มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://geocities.datacellar.net/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอกจากนิตยสารแม่และเด็ก ที่ 21 ฉบับที่ 312 กุมภาพันธ์ 2541 ]

การคลอดในน้ำ…แบบธรรมชาติ

หมอนี่


น.พ.ธนิต หัพนานนท์ และ น.พ.สันเกียรติ วยากรณ์วิจิตร 2 หมอสูติฯ ที่มาขอเปิดตำนานสูงสุดคืนสามัญกับการคลอดในน้ำ…แบบธรรมชาติ

น.พ.ธนิต หัพนานนท์ ปัจจุบันอายุ 58 ปี

  • จบแพทย์ M.B, B.S. ที่โรงพยาบาล Middlesex Hospital University of London ปี 1963 ศึกษาต่อทางด้านสูติ-นรีเวช
  • ได้รับปริญญาเป็น Menber of Royls Colleagne of Obstetries and Gyneccology ปี 1969
  • ได้กลับมาทำงานที่ ร.พ.สมิติเวช (สุขุมวิท) ตั้งแต่เปิดในปี 1978 จนปัจจุบันนี้
  • ขณะนี้เป็นหัวหน้า แผนกสูติ-นรีเวช ที่ ร.พ.สมิติเวช
  • ได้เริ่มสนับสนุนและทำการคลอดธรรมชาติ (Natural Childbirth) เมื่อปี 1980 ได้ริเริ่มการทำห้องคลอดธรรมชาติ Birth Room Concept ปี 1987 และได้สนับสนุนการใช้น้ำอุ่นแช่เวลาเจ็บท้อง มาจนถึงคลอดในน้ำจนปัจจุบัน
น.พ.สันเกียรติ วยากรณ์วิจิตร
  • สำเร็จการศึกษา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • การศึกษา Saint Joseph Medical Center Hospital, Baltimor, Maryland Completed Obstetries & Gynecology residency training 1979 Fellow in Women Helath, University of California at Los Angeles Certified, Diplomate of American Board of Obstetries of Obstetricians and Gynecologists Fellow of International College of Surgeons
  • ตำแหน่งรางวัลที่ได้รับ
    Major, Uniter States Air Force, Medical Corps 1979 thru 1981
    Ob/Gyn resident of the year 1979, Maryland
    Medical Officer of the year. Luke Air Force Hospital USAF 1980
    Chief, Ob/Gyn Department, Luke AFB Hospital, Az. 1979-80

คุณยังจำหมอตำแยได้อยู่หรือเปล่า จำได้มั้ยกับบทบาทของผู้เฒ่าผู้แก่ตามบ้านนอก ที่คอยทำหน้าที่ เหมือนหมอสูติฯ ทำคลอดกันตามชนบท ทำคลอดกันแบบตามมีตามเกิด ที่หลาย ๆ คนอาจมองว่า มันเป็นวิธีการที่โบร่ำโบราณ ล้าสมัย จนกระทั่งเรา ๆ ได้หลงลืมกันไป

ที่เกริ่นมานี้คงไม่ได้มีเจตนาที่จะมาชักชวนให้ใครต่อใครที่ตั้งครรภ์ไปทำการคลอดกับหมอตำแย หรอกนะครับ เพียงแต่อยากจะบอกกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันยังมีอีกวิธีการหนึ่งเป็นการย้อนยุค เข้าสู่วิธีการคลอดแบบเดิม ๆ ที่เขาเรียกกันว่า คลอดแบบธรรมชาติ หรือ Natural Child Birth ซึ่งหนึ่งในวิธีการนี้พระเอกที่จะนำเสนอในครานี้ของงานก็คือ การทำคลอดในน้ำ

การคลอดในน้ำเป็นอย่างไร ? หลายคนอาจรู้ หลายคนอาจงง หลายคนอาจกลัว เพราะว่าการที่จะมีลูกสักครั้งนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคุณแม่ทั้งหลาย ที่ยังมีความกังวลใจ ในเรื่องของความปลอดภัยและเพื่อให้เกิดความกระจ่างว่าเขาทำกันอย่างไร กับการคลอดในน้ำนั้น ผมว่าคงถึงเวลาแล้วที่เราต้องขอเข้ามาทำความรู้จักกับบุคคลทั้ง 2 ท่านนี้เลยดีกว่า ซึ่งถือได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกเปิดโลกทัศน์ให้วงการแพทย์ไทย ให้เกิดวิธีคลอดลูกในน้ำขึ้น เรากำลังหมายถึง น.พ.ธนิต หัพนานนท์ และ น.พ.สันเกียรติ วยากรณ์วิจิตร สูตินรีแพทย์มือวางอันดับ ต้น ๆ ของวงการแพทย์ไทย จากโรงพยาบาลสมิติเวช

เอาเป็นว่า เราไปรับรู้กันเลยดีกว่าว่าวิธีการคลอดลูกในน้ำนั้นมันมีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร แล้วทำไมอาจารย์ทั้งสองถึงมีความสนใจอยากที่จะมาทำ

หมอธนิต "แนวคิดการคลอดลูกในน้ำนั้นผมคิดมาตั้งแต่ปี 1978 ตอนที่สมิติเวชก่อตั้งพอดี และผมก็ให้การสนับสนุนการคลอดแบบธรรมชาตินี้มาโดยตลอด ซึ่งภาษาอังกฤษเราจะเรียกว่า Natural Child Birth การคลอดธรรมชาตินั้นก็คือ การที่คุณแม่ทำการคลอดด้วยตนเอง โดยที่เราจะไม่ใช้ยา ไม่ใช้เครื่องมือที่จะช่วยในการคลอด เราทำเหมือนกับสมัยก่อน ๆ ซึ่งเราถือว่านี่เป็นการคลอด โดยธรรมชาติ

"ผมทำการสนับสนุนมาเรื่อย จนในที่สุดเราก็ได้สร้างห้องคลอดโดยธรรมชาติ ซึ่งได้ทำการเปิดตั้งแต่ปี 1987 โดยในห้องคลอดนี้เราจะมีอ่างน้ำร้อน เพื่อช่วยเมื่อคุณแม่ที่มีอาการเจ็บท้องได้ผ่อนคลาย เพราะว่าน้ำร้อน น้ำอุ่น นี่มันเป็นเครื่องบรรเทาอาการเจ็บปวดและก็ใช้ได้ผลจริง

"สำหรับคนแรกที่ทำการคลอดในน้ำนั้นเป็นชาวรัสเซีย ชื่อ อิกอร์ ไชคอฟกี้ เขาทำในปี 1960 โดยเขาได้ทำการคลอดในทะเล แต่คนที่ทำให้วงการคลอดในน้ำมีชื่อเสียงมากก็คือ ชาวฝรั่งเศส เป็นหมอชื่อ Dr.Michael Odent แกทำ Natural Child Birth โดยสังเกตว่าแม่บางคนแช่น้ำแล้ว สบายอกสบายใจ เป็นที่พออกพอใจให้กับผู้เป็นแม่มากและหมอแกก็ปล่อยให้คุณแม่เป็นคนเลือก แต่จะไม่สอนไม่บังคับนะครับ ว่าเขาจะต้องคลอดในน้ำนะ

"ผู้หญิงส่วนมากเมื่อถึงจุดแล้วเขาจะไม่คลอดในน้ำ เขาจะแช่น้ำร้อนเพื่อระงับความเจ็บปวด และเมื่อถึงจุดใกล้คลอดเขาก็จะขอออกจากอ่างเอง เพราะว่าความรู้สึกของธรรมชาตินั้น ต้องอาศัยแรงถ่วงจากหัวเด็กลงมากระตุ้นที่อุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อและช่องคลอดถึงจะ มีความอยากเบ่ง ตอนแช่น้ำจะไม่รู้สึกตรงนี้เท่าไหร่ พอลงไปก็ตัวลอยรู้สึกสบาย

"เวลาผู้หญิงใกล้ท้องแก่ ๆ มักจะออกกำลังกายไม่ได้มันจะเจ็บปวด เมื่อย แต่พอได้ลงน้ำ การออกกำลังกายก็จะทำได้ เพราะน้ำมันรับได้ไม่ต้องใช้แรงมากเขาก็ไม่เจ็บปวด จะยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อเขาทำได้ เพราะฉะนั้นน้ำถือว่าเป็นของธรรมดาเป็นของธรรมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ถ้าไม่มีอ่างน้ำก็ให้ใช้ฝักบัวแล้วให้เขานั่ง ถ้าไม่มีฝักบัว ก็เอาน้ำอุ่นใส่ถัง แล้วใช้ผ้าชุบเช็ดประคบหน้า ประคบหลัง เวลาแม่ได้รับความร้อนจะสบายครับ บรรเทาความเจ็บปวดได้

"…จุดของการคลอดมีอยู่ว่า เราควรจะลดการใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บปวด ทำไมถึงต้องลด ก็เพราะว่ายาบรรเทาอาการเจ็บปวดมันเป็นยาชุดพวกเพตาดีน มอร์ฟีน ซึ่งเหล่านี้เป็นยาเสพติด และออกฤทธิ์บรรเทาความเจ็บปวดได้ไม่แรง แต่ว่าผลของยานั้นจะทำให้ง่วง คนไข้อาจลดความเจ็บปวด แต่จะง่วง บางคนสลึมสลือ บ้างก็ทุรนทุราย แต่ก็พูดไม่ออก ทำอะไรไม่ออก เหมือนกับเราซึมนอนเพิ่งตื่น รู้สึกตัวจะพูดก็ไม่อยากพูด

"แม่บางคนมีผลข้างเคียง ถ้าฉีดเพตาดีนเข้าไป เพราะมันจะเข้าไปกระตุ้น ซึ่งยานี้มันจะผ่านเข้าไป ในสายรกผ่านเข้าไปในตัวเด็ก ทำให้กลไกของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช้า และผลต่อไปข้างหน้าคือ จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยากขึ้น

"จะเห็นได้ว่า ภายหลังการคลอดถ้ามีอะไรไปกดเด็ก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะขาดหายไป กว่าจะเริ่มนี่มันก็กินเวลา แม่เลยหันไปเอานมที่ผสมอะไรต่ออะไรมาให้ลูก โดยบอกว่าเด็กขี้เกียจ เด็กไม่ดูด ซึ่งความจริงมันเป็นฤทธิ์ของยา เราให้ยาไปมันก็เข้าไปยุ่งกับกลไกพวกนี้

"เพราะฉะนั้นการใช้น้ำ มันก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะเข้าไปลดการใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บปวด ลดการบล๊อคสันหลัง ลดการที่จะทำให้มดลูกบีบตัว เพราะน้ำอุ่นทำให้เกิดความสมดุลของฮอร์โมน

"เมื่อแม่ได้ Relax แม่ก็ไม่เกิดความกลัว และ Water Birth ก็เกิดมาจากตรงนี้ คนไหนอยากจะแช่มีความพออกพอใจ อยากอยู่ในน้ำก็ได้ ถ้าเขาอยากคลอดหมอก็ต้องสอน ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกว่าเป็นอย่างไร อันตรายมีอะไรบ้าง และตัวคุณแม่จะต้องปฏิบัติตัว อย่างไร ไม่ใช่ว่าใครอยากจะคลอดในน้ำก็ทำได้ ซึ่งจริง ๆ มันก็ได้แต่ต้องมีแพทย์มาดูแล

"…ทำไมความร้อนหรือความอุ่นนั้นได้ผล ก็เพราะเส้นประสาทนี่มันมีทั้งรับความเจ็บปวด รับการสัมผัสและรับอุณหภูมิ ซึ่งเส้นประสาทรับความเจ็บปวดนั้น จะช้ากว่าเส้นประสาทรับการสัมผัส กับเส้นประสาทรับอุณหภูมิ เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการจะลดความเจ็บปวด เราต้องให้เขา สัมผัสกับ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น การแช่ความร้อนก็เป็นการเพิ่มอุณหภูมิให้กับเขา เพราะว่ามันรับอุณหภูมิ ได้รอบตัวเลย"

ลองมาฟังคุณหมอสันเกียรติ พูดถึงเรื่องการคลอดในน้ำกันดูหน่อยซิว่า คนที่จะคลอดในน้ำต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

หมอสันเกียรติ "ผมว่า คนไข้ทุกคนสามารถคลอดในน้ำได้ แต่คุณหมอแต่ละท่านก็อาจมีข้อบ่งชี้ ที่แตกต่างกัน อย่างของผมก็คือ คนไข้ต้องมีความสมัครใจปรารถนาที่จะคลอดในน้ำ โดยไม่ต้องบังคับ และต้องไม่มีปัจจัยต่อการเสี่ยงอะไรเลย มีอายุครรภ์ต้องครบ

"อย่างผมก็อยากได้คนไข้ที่มีอายุครรภ์สัก 37 อาทิตย์และไม่มีปัญหา อย่างเช่น มีความดันโลหิตสูง ตกเลือด หรือคนไข้ที่ทราบว่าเด็กในครรภ์เป็นแฝด หรือยังไม่ครบกำหนด เจ็บท้องก่อนกำหนด เด็กจะต้องไม่มีภาวะเครียด การเต้นของหัวใจต้องอยู่ในภาวะปกติ และระหว่างที่เจ็บท้อง จะต้องอยู่ในกระบวนการที่เหมาะสม"

กับกรณีที่คุณแม่เคยผ่านมีดหมอมาแล้ว นั่นจะเป็นอีกเงื่อนไขหรือข้อบ่งชี้ห้ามมั้ย เพราะถ้าหากว่าเขาสนใจที่จะมาทำการคลอดแบบธรรมชาติอย่างนี้

หมอธนิต "ถึงแม้คุณแม่ที่เคยผ่าตัดมาแล้วก็แช่น้ำได้ คลอดในน้ำได้ เพราะตราบใดที่ประวัติของการผ่าตัดนั้นยังคลุมเครือไม่แน่นอนเราก็อนุญาต แต่ถ้าผ่าตัดแล้วมีปัญหาซึ่งเราเรียกว่า เชิงกรานเล็กผิดปกติ โอเค อันนี้เราจะไม่ทำให้ เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้ทำถ้าคุณแม่ต้องการอยากจะมาแช่ ซึ่งถ้าแช่แล้วไม่มีปัญหา เราก็จะปล่อยให้เขาแช่ต่อไป ท้องโต 37 อาทิตย์ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าต่ำกว่านั้นเราไม่อยากแนะนำ เพราะถ้าปล่อยให้คลอดอาจมีปัญหาในเรื่องเด็กสำลักน้ำได้ ซึ่งเหล่านี้มันอยู่ในกลไกของการคลอด"

การตัดสายสะดือนั้นก็เป็น วิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้เด็กออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ หรืออาจเรียกว่า เป็นการตัดริบบิ้นก็ดูเก๋ไก๋ดีนะซึ่งเรื่องที่ว่านี้บอกตรง ๆ สูตรใครสูตรใครซิ

หมอสันเกียรติ "ในเรื่องการตัดสายสะดือนั้น แพทย์แต่ละท่านคงจะไม่เหมือนกันอย่างของผม โดยทั่วไปแล้วเมื่อเด็กคลอดออกมาเราก็จะช้อนเด็กในน้ำมาเหนือน้ำ แล้วก็จะให้แม่เริ่มให้นมลูกทันที ส่วนในการตัดสายสะดือผมจะต้องให้รออีกสักพักหนึ่ง ให้สายสะดือเริ่มแผ่วแล้วจึงค่อยตัด คงไม่รอถึงขั้นสายสะดือหยุดเต้น"

หมอธนิต "สำหรับผมนั้น เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว อยู่กับแม่เรียบร้อยแล้ว เด็กหายใจได้ดี สายสะดือนั้นไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตัด เพราะว่าบางกรณีถ้าเด็กยังหายใจได้ไม่เต็มที่ อาจต้องการช่วยเหลืออะไรก็ยังได้รับการช่วยเหลือผ่านทางสายสะดือทารกบ้าง โดยผมจะยังไม่ตัดจนกว่าสายสะดือจะหยุดเต้น ก็แสดงว่ารกนั้นลอกแล้ว อันนี้เด็กไม่ต้องไปหวังความช่วยเหลืออะไรกับแม่แล้ว เราถึงได้ทำการตัด

"โดยจะให้คุณพ่อเป็นผู้ตัด เพราะถือว่ามันเป็นการแสดงถึงจุดจบที่น่าจะสมบูรณ์ และน่าเหมาะสมยิ่งในชีวิตครอบครัว เพราะเขาเป็นคนเริ่มต้น เขาก็จำเป็นต้องรู้ต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเราไปแยกพ่อออก ผมว่าพ่อบางคนอาจจะรู้สึกน้อยใจนะ

"ตรงนี้มันเป็นเรื่องของจิตวิทยา โดยจริง ๆ จะตัดหรือไม่ตัดก็ได้เพราะว่ามันลอกแล้ว แต่ที่ตัดนั้นก็เพราะมันสะดวกในการเอาเด็กออกมา และถ้าแม่ต้องการจะคลอดรกในน้ำ ก็สามารถทำต่อได้ เพราะผมถือว่ามันเป็นเรื่องความสมัครใจของคุณแม่ ถ้าไม่อยากอยู่ต่อเราก็ให้เขาออกได้"

มีข้อสงสัยว่า ถ้าหากเกิดกรณี พอถึงเวลาคลอดแล้ว ยังไม่คลอดออกมาซะทีจะทำอย่างไร คุณแม่ต้องแช่อยู่ในน้ำกันจนตัวเปื่อยเลยมั้ย

หมอธนิต "ถ้าแช่น้ำแล้วยังไม่คลอดก็ไม่เป็นไรครับ เราก็ไปดูว่ามดลูกเจ็บดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดีมันก็จะช้าเราต้องแนะนำให้คุณแม่ออกไปอยู่ข้างนอก เปลี่ยนสถานที่ให้คุณแม่ได้นั่งบ้าง นอนบ้าง เดินบ้าง แล้วค่อยมาดูสถานการณ์ใหม่อีกที

"…ผมอยากจะบอกว่าวิธีการคลอดในน้ำ วิธีการนี้มันไม่มีอะไรตายตัว ถ้าเราทำอะไร เราต้องตกลงกับคุณแม่ก่อน แต่ทีนี้เราก็ต้องให้คุณแม่ได้เข้าใจถึงกลไกของธรรมชาติด้วย ให้คุณแม่เข้าใจในเรื่องของการใช้น้ำเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ส่วนในเรื่องของการคลอดนั้น มันก็จะตามมาเอง

และคุณหมอธนิตยังได้พูดถึงในเรื่อง ของยาเร่งคลอดด้วยว่า ถ้าถึงเวลาแล้วก็ยังไม่คลอดซะทีแล้ว คิดที่จะมาใช้ยาเร่งคลอดนั้น คุณหมอได้วิงวอนว่าถ้าจะคลอดกันแบบธรรมชาติแล้ว อย่าคิดเลยเรื่องการฉีดยาเร่ง มันเสี่ยงนะและผลกระทบก็มากมายด้วย

หมอธนิต "การฉีดยาเร่งนั้นช่วยได้ แต่เราไม่ทำเพราะว่าถ้าเราสร้างสิ่งแวดล้อมให้คุณแม่ดีแล้ว เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ยาเร่งเพื่อไปกระตุ้น เพราะถ้าใช้มันจะมีปัญหาคือ หนึ่งแม่จะมีความเจ็บปวดมาก สองโอกาสที่จะทำให้เด็กมีความเครียดมากหัวใจเต้นเร็ว เพราะว่าเราไปเร่งให้มดลูกบีบตัวแรงมากขึ้น การหล่อเลี้ยงออกซิเจนต่อลูกก็ลดลง

"…สมัยนี้เราเห็นว่าการฉีดยาเร่งนั้นเป็นเรื่องปกติจริง ๆ แล้วมันผิดปกติครับเราไม่ทำกัน ธรรมชาติมันมีดีอยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าใจกลไกของการคลอดเอง

"…ใน Natural Child Birth เราจะไม่เข้าไปยุ่ง เราจะไม่ใช้ยาเร่ง การใช้ยาเร่งเป็นการหาเรื่อง สร้างปัญหาให้กับแม่กับลูก และบางทีแม่ก็มีความเข้าใจผิดว่าที่เขาเจ็บท้อง ยังไม่คลอดนี่ต้องฉีดยาเร่ง เราต้องให้ความรู้กับคุณแม่ด้วยว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

"กลไกการคลอดของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ซึ่งธรรมชาติเขาสร้างมาให้กับผู้หญิงทุกคน บางทีเขาอาจยังไม่พร้อมก็ได้ ธรรมชาติบางทีมันบอกว่า การที่แม่แปลกที่ผิดหูผิดตา เกิดความกลัว เกิดความกังวลใจ ลังเลใจ ฮอร์โมนมันก็จะลดลง ทำให้ไม่เกิดอาการเจ็บปวด ไปหาหมอ หมอยังไม่มา เจอพยาบาลที่ยังไม่เข้าใจก็จับโกน จับสวน บอกว่าห้ามกินอะไร เดี๋ยวให้ I.V.I. ดูซิครับมันน่ากลัวมั้ย ผมเองยังกลัวเลย"

คุณหมอสันเกียรติ จะมากล่าวสรุปให้ฟังว่า วิธีการคลอดในน้ำนั้นมันดีอย่างไร และกรรมวิธีในการคลอดนั้น เมื่อคุณแม่อยู่ในอ่างแล้ว บรรยากาศรอบข้างมันจะเป็นอย่างไรนะ คุณแม่จะต้องเตรียมตัวกันอย่างไรเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะมาทำการคลอดด้วยวิธีนี้

หมอสันเกียรติ "การคลอดในน้ำถ้าเทียบกับวิธีธรรมดามันก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่เป็นวิธีการคลอดโดยธรรมชาติที่ปลอดภัยวิธีหนึ่ง และการคลอดในน้ำก็ใช้เวลาน้อยกว่า การคลอดบนบกด้วย การใช้ยาระหว่างที่เจ็บท้องนั้นวิธีการนี้เราจะใช้คุณสมบัติของน้ำอุ่น ในการระงับความเจ็บปวด มีคนไข้น้อยมากที่จะมาขอยาฉีด และถ้าคนไข้ถึงขนาดต้องใช้ยาฉีด เราก็ไม่แนะนำให้เขาคลอดในน้ำแล้ว เพราะยาฉีดบางชนิดจะทำให้คนไข้ซึม มึน เสียระบบการควบคุมของร่างกาย

"…ในส่วนของการตัดฝีเย็บนั้น การคลอดในน้ำแทบจะไม่ต้องตัดกันเลย และในการตรวจสอบความเป็นกรดเป็นด่างของเลือดในสายสะดือพบว่า การคลอดในน้ำความเป็นกรดของสายสะดือที่บ่งถึงความเครียดของเด็กก็จะมีน้อยด้วยซ้ำ

"…ภายในห้องคลอดนั้นก็จะมีหมดที่จะดูแลคนไข้โดยเฉพาะ ซึ่งก็จะคอยเฝ้าดูแลอยู่ห่าง ๆ และก็มีพยาบาลอีกหนึ่งท่านที่จะมาคอยช่วย ขณะเดียวกันเราก็จะให้สามีช่วยเหลือภรรยา อย่างนวดหลัง เอาน้ำอุ่น ๆ ราดตัวบ้าง เอาน้ำเย็นประคบที่ศีรษะหรือบริเวณไหล่ พยายามให้ภรรยาจิบน้ำ ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องให้น้ำเยอะ ๆ หน่อย เพราะว่าการแช่น้ำอุ่น จะทำให้แม่นั้นเสียอุณหภูมิไป"

หมอธนิต "การเตรียมตัวก่อนการคลอดก็ควรมีครับ ซึ่งเราจะมีคลาสสอน แต่เราจะสอนในเรื่องของ การคลอดธรรมชาติ มันเป็นเพียงแค่การแนะนำให้คุณแม่ได้รู้จักกลไกการคลอดเป็นอย่างไร ทำไมเราถึงต้องใช้น้ำ ใช้น้ำแล้วจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อไหร่จะใช้น้ำ เวลาลงน้ำแล้ว จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

"จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้สอนอะไรมากมาย ผู้หญิงเกิดมาธรรมชาติเขาให้มาอยู่แล้ว เราเพียงสร้างกำลังใจว่าขอให้คุณเชื่อในตัวคุณเองเถอะ คุณจะอยู่คลอดต่อในน้ำ ลูกออกมาจะต้องทำอย่างไร เราก็จะช้อนเด็กออกมาให้ หรือเขาจะดึงออกมาเองก็ได้แล้วก็โอบลูกไว้ ซึ่งคุณแม่โดยธรรมชาติแล้วเขาทำของเขาเองแหละครับ ที่จะกอดลูกเอง ให้นมลูกเอง"

วิธีการนี้คงใหม่สำหรับคนไทย เพราะได้ยินมาจากประสบการณ์ ของคุณหมอเองว่า มีคนไทยเพียงแค่คนเดียวเท่านั้นที่ทำการคลอดด้วยวิธีนี้

หมอสันเกียรติ "ที่ผ่านมานี้ผมเป็นเพียงแค่ให้ข้อมูลกับคนไข้ เพื่อที่คนไข้จะได้ตัดสินใจเอง เราจะบอกถึงข้อบ่งชี้ ข้อห้ามว่าเมื่อไหร่ทำไม่ได้ สำหรับการคลอดในน้ำนั้นเท่าที่ทำมา มีคนไทยมารับการคลอดกับผมแค่เพียง 1 คน โดยในตอนแรกตัวเขาเองก็ยังไม่ทราบว่า เขาจะต้องมาคลอดในน้ำ แต่หลังจากคลอดแล้วเขามีความพอใจมาก เขาบอกว่าการคลอดในครั้งนี้ มันแตกต่างจากการคลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา มันง่ายกว่า สบายกว่า เจ็บน้อยกว่า และเขาบอกว่า ถ้าเขาท้องที่ 4 อีก เขาคงเลือกที่จะมาคลอดในน้ำ แต่คงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะว่าผมได้ทำหมันให้เขา ไปเรียบร้อยแล้ว"

พูดถึงว่ามันแพงหรือเปล่า วิธีการแบบนี้ คนไทยเขาถึงไม่อยากทำกัน

หมอธนิต "ถามว่าแพงกว่าวิธีธรรมดามั้ย ไม่ครับ เพราะว่าเป็นการแช่น้ำธรรมดา ถูกกว่าด้วยซ้ำ เพราะเราไม่มีอุปกรณ์ ยาเราก็ไม่ใช้ แต่ที่ถูกกว่าแต่ทำไมคนไทยถึงไม่นิยม ก็เพราะว่าเขายังไม่รู้ และส่วนใหญ่มีอาการกลัว กลัวความเจ็บปวด ซึ่งแทนที่จะหาความรู้ด้วยวิธีการนี้ กลับตัดปัญหา มาใช้วิธีผ่าซะก่อน นี่ไงครับเห็นการผ่าเป็นของธรรมดาไป หารู้ไม่ว่าการผ่านี่การเจ็บป่วย ตาย มีได้นะครับ สถิติการตายจากการผ่านั้นสูงกว่า การคลอดธรรมดาถึง 4 เท่า

"…และผมก็อยากจะบอกว่า การคลอดในน้ำมันเป็นวิธีการที่ธรรมดา ๆ ไม่ได้พิสดารกว่าการคลอดวิธีอื่นเลยนะครับ แต่ที่แปลกในเมืองไทยก็เพราะว่า ไม่มีใครมาทำกันเท่านั้นแหละอย่างที่ญี่ปุ่นนี่เขาเห็นเป็นของธรรมดาเลยครับ"

ยิ่งไปกว่านั้นคุณหมอทั้ง 2 ยังได้ฝากบอกกล่าวไปถึงเรื่องสิทธิของผู้ป่วย สิทธิของคุณแม่ด้วยว่า เดี๋ยวนี้คุณสามารถบงการชีวิตของคุณเองได้แล้วนะ

หมอธนิต "การคลอดโดยธรรมชาตินั้นเราต้องสอนคุณแม่ ไปสอนหมอก็ไม่มีประโยชน์หรอกครับ เพราะหมอทุกคนเขารู้กันทั้งนั้น แต่ที่เขาไม่รับก็เพราะว่ามันไม่สะดวกกับเขา ที่เราต้องสอนคุณแม่ ก็เพราะว่าคุณแม่เป็น Consumer และถ้า Consumer ต้องการเลือกคลอดกับหมอคนไหน ถ้าคุณแม่มีความรู้เรื่องการคลอดก็จะเข้าไปเจรจากับหมอคนนั้นถามว่าคุณทำแบบนี้มั้ย ถ้าไม่ทำก็ไปหาหมอคนอื่นที่ทำ

"เหมือนกับไปเข้าห้าง ผมชอบเซ็นทรัลผมก็เข้า ผมไม่ชอบผมก็ไปโรบินสัน หรือไม่ก็ไปที่อื่นผมพอใจ นี่ก็เหมือนกัน อีกหน่อยคนไข้จะต้องรู้จักสิทธิผู้ป่วย สิทธิของคุณแม่ว่าสิทธิในการคลอดนั้น มีอะไรบ้างไม่ใช่หมอถูกเพียงฝ่ายเดียว บอกอย่างเดียวว่าคุณต้องทำตามที่ผมสั่งนะ มันไม่ใช่"

หมอสันเกียรติ "ปัจจุบันคนไข้ที่มาหาเราแต่ละคนเขาจะเขียนแผนการคลอดว่าจะต้องทำอย่างไร เขาจะแสดงเงื่อนไขอย่างเราต้องไม่ไปทำอะไรเขา เขาต้องคลอดด้วยวิธีธรรมชาติมากที่สุด เท่าที่จะมากได้ อย่าให้น้ำเกลือกับเขาถ้าไม่จำเป็น อย่าไปโกน อย่าไปสวนเขา อย่าให้ยาเขาโดยไม่จำเป็น ถ้าจะให้ยาอะไรต้องปรึกษา เขาก่อน"

หมอธนิต "ครับ อันนี้เป็นสิทธิของผู้ป่วยแต่ความจริงแล้วผมอยากจะบอกว่าคุณแม่ไม่ใช่ผู้ป่วยนะครับ ซึ่งคุณแม่เขาจะนึกอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยจริง ๆ แล้วก็เป็นคนดี ๆ อย่างเรานี่แหละ แต่เผอิญไปท้องซะ และการท้องนี่ไม่ใช่ความเจ็บป่วยนะครับ ท้องคือความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เป็นเรื่องที่มันเป็นไป ตามธรรมชาติ แต่เรากลับมองว่าคนท้องเป็นคนป่วย เห็นมั้ยครับ มันเปลี่ยนสถานภาพกันไปเลย

"ความจริงแล้วเราไม่ป่วย และพอเราคิดว่าเราป่วยเราก็ลืมสิทธิของเราแล้ว ตอนนี้แพทย์สภา ก็ออกมาแล้วเรื่องสิทธิผู้ป่วย และสิ่งที่เราทำอยู่นี่ก็เป็นการให้สิทธิแก่เขา เพราะฉะนั้นแม่ทุกคน มีอำนาจ สามารถขอหมออีกคนได้ถ้าไม่แน่ใจและอีกอย่างคือ สิ่งแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมไทย ยังมีความนอบน้อมถ่อมตนกับผู้ใหญ่กับแพทย์อยู่

"…ผมว่า มันคงจะถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนกันแล้วเมืองนอกเขายังทำได้เลย คนไข้ชาวต่างชาติที่มาหาผมมาหาอาจารย์สันเกียรติ ก็เพราะว่าเขาชอบในการทำงานของเรา ผมจะอธิบายเราไปบังคับเขาไม่ได้ ถ้าไปบังคับเขาก็จะไปหาหมออีกคนเลย และที่ผ่านมาผมก็เปิดโอกาสเสมอ และก็ไม่ขัดข้องถ้าหากเขาต้องการไปปรึกษาแพทย์อีกคน ซึ่งของแบบนี้ผมว่าเราต้องแชร์กับเขาด้วย"

คงถึงเวลาที่เราคงต้องร่ำลากันไปแล้วนะครับ กับหมอสูติใจดีทั้งสองท่านที่เราอยากจะบอกว่า ถ้าบ้านเรามีหมอแบบนี้กันเยอะ ๆ คนไข้ทั้งหลายคงจะอุ่นใจขึ้นมากเลย และที่สำคัญอย่างน้อยหลังจากนี้ไปคุณจะได้รู้ตัวซะทีว่าคุณเริ่มมีสิทธิอะไรเพิ่มขึ้นแล้วบ้าง

หมอนี่


ขอบคุณนิตยสารแม่และเด็ก ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600
1