกินจนกว่าอาการจะหาย
ไม่ใช่ ท่อน้ำนมอุดตันจะเกิดเป็นก้อนแข็งกดเจ็บ
และแดงที่เต้านม ส่วนมากเกิดจากท่อน้ำนมท่อใดท่อหนึ่งอุดตัน ให้ใช้วิธีประคบบริเวณที่เป็นก้อนด้วยน้ำอุ่น คลึงและนวดเบาๆ
จากนั้นให้ลูกดูดนม อาการจะดีขึ้น ไม่ควรหยุดเพราะนมจะยิ่งคัดยิ่งเจ็บใสขึ้น
วิธีป้องกันอาการนี้คือ อย่าสวมใส่ยกทรงที่คับเกินไป และอย่ากดเต้านมแรงมากนักขณะให้นมลูกหรือบีบน้ำนมออก
Q : หลังจากลูกดูดนมจนอิ่มแล้ว
ให้บีบน้ำนมออกมาเคลือบหัวนม จะช่วยป้องกันหัวนมแตกได้
ใช่ เมื่อลูกดูดนมอิ่ม ก็ใช้น้ำสะอาดเช็ดหัวนม แล้วจึงบีบน้ำนมออกมาเคลือบหัวนมปล่อยให้ถูกอากาศจนแห้ง น้ำนมแม่จะช่วยประสานรอยที่กำลังจะแตกได้
Q : เมื่อจะอุ่นนมแม่ที่แช่เก็บไว้ ก็ทำได้สะดวก โดยการเทนมใส่ภาชนะแล้วไปตั้งไฟได้เลย
ไม่ใช่ การอุ่นนมนั้นต้องอุ่นผ่านขวดนมโดยการแช่ขวดนม
ในภาชนะที่ใส่น้ำอุ้น หรือหากต้องตั้งไฟ ก็วางขวดนมลงในหม้อที่ใส่น้ำอุ่น
เปิดไฟอ่อนๆ ไม่ควรนำนมแม่ใส่ภาชนะไปอุ่นกับไฟโดยตรง เพราะความร้อนจะทำลายสารอาหารในนมแม่
Q : หากลูกตัวเหลือง ควรให้หยุดกินนมแม่ก่อน
เพราะจะยิ่งทำให้ลูกตัวเหลืองมากขึ้น
ไม่ใช่ การกินนมแม่กลับจะทำให้เด็กตัวเหลืองน้อยลง
เพราะการกินนมแม่จะย่อยง่าย ลำไส้บีบตัวเพื่อขับอุจจาระบ่อยขึ้น
สารสีเหลืองจะออกมากับอุจจาระ ทำให้อาการตัวเหลืองลดลงได้เร็ว
ครั้งนี้เอาแค่หอมปากหอมคอก่อน...ว่าแต่ว่าตอบถูกกี่มากน้อยคะ
ใครตอบได้เกือบเต็ม ยกให้เป็น Super MoM กันเลยค่ะ
|